ในวัยเด็ก เชื่อว่าเด็กหลายๆ คนจะต้องมีความอยากได้ อยากเล่น สิ่งที่ผู้ใหญ่เรียกกันว่า "เกมกด" กันเกือบทุกคน ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในเด็กเหล่านั้นเช่นกัน เมื่อโตมาชีวิตในวัยรุ่นของผมก็ยังมีความผูกพันกับเกมกดอยู่เสมอ จะกล่าวว่าผมเป็นเด็กติดเกมก็ไม่ผิดไปจากความจริงสักเท่าไหร่ แม้ว่าปัจจุบันนี้ ผมอาจจะไม่ค่อยได้เล่น "เกมกด" บ่อยเหมือนในอดีตแล้วก็ตาม
เมื่อผมลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับเกมกดบนโลกอินเทอร์เน็ต มันทำให้ผมรู้ว่ามันมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจทีเดียว และมีเครื่องเกมพกพามากมายที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อนหลายรุ่นอยู่ด้วย จึงเก็บมาฝากให้คุณผู้อ่านได้เสพย์กันอย่างสนุกๆ ลองอ่านกันดูครับ
เกม AUTO RACE ของบริษัท Mattel ได้รับการยอมรับว่าเป็น "เกมกด" เกมแรกของโลกที่ถือกำเนิดขึ้น
ตอนนั้น George J. Klose ผู้ที่เป็นวิศวกรฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เกิดไอเดียที่จะนำเอาโครงสร้างพื้นฐานของเครื่องคิดเลข มาดัดแปลงเป็นเครื่องแบบพกพา ซึ่งก็ออกมาเป็นเครื่องเกมพกพาตัวแรกของโลกในชื่อ Mattel Auto Race โดยเขาได้แรงบันดาลใจมาจากเกมแนวแข่งรถที่มีให้เล่นในเกมตู้อย่างดาษดื่นในยุคสมัยนั้น
ต้องบอกว่าเครื่องต้นแบบนั้นไม่มีแม้แต่ชิปประมวลผลเลย มันเป็นเพียงแค่แผงวงจรไฟฟ้าในการควบคุมไฟบนหน้าจอ LED เท่านั้น แต่หลังจากที่เขาสาธิตแนวคิดให้แก่บริษัทฟัง ทำให้มีการพัฒนาตัวเซอร์กิตบอร์ดขึ้นมาช่วยในการทำงาน โดยได้ความร่วมมือจากแผนก Microelectronics Division แห่ง Rockwell International ซึ่งในตอนนั้นถือเป็นผู้นำในการผลิตชิปในเครื่องคิดเลขมาช่วยพัฒนา
ตัวซอฟต์แวร์เกมเป็นฝีมือของ Mark Lesser วิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแผงวงจรแห่ง Rockwell International มาเป็นผู้เขียนโค๊ดของเกม Mattel Auto Race ให้ ซึ่งมันถูกเขียนด้วยภาษา Assembly ภายใต้เงื่อนไขที่ท้าทายมาก เพราะตัวเครื่องเกมนั้นมีหน่วยความจำแค่เพียง 512 bytes เท่านั้น
รูปแบบการเล่น
เกมนี้ไม่มีอะไรยาก ผู้เล่นจะต้องบังคับรถของตนเอง (ไฟกระพริบ) ที่อยู่แถวล่างสุดของจอ วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่อง 4 รอบให้ได้ โดยทุกครั้งที่วิ่งครบรอบหนึ่งรถจะเขยิบขึ้นไปแถวหนึ่ง ทั้งนี้ระหว่างการวิ่งก็จะมีอุปสรรคเป็นรถคันอื่นๆ ที่คอยขวางทางรถของเราด้วย
อย่างไรก็ตาม เกมจำกัดเวลาให้เราวิ่งครบ 4 รอบ ภายในเวลา 99 วินาที เท่านั้น ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนเกียร์เพื่อให้รถวิ่งเร็วขึ้นได้ โดยแลกมาด้วยความยากในการหลบอุปสรรค เพื่อให้เข้าเส้นชัยได้เร็วขึ้นนั่นเอง
ในปีถัดมา (ค.ศ. 1977) Mattel ได้เปิดตัวเกมที่สองออกมาในชื่อ Mattel Classic Football มันถูกผลิตออกมาไม่ถึง 100,000 เครื่องในช่วง 6 เดือนแรก ก่อนที่จะหยุดผลิตไป เนื่องจากทาง Mattel ไม่คิดว่ามันจะเป็นสินค้าขายดีสักเท่าไหร่ แต่ผลปรากฏว่ามันกลับขายดีมากกว่าที่คิด ทำให้ทาง Mattel ตัดสินใจผลิตเพิ่มอีกครั้ง ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามันทำยอดขายไปได้ทั้งหมดกี่เครื่อง แต่มีข้อมูลที่ระบุว่ามันเคบขายได้ถึง 500,000 เครื่อง ภายในสัปดาห์เดียว
ใครเห็นเครื่องนี้แล้วคุ้นๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะมันเป็นหนึ่งใน Easter egg ที่ปรากฏในหนังเรื่อง Guardian of the Galaxy ด้วยไงล่ะ
ที่มาภาพ : https://atariage.com/forums/topic/260483-microvision-review-of-us-system-all-11-games/
ในอดีต Milton Bradley เป็นบริษัทที่ผลิตบอร์ดเกมยักษ์ใหญ่ในประเทศอเมริกา (ถูก Hasbro ซื้อกิจการไปแล้ว) ในปี ค.ศ. 1979 ได้เปิดตัว Microvision เครื่องเกมพกพารุ่นแรกของโลกที่มีความสามารถในการเปลี่ยน "ตลับ" เพื่อเปลี่ยนเกมที่จะเล่นได้ ความเจ๋งคือ เมื่อเปลี่ยนตลับ ปุ่มกดในการควบคุมก็จะเปลี่ยนไปด้วย (ตัวปุ่มกดอยู่บนตลับเกมเลย)
Microvision เปิดตัวออกมาได้สวยงาม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก เนื่องจากปุ่มบนตลับมีความทนทานค่อนข้างต่ำ, หน้าจอที่เล็กมาก แถมความละเอียดแค่ 16x16 พิกเซล เท่านั้น และตลับที่พังง่ายมาก แค่โดนไฟฟ้าสถิตก็มีสิทธิ์พังแล้ว
อีกหนึ่งปัญหา คือ ตลอดระยะเวลาที่วางจำหน่าย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1979 - 1982 มีเกมออกมาให้เล่นทั้งหมดแค่เพียง 13 เกมเท่านั้น (Block Buster, Bowling, Connect Four,Shooting Star, Pinball, Mindbuster, Star Trek: Phaser Strike, Vegas Slots, Baseball, Sea Duel, Alien Raiders, Cosmic Hunter และ Super Block Buster) ทำให้มันหายไปจากท้องตลาดอย่างรวดเร็ว
รูปแบบการเล่น
ใครที่เคยเล่นเกมกดตามตลาดนัดที่ขายกันเครื่องละ 199 บาท ที่เกมจะเป็นจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีพวกมินิเกมแข่งรถ, เตอร์ติส ฯลฯ จะบอกว่าบรรพบุรุษของมันมาจาก Microvision ก็ได้ ไม่เชื่อเชิญชมคลิปด้านล่างนี้ดูได้เลย
ที่มาภาพ : https://www.pinterest.com/pin/864198615979870110/
กล่าวได้ว่าศัพท์ "เกมกด" นั้นน่าจะกำเนิดขึ้นเมื่อ Nintendo ได้เปิดตัวเครื่องเกมพกพา Game & Watch เป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1980 เครื่องเกมชนิดนี้เป็นหนึ่งในผลงานระดับขึ้นหิ้งของ Gunpei Yokoi นักออกแบบเกมที่ฝากฝีมือเอาไว้มากมายให้แก่ทาง Nintendo
Gunpei Yokoi ได้ไอเดียในการออกแบบ Game & Watch ในระหว่างที่เขาเดินทางบนรถไฟฟ้าแล้วเห็นคนหยิบเครื่องคิดเลขออกมากดเล่นเพื่อฆ่าเวลายามเบื่อ
Game & Watch เป็นเกมกดที่ใช้จอ LCD ในการแสดงผล หนึ่งเครื่องมีหนึ่งเกม มีตำแหน่งแสดงผลภาพที่ตายตัว นอกจากความสามารถในการเล่นเกมแล้ว มันยังสามารถใช้เป็นนาฬิกาได้ด้วย (ตามชื่อของมันนั่นเอง) เกมแรกที่ถูกเปิดตัว คือ Ball จากนั้นก็มีตามออกมาอีกหลายรุ่น โดยมีทั้งหมด 57 รุ่น
ในปี ค.ศ. 1982 ทาง Nintendo ได้เปิดตัว Game & Watch Multi Screen ที่มีดีไซน์เป็นฝาพับ และจอแสดงผล 2 หน้าจอ เป็นครั้งแรกโดยมีเกมที่เปิดตัว คือ Oil Panic (พฤษภาคม) และ Donkey kong (มิถุนายน) เกมกดรุ่นนี้ได้เป็นต้นกำเนิดของปุ่ม D-pad รุ่นแรก ซึ่งทุกวันนี้เรียกได้ว่าเครื่องเกมเกือบทุกชนิดในปัจจุบัน นิยมใช้ปุ่มรูปแบบนี้ในการควบคุมทิศทางของตัวละคร และดีไซน์ของเครื่องก็ได้กลายเป็นรากฐานให้กับเครื่องเกม Nintendo DS ในสมัยถัดมา
ความสำเร็จของ Game & Watch ทำให้มีบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย พัฒนาออกมาแข่งขันด้วย ที่นิยมเล่นกันก็อย่างเช่น Western Bar จาก Casio
แม้แต่ Bandai ก็ทำ Dragonball Z ออกมาให้เล่นกัน
ที่มาภาพ : https://handheldmuseum.net/Entex/SAG.htm
นี่เป็นหนึ่งในเครื่องเกมพกพาที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในยุคนั้น แต่ในบ้านเราน่าจะไม่เป็นที่รู้จักกันสักเท่าไหร่ และเส้นทางการทำตลาดของมันก็ไม่ได้ขาวสะอาดสักเท่าไหร่ด้วย
Entex เป็นบริษัทผลิตของเล่น และเครื่องเกมอิเล็กทรอนิกส์ที่ก่อตั้งในปี 1969 โดย Tony Clowes เขาใช้เวลาเพียง 10 ปีในการทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์ แต่ว่าความสำเร็จนี้เกิดขึ้นอย่างไม่ขาวสะอาดนัก
ในปี ค.ศ. 1977 ช่วงนั้น ความสำเร็จของเครื่องเกมจาก Mattel (เครื่องเดียวกับย่อหน้าบนนั่นแหละ) ได้กลายเป็นของเล่นสุดร้อนแรงที่เหล่าผู้ผลิตของเล่นให้ความสนใจในการแย่งเค้กในตลาดด้วย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1980 Enter ได้ตัดสินใจเปิดตัวเครื่องเกมพกพาเกมแรก โดยนำเอาเกม Space Invader ที่ขณะนั้นเป็นเกมสุดฮิตบนตามเกมตู้มาทำเป็นเกมแบบพกพา มันประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงขายได้กว่า 1,300,000 เครื่อง แน่นอนว่า Midway เจ้าของลิขสิทธิ์เกม Space Invader ไม่พอใจ และได้ฟ้องร้องไปยัง Entex แต่เนื่องจากกฏหมายในยุคนั้นยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ Entex สามารถจำหน่ายเกมนี้ "แบบพกพา" ได้โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินให้กับ Midway แม้แต่แดงเดียว และออกเกมใหม่ตามมาภายหลังหลายต่อหลายเกม เช่น Basketball 3, Football 4, Space Invaders 2 ฯลฯ
ต่อมาในปี 1981 Entex ตัดสินใจพัฒนาเครื่องเกมพกพาแบบเปลี่ยนตลับได้ (นับเป็นเครื่องเกมรุ่นที่สองนับจาก Microvision ที่สามารถใส่ตลับเพื่อเปลี่ยนเกมได้) ออกมาในชื่อ "Select-A-Game" โดยจำหน่ายมาพร้อมกับตลับเกม Space Invaders 2 และมีเกมอื่นๆ ให้ซื้อเพิ่มอีก 5 เกม
ปัญหา คือ Entex ได้ใจจากการชนะคดีฟ้องร้องของ Midway จึงนำเกมดังของ Miday อย่าง Galaxxian และ Pac-Man II มาทำเป็นตลับเกมเพื่อลงเครื่อง Select-A-Game แต่ครั้งนี้ผลออกมาไม่เหมือนเดิม ศาลสั่งให้ทาง Entex ห้ามจำหน่ายเกมดังกล่าว จากความล้มเหลวดังกล่าวทำให้ทาง Entex หมดความสนใจที่จะทำเกมใหม่ลงเพิ่ม และเลิกผลิตไปในที่สุด
ที่มาภาพ : https://videogamekraken.com/game-pocket-computer
โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่านี่เป็นเล่นเกมแบบพกพาที่ค่อนข้างน่าสงสารมากทีเดียว Game Pocket Computer (ในญี่ปุ่นจะเรียกว่า Pokekon) เป็นเครื่องเกมพกพาที่วางจำหน่ายแค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
Game Pocket Computer เป็นเครื่องเกมพกพาแบบเปลี่ยนตลับได้ที่พัฒนาโดยบริษัท Epoch ซึ่งต้องบอกเลยว่า เขาเป็นเจ้าตลาดของเครื่องเกมคอนโซลภายในบ้านเลยล่ะ เครื่อง Cassette Vision ของ Epoch ขายได้กว่า 400,000 เครื่อง ก่อนที่ NINTENDO จะเปิดตัวเครื่อง Famicom มาบุกตลาด และแย่งตลาดไปได้สำเร็จ
ด้วยความมั่นใจในเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือ Epoch ได้เปิดตัว Game Pocket Computer ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1984 โดยมีเกมออกมาด้วย 5 เกม คือ Astro Bomber, Block maze, Mahjong, Reversi และ Sokoban มีเกมในตัว 2 เกม ให้เล่นเวลาไม่ใส่ตลับด้วย คือ Slide puzzle และ Drawing tool
ว่ากันตามตรง Game Pocket Computer เป็นเครื่องเกมพกพาที่ล้ำมากในยุคนั้น มันสามารถแสดงผลได้ใกล้เคียงกับเครื่องคอนโซลอย่าง Cassette Vision และ Atari 2600 ผ่านหน้าจอขนาดใหญ่ความละเอียด 75x64 พิกเซล, มีปุ่มกดแบบ D-pad และปุ่มควบคุมอีก 6 ปุ่ม, แบตเตอรี่ที่สามารถเล่นได้ถึง 30 ชั่วโมง ทุกอย่างฟังดูดี แต่ปัญหา คือ เครื่องมันใหญ่มาก และไม่มีให้ปรับความดังเสียง มีแค่เปิดหรือเปิดเสียงไปเลย ทำให้มันมียอดขายที่ไม่ดีนัก และไม่มีตลับเกมออกมาเพิ่ม ทำให้มันหายไปจากตลาดอย่างเงียบๆ
ในที่สุดก็เดินทางมาจนถึงปี ค.ศ. 1989 เสียที ปีนี้เป็นปีที่สำคัญของประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นปีที่ Game Boy ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรก และประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายไปทั่วโลก เป็นของเล่นที่เด็กทุกคนในสมัยนั้นต้องงอแงอ้อนให้พ่อแม่ซื้อให้เล่น คนที่ออกแบบ และพัฒนา Game Boy ก็ไม่ใช่ใคร เป็นฝีมือของ Gunpei Yokoi ผู้ที่สร้าง Game & Watch นั่นเอง
ผมยังจำในตอนที่พ่อซื้อกลับมาให้ที่บ้านเป็นวันแรก ผมได้มันมาพร้อมกับเกม Super Mario Land แม้จะผ่านมานานมากแล้ว แต่ผมยังคงจดจำภาพโลโก้ Nintendo ลอยลงมาจากด้านบนของหน้าจอ พร้อมกับมีเสียงดัง "ติ๊ง" ได้อยู่เลย
ความรู้สึกแรกที่ได้เล่น Super Mario Land นั้นยอดเยี่ยมมาก เมื่อเทียบกับเครื่อง NINTENDO - Game & Watch ที่ผมเคยเล่นมาก่อน มันให้ความรู้สึกที่ดีไม่ต่างกับตอนที่ผมเล่นเกมบนเครื่อง NES เลยล่ะ แถมผมยังเล่นมันได้ทุกที่ โดยไม่ต้องทะเลาะแย่งทีวีกับคนที่บ้านอีกต่างหาก
อีกหนึ่งเกมที่น่าจดจำ คือ Tetris ที่เราสามารถซื้อสาย Game Link Cable มาเชื่อมต่อ Game Boy สองเครื่องเพื่อเล่นแข่งขันกับเพื่อนได้ด้วย มันเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากในตอนนั้น หรือการถือกำเนิดโคตรเกมอย่าง Pokemon ที่เราสามารถจับ Pokemon มาเทรด หรือต่อสู้กับเพื่อนได้ มันเป็นอะไรที่สดใหม่มาก ณ เวลานั้น
ในยุคของ Game Boy มีเกมออกมาให้เล่นทั้งหมดมากถึง 1,049 เกม และตัวเครื่องก็ขายไปได้ถึงประมาณ 200,200,000 เครื่องทั่วโลก
ว่ากันตามตรง Game Boy ไม่ใช่เครื่องเกมพกพาที่ทรงพลังมากนัก มีคู่แข่งที่ทำเครื่องเกมประสิทธิภาพสูงกว่ามาแข่งอยู่หลายราย จอของ Game Boy นั้นเป็นสีเขียว และแสดงเฉดสีได้เพียง 4 เฉด เท่านั้น, ระบบเกมก็เป็นแบบ 8 บิต หากเทียบกับคู่แข่งในช่วงเวลานั้น ที่ทำจอสีสวยงาม และใช้ระบบเกม 16 บิต ทำให้ Game Boy ดูล้าสมัยมากหากเทียบกับคู่แข่ง แต่ปรากฏว่าก็ไม่มีใครสามารถเอาชนะ Game Boy ได้เลย จุดแข็งของ Game Boy นั้นอยู่ที่ราคาถูกกว่าคู่แข่งมาก, แบตเตอรี่ที่เล่นได้อย่างยาวนานถึงประมาณ 10-15 ชั่วโมงต่อถ่าน AA 4 ก้อน และมีเกมให้เลือกเล่นมากมาย ทำให้ลบจุดอ่อนด้านฮาร์ดแวร์ตัวเครื่องที่แย่กว่าคู่แข่งไปได้ด้วยซอฟต์แวร์อย่างสวยงาม
Nintendo ขาย Game Boy รุ่นแรกนี้ได้นานถึง 7 ปีก่อนที่จะมีการวางจำหน่าย Game Boy Pockey ในปี 1996 โดยทำให้เครื่องมีความเบา และบางลง รวมถึงเปลี่ยนหน้าจอแสดงผลจาก Green screen มาเป็นจอแบบ Grayscale แต่ฮาร์ดแวร์ภายในยังคงเหมือนเดิมทุกอย่าง ถัดมาในปี 1998 Nintendo ก็เปิดตัว Game Boy Light ที่มีหน้าตาคล้ายกับ Game Boy Pocket แต่ใหญ่กว่าเล็กน้อย มีจุดเด่นตรงที่หน้าจอสามารถเปิดไฟ Backlight เพื่อเล่นในที่มืดได้
ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=gx53mKjedAs
ที่มาภาพ : https://retro-treasures.blogspot.com/2011/07/boxed-atari-lynx-ii-games.html
ต้องบอกเลยว่าผมไม่เคยเล่นเจ้าเครื่องเกมเครื่องนี้มาก่อน แต่ข้อมูลของมันก็น่าสนใจมากทีเดียว ผมว่าจุดล้มเหลวของมันมีความคล้ายคลึงกับ PS VITA ของ Sony เลยล่ะ
Lynx เป็นเครื่องเกมจาก Atari ที่พัฒนาขึ้นมาแข่งขันกับ Game Boy ของ Nintendo มันเป็นเครื่องเกมที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า Game Boy มาก และยังเป็นเครื่องเกมแบบพกพาเครื่องแรกของโลกที่ใช้จอสีในการแสดงผล ด้วยระบบการทำงานแบบ 16 บิต ทำให้กราฟิกของเกมมีความสดใส และดูดีกว่า Game Boy มาก นอกจากนี้ มันยังรองรับการเล่นมัลติเพลเยอร์ได้มากถึง 8 คน พร้อมกัน
เกมในระบบก็มีเกมดังหลายเกมที่ได้คะแนนรีวิวค่อนข้างสูง เส้นทางของ Lynx ดูแล้วก็น่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
แต่น่าเสียดายที่ Lynx กลับไปไม่รอดด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง อาจจะด้วยราคาที่แพงกว่า Game Boy ถึง 2 เท่า, แบตเตอรี่เล่นได้เพียง 4-5 ชั่วโมงต่อรอบ, ตัวเครื่องที่เทอะทะ และปัจจัยที่สำคัญเลย คือ นักพัฒนาไม่ให้ความสนใจในการพัฒนาเกมลง Lynx มากนัก
ในปี 1991 ทาง Atari พยายามแก้เกมด้วยการเปิดตัวเครื่องเกมรุ่นใหม่ Lynx II พร้อมกับแผนการตลาดใหม่หมด มันมาพร้อมกับกล่องที่ดูดี, ฮาร์ดแวร์ที่ดีขึ้น, เพิ่มอายุของแบตเตอรี่ และมีโหมดประหยัดพลังงานให้ผู้ใช้ปิดไฟของหน้าจอได้ แถมยังปรับราคาเหลือเพียง $99 จาก $179 (Game Boy ขายในราคา $89.95) แม้ว่าความพยายามในครั้งนี้จะทำให้ Lynx ขายดีขึ้น แต่ Nintendo ก็ได้ครองตลาดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนในที่สุดประมาณปี 1996 ทาง Atari ก็ยุติการพัฒนาเกมลง Lynx ลงทั้งหมด เป็นอันปิดฉากเครื่องเกมรุ่นนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
ที่มาภาพ : https://www.geekvintage.com/nec-turboexpress-portable.php
อีกหนึ่งเครื่องเกมทรงพลังที่ทำมาท้าชิงกับ Game Boy ผลิตโดย NEC บริษัทไอทียักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น จุดขายของเครื่อง Turbo Express คือ มันสามารถเอาตลับเกมของเครื่อง Turbgraphx 16 (เครื่องเกมคอนโซลของ NEC ที่ตอนนั้นทำมาแข่งกับ Sega Genesis และ Super Nintendo) มาเสียบเล่นแบบพกพาได้เลย ลองนึกภาพสิ เราสามารถเล่นเกมกราฟิกระดับเครื่องซุปเปอร์แบบพกพา ! เลยนะ
ตัวเครื่อง Turbo Express นั้นมีขนาดพอๆ กับ Game Boy แต่ว่ามีหน้าจอสีที่คมชัดมาก และสามารถต่ออุปกรณ์เสริมได้เพียบเพื่อใช้ดูทีวี, ฟังเพลงผ่าน CD หรือต่อจอยเกมได้ด้วย
แต่ปัญหาของมัน คือ จอแสดงผลคุณภาพสูงนั้นใช้พลังงานสูงมาก ด้วยถ่านถึง 6 ก้อน เราสามารถเล่นมันได้แค่เพียง 2-3 ชั่วโมง เท่านั้น แถมราคายังเปิดตัวมาแพงถึง $299.99 ทำให้มีผู้ปกครองแค่ไม่กี่คนที่จะอยากซื้อให้ลูกเล่น และก็เจ๊งไปอย่างรวดเร็ว
เล่าถึงประวัติศาสตร์เครื่องเกมพกพาแล้ว จะขาดเครื่องนี้ไปไม่ได้ แม้ว่า Game Gear จากค่าย Sega จะไม่ประสบความสำเร็จเท่า Game Boy แต่มันก็ทำยอดขายได้ดีทีเดียว และมีเกมสนุกๆ เพียบ
Game Gear เป็นเครื่องเล่นเกมแบบพกพา ที่มีฮาร์ดแวร์ใกล้เหมือนกับเครื่องคอนโซล Master System ของ Sega ในขณะนั้น แถมยังมีอะแดปเตอร์เพื่อให้เสียบตลับของเครื่อง Master System ให้เล่นบน Game Gear ได้ด้วย ว่ากันว่าแนวคิดในการพัฒนา Game Gear ตั้งต้นมาจากการสร้างเครื่องเกมพกพาที่มีหน้าจอแสดงผลดีกว่า Game Boy ของ Nintendo
ว่ากันตามตรง Game Gear ก็ทำออกมาได้ดีนะ แม้ว่าจะเป็นเครื่องเกมแบบ 8 บิต เหมือนกัน จอมีความละเอียดเท่ากัน แต่ด้วยภาพสีที่สดใส มันช่วยเพิ่มความสนุกได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ทาง Sega ยังมีขายอุปกรณ์เสริมที่ช่วยแปลง Game Gear ให้เป็นทีวีได้ด้วย
Game Gear เปิดตัวที่ราคา $149 ถือว่าไม่แพงมากนัก และมีเกมดีๆ ออกมาเพียบ โดยเฉพาะพวกเกม Sonic ส่วนตัวผมนั้นชอบเล่นเกม Yaiba, Shinobi และ Popils มากเลยล่ะ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของ Game Gear ก็ไม่พ้นเรื่องแบตเตอรี่ ที่เป็นปัญหาอย่างมากของเครื่องเกมพกพาจอสีในยุคนั้น ด้วยถ่าน AA ถึง 6 ก้อน มันสามารถเล่นได้เพียง 3-5 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ยอดขายก็ทำได้ไม่เลวนะ มันขายไปได้ทั้งหมดประมาณ 10,620,000 เครื่อง และเลิกผลิตไปในปี 1997
ที่มาภาพ : https://www.racketboy.com/retro/watara-supervision-a-beginners-guide
เจ้านี่มีชื่อว่า Supervision (หรือไม่ก็ Hypervision, Tiger Boy แล้วแต่ประเทศที่จำหน่าย) เป็นเครื่องเกมที่ว่ากันตามตรง คือ เครื่องที่ทำเลียนแบบ Game Boy ทื่อๆ เลย แต่ถ้าว่ากันตรงๆ ก็ทำสเปคดีกว่า Game Boy ของ Nintendo นิดหน่อยด้วย แถมราคายังถูกกว่า Game Boy เกือบครึ่ง เปิดราคามาแค่ $49.95
อย่างไรก็ตาม มันมาช้าไป ในยุคที่ Game Boy ครองตลาดไปแล้ว ทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะทำเกมลง ตลอดอายุของมันมีเกมออกมาทั้งหมด 65 เกม เท่านั้น เอาเป็นว่าลืมๆ เจ้าเครื่องนี้ไปเถอะ
อีกหนึ่งเครื่องเกมที่ไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรามากนัก มันมีชื่อว่า Mega Duck (หรือ Cougar Boy) ผลิตในฮ่องกง เริ่มวางจำหน่ายในปี 1993 แผงวงจรภายในมีความเหมือนกับเครื่อง Supervision ทำตลาดแค่ในบางประเทศ (เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, บราซิล และอเมริกา) และไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ มีตลับเกมออกมาให้ซื้ออยู่ทั้งหมด 37 เกม ซึ่งแต่ละเกมผมไม่รู้จักเลย T^T
ที่มาภาพ : https://www.nintendolife.com/news/2019/01/looks_like_retro-bit_is_resurrecting_segas_switch-like_handheld_the_nomad
หลังจากสงครามของเครื่องเกมพกพาเริ่มสงบลง เนื่องจากไม่มีใครล้มเจ้าตลาดอย่าง Game Boy ได้ Sega เป็นรายแรกที่ตัดสินใจท้าทายในตลาดนี้อีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวเครื่องเกมพกพา Sega Nomad มันเป็นเครื่องที่นำเอา Genesis เครื่องเกมคอนโซลแบบ 16 บิต มาทำเป็นเครื่องเกมแบบพกพา ซึ่งก็นับเป็นไอเดียที่ดี เนื่องจาก Genesis ในขณะนั้น มีเกมให้เลือกเล่นอยู่อย่างมากมายกว่า 500 เกม แถมยังสามารถต่อสายเขากับทีวีเพื่อเล่นบนจอใหญ่ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยดีไซน์ที่ใหญ่เทอะทะ และแบตเตอรี่ที่หมดอย่างรวดเร็ว ทำให้แม้ว่าทาง Sega จะลดราคาตัวเครื่องจนเหลือเพียง $79.99 แล้ว ก็ยังทำยอดขายได้ไม่ดีเท่าไหร่
ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Tiger-Game-Com-516-System-Games/dp/B009L5180G
Game.com ไม่ใช่ชื่อของเว็บไซต์เกม แต่เป็นชื่อของเครื่องเกมจากบริษัท Tiger Electronics มันมาพร้อมกับแนวคิดสวยหรูที่ต้องการผสมผสานเครื่อง PDA เข้ากับเครื่องเกมแบบพกพา หน้าจอแบบสัมผัสแถมมีปากกาสไตลัสให้ใช้ แต่น่าเสียดายที่ฮาร์ดแวร์ค่อนข้างแย่ และมีแต่เกมเห่ยๆ
ตัวมันเองสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ด้วยผ่านโมเด็ม 14.4 kbit/s แต่ไม่ช่วยอะไรต่อการเล่นเกมหรอกนะ มีไว้แค่เช็คอีเมล หรือเปิดดูเว็บในรูปแบบ Text ล้วนเท่านั้น แถมตัวเครื่องก็ใหญ่มาก 190x108x19 มม. ทำให้ไม่สะดวกต่อการพกพาเลยสักนิด
จากความล้มเหลวของ Game.com มันไม่ได้ทำให้ บริษัท Tiger ถอดใจ ในปี ค.ศ. 1999 ได้เปิดตัวเครื่องเกมรุ่นใหม่ Game.com.pocket.pro ปรับปรุงตัวเครื่องให้เล็กลงเหลือเพียง 140x86x 28 มม. แถมราคาแค่ $29.99 เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เมื่อไม่มีเกมแม่เหล็กดีๆ มาดึงดูดผู้เล่นให้ซื้อได้ สุดท้ายก็หายไปจากตลาดอย่างน่าเสียดาย
เครื่องเกมพกพาแบบ 16 บิต จากค่าย SNK ที่ผลิตเกมแนวไฟต์ติ้งออกมามากมาย เอาจริงๆ เจ้าเครื่อง Neo Geo Pocket นี้ผลิตออกมาได้ดีมาก ฮาร์ดแวร์ทำมาได้ดี เล่นได้ยาวนาน ไม่มีปัญหาด้านแบตเตอรี่ด้วย
ปัญหาของมันมีเพียงสองข้อเท่านั้น คือ หนึ่งเลย มันจำวางจำหน่ายแค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งอันนี้ปัญหารองเพราะเครื่องหิ้วก็มีขายถ้าอยากได้จริง แต่ปัญหาข้อที่สองของมัน คือ มีแต่เกมจากค่าย SNK ให้เล่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีแต่เกมแนวไฟต์ติ้งทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่ามันไม่สนุกหรอกนะ แต่นั่นก็ทำให้แข่งขันกับปู่นินยากหน่อยน่ะ
ถัดมาในปี ค.ศ. 1998 SNK ได้เปิดตัวเครื่องเกมรุ่นใหม่อีกครั้งในชื่อ Neo Geo Pocket Color ทำเป็นหน้าจอสี รองรับการเล่นเกมจากเครื่อง Neo Geo Pocket แถมคราวนี้มีการทำตลาดในต่างประเทศด้วย ทำให้ยอดขายดีกว่าเก่ามาก
แต่ปัญหาด้านการร่วมงานกับผู้พัฒนา 3rd-party ยังเหมือนเดิม ทำให้ยังคงมีแต่เกมจาก SNK เป็นหลัก แถมในตอนนั้น Pokemon กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รวมถึงผลกระทบจากคู่แข่งอย่าง Bandai ที่เปิดตัวเครื่องเกม WonderSwan และข่าวลือเรื่อง Gameboy Advance กำลังจะมา จัดว่าน่าเสียดายจริงๆ เพราะตัวเครื่องเกมทำมาดีทีเดียว
ที่มาภาพ : https://www.amazon.co.uk/Nintendo-GameBoy-Color-Purple-Console/dp/B00000J97G
หลังจากคู่แข่งทำเครื่องเกมพกพาจอสีออกมามากมาย ในที่สุดปู่นินก็อัปเกรด Game Boy อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก โดยออกมาเป็น Game Boy Color มีเกมดังอย่าง Pokemon ออกมาช่วยผลักยอดขายให้ดีสุดๆ และแม้ว่าหน้าจอจะไม่สดใส เพราะไม่มีไฟในหน้าจอ แต่ก็ทำให้มันยังคงมีแบตเตอรี่ที่เล่นได้อย่างยาวนานเหมือนเดิม แถมยังรองรับตลับเกมบอยรุ่นก่อนด้วย ทำให้มีเกมให้เลือกเล่นเพียบ ไม่น่าแปลกใจที่มันกวาดยอดขายไปได้กว่า 118,690,000 ล้านเครื่องทั่วโลก
WonderSwan เป็นเครื่องเกมที่โดยส่วนตัวแล้วผมว่ามันเจ๋ง และดีมาก มันเป็นผลงานการพัฒนาของ Gunpei Yokoi ชายผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของ Game Boy ซึ่งหลังจากเขาออกจาก Nintendo มาตั้งบริษัทของตนเอง Koto Laboratory ก็ได้ร่วมมือกับ Bandai ผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ สร้างเจ้าเครื่อง WonderSwan ออกมา
ดีไซน์ของ WonderSwan นั้นเจ๋งมาก สามารถเล่นได้ทั้งแนวตั้ง และแนวนอน โดยจอจะหมุนให้อัตโนมัติ แถมใช้ถ่าย AA เพียงก้อนเดียวในการทำงาน โดยเล่นได้ถึง 40 ชั่วโมง ต่อก้อน เปิดตัวมาในราคา 4800 เยน (ประมาณ 1,400 บาท) เท่านั้น
ตัวเครื่องทำงานแบบ 16 บิต ใช้หน้าจอ Grayscale ที่แสดงสีต่างกันได้ 8 ระดับ เมื่อดูที่ประสิทธิภาพในการทำงานของตัวเครื่อง, ราคา และอายุของแบตเตอรี่ รวมกับชื่อของ Gunpei Yokoi ทำให้ WonderSwan เป็นเครื่องที่น่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ต้องบอกว่า WanderSwan นั้นทำการบ้านมาดีทีเดียว มันมีเกมสนุกๆ ดังมากมายมาลงให้เล่นในระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่แข่งที่ผ่านๆ มา ไม่เคยทำได้ แม้ว่าจะไม่เทียบเท่ากับเกมบน Game Boy แต่ก็ถือว่ามีค่ายดังๆ มาทำเกมลงให้เยอะพอสมควร
ถัดมาในปี ค.ศ. 2000 Bandai ก็ได้ปล่อยเครื่องเกมรุ่นใหม่ออกมาเพิ่มจอสีในชื่อ WonderSwan Color ที่แม้แต่แบตเตอรี่จะเล่นได้นานน้อยลง แต่ก็ทำได้ถึง 20 ชั่วโมง ต่อก้อนอยู่ดี แถมทาง Bandai ไม่รู้ใช้กำลังภายในท่าไหน ถึงดึงให้ค่าย Square มาทำเกม Final Fantasy ลงเครื่อง WanderSwan ได้เป็นครั้งแรก นอกเหนือไปจาก Game Boy
ที่มาภาพ : https://videogamekraken.com/wonderswan_color_console_variations
และยังมีเกมดังๆ อีกมากมาย เช่น Chocobo no Fushigi na Dungeon for WonderSwan, Hunter × Hunter: Ishi o Tsugu Mono, Mobile Suit Gundam MSVS ฯลฯ โดยทั้งหมดจะเป็นเกมญี่ปุ่น เนื่องจาก Bandai ไม่มีแผนที่จะทำตลาดในต่างประเทศ
WanderSwan SwanCrystal เป็นเครื่องรุ่นสุดท้าย เปิดตัวตอนปลายปี 2000 โดยเปลี่ยนจอแสดงผลของ WanderSwan Color ให้เป็นจอ TFT LCD ที่แสดงสีสันได้สดใสมากขึ้น แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับ Game Boy Advance เครื่องเล่นเกมพกพาแบบ 32 บิต ที่เปิดตัวมาในเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม ยอดขายก็ทำได้ดีเลยทีเดียว โดย WonderSwan ทำยอดขายรวมไปได้กว่า 3,500,000 เครื่อง และตลับเกมรวมไปกว่า 10 ล้านตลับ
ที่มาภาพ : https://www.retrogamedude.com/reviews/nintendo-game-boy-advance-review/
หลังจากปล่อยให้ฮาร์ดแวร์ตามหลังคู่แข่งมานาน ในปี ค.ศ. 2001 ปู่นินก็ได้ปล่อยหมัดเด็ดออกมาพิฆาตคู่แข่งด้วย Game Boy Advance (GBA) เครื่องเล่นเกมพกพาแบบ 32 บิต ยกระดับความแรงของกราฟฟิกให้ดีกว่า Game Boy รุ่นก่อนแบบไม่เห็นฝุ่น
GBA ถูกพัฒนาให้เป็นเหมือนเครื่อง SNES แบบพกพา นั่นก็คือยังคงเน้นไปที่การเล่นเกมแบบ 2 มิติ แต่ในช่วงปี 2001 นั้น เกมแบบ 3 มิติ กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก การที่ปู่นินตัดสินใจทำเครื่องเกมพกพาแบบ 2 มิติ ออกจะดูล้าสมัยไปสักหน่อย แต่ขึ้นชื่อว่า Nintendo ฮาร์ดแวร์ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายอยู่แล้ว สิ่งสำคัญ คือ เกมที่มีให้เล่นต่างหาก ซึ่งบน GBA มีเกมสนุกๆ ให้เล่นมากมาย ที่ผมชอบมากก็อย่างเช่น THE LEGEND OF ZELDA: THE MINISH CAP, THE LEGEND OF ZELDA: A LINK TO THE PAST AND FOUR SWORDS, CASTLEVANIA: ARIA OF SORROW, METROID FUSION, FINAL FANTASY VI ฯลฯ ที่สำคัญ GBA รองรับการใช้งานตลับเกมจาก Game Boy รุ่นก่อนด้วยนะ ทำให้มีเกมเล่นเพียบ
ฮาร์ดแวร์ของ GBA สามารถเรนเดอร์โพลีกอนได้มากสุด 100 โพลีกอนพร้อมกัน ทำให้เกมส่วนใหญ่ที่พัฒนาลง GBA เลือกที่จะทำโมเดลของตัวละครเป็นโมเดล 3 มิติ ที่เคลื่อนที่ไปบนฉากรอบตัวที่เป็นภาพ 2 มิติ ซึ่งผลออกมาก็ดูดีอยู่นะ
GBA ใช้ถ่าน AA สองก้อนในการทำงานโดยเล่นได้ประมาณ 15 ชั่วโมง ถือว่าทำได้ดีทีเดียว แต่ว่ามันแลกมาด้วยข้อเสียใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง คือ หน้าจอที่คุณภาพแย่มาก หน้าจอของ GBA เป็นจอสีแบบ TFT ที่ไม่มีไฟ Backlit ทำให้ต้องเล่นในที่ที่มีแสงพอเหมาะเท่านั้น และอย่าได้คิดเอามันไปเล่นกลางแจ้งเด็ดขาด เพราะเราจะมองจอแทบไม่เห็นเลย
จากข้อเสียดังกล่าว ในปี ค.ศ. 2003 ปู่นินจึงเปิดตัว Game Boy Advance SP ออกมา ที่มีการปรับปรุงข้อเสียของ GBA ให้หมดไป ด้วยดีไซน์ใหม่แบบฝาพับทำให้พกพาง่ายมาก, หน้าจอมีไฟ Backlight เปิด/ปิดได้ และเปลี่ยนมาใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ Lithium ขนาด 700mAh แทน ชาร์จรอบหนึ่งเล่นแบบปิดไฟได้นานถึง 18 ชั่วโมง ถ้าเปิดไฟก็จะเล่นได้ 10 ชั่วโมง ถือว่าเล่นได้นานพอตัวเลย
ในปี ค.ศ. 2005 Nintendo ได้เปิดตัว GameBoy Micro มันเป็นเครื่องในตระกูล Game Boy Advance ที่เล็กที่สุด แต่แลกมาด้วยขนาดของหน้าจอที่เล็กลง และไม่รองรับการเล่นเกมด้วยตลับเกมรุ่นก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ยอดขายของรุ่นนี้ไม่ดีมากนัก เนื่องจากปู่นินเปิดราคามาเท่ากับ Game Boy Advance SP ที่มีจอใหญ่กว่า แม้ว่า GameBoy Micro จะพกง่ายกว่า แต่มันก็ไม่ได้เล็กกว่าจนมีนัยยะสำคัญ แถมเล่นตลับเกมรุ่นก่อนไม่ได้อีกต่างหาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่มีคนสนใจมันสักเท่าไหร่
ที่มาภาพ : https://www.genkivideogames.com/gameboy-micro-famicom-version-new-nintendo-nintendo-hardware/coxysga
ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=ozVvMexJOFI
ยุคนั้นต้องบอกว่า Nokia จับอะไร ก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด แต่ก็ยังไปไม่รอดเมื่อพยายามเข้ามาแบ่งเค้กในตลาดเครื่องเกมพกพา โดยชูดจุดเด่นด้วยการเป็นมือถือที่เล่นได้อย่างจริงจัง มีปุ่ม D-Pad และมีช่องใส่ตลับเกม มีความสามารถด้านมัลติมีเดียครบ จะดูหนัง, ฟัง MP3 ก็ทำได้ในเครื่องเดียว สามารถเล่นเกมมัลติเพลเยอร์แบบไร้สายผ่าน Bluetooth ได้ด้วย ถือว่าล้ำมากๆ
เกมที่มีให้เล่น มีออกมาทั้งหมดแค่ 65 เกม แต่ก็มีเกมดังๆ เพียบ เช่น Asphalt, Bomberman, Catan, Crash Nitro Kart, The Elder Scrolls Travels: Shadowkey, FIFA Football, Rayman 3, Tomb Raider ฯลฯ
ปัญหาของ N-GAGE นั้นมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะปุ่มกดที่กดยาก, ท่าโทรแบบตะแคงเครื่อง เอาสันแนบหู, เวลาจะเปลี่ยนตลับเกมต้องเปิดฝาด้านหลัง แถมตลับราคาแพงอีก แม้ตอนหลังจะออกรุ่นใหม่ N-GAGE QD ออกมาแก้ปัญหา แต่ก็ดันลดสเปคไปซะเยอะ สุดท้ายก็ต้องปิดฉากไปอย่างน่าสงสาร
หลายคนน่าจะไม่เคยได้ยินเครื่องเกมรุ่นนี้มาก่อน ตัวผมเองก็เพิ่งรู้ว่ามีจากการสืบค้นนี่แหละ เจ้าเครื่อง Gameking นี้กล่าวได้ว่าเป็นผลผลิตที่เกิดจากการ "ลอก" ปู่นิน จึงไม่ต้องแปลกใจที่หน้าตามันคล้ายกับ Game Boy Advance เป็นอย่างมาก
ในตอนนั้นกฏหมายในจีนจะมีความกีดกันทางการค้ากับต่างประเทศค่อนข้างเข้มงวด กว่า Nintendo จะสามารถวางจำหน่าย Game Boy Advance ในประเทศจีนได้ก็ต้องรอถึงปี ค.ศ. 2004 ด้วยการลงทุนร่วมกับบริษัทในจีนเป็นตัวแทนจำหน่าย (จะเรียกว่าอาศัยช่องโหว่ด้านกฏหมายก็ได้) แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็มีเกมที่ผ่านเข้าไปจำหน่ายอย่างเป็นทางการแค่เพียง 8 เกม เท่านั้น
บริษัท Guangzhou Daidaixing Electronics Tech ที่ตอนนั้นผลิตของเล่นเด็กอยู่ เห็นโอกาส และตัดสินใจลงทุนพัฒนาเครื่องเกมพกพามาทำตลาดในจีน และฮ่องกงที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งกฏหมายแบนไปไม่ถึง โดยพัฒนาทั้งเครื่อง และเกมเอง อย่างไรก็ตามหลายๆ เกมนั้น เหมือนลอกเกมของเครื่อง Game Boy มาทื่อๆ เลย
Gameking มีออกมาหลายรุ่นมาก เรียกได้ว่าถี่สุดๆ และก็มีเกมออกมาเพียบ แม้ว่าเกมส่วนใหญ่จะลอกมาจากเกมของชาวบ้านก็ตาม รุ่นสุดท้ายที่ชื่อว่า Gameking II - The GM-222 ออกในปี ค.ศ. 2006 ก่อนที่จะตายหายไปจากท้องตลาด
Nintendo เปิดตัว Nintendo DS ในปี 2004 เป็นเครื่องเกมพกพาที่มีดีไซน์คล้ายกับ Game Boy Advance SP มีจุดเด่นตรงที่มี 2 หน้าจอ โดยจอล่างเป็นแบบสัมผัส ทำให้สามารถออกแบบเกมที่มีวิธีการเล่นแตกต่างจากอดีต และคู่แข่งในขณะนั้นเป็นจุดขายสำคัญ
Nintendo DS อัดเทคโนโลยีเอาไว้ภายในเครื่องมากมาย มี Wi-Fi ในตัวที่สามารถใช้เล่นเกมแบบออนไลน์ หรือแข่งขันกับเพื่อนได้โดยไม่ต้องใช้สายในการเชื่อมต่อเหมือนในอดีต ที่สำคัญมันยังรองรับการเล่นเกมด้วยตลับ Game Boy Advance ได้อีกด้วย ในด้านของกราฟฟิกก็อัปเกรดให้สวยงามขึ้นกว่าเดิมเยอะ แม้จะยังใช้ระบบ 32 บิต ในการทำงานเหมือนเดิมก็ตาม
ในปี 2006 ปู่นินได้เปิดตัว Nintendo DS Lite ที่มีดีไซน์บาง และเบากว่าเดิม แถมยังปรับปรุงหน้าจอให้มีความสว่างมากขึ้น หลังจากนั้นสองปี ค.ศ. 2008 ปู่นินก็ยังคงใช้ท่าเดิม "เหล้าเก่าในขวดใหม่" เปิดตัว Nintendo DSi ที่มีหน้าตาเครื่องแทบจะเหมือนเดิม แต่ว่าหน้าจอใหญ่ขึ้นเป็น 3.25 นิ้ว (จากเดิม 3 นิ้ว) และมีกล้องความละเอียด 0.3MP เพิ่มเข้ามา และยังรองรับการเชื่อมต่อกับ Nintendo DSi Shop ได้ด้วย
และในปี 2009 ปู่ก็ได้เปิดตัว Nintendo DSi XL (หากเป็นเครื่องญี่ปุ่นจะใช้ว่า LL) ที่มีตัวเครื่อง และหน้าจอใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มุมมองภาพก็กว้างขึ้นมาก แต่ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบวัสดุของรุ่นนี้เท่าไหร่ ที่จับแล้วเป็นพลาสติกเกือบทั้งเครื่อง
ที่มาภาพ : https://www.nintendolife.com/news/2010/10/gamers_can_now_pre_order_the_limited_edition_red_dsi_xl
ในแง่ของความสำเร็จแล้ว Nintendo DS เป็นเครื่องเล่นเกมแบบพกพาที่ขายดีที่สุดโลก ด้วยยอดขายรวมทุกรุ่นมากถึง 154,020,000 เครื่อง และเป็นเครื่องเกมที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับสอง โดยเป็นรองแค่เครื่อง PlayStation 2 ของ Sony ที่ขายได้ถึง 155,000,000 เครื่อง
Cooking Mama หนึ่งในเกมสุดฮิตของ NDS ที่หลายๆ คนชื่นชอบ
และแล้วก็เดินทางมาถึงเครื่องเล่นเกมแบบพกพา ที่ผมคิดว่าต่อกรกับ Nintendo ได้อย่างสูสีที่สุดแล้ว แม้ว่าสุดท้ายยอดขายจะพ่ายแพ้ต่อ Nintendo DS ก็ตาม แต่มันก็ทำยอดขายได้ดี และได้รับความนิยมมากทีเดียว กวาดยอดขายไปได้ทั่วโลกกว่า 82 ล้านเครื่อง
ตอนที่ Sony เปิดตัว PlayStation Portable นั้น เป็นกระแสที่ฮือฮามาก ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ PlayStation 1 และ PlayStation 2 นั้นได้รับความนิยมสูงมาก ทำให้การมาของ PSP เป็นอะไรที่แฟนๆ ต่างตื่นเต้นกันมาก ลองดูความ Hype ของแฟนๆ ตอนเปิดตัวในงาน E3 เมื่อปี 2004 ในคลิปด้านล่างนี้ดูสิ
ต้องบอกว่า Sony ใส่ทุกอย่างเข้าไปใน PSP ให้แบบไม่มีกั๊กเลย หน้าจอขนาดใหญ่ เล่นเกม 3 มิติ ได้ในคุณภาพใกล้เคียงกับ PlayStation 2, รองรับการฟังเพลง, ดูหนังได้หลากหลายนามสกุล, เปิดดูภาพ, ดูทีวี ฟังวิทยุ และเล่นอินเทอร์เน็ตได้ด้วย แบตเตอรี่ที่เล่นได้ประมาณ 3-6 ชั่วโมง ถือว่าทำได้ดีเมื่อเทียบกับคุณภาพของกราฟฟิกในตัวเกมที่ได้รับ
God of War: Ghost of Sparta หนึ่งในเกมยอดเยี่ยมบน PSP
นอกจากเรื่องเกมแล้ว เนื่องจาก PSP ใช้แผ่น UMD เป็นสื่อบันทึกเกม ทาง Sony ได้ไปดีลกับค่ายหนังให้ผลิตภาพยนตร์ออกมาในรูปแบบ UMD ด้วย แม้ว่าจะไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไหร่ แต่ก็มีหนังออกมาหลายเรื่องให้เก็บสะสมเหมือนกันนะ
ที่มาภาพ : https://atariage.com/forums/topic/220662-psp-umd-movies-who-collects-these/
หลังจากเปิดตัว PSP รุ่นแรกได้ 3 ปี ในปี 2007 ทาง Sony ได้เปิดตัว "PSP Slim & Lite" หรือที่บางคนเรียกตามชื่อรุ่นว่า PSP-2000 ที่จับรุ่นแรกมาลดน้ำหนัก ทำให้บางเบามากขึ้น มีช่อง Video-out ให้ต่อเล่นกับทีวีได้ และสามารถชาร์จแบตเตอรี่ผ่านพอร์ต USB ได้แล้ว ฮาร์ดแวร์ก็มีการเปลี่ยนจอใหม่ที่สว่างมากกว่าเดิม และเพิ่มแรมในตัวจาก 32 MB เป็น 64 MB เพื่อให้เล่นเกมได้ลื่นมากยิ่งขึ้น
ในปี 2008 Sony ได้เปิดตัว PSP-3000 ซึ่งเหมือนกับ PSP-2000 เกือบทุกประการ แต่อัปเกรดหน้าจอให้ดีขึ้น สว่าง และแสดงสีสวยกว่าเดิม และก็เพิ่มไมโครโฟนเข้ามาในตัว เอาไว้สำหรับใช้สนทนาผ่าน Skype ได้ด้วย
ที่มาภาพ : https://www.giantbomb.com/images/1300-1252068
ต่อมาในปี 2009 ทาง Sony ก็ได้ออก PSP รุ่นใหม่ในชื่อ PSP Go ซึ่งเป็นหนึ่งในก้าวที่ผิดพลาดของ Sony เลย เรามาว่าข้อดีของมันก่อน Sony ออกแบบเครื่องใหม่หมดเป็นแบบสไลด์แทน ทำให้เครื่องเล็กลงกว่าเดิมมาก แถมยังตัดไดร์ฟ UMD ออก ทำให้น้ำหนักเบากว่าเดิมด้วย โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีดาวน์โหลดเกมลงเครื่องผ่าน PlayStation Store หรือ PlayStation 3 แทน
ส่วนข้อเสียของมันเลยก็คือการตัดไดร์ฟ UMD ออกไปนี่แหละ แถมตั้งราคามาแพงมาก ถูกกว่า PS3 ในขณะนั้นแค่ไม่กี่บาท ปุ่มกด และอนาล็อกมันก็ยากกว่ารุ่นธรรมดา จึงไม่น่าแปลกใจที่รุ่นนี้ขายไม่ออก แม้ว่า Sony จะลดราคาเครื่อง และแถมเกมฟรีให้อีก 10 เกม แล้ว ทำให้ในที่สุดก็เลิกผลิตไปอย่างไม่น่าสงสัย
ปลายปี 2011 Sony ยังมีความพยายามต่อสู้กับ Nintendo ด้วยการเปิดตัว PSP Street (PSP E-1000) ซึ่งเป็นรุ่นประหยัด ตัด Wi-Fi และลำโพงออกไปข้างเปิดตัวในราคาแค่ $99 เพื่อหวังแย่งตลาดจาก Nintendo 3DS ที่เปิดตัวในปีเดียวกัน แต่แน่นอนว่า แย่งตลาดไม่สำเร็จ
ที่มาภาพ : https://www.ebgames.ca/3DS/Games/310847
ในปี 2011 ที่คู่แข่งอย่าง Sony เริ่มจะแผ่วปลายไปแล้ว ปู่นินก็ส่งหมัดเด็ดออกมาด้วยการเปิดตัว Nintendo 3DS ซึ่งมันได้กลายเป็นหมัดเด็ดในการตอกฝาโลงคู่แข่งให้จมดินว่าข้านี่แหละ คือ เบอร์หนึ่งของวงการเครื่องเกมพกพาอย่างแท้จริง
Nintendo 3DS มีดีไซน์ไม่ต่างจาก Nintendo DS มากนัก แต่ว่าหน้าจอด้านบนจะสามารถแสดงผลภาพ 3 มิติ ได้โดยไม่ต้องสวมแว่นตา (ถึงจะมีไม่กี่คนที่เปิดโหมด 3D ตอนเล่นก็เถอะ เพราะหากละสายตาแค่แว้บเดียว กลับมามองอีกที จะต้องใช้เวลาจับโฟกัสภาพใหม่ชั่วขณะหนึ่ง) และบนตัวเครื่องก็จะมีปุ่มอนาล็อกเพิ่มเข้ามาด้วย เป็นการแสดงความยืนยืนว่า เครื่องเกมรุ่นนี้จะเอาจริงด้านเกม 3 มิติ บ้างแล้ว แถมยังมีกล้องในตัวสำหรับถ่ายภาพ 3 มิติ ได้ด้วย
ซอฟต์แวร์ภายในตัว Nintendo 3DS ก็หันมาส่งเสริมระบบออนไลน์มากกว่าเก่า สามารถเล่นอินเทอร์เน็ต, ดู Netflix, YouTube, ซื้อเกมผ่าน Nintendo eShop และมี Social network ของตัวเองที่ชื่อว่า Miiverse ให้ใช้งานด้วย
ปีถัดมา ค.ศ. 2012 ปู่นินก็เปิดตัว Nintendo 3DS XL ที่มีตัวเครื่อง และหน้าจอขนาดใหญ่ขึ้น และแบตเตอรี่ที่อึดกว่าเดิมออกมา แต่สเปคที่เหลือยังเหมือนเดิมทุกประการ
ที่มาภาพ : whttps://www.cinemablend.com/games/Pokemon-X-Y-3DS-XL-Bundles-Now-Stores-59480.html
ปี 2013 ปู่นินมีการเปิดตัว 2DS ซึ่งเป็น 3DS รุ่นประหยัด ตัดหน้าจอ 3 มิติ ออกไป อย่างไรก็ตาม รอบๆ ตัวผม ยังไม่เคยเห็นใครซื้อรุ่นนี้มาเล่นนะ อาจจะด้วยเครื่องที่ดูใหญ่ และราคามันไม่ได้ถูกกว่ามากเท่าไหร่นัก (ในบ้านเรา)
ที่มาภาพ : https://www.bestbuy.com/site/nintendo-2ds-super-mario-maker-edition
ช่วงบั้นปลายของ 3DS ทาง Nintendo ได้มีการออกรุ่นใหม่มาปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มแรมจาก 128 MB FCRAM @ 3.2GB/s เป็น 256 MB FCRAM @ 6.4GB/s, เพิ่มความเร็ว CPU จาก 268 MHz dual-core เป็น 804 MHz quad-core และใส่อนาล็อกขวาเข้ามา ทำให้เครื่องทำงานได้เร็วกว่าเดิมหลายเท่า และเปิด 3D ได้ลื่นกว่าเก่า (ใครเคยเล่น Pokemon แล้วเปิด 3D ตอนต่อสู้แบบทีมจะเข้าใจ
แม้ PSP จะมียอดขายพ่ายแพ้ NIntendo DS ไป แต่มันก็ไม่ได้แพ้อย่างน่าเกลียดมากนัก ดังนั้นเมื่อ Nintendo เปิดตัว 3DS ทาง Sony ก็ไม่รอช้าที่จะเข็น PS Vita ตามมาติดๆ มันสานต่อดีไซน์มาจาก PSP Slim ที่ประสบความสำเร็จที่สุด อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำที่สุด ณ เวลานั้น ถ้ามองกันที่สเปคอย่างเดียวต้องบอกว่า มันแรงกินขาด Nintendo 3DS ไปไกลมาก
PS Vita มาพร้อมกับหน้าจอสัมผัสขนาด 5 นิ้ว แบบ OLED ที่แสดงสีสันได้ดีมากๆ มีปุ่มควบคุมให้มาเพียบ เพื่อรองรับการเล่นได้ทุกประเภท รองรับทั้ง Bluewooth, Wi-Fi และ 3G เพื่อการเชื่อมต่อที่สมบูรณ์แบบ หรือจะต่อกับเครื่อง PlayStation 4 เพื่อเล่น Remote Play ก็ได้ กราฟฟิกของเครื่องก็มีคุณภาพใกล้เคียงกับ PlayStation 3 ทุกอย่างของ PS Vita ดูสมบูรณ์แบบไปเสียหมด มันเปิดตัวมาพร้อมกับเกมดีๆ อย่าง Uncharted: Golden Abyss
แม้ว่าทาง Sony จะพยายามกระตุ้นยอดขายด้วยการออกรุ่นใหม่ PS Vita Slim ในปี 2013 ที่มีความบาง และเบากว่าเดิม แต่ดันลดสเปคเอาจอ OLED ออกใส่จอ LCD ที่คุณภาพต่ำกว่ามาแทน และยังมี PlayStation Vita TV กล่องสำหรับต่อทีวีเพื่อเล่นเกมของ PS Vita ได้ออกมาในปีเดียวกัน แต่ยอดขายของ PS Vita กลับเรียกได้ว่า "เจ๊ง" USGamer ได้คาดการณ์ว่าจนถึงช่วงปลายปี 2018 ยอดขายทั่วโลกทำได้เพียง 16 ล้านเครื่องเท่านั้น
มีการวิเคราะห์สาเหตุของการเจ๊งนี้มาจากแผนการตลาดของ Sony ที่วางมาอย่างผิดพลาดตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่ที่เลือกใช้หน่วยความจำแบบเฉพาะที่แพงหูฉี่ แทนที่จะใช้ SD Card เหมือนชาวบ้าน, ไม่มีเกมดีๆ ลงเครื่องสักเท่าไหร่ เต็มไปด้วยเกมอินดี้ที่ไม่สามารถจูงใจผู้เล่นให้หันมาซื้อได้ รวมถึงผู้เล่นรู้สึกว่า PS Vita เป็นเพียงอุปกรณ์เสริมของ PlayStation 4 เท่านั้น
ส่วนตัวผมเองก็เสียดายเจ้าเครื่อง PS Vita อยู่ไม่น้อยนะ เพราะเกมดีๆ ที่ลง หลายเกมจัดว่าสนุกมาก ตัวเครื่องมันมีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว ขาดก็แต่เกมเท่านั้นที่ดันมีให้เล่นน้อยมาก อย่างเกม Persona 4 Golden นี่ บางคนถึงกับยอมซื้อเพื่อเอามาเล่นเกมนี้เพียงเกมเดียวเลยด้วยซ้ำ
หรือเกม Gravity Rush ก็เป็นอีกหนึ่งเกมที่ยอดเยี่ยมมากบน PS Vita ดีทั้งเกมเพลย์ และกราฟฟิกเลยล่ะ
แม้ว่าเครื่องเกมพกพา ฝั่ง Nintendo จะครองตลาดมาได้อย่างยาวนาน แต่ฝั่งเครื่องคอนโซล ปู่นินกลับเสียท่า Sony อย่างย่อยยับ โดยเครื่องคอนโซลที่ขายดีที่สุดของปู่คือเครื่อง Wii แต่นอกนั้นอย่าง Wii U, Game Cube, Nintendo 64 กลับทำยอดขายได้ไม่สวยเท่าไหร่นัก
แต่ในที่สุดปู่นินก็เหมือนจะจับทางของตนเองได้สักที Nintendo Switch เป็นเครื่องเกมแบบลูกผสม เล่นได้ทั้งแบบคอนโซล และพกพา สเปคอาจจะไม่ได้แรงมาก แต่ก็พกไปเล่นได้ทุกที่ แถมยังถอดจอยออกมาเล่นกับเพื่อนได้สูงสุดถึง 4 คน ต่อเครื่องเดียว
เปิดตัวมาพร้อมกับเกมยอดเยี่ยมแห่งปี The Legend of Zelda: Breath of the Wild และก็มีเกมให้เล่นอีกเพียบ เปิดตัวรัวๆ ทำให้ตอนนี้ขายได้กว่า 34,740,000 เครื่องแล้วภายในเวลาแค่ประมาณ 2 ปี เท่านั้น
ในตอนนี้ตลาดเครื่องเกมพกพา คงไม่มีใครเข้ามาแข่งกับ Nintendo Switch ในเร็วๆ นี้ แม้จะมีข่าวลือว่า Sony กำลังซุ่มทำเครื่องเกมพกพารุ่นใหม่ออกมาเช่นกัน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานอะไรหลุดออกมา
ตอนนี้หากจะมีใครที่ปู่นินหวั่นกลัวอยู่บ้างล่ะก็ คงจะเป็นสมาร์ทโฟนนี่แหละ ตอนนี้เกมบนมือถือเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนก็มีมือถือกันอยู่แล้วด้วย แถมรายได้ของเกมมือถือก็ลงทุนน้อย กำไรเยอะเสียด้วยสิ จนแม้แต่ปู่นินเองก็เริ่มหันมาทำเกมลงสมาร์ทโฟนบ้างแล้ว
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |