"Single Player น่ะมันตายแล้ว" ความคิดเห็นจากทาง EA ค่ายผู้พัฒนา/จัดจำหน่ายเกมส์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ระยะหลังมานี้ เกมส์ประเภทที่ว่ามาของพวกเขานั้นค่อนข้างล้มเหลวด้านรายได้ (ในขณะที่คำวิจารณ์สลับดีแย่ปนกันไป) และถึงขั้นที่ Visceral สตูดิโอค่ายลูกของ EA ผู้อยู่เบื้องหลังเกมส์แนวผู้เล่นเดี่ยวมากคุณภาพในความทรงจำนี้ (Dead Space, Dante Inferno, Army of Two ฯลฯ) จำต้องถูกปิดตัวด้วยเหตุผลด้านธุรกิจข้างต้น
ซึ่ง EA ได้ทำการเลือกหาวิธีถอนทุนคืนด้วยการให้เกมส์ในปี 2017 ของพวกเขาหรือมีโหมดการเล่นมัลติเพลเยอร์ที่พ่วงระบบ Microtransactions เข้ามา และแต่ละผลงานเกมส์ก็ไล่เรียงระดับการสูบเงินจากน้อยไปหามาก เช่น Battlefield 1 มีระบบ Loot Boxes ที่ได้ไอเทมเน้นความสวยงาม ในขณะที่ Need for Speed Payback ที่จะใช้ในการหาอะไหล่รถยนต์คุณภาพสูง ส่วนกรณีที่ร้ายที่สุด คือ Star Wars Battlefront II ที่เหล่าไอเทมในกล่องเหล่านี้ จะเป็นการเพิ่มความเก่งกาจให้กับผู้เล่นพร้อมทำลายสมดุลเกมส์ในเวลาเดียวกัน
EA เชื่อเช่นนั้นและผลที่ได้ก็เป็นตามที่พวกเขาเชื่อ เพราะการทำร้ายตัวตนของแต่ละซีรีย์เกมส์ของพวกเขาเพื่อแลกกับเม็ดเงินนั้น ทำให้พวกเขาได้กำไรกลับคืนมาในจำนวนมหาศาล (ที่ก็ตามมาด้วยคำก่นด่าที่มหาศาลเช่นเดียวกัน)
แต่เอาเข้าจริงๆ เกมส์ Single Player หรือผู้เล่นคนเดียวไม่เคยหายไปไหน หากแต่ยังคงอยู่คู่วงการเกมส์มาโดยตลอด (เช่นเดียวกับการถือกำเนิดขึ้นพร้อมกันกับเครื่องเล่นเกมส์) และจากการสังเกตการณ์ของผู้เขียนตลอดช่วงเวลาที่คลุกคลีกับเกมส์นั้น แต่ละผลงานก็ยังคงมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีเสมอมา
Metal Gear Solid V: The Phantom Pain เกมส์ภาคที่ 5 ปิดตำนานซีรีย์ที่ดัดแปลงและนำเสนอเรื่องราวของสงครามเย็นในแบบฉบับที่ชวนให้ติดตามง่ายกว่าประวัติศาสตร์ของจริง
แม้ในแรกเริ่ม การถือกำเนิดขึ้นของเกมส์จะถูกใช้และจำกัดความเป็นเครื่องเล่นเชิงสันทนาการ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป คุณค่าของเกมส์ก็ยิ่งถูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัยจนในปัจจุบัน เกมส์ก็ได้มีสถานะเป็นสื่อประเภทหนึ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราว นำเสนอแนวคิด หรือประเด็นทางสังคมได้ไม่ต่างจากภาพยนตร์หรือนิยายชั้นดี
คาร่า (Kara) แอนดรอยด์สาวประเภทรับใช้ ผู้กำลังขัดขืนคำสั่งเจ้านายด้วยการเพื่อปกป้องเด็กสาววัยเยาว์ที่มักถูกพ่อ (เจ้าของคาร่า) ทำร้ายร่างกาย หนึ่งในเนื้อเรื่องของเกมส์ Detroit Become Human ที่ผู้เล่นเป็นคนตัดสินใจชะตาชีวิตเขาทั้งสอง
ตัวอย่างที่ไม่ต้องย้อนระลึกถึงไกลจนเกินไปก็คงจะต้องพูดถึงเกมส์ที่กำลังเป็นกระแสในช่วงเวลานี้ นั่นคือ Detroit Become Human เกมส์ที่มีเนื้อเรื่องว่าด้วยโลกอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลที่มนุษย์ ได้สร้าง "แอนดรอยด์" จักรกลอัจฉริยะขึ้นเพื่อปฎิบัติงานในสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้คงที่หรือตลอดอายุขัยของคน
หากพิจารณาจากทุกองค์ประกอบของ God of War ภาคล่าสุดนี้ก็จะพบว่าผู้สร้างเกมส์ดังกล่าวได้ใช้การเติบโตเป็นนัยสำคัญกับทุกส่วนของตัวเกมส์ ทั้งระบบการต่อสู้ของเกมส์ที่เปลี่ยนจากแฮคแอนสแลช (Hack n Slash) เน้นการใช้ท่าโจมตีดีเดือดทั้งหลายรับมือศัตรูจำนวนมาก ให้กลายเป็นแอคชั่น-อาร์พีจี (Action- RPG) ที่เน้นความเข้มข้นในการต่อสู้กับศัตรูแบบตัวต่อตัวและใช้ความรอบคอบในการหาจังหวะเข้าโจมตีหรือหลบหลีกเป็นปัจจัยหลักของการต่อสู้ ที่อาจเป็นการสื่อถึงเครโทสในวัยกลางคน (และแฟนเกมส์) ที่ผ่านประสบการณ์การต่อสู้ (ในมุมของแฟนคือผ่านแนวเกมส์ต่างๆ) มาแล้วมากมายจนชำนาญการศึกและเข้าใจจะแก่นของการต่อสู้ที่หาใช่การใช้ลูกบ้าเข้าว่าหากแต่ต้องควบคุมสติของตนให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
จงใช้ความผิดพลาดในอดีตเป็นบทเรียนอันล้ำค่า แก่นหลักของ God of War (ฉบับกึ่งรีบูต) นี้
และเนื้อเรื่องที่ว่าการนำเสนอประเด็น/แนวคิดของการเรียนรู้พร้อมเปลี่ยนแปลงตัวตนจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งตัวเกมส์ได้ถ่ายทอดผ่านมิติของตัวละครเอกทั้งสองที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เครโทส (Kratos) ตัวละครเอกตลอดกาลของซีรีย์ที่ช่วงอายุของในภาคนี้และจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนให้เขากลายเป็นหนุ่มใหญ่ที่รอบคอบและมีสติในทุกการกระทำ ในขณะอาเทรียส (Atreus) บุตรชายวัยเยาว์ของเขาเป็นดั่งเงาสะท้อนภาพในอดีตที่ใช้อารมณ์และความรุนแรงในการตัดสินใจ ซึ่งตลอดการเล่นตัวเกมส์จะถ่ายทอดมุมมองของตัวละครทั้งสองผ่านทุกๆ เหตุการณ์ และผู้เล่นจะได้ซึมซับแนวคิดที่ผู้สร้างได้ฝังมันลงไปในตัวเกมส์อย่างแยบยลและน่าติดตาม
The Witcher 3 :Wild Hunt เกมส์ผู้เล่นเดี่ยวที่มีทุกอย่างสมบูรณ์พร้อมจนเล่นได้เพลินๆ มากกว่า 30 ชั่วโมงขึ้นไป!
ปฎิเสธไม่ได้ว่าความคุ้มค่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากเนื้อเรื่องและระบบการเล่นที่เกมเมอร์หลายคนใช้ในการตัดสินใจซื้อเกมส์สักชิ้นงาน โดยความคุ้มค่านั้นมีองค์ประกอบย่อยสองสิ่งที่ (ควรจะ) สัมพันธ์กันคือ "ราคา" ที่ต้องเหมาะสมกับ "ชั่วโมงในการเล่นที่มากพอ" นั่นก็เพราะเกมส์ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มีแนวคิดในการเลือกซื้อแตกต่างจากรูปแบบอื่นมากนักที่ราคาต้องมาพร้อมกับความคุ้มค่า
ซึ่งหากเกมส์ผู้เล่นเดี่ยวทั้งหลาย ไม่ได้มีแนวการเล่นเป็น Interactive Drama (ตัวอย่างเช่น Detroit Become Human เป็นต้น) ในส่วนของความคุ้มค่านั้น ก็ถือได้ว่าหลายเกมส์ในรอบหลายทศวรรษนี้สอบผ่านฉลุยเลยทีเดียว
Watch_Dog 2 เกมส์ Open World ที่จะพาให้คุณหายตัวไปกับกาลเวลาเอาได้ง่ายๆ
Watch_Dog 2 เป็นตัวอย่างที่ดีของเกมส์ที่คุ้มค่า (และผู้เขียนก็ชอบเกมส์นี้มาก ฮ่าๆ) โดยนอกจากเนื้อเรื่องที่ชวนให้ติดตามไปกับวีรกรรมห่ามๆ ของกลุ่มตัวเอกวัยรุ่น และงานกราฟฟิกโดยเฉพาะในรายละเอียดของฉากพื้นที่ของเกมส์ทั้งหมดที่จำลองมาจากเมืองซานฟรานซิสโกแล้วนั้น ในส่วนของระบบการเล่นเอง ต่างก็เต็มไปด้วยกิจกรรมเสริมต่างๆ ที่มีแรงดึงดูดให้ผู้เล่นเข้าทำ ไล่ตั้งแต่การเก็บค่าประสบการณ์ด้วยการตามถ่ายรูปสถานที่สุดฮิตที่โลกโซเชี่ยลแชร์กัน (คอนเซ็ปต์เกมส์ภาคนี้ละ) ภารกิจเสริมที่อลเวงไม่แพ้เส้นเรื่องหลัก และโหมดหลายผู้เล่นรูปแบบต่างๆ ที่เข้าคอนเซ็ปความเป็นแฮคเกอร์มากกว่าภาคแรก ซึ่งหากเล่นทุกกิจกรรมเสร็จสรรพแล้วก็อาจคลุกคลีตัวเกมส์ได้นานถึง 28 - 40 ชั่วโมงเลยละ
Elder Scroll V: Skyrim เกมส์แอคชั่น-อาร์พีจีที่หากได้เล่นเมื่อใดวันและเวลาในโลกมนุษย์จะหายไปดั่งความเร็วแสง
เป็นอีกหนึ่งเกมส์ที่มักถูกนำไปใช้เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า "เกมส์ไหนเล่นได้นานๆ จนคุ้มเงิน" โดย Elder Scroll V: Skyrim เป็นเกมส์แนวแอคชั่น-อาร์พีจี ที่ผู้เล่นจะสามารถสร้างตัวละครในโลกแห่งแฟนตาซีได้อย่างใจนึก (เผ่าพันธุ์, หน้าตา, รูปลักษณ์ ฯลฯ) อีกทั้งในโลกใบดังกล่าวนี้ ผู้เล่นจะได้รับอิสระทางการเล่นในระดับหนึ่ง ทั้งการเลือกได้ว่าจะเดินตามเนื้อเรื่องหลักเมื่อใด จะเล่นเควสเสริมก่อนดีไหม จะฆ่าหรือปราณีตัวละครสำคัญบางตัว ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลของเกมส์นั้น อาจพาให้ผู้เล่นดำดิ่งไปยังห้วงแห่งกาลเวลาที่เมื่อรู้ตัวอีกทีก็อาจกลายเป็นเช้าของวัดถัดไปก็เป็นได้...
God of War มียอดขาย 5 ล้านชุดภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน (ภาพจากเว็บไซต์ IGN)
Elder Scroll V: Skyrim มียอดขายตลอดกาลอยู่ที่ 50 ล้านชุด (ภาพจากเว็บไซต์ Load the Game)
ขึ้นชื่อว่าผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะรูปแบบใด หากมี "คุณภาพ" สิ่งนั้นย่อมขายได้ด้วยตัวมันเอง ซึ่งในภาคของเกมส์ ยอดขายก็น่าจะยังใช้เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า "เกมส์ผู้เล่นเดี่ยวยังไม่ตาย" และผู้เขียนก็ขอนำอันดับเกมส์ขายดีตลอดกาลบนเว็บไซต์ Wikipedia มาใช้ในการชี้ชัดให้กับบทความนี้ให้ดูน่าเชื่อถือขึ้นละกันครับ
รายชื่อเกมส์ที่ถูกคลุมด้วยสีที่แตกต่างกันคือเกมส์ที่มีโหมดผู้เล่นเดี่ยวที่มีรูปแบบแตกต่างกันออกไปอีกทอด โดยสีแดงจะเป็นเกมส์ที่มีแต่โหมดผู้เล่นเดี่ยวเท่านั้น ในขณะที่สีเขียวนั้นจะมีฟีเจอร์หลายผู้เล่นแทรกเสริมเข้ามา ปิดท้ายด้วยสีน้ำเงินที่จะคล้ายกับสีเขียวคือมีฟีเจอร์หลายผู้เล่นอยู่ในตัวเกมส์ แต่กระนั้นรูปแบบการเล่นหลายคนจะเป็นแบบ Multi - Couch หรือการเล่นร่วมกับผู้อื่นในสถานที่เดียวกัน (หรือแปลตรงตัวคือเล่นเกมส์เดียวกันบนโซฟาตัวเดียวกัน ฮ่าๆ)
และหากพิจารณาจากรายชื่อของเกมส์ที่ถูกคลุมด้วยสีแล้วนั้น จะพบว่าจุดยืนพื้นของเกมส์ทั้งหลายคือโหมดผู้เล่นเดี่ยวที่มีฟีเจอร์โหมดผู้เล่นหลายคนหรือมัลติเพลเยอร์เพิ่มเข้ามาให้ในกรณีที่ต้องการหลีกหนีความจำเจในการเล่น อีกทั้งหากดูจากปีที่เกมส์ที่ถูกคลุมด้วยสีวางจำหน่ายก็จะเห็นได้ว่าเกมส์แนวผู้เล่นเดี่ยว ยังคงอยู่คู่วงการเกมส์มาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ได้ในระดับหนึ่งว่าเกม์ผู้เล่นเดี่ยวยังไม่ตายตามความคิดของ EA แน่นอน
จริงแล้วๆ เหตุผลที่จะมารองรับว่า Single Player หรือเกมส์ผู้เล่นเดี่ยวนั้นยังไม่ล้มหายตายจากไปไหน ยังคงมีอีกจำนวนมาก เพียงแต่ผู้เขียนได้จับเหตุผลสำคัญๆ (ตามความคิดผู้เขียนเองนะ) มาอธิบายให้ฟังเฉยๆ เพราะหากดูจากงาน E3 2018 ที่เพิ่งผ่านไปนั้น จะเห็นได้ว่าผลงานชิ้นใหม่โดยส่วนมากของค่ายพัฒนา/จัดจำหน่ายทั้งหลายที่ถูกนำมาแสดงในแต่ละช่วงเวลานั้น ก็ "ยังคงเป็นเกมส์ผู้เล่นเดี่ยว" ไล่ตั้งแต่ IP ใหม่ๆ อาทิ Ghost of Tsushima, Death Stranding ฯลฯ การกลับมาของเกมส์ในตำนานฉบับรีเมคอย่าง Resident Evil 2 Remake การสานต่อตำนานปีศาจสะอึ้นที่พาให้คนทั้งฮอลล์กู่ร้องด้วยความดีใจอย่าง Devil May Cry 5 และปิดท้ายด้วยการที่ EA ได้กลับลำแนวคิดของตนด้วยการประกาศ Star Wars Jedi: Fallen Order เกมส์แอคชั่นผู้เล่นเดี่ยวที่จะอิงเรื่องจาก Star Wars ฉบับภาพยนตร์
ผู้เขียนเชื่อว่าเกมส์ผู้เล่นเดี่ยวไม่มีวันตาย เพราะตราบใดที่เกมเมอร์อย่างเราๆ ยังคงต้องการคุณภาพในเกมส์สักหนึ่งชิ้น เกมส์ผู้เล่นเดี๋ยวนี้ จะยังคงตอบโจทย์และมอบประสบการณ์อันล้ำค่าให้กับเราได้เสมอไปอย่างแน่นอน
|
ทำไมไม่เรียกแมว! รักหนัง รักเกม ร๊ากกทุกคนนน ~ <3 |