ไม่ช้าไม่นานมานี้ ทีมงานไทยแวร์ ได้ไปร่วมงานเปิดตัวกล้อง Mirrorless Full-frame ราคาค่าตัวกำลังน่ารัก อย่าง Canon EOS RP โดยราคาบอดี้เปล่าของ EOS RP อยู่ที่ 48,900 บาท ทำให้เริ่มต้นกับกล้อง Full-frame ได้ง่ายขึ้น (เทียบกับราคาเปิดตัวที่ 82,900 บาท ของรุ่น EOS R กล้อง Mirrorless Full-frame รุ่นพี่ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว) ในส่วนของราคาตัวกล้อง EOS RP บวกเลนส์ RF 24-105L อยู่ที่ 88,690 บาท
เราก็เลยมีพรีวิวเล็กๆ น้อยๆ ของเจ้ากล้องตัวนี้มาฝากกันครับ ถ้าพร้อมแล้วติดตามชมกันได้เลย
ข้อดี
| ข้อสังเกต
|
สามารถคลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่
ความประทับใจแรกที่มีต่อเจ้า Canon EOS RP คือเป็นกล้องขนาดเซ็นเซอร์ภาพ Full-frame ที่ขนาดตัวกะทัดรัด และน้ำหนักตัวเบาเอามากๆ จนรู้สึกว่าไม่น่าจะเป็นภาระกับการพกพาออกไปถ่ายรูปนอกสถานที่ โดยรุ่นพี่ Mirrorless Full-frame ที่ออกมาก่อนหน้าอย่างรุ่น EOS R ก็ว่าเบาแล้ว (580 กรัม บอดี้เปล่าไม่รวมแบตฯ และการ์ด) แต่รุ่นน้องเล็กที่มาใหม่นั้น มีน้ำหนักตัวเพียง 485 กรัม เท่านั้น (น้ำหนักรวมแบตฯ รวมการ์ดเรียบร้อย) ทำให้ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับตากล้องสาวๆ หรือตากล้องที่ไม่ชอบแบกของหนัก
นอกจากน้ำหนักแล้ว มิติของกล้อง EOS RP ก็ยังเล็กกว่า EOS อยู่พอสมควรเลย ความแตกต่างอย่างชัดเจนคือความสูงของตัวกล้องที่น้อยกว่า (โดย EOS R ตัวกล้องสูง 98.3 มม. ในขณะที่ EOS RP สูงเพียง 85 มม.) โดยส่วนตัวแล้วผมเป็นคนมือเล็ก ก็จับถือ EOS RP ได้โดยไม่รู้สึกว่านิ้วก้อยหลุดออกจากบอดี้ แต่สำหรับคนมือใหญ่ อาจรู้สึกว่า EOS RP มิติของบอดี้มันเล็กเกินไปหรือไม่ โดยที่ทาง Canon แก้ปัญหานี้โดยการขาย Grip (รุ่น EG-E1) เพื่อเพิ่มขนาดความสูงของตัวกล้อง โดยที่ Grip ก็ออกแบบมาได้ดีครับ และสามารถ ถอด/ใส่ แบตฯ ของตัวกล้องได้อย่างสบายๆ ในขณะที่สวม Grip อยู่ (โดยที่ไม่รองรับการติดตั้งแบตฯ เสิรมในตัว Grip)
ด้านบนของตัวกล้องถูกตัดจอ LCD ขนาดเล็กออกไป และมีปุ่มหมุน 2 ตัว (ตามศรชี้) ปรับตั้งค่าการถ่ายในโหมด M ได้รวดเร็ว โดยที่ปุ่มหมุนทางด้านหลังมีก้านโยก Lock เพื่อป้องกันการบิดหมุนปุ่มโดยไม่ตั้งใจด้วย
จุดที่ EOS RP ถูกลดทอนความสามารถลงจากรุ่นพี่ที่มีราคาสูงกว่าอย่างรุ่น EOS R คือ มีการตัดจอ LCD ขนาดเล็กทางด้านบนตัวกล้อง ที่ทำหน้าที่แสดงค่าการปรับตั้งต่างๆ ออกไป รวมถึงมีการลดทอนความละเอียดของเซ็นเซอร์ภาพลง โดยที่รุ่น EOS RP นั้นใช้เซ็นเซอร์ภาพแบบ CMOS ความละเอียด 26.2 ล้านพิกเซล ส่วนรุ่น EOS R นั้นความละเอียดภาพอยู่ที่ 30.3 ล้านพิกเซล
จอ LCD ขนาดหน้าจอ 3 นิ้ว ความละเอียด 1.04 ล้านจุดให้ภาพที่สว่าง และใช้รีวิวภาพถ่ายได้ดีเลยครับ โดยเป็นหน้าจอแบบสัมผัส สามารถแตะเลือกเพื่อปรับแต่งค่าต่างๆ ในการถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงแตะเลือกจุดที่ต้องการโฟกัสภาพผ่านหน้าจอได้เลย โดยพื้นที่การโฟกัสภาพครอบคลุมพื้นที่ 88% ของเฟรมภาพแนวนอน และครอบคลุม 100% ของเฟรมภาพแนวตั้ง
ในส่วนของช่องมองภาพแบบ EVF ของ EOS RP นั้นมีขนาด 0.39 นิ้ว (ในขณะที่ของรุ่น EOS R มีขนาด 0.5 นิ้ว) ความละเอียดการแสดงผลอยู่ที่ 2.36 ล้านจุด ในความคิดเห็นส่วนตัวก็ต้องบอกว่า เป็น EVF ที่ขนาดกำลังดี ไม่ได้รู้สึกว่าเล็กเกินไป และให้การแสดงภาพที่สว่างเคลียร์ใช้ได้ครับ
ลองความเร็วของระบบ Dual Pixel Autofocus กับสภาพแสงในอาคาร ก็โฟกัสได้เร็วดีนะ
EOS RP โฟกัสภาพได้รวดเร็วด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ภาพแบบ Dual Pixel ที่ทาง Canon เคลมว่า สามารถจับโฟกัสได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 0.05 วินาที และระบบโฟกัสทำงานได้อย่างแม่นยำแม้ในสภาพแสงน้อยถึง EV -5
มาพร้อมระบบจับโฟกัสดวงตา Eye Detection AF สำหรับการถ่ายภาพนิ่งและคลิปวิดีโอที่มีบุคคลอยู่ในเฟรมภาพ มันสามารถโฟกัสตามความเคลื่อนไหวของตัวแบบได้ดีเลย ทั้งการเคลื่อนที่ของตัวแบบในระนาบซ้าย/ขวา และการเคลื่อนที่เข้าใกล้/ออกห่างจากกล้อง
สำหรับตากล้องสายถ่ายจิวเวลรี่ หรือถ่ายวัตถุขนาดเล็ก กล้อง EOS RP ก็มีฟังก์ชั่นที่อำนวยความสะดวกที่มีชื่อว่า Focus Bracketing ซึ่งเป็นการถ่ายภาพเป็นชุด โดยเลื่อนระยะโฟกัสชัดออกไปเรื่อยๆ โดยอัตโนมัติ เพื่อการนำภาพทั้งหมดไปทำ Focus Stacking เพื่อให้ได้เป็นภาพถ่ายที่คมชัดตลอดชิ้นวัตถุ เราสามารถกำหนดจำนวนภาพที่จะทำ Focus Bracketing ได้สูงสุดถึง 999 ภาพ โดยเปิดใช้งานฟังก์ชั่นนี้ผ่านเมนูของตัวกล้อง
FV (Flexible Priority Mode) โหมดการถ่ายภาพแบบใหม่ที่น่าสนใจ และมีการนำมาใช้ครั้งแรกกับกล้อง EOS R และได้ถูกนำมาใส่ไว้ใน EOS RP ด้วยเช่นกัน โดยในโหมดนี้ เราสามารถเลือกได้อย่างอิสระ และคล่องตัวว่าจะปรับตั้ง หรือไม่ปรับตั้งค่าการถ่ายอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ค่าชัตเตอร์สปีด, ค่า f, ค่า ISO และค่าการชดเชยแสง โดยการเลือกว่าจะปรับตั้งค่าใดนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการหมุนปุ่มควบคุมบนตัวกล้อง หรือการแตะเลือกค่าที่จะปรับแต่งบนหน้าจอ นับเป็นการใช้ประโยชน์จากหน้าจอสัมผัสเพื่อการปรับตั้งค่าต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยที่บนตัวกล้องไม่จำเป็นต้องมีปุ่มกดมากมาย
สามารถคลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่
ตัวอย่างภาพถ่ายสวยๆ จาก Canon EOS RP และเลนส์ RF 35mm f/1.8 IS Macro STM
EOS RP เลือกใช้หน่วยประมวลผลภาพรุ่นล่าสุดของ Canon อย่าง DIGIC 8 มาพร้อมฟังก์ชั่นปรับแสงอัตโนมัติ Auto Lighting Optimizer ที่ทาง Canon เขาเคลมว่า ช่วยในการถ่ายภาพแบบย้อนแสง ด้วยการปรับสมดุลระหว่างจุดที่สว่างสุด และจุดที่มืดสุดของภาพ ทำให้เก็บรายละเอียดภาพได้ดีขึ้นในสภาพแสงที่ถ่ายยาก และรองรับการถ่ายคลิปวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 4K ที่เฟรมเรต 24p/25p
ส่วนหนึ่งของเลนส์ในซีรี่ย์ RF และอุปกรณ์อะแดปเตอร์แปลงเมาท์เลนส์ ที่ทำให้เลนส์ EF และ EF-S ใช้กับกล้องนี้ได้
โดยมีการนำเสนอเลนส์แบบเมาท์ RF สำหรับใช้งานกับทั้งกล้อง EOS RP และ EOS R อีก 6 ตัว เพื่อให้ครบช่วงเลนส์ที่จำเป็นสำหรับการใช้งานระดับมืออาชีพ ได้แก่
สำหรับใครที่อยากดูสเปคของกล้อง Canon EOS RP แบบละเอียดยิบ ก็คลิกที่ลิงค์ canon.co.uk ทางด้านใต้บทความนี้ได้เลยครับ
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |