จุดที่เราชอบ
| จุดที่เราไม่ชอบ
|
การทำโมเดลกระดาษ (Papercraft) เป็นหนึ่งในงานอดิเรกที่เราคิดว่าสนุกทีเดียว มันฝึกความอดทน และความประณีตได้เป็นอย่างดี ซึ่งตัวผมเองก็ไม่ได้มีฝีมือด้านการออกแบบสักเท่าไหร่ ก็อาศัยการพิมพ์แบบมาทำจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่เขามีทำไฟล์โมเดลแจกให้เราดาวน์โหลดไปพิมพ์เพื่อประดิษฐ์ได้เลย
ตัวอย่างงาน Papercraft จาก https://www.cubeecraft.com/cubee/goku-dbz
แต่ผมเพิ่งเจอซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งมา มันมีชื่อว่า Pepakura Designer มันมีความสามารถในการแปลงไฟล์โมเดล 3 มิติ ให้เป็นไฟล์สำหรับพิมพ์งาน Papercraft ได้อย่างง่ายดาย ใครอยากปั้นโมเดลกระดาษเล่นเอง ซอฟต์แวร์ตัวนี้ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ
Pepakura Designer ดูจากชื่อก็คงเดาได้ไม่ยากว่าพัฒนามาจากประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ต้องห่วงโปรแกรมตัวนี้มีเมนูเป็นภาษาอังกฤษนะ หรือใครอ่านจีนออกจะเลือกดาวน์โหลดเวอร์ชันภาษาจีนมาใช้ดูก็ได้ โปรแกรมนี้สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี แต่การบันทึกไฟล์ และ Export ไฟล์ จะต้องทำการ "ซื้อ" โปรแกรมก่อนถึงจะใช้งานได้นะครับ (สั่งซื้อ Pepakura Designer จาก Thaiware Shop ได้ที่นี่)
ก่อนที่ผมจะพูดถึงการใช้งาน Pepakura Designer อยากจะชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมนี้ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า โปรแกรมนี้ไม่ใช่โปรแกรมสำหรับสร้างโมเดล 3 มิติ นั่นหมายความว่าเราไม่สามารถสร้างโมเดล Papercraft จากโปรแกรมนี้ได้โดยตรงนะครับ เราจะต้องสร้างโมเดล 3 มิติ จากโปรแกรมอื่นก่อน แล้วจึงนำไฟล์โมเดลมาแปลงเป็น "รูปแบบกระดาษ" ด้วย Pepakura Designer
แล้วจะหาโมเดล 3 มิติ ได้จากไหน?
เราคิดว่ามันมีอยู่ 3 วิธี ที่จะได้ไฟล์โมเดล 3 มิติ เพื่อใช้กับโปรแกรม Pepakura Designer ดังนี้ครับ
ก่อนอื่นให้เราดาวน์โหลดตัวติดตั้งโปรแกรมมาก่อนนะ (ดาวน์โหลดได้ที่นี่) ตัวติดตั้งมีขนาดเพียง ~15MB เท่านั้น เล็กมาก ใช้พื้นที่ในการติดตั้งแค่กระจึ๋งเดียว
หลังจากที่ติดตั้งเสร็จปุ้ป เราจะได้โปรแกรมมา 2 ตัวนะครับ คือ Pepakura Designer 4 และ Pepakura Viewer 4 สองโปรแกรมนี้มีความแตกต่างกันตรงที่ตัว Viewer นั้นเอาไว้เปิดดูไฟล์ .pdo แล้วพิมพ์เท่านั้น ส่วนตัว Designer จะใช้แก้ไขตัวโมเดลได้ด้วย
ภาพบนเป็นหน้าตาของตัว Pepakura Viewer ส่วนภาพล่างจะเป็น Pepakura Designer จะเห็นได้ว่ามีเครื่องมือในการแก้ไขไฟล์ให้ใช้งานเพียบ ซึ่งในบทความนี้เราจะพูดถึงการใช้งาน Pepakura Designer เป็นหลักนะครับ
ผมลองเปิดไฟล์โมเดล (.obj) ขึ้นมา ด้วยโปรแกรม Pepakura Designer หน้าจอมีการแบ่งหน้าชัดเจนดี ฝั่งซ้าย คือ โมเดล ฝั่งขวา คือ หน้ากระดาษที่จะพิมพ์ ซึ่งตอนนี้ยังเป็นหน้าเปล่าๆ อยู่
เราสามารถให้สร้างแบบพิมพ์อัตโนมัติด้วยการ คลิกไปที่ปุ่ม Unfold จากนั้นโปรแกรมจะวิเคราะห์ข้อมูล สร้างเป็นแบบพิมพ์ให้อัตโนมัติ เราสามารถคลิกที่แบบเพื่อดูว่ามันคือส่วนไหนของโมเดลได้ด้วย
โดยปกติแล้ว เท่าที่ผมลอง เมื่อแปลง Unfold แบบอัตโนมัติแล้ว งานจะยังออกมาไม่เรียบร้อยเท่าไหร่ เราต้องทำการแก้ไขด้วยตนเองอีกหน่อยครับ ด้วยเครื่องมือ Join/Disjoin Faces ซึ่งความดีงามของมัน คือ เราเห็นผลลัพธ์ได้แบบเรียลไทม์จากหน้าต่างฝั่งซ้ายมือเลย การใช้ก็ไม่ยากครับ คลิกไปที่เส้นที่เราไม่ต้องการได้เลย จะยากก็ตรงความอดทนนี่แหละ ที่ต้องมาไล่คลิก
หลังจากนั่งแก้ไขงานเรียบร้อยแล้ว จะเห็นว่าแบบแพลนของเราดูสะอาดตาขึ้นมาก ในภาพนี้ผมยังทำไม่เรียบร้อยมาก เนื่องจากความไม่ขยันของผมนั่นเอง แต่ก็พอใช้ได้แหละน่า (ชมตัวเองก็เป็น)
ความเจ๋งอย่างหนึ่งของโปรแกรมนี้ คือ เวลาเราคลิกไปที่ชิ้นส่วนในจอฝั่งซ้าย มันจะหมุนภาพโมเดลในจอฝั่งขวาไปยังตำแหน่งดังกล่าวให้ทันที เวลาประกอบหุ่นที่มีรายละเอียดเยอะๆ แล้วไม่รู้ว่าชิ้นไหนไปชิ้นไหน ก็มาคลิกดูจากในโปรแกรมได้อย่างง่ายดายเลย
ลองมาดูตัวอย่างไฟล์งานของมืออาชีพกันดีกว่า อย่างด้านล่างนี้เป็น Iron Man - Hulkbuster ที่มีคนทำไฟล์แจก เราดาวน์โหลดมาเปิด แล้วสั่งพิมพ์ได้เลย แค่เห็นจำนวนที่ต้องประกอบก็ท้อแล้ว ต้องใช้ความอดทนสูงมากทีเดียว
ไฟล์จาก https://www.pepakura.eu/iron-man-hulkbuster/
ต้องทำใจว่างาน Papercraft นั้นถ้าจะให้แบบออกมาสวย ชิ้นส่วนมันก็ต้องละเอียดตามไปด้วย ไม่งั้นโมเดลมันก็จะออกมาแข็งๆ ไม่สวยเท่าไหร่ อย่างดิจิมอน ที่ดูรายละเอียดไม่เยอะมาก ตอนทำจริงก็ไม่ง่ายนะครับ
ไฟล์จาก https://www.pepakura.eu/digimon-terriermon/
เอาเป็นว่าหากได้ไฟล์ที่สมบูรณ์แล้วก็สั่งพิมพ์ออกมาได้เลยครับ ผมจะลองประกอบให้ดูสักตัว ทีแรกว่าจะทำ Iron Man - Hulkbuster แต่มันง่ายเกินไปสำหรับผม เลยมาจบที่ตัว Banzai Bills จากเกมส์ Super Mario World แทนดูแล้วควรค่าแก่คนระดับเรา
อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการประกอบ Papercraft
การจะประกอบโมเดลกระดาษให้งานออกมาเนี้ยบนั้น ไม่ใช่แค่พิมพ์ออกมา ตัดประกอบได้เลย เราควรมีอุปกรณ์ช่วยด้วย อุปกรณ์พื้นฐานที่ควรมี คือ
- คัตเตอร์, กรรไกร สำหรับตัดชิ้นงาน แน่นอนว่าอย่าลืมแผ่นรองตัดล่ะ เดี๋ยวโต๊ะเป็นรอยหมดนะ
- กาว การจะยึดชิ้นส่วนกระดาษเข้าด้วยกัน ไม่มีกาวคงไม่ได้ ไม่ค่อยแนะนำกาว UHU เพราะมันหลุดง่ายมาก หากงานที่เราทำรอยพับ รอยหยักเยอะ แนะนำให้ใช้กาวร้อนนะครับ
- Epoxy Putty หากโมเดลเรามีขนาดใหญ่มาก กระดาษอาจจะรับน้ำหนักไม่อยู่ ก็ควรใช้พุตตี้เสริมความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม เจ้านี่หาซื้อได้ยากหน่อย ต้องไปตามหาตามร้านขายโมเดลถึงจะมีขาย
พิมพ์ออกมาให้เรียบร้อย แนะนำว่าควรเลือกกระดาษที่แกรมหนานิดนึง ไม่งั้นเวลาประกอบจะยากมาก เพราะขาดความแข็งแรง
ใช้คัตเตอร์ และกรรไกร ค่อยๆ "แกะ" แบบออกมาจากกระดาษ งานนี้ต้องประณีตหน่อยนะครับ ไม่งั้นตอนประกอบมันจะออกมาพิการๆ
เสร็จแล้ว อนาถมาก ด้วยสกิลคราฟท์เลเวล 1 ของผม บวกกับผมใช้กระดาษธรรมดาทำ จับนิดเดียวยุบแล้ว T__T
สำหรับคนที่อยากลองทำ Papercraft เล่นเอง โปรแกรม Pepakura Designer จัดว่าเป็นหนึ่งในโปรแกรมที่ได้รับความนิยมมากในหมู่คนทำโมเดลกระดาษ อย่างไรก็ตามหากต้องการสร้างแบบพิมพ์ด้วยตนเองทั้งหมดเลย ก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการเรียนรู้อยู่พอสมควร ใครมองหางานอดิเรกอยู่ก็ลองเล่นกันดูครับ ผมว่าเพลินดีนะ ช่วยกันทำเล่นกับคนในครอบครัวก็เพลินดีนะ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |