เป็นที่ตื่นตัวกันทั้งวงการเกมส์เลยทีเดียวกับรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังที่ได้ระบุว่า 'ขณะนี้ กรมสรรพสามิตกำลังศึกษาแนวทางสำหรับการจัดเก็บภาษีกับตลาดเกมส์ออนไลน์ เนื่องจากมีเงินหมุนเวียนในตลาดเป็นจำนวนมาก' ซึ่งทำให้เกมเมอร์หลายคนกังวลว่า การซื้อขายเกมส์และไอเท็มต่างๆ ในเกมส์ (In-game Purchase) จะถูกบวกเพิ่มเงินเข้าไปให้แพงกว่าปกติ บทความนี้จะพาทุกท่านไปสำรวจความเป็นไปได้เกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ
เริ่มจากการซื้อไอเท็มในเกมส์กันก่อนเป็นอย่างแรกเพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด (เสียตังค์ง่ายที่สุด) ณ ตอนนี้ หากกรมสรรพสามิตจะสามารถเริ่มดำเนินการเก็บภาษีได้จริงๆ จังๆ จากใครก่อนล่ะก็ เห็นจะเป็นจาก "ผู้ประกอบการในไทย" นี่ล่ะค่ะ ที่สามารถเริ่มเรียกเก็บได้ทันทีที่มีกฎหมายบังคับใช้ ฉะนั้น หากเป็นบริษัทค่ายเกมส์ในไทยที่เรารู้จักกันดี เช่น PlayPark (Asiasoft), True Digital Plus, Winner Online, Garena Online, Ini3 Digital, Nexon, LINE, Netmarble ฯลฯ แล้วล่ะก็ ยังไงก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นแน่นอน เพราะจัดเป็นผู้ให้บริการในไทยเองโดยตรง
บรรดาค่ายเกมส์ในไทย รูปประกอบจาก www.gamepr10.com
แต่สำหรับบางเกมส์ที่ต้องรอดูบทสรุปกันต่อไปในไทยนั้น ได้แก่เกมส์ที่มีผู้ให้บริการอยู่ในต่างประเทศ แล้วมีแค่บริษัทที่เป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนลูกค้า / ลูกค้าสัมพันธ์อยู่ในไทย เช่น Black Desert และ Ragnarok Online Mobile ว่ากรมสรรพสามิตจะมีวิธีการออกพระราชบัญญัติและจัดเก็บภาษีกับเกมส์ในกลุ่มนี้อย่างไร (เนื่องจากบริษัทในไทยเป็นเพียงฝ่ายดูแลลูกค้า มิใช่บริษัทที่ซื้อเกมส์มาเปิดในไทยอีกทีเหมือนบริษัทในย่อหน้าที่แล้ว)
ถัดมาที่เรื่องของการซื้อเกมส์ในไทยกันบ้าง ปัจจุบันเรามักจะซื้อเกมส์ PC กันผ่านทางร้านค้าออนไลน์เช่น Steam, Uplay, Origin, Epic Game Store, G2A, ฯลฯ ซึ่งทุกร้านดังกล่าวข้างต้นนั้นล้วนมีฐานที่ตั้งของบริษัทอยู่ที่ต่างประเทศทั้งสิ้น แต่ในแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Sony มีฐานที่ตั้งบริษัทในไทย จึงน่าสนใจว่าจะมีการเก็บภาษีค่าเครื่อง อุปกรณ์การเล่นเกมส์ต่างๆ รวมถึงแผ่นเกมส์เพิ่มเติมมากน้อยเพียงใด และจะสามารถเรียกเก็บภาษีจากการซื้อเกมส์แบบดิจิตอลได้หรือไม่
ตัวอย่างการเก็บภาษีในการซื้อเกมส์แบบดิจิตอลผ่านทาง Nintendo eShop ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย จะแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐขึ้นอยู่กับรหัสไปรษณีย์ของที่อยู่ที่กรอกไว้
รูปประกอบจาก nintendonerds.com
จากรูปด้านบนจะเห็นได้ว่า ราคาเกมส์ 39.99 เหรียญสหรัฐฯ นั้น เป็นราคาเกมส์ที่ขายกันโดยทั่วไป การลดราคานั้น ร้านค้าก็จะใช้วิธีการลดราคาจากราคาเต็ม (39.99) เพื่อจูงใจลูกค้า แล้วค่อยบวกเพิ่มภาษีเข้าไปอีกทีหนึ่ง เป็นการผลักภาระภาษีให้กับผู้บริโภคโดยตรง แตกต่างจากการบวกในไทยที่ตัวเลขราคาสวยๆ นั้นรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปเรียบร้อยแล้ว (เช่น ราคาเกมส์ 1,690 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แต่บางเจ้าก็ขายแบบไม่บวกภาษี ต่อเมื่อต้องออกใบกำกับภาษีจึงจะมีตัวเลขภาษีปรากฎขึ้นในใบแจ้งหนี้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า Invoice)
ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเกมส์ถูกจัดเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีเหมือนสินค้าอื่นๆ ในอัตราร้อยละ 7 ของสินค้าชิ้นนั้นๆ เท่ากับว่า เกมส์ต่างๆ และสินค้าต่างๆ ในเกมส์เช่น สกิน ไอเท็ม ของสุ่ม จะแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ตัวอย่าง: เกมส์ราคา 1,690 บาท +vat 7 % (118.30) = 1,808.30 บาท เท่ากับเราต้องจ่ายเพิ่มมาราว 120 บาทเลยทีเดียว
สุดท้ายนี้ หากมีการเก็บภาษีเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาจริงๆ จากความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว กรมสรรพสามิตคงจะเรียกเก็บไม่เกินร้อยละ 7 จากราคาสินค้านั้นๆ (อาจเป็นร้อยละ 3, 5 หรือ 7 ก็ได้ตามตัวอย่างที่คำนวณ) เนื่องจากถ้าเรียกเก็บสูงกว่านี้ ทุกฝ่ายย่อมได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการประกอบการ ไปจนถึงผู้เล่นอย่างเราๆ ที่ต้องมาคิดแล้วคิดอีกว่าจะยอมจ่ายดีมั้ย คุ้มค่าหรือเปล่า เพราะขนาดทุกวันนี้ยังไม่มีภาษีในส่วนนี้ยังบริหารเงินไม่ทันเลย (ปัญหาการเงินส่วนตัวล้วนๆ)
|
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน |