ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

RAZR V3 มือถือที่แหกกฏของ Motorola จนประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนาน

RAZR V3 มือถือที่แหกกฏของ Motorola จนประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนาน

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 9,841
เขียนโดย :
0 RAZR+V3+%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%8F%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87+Motorola+%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2004 สามปีก่อนที่ Apple จะเปิดตัว iPhone ยุคนั้นมือถือมีดีไซน์ที่หลากหลายมาก ต่างจากสมัยนี้ที่ดีไซน์ก็คล้ายกันหมด แต่มีมือถืออยู่รุ่นหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีดีไซน์ที่โดดเด่นที่สุด สวยงามข้ามกาลเวลา ถือกำเนิดขึ้น ความสำเร็จของมันทำให้นิตยสาร TIME ถึงกับใส่มันเอาไว้ในการจัดอันดับ 100 แกดเจ็ตที่ยอดเยี่ยม และทรงอิทธิพลที่สุด (จัดอันดับโดยนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1923) นั่นก็คือ Motorola RAZR V3

RAZR V3 มือถือที่แหกกฏของ Motorola จนประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนาน
ภาพจาก https://www.theverge.com/2013/10/3/4798828/status-symbol-motorola-razr

ในด้านคุณสมบัติของตัวมันแล้ว Motorola RAZR V3 ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมสมัยมากนัก แต่มันโดดเด่นด้วยการออกแบบตัวเครื่องที่ดูหรูหรา และล้ำสมัยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ราคาเปิดตัวในบ้านเรา 32,900 บาท ที่จัดว่าสูงมาก มือถือในยุคนั้นส่วนใหญ่อยู่ในหลักพันแล้ว ขนาด Nokia 7610 รุ่นใบไม้สุดไฮโซที่เปิดตัวเวลาไล่เลี่ยกัน ยังอยู่แค่ประมาณ 21,000 บาท เท่านั้น กล่าวได้ว่าในสมัยนั้น Motorola RAZR V3 สามารถบ่งบอกถึงความเป็นแฟชั่น และฐานะได้เลยล่ะ

แม้เวลาจะผ่านมากว่าสิบปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าก็ยังมีแฟนๆ ที่อยากให้มี Motorola RAZR V4 เกิดขึ้น ซึ่งมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในยุคที่มือถือฝาพับได้ตายไปแล้ว แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้เมื่อตอนนี้มีมือถือที่ใช้เทคโนโลยีจอแสดงผลแบบพับได้วางขายในตลาด อีกทั้งในปี 2018 ได้มีคนตาดีไปเจอ Motorola แอบจดสิทธิบัตรมือถือฝาพับที่ใช้หน้าจอแบบพับได้ ทำให้ความหวังที่เราจะได้เห็น RAZR V4 มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจริง


วิดีโอคอนเซปส์ของ RAZR V4 มีจำนวนคนดูมหาศาล แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้ใช้ที่ยังคงคิดถึง RAZR

ระหว่างนี้ เราอยากจะแนะนำให้คุณผู้อ่านได้รู้จักกับ Motorola RAZR V3 ในเรื่องที่คุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน เนื่องจากมันมีความเป็นมาที่น่าสนใจมากทีเดียว เพราะตามแนวทางธุรกิจของ Motorola ในขณะนั้น การพัฒนามือถือรุ่นนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะเจ๊ง ทำให้มันเป็นโครงการลับของทีมวิศวกรหัวดื้อที่แอบทำกันเอง ด้วยงบประมาณที่แอบซุกซ่อนเอาไว้ในโครงการอื่นๆ เริ่มน่าสนใจแล้วใช่ไหมล่ะ ถ้าอยากรู้ล่ะก็ เชิญอ่านต่อได้เลย


จุดเริ่มต้นของ Motorola RAZR V3

Paul Pierce หัวหน้าทีมออกแบบ และแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนา Motorola RAZR V3 ได้เผยว่าตอนนั้น (ปี ค.ศ. 2003) สถาปัตยกรรมในการออกแบบชิปเซ็ตได้เข้าสู่ช่วงก้าวกระโดด ฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นต่างๆ ของมือถือสามารถรวมการทำงานเอาไว้ในชิปเซ็ตได้ ทำให้โครงสร้างภายในมือถือสามารถลดเหลือเพียงแค่แผ่นวงจรกับแบตเตอรี่ แต่คำว่า "บางกว่าเดิม" มันไม่ตอบโจทย์ของ Paul Pierce สำหรับเขา (และทีม) ในตอนนั้น เป้าหมายคือ "บางที่สุด" โดยที่ต้องไม่ลดทอนคุณภาพในการใช้งานอื่นๆ ลง ซึ่งนั่นเอง ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการดีไซน์ที่กลายเป็น Iconic (ความโดดเด่น) ของ RAZR

อย่างไรก็ตาม กว่าจะทำได้มันไม่ง่ายอย่างที่คิด Motorola ในตอนนั้นมีกฏเหล็กที่รู้จักกันในชื่อ "M-Gates" ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไรก็ตาม สิ่งนั้นจะต้องมีกระบวนการ, กำหนดการ และเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้นมันจะไม่มีโครงการไหนไปต่อได้หากบริษัทมองไม่เห็นโอกาส และประเมินความเสี่ยงได้ ซึ่งเวลานั้นทาง Motorola ยึดถือกระบวนการเป็นหลักยิ่งกว่าขั้นตอนการวิศวกรรม หรือแผนการตลาดเสียอีก

ด้วยกฏ M-Gates ทำให้ในหนึ่งปี Motorola สามารถเริ่มโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ประมาณ 50 ชิ้นต่อปีเท่านั้น โดยในจำนวนนี้รวมถึงผลิตภัณฑ์หลักที่มีอยู่แล้วประมาณ 30 ชิ้น ซึ่งเป็นพวกการอัปเดตสินค้าที่มีอยู่เดิม และการพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมในแต่ละภูมิภาคที่สินค้าวางจำหน่าย

สำหรับการออกแบบมือถือรุ่นใหม่ขึ้นมานั้น มีเงื่อนไขอยู่ว่า ต้องเป็นมือถือที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วว่าผู้ให้บริการเครือข่ายกว่า 800 ราย ทั่วโลกจะให้ความสนใจ (ในอดีตมือถือจะขายผ่านผู้ให้บริการเท่านั้น มีการล็อกเบอร์ซิมกับ IMEI เครื่องให้ใช้งานได้กับเครือข่ายที่กำหนดไว้), ทำกำไรได้เยอะ และขายได้อย่างน้อย 3 ล้านเครื่องทั่วโลก

RAZR V3 มือถือที่แหกกฏของ Motorola จนประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนาน
ภาพจาก https://www.theverge.com/2013/10/3/4798828/status-symbol-motorola-razr

Simon Rockman ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ประสบการณ์ (Creative experience) ของ Motorola เขาไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนา RAZR แม้แต่นิดเดียว แต่เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมการประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่า "RAZR" จะได้เริ่มทำหรือเปล่า? มันเป็นการประชุมภายในของ Motorola ที่ไม่มีตัวแทนจากผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเข้าร่วมด้วย 

เขาได้เล่าว่า ทีมที่เสนอโครงการ RAZR ตั้งเป้ายอดขายเอาไว้ที่ 800,000 เครื่องเท่านั้น ทำให้มันไม่น่าจะฝ่าด่าน M-gates ไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าเครื่อง RAZR นี้ยังผลิตยากมากอีกด้วย การออกแบบเสาสัญญาณให้ได้ตามสเปคที่ต้องการเป็นเรื่องที่ท้าทายวิศวกรรมในขณะนั้น, จอด้านนอกบนฝาพับก็ต้องทำเป็นจอขาวดำแบบ Monochrome ถ้าไม่ต้องการให้มันมีความนูนยื่นออกมา แม้แต่แป้นตัวเลขโลหะแบบฝังที่ดีไซน์ขึ้นมาเป็นพิเศษ มีซัพพลายเออร์ที่สามารถผลิตได้เพียงรายเดียว ซ้ำยังมีกำลังการผลิตต่ำอีกต่างหาก ไหนจะราคาที่ถูกตั้งเอาไว้สูงถึง $1,000 แถม Simon Rockman ยังมารู้ในภายหลังอีกว่า ที่จริงแล้วทีมพัฒนา RAZR ตั้งเป้ายอดขายเอาไว้แค่เพียง 300,000 เครื่องเท่านั้น แน่นอนว่าการประชุมในครั้งนี้จบลงที่โครงการนี้ถูกเขี่ยทิ้ง อย่างไรก็ตาม แม้ที่ประชุมจะลงมติไม่ผ่านการอนุมัติ แต่มันก็ไม่อาจหยุดยั้งวิสัยทัศน์ของสองชาย Geoffrey Frost และ Roger Jellicoe ได้ 

Frost เป็นนักการตลาดผู้ที่เห็นศักยภาพ และตัดสินใจที่จะสร้าง RAZR ให้สำเร็จให้ได้ ส่วน Jellicoe คือมือฉมังในการออกแบบมือถือของ Motorola ผู้ที่เคยสร้างชื่อด้วยการออกแบบมือถือ MicroTAC และ StarTac ซึ่งเป็นมือถือแบบฝาพับรุ่นแรกของโลก ด้านล่างนี้เป็นโมเดลต้นแบบของ RAZR V3 ที่ทางทีม Consumer eXperience Design (CXD) ของ Motorola ได้สร้างขึ้นมา

RAZR V3 มือถือที่แหกกฏของ Motorola จนประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนาน

อย่างไรก็ตาม แม้ Jellicoe ต้องการจะสร้าง RAZR แต่มันก็ติดปัญหาสำคัญอยู่ เนื่องจากการจะทำให้บางเฉียบได้ขนาดนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายด้านวิศวกรรมอย่างมาก นั่นหมายถึงงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาด้วย แน่นอนว่าโครงการที่ไม่ผ่าน M-Gates จะไม่ได้รับงบประมาณมาใช้ แต่ในเมื่อคนมันอยากทำอ่ะ ก็ยอมทำทุกวิถีทางที่จะทำได้

Jellicoe กับทีมของเขาอาศัยเวลาหลังเลิกงาน และวันหยุด ในการสร้างเครื่องต้นแบบ ส่วนงบประมาณ โชคดีว่า Jellicoe ครอบครองตำแหน่งหัวหน้าที่ดูมีความรับผิดชอบอยู่ในหลายโครงการ เขาก็แอบดึงงบจากโครงการอื่นในมือมาใช้พัฒนา RAZR โดยตอนนั้นโครงการนี้ถูกเรียกเป็นรหัสลับว่า โครงการ "Razor" (มีดโกน) ซึ่งสื่อถึงความบางของมือถือรุ่นนี้นั่นเอง

RAZR V3 มือถือที่แหกกฏของ Motorola จนประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนาน

แม้ขั้นตอนการพัฒนา RAZR ให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะเมื่อมันบางมาก ความทนทานก็ลดต่ำลง ซึ่งคงไม่มีใครอยากซื้อมือถือราคาแพงที่แค่ตกไม่กี่ทีก็พังมาใช้แน่ๆ การทดสอบมีตั้งแต่บานพับ, เอาลูกเหล็กปล่อยตกใส่หน้าจอ, ความแรงของสัญญาณผ่านถูกส่งผ่านฝ่ามือ (เสาสัญญาณของ RAZR V3 อยู่ที่ "คาง" ที่นูนขึ้นมาของตัวเครื่องใต้แป้นกด) ฯลฯ แต่ตัว Jellicoe เชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน แถมไม่จำเป็นต้องขายให้ได้ถึง 800,000 เครื่องด้วยซ้ำ เขามองว่าแค่ 8,000 หรือ 800 เครื่องในมือของเซเลปดังที่ปรากฏตัวในงานมอบรางวัลออสการ์ก็เพียงพอสำหรับความสำเร็จแล้ว

โครงการลับนี้ถูกพัฒนาจนเป็นรูปเป็นร่างในที่สุด มีแผนบางส่วนถูกพูดคุยกับทางโอเปอเรเตอร์มือถือ (ผู้ที่เห็นโอกาส และตัดสินใจซื้อ RAZR ไปกว่า 80% ของเครื่องที่จะถูกผลิตขึ้นในล็อตแรก) สุดท้ายแล้ว RAZR ก็พัฒนาสำเร็จ โดยชื่อของ RAZR มาจากคำว่า Razor นี่แหละ เพียงแต่มีคนบอกว่า ตัดตัว "O" ออกไป จะทำให้ชื่อดูน่าสนใจมากกว่า ตัวเครื่องออกมาบางเพียง 13.9 มม. เท่านั้น ถือว่าบางมาก เมื่อเทียบมือถือรุ่นอื่นๆ ในท้องตลาดขนาดนั้น ที่ส่วนใหญ่หนาประมาณ 20 มม.

RAZR V3 มือถือที่แหกกฏของ Motorola จนประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนาน

ทันทีที่ RAZR V3 เปิดตัว มันได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก มันเปลี่ยนจากภาพลักษณ์ของมือถือที่เป็นอุปกรณ์สื่อสาร ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของแฟชั่น หนังฮอลลีวูดยุคนั้น หากจะมีฉากที่ตัวละครใช้มือถือล่ะก็ RAZR V3 เป็นรุ่นที่เราจะได้เห็นกันบ่อยๆ

RAZR V3 กลายเป็นมือถือแบบฝาพับที่ขายดีที่สุดในโลก ด้วยยอดขายกว่า 130,000,000 เครื่อง ทั่วโลก ความสำเร็จของมันทำให้มีผู้ผลิตอื่นๆ พยายามเลียนแบบ อย่างเช่น Sanyo Katana หรือ Samsung SPH-A900 แต่ก็ไม่มีใครประสบความสำเร็จ และบางได้เท่า RAZR V3

แม้ตอนนั้นสมาร์ทโฟนจะยังไม่เกิด แต่ระบบ Symbian ก็กำลังเป็นกระแสหลัก เนื่องจากมันลงแอปฯ ได้ ทำให้ได้รับความนิยมสูงมาก แต่ RAZR V3 ก็สามารถเอาชนะความ "สมาร์ท" ได้ด้วย "ดีไซน์" ล้วนๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายเป็นอย่างมาก


เกร็ดน่าสนใจเกี่ยวกับการออกแบบของ RAZR V3

หลายคนที่เคยใช้ RAZR V3 มักจะเล่าถึงความประทับใจแรกเมื่อเปิดฝาพับขึ้นมา แล้วพบกับแผงปุ่มกดโลหะที่ผลิตมาได้สวยงาม และเรียบหรูสุดๆ ลองนึกภาพตามว่ามือถือในตลาดขณะนั้นไม่ใช้ปุ่มพลาสติก ก็เป็นปุ่มยางแบบนูนๆ แต่ RAZR V3 เป็นแผงโลหะบางเฉียบ ที่มีไฟสีฟ้าเรืองแสงลอดช่องออกมา แต่กว่าจะได้ได้ดีไซน์นี้มา Paul Pierce เล่าว่า ทีมวิศวกรเดินมาหาเขาพร้อมกับถุงพลาสติกที่ข้างในเต็มไปด้วยชิ้นส่วนต้นแบบมากมาย มีปุ่มกดให้เขาตัดสินใจเลือกอยู่หลายแบบ

ไอเดียเริ่มต้นมีพิสดารถึงขั้นใช้ปุ่มกดแบบสัมผัสที่เตาอบไมโครเวฟนิยมใช้ แต่มันถูกปัดตกไป แม้ว่าจะทำให้ได้ปุ่มที่บางมาก แต่สัมผัสเวลากด และหน้าตาของมันออกมาดูแย่เกินไป สุดท้ายแล้วไอเดียที่เข้าตาก็คือ สิ่งที่ตอนนั้นทีมเรียกว่า "ปลอกยางลบ" (Eraser shield) มันเป็นแผ่นเหล็กที่การเจาะช่องระหว่างบรรทัด มันบางมาก และตอบโจทย์ได้ทุกข้อ ไอเดียนั้นจึงถูกนำมาต่อยอดจนกลายเป็นแผงปุ่มกดสุดเอกลักษณ์ที่เราได้เห็นใน Motorola RAZR V3 นั่นเอง

RAZR V3 มือถือที่แหกกฏของ Motorola จนประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนาน

อีกจุดหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือโลโก้ Motorola ที่ปรากฏบนตัวเครื่อง RAZR V3 มันดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ Paul Pierce ได้กล่าวว่ามันเป็นหนึ่งในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทีมออกแบบต้องใช้พลังในการสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก เขาต้องการให้สัญลักษณ์นี้เป็นโลหะด้วย โจทย์คือมันต้องไม่ไปขีดข่วนกับพื้นผิวอื่นๆ ได้ด้วย ทางเลือกที่ง่ายที่สุด คือ การหันไปใช้พลาสติกแทน แต่ผิวสัมผัสมันจะแตกต่างกันเกินไป สุดท้ายแล้ว ทีมออกแบบก็ใช้วิธีปั๊มตราลงไปบนแผ่นโลหะ แล้วใช้เทคนิค Diamond cut เพื่อลบเหลี่ยมที่มีคมออกไป

RAZR V3 มือถือที่แหกกฏของ Motorola จนประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนาน


บทส่งลา

RAZR V3 สร้างชื่อ และรายได้ให้ Motorola อย่างมหาศาล แต่สุดท้ายก็กลายมาเป็นดาบที่ย้อนมาทำร้ายตัวเองในตอนจบ อาจจะด้วยกฏของ M-Gates ที่เน้นไปที่การผลิตอะไรที่สามารถทำกำไรได้แบบเห็นผลทันที ทำให้ทาง Motorola "ตกรถ" จนวิ่งตามคู่แข่งไม่ทัน เมื่อ Apple เปิดตัว iPhone จนเข้าสู่ยุคปฏิวัติมือถือเข้าสู่สมาร์ทโฟนอย่างแท้จริง

สุดท้าย แผนกพัฒนามือถือของ Motorola ก็ได้ถูกขายให้ Google ในปี ค.ศ. 2012 แล้วก็ถูกขายต่ออีกครั้งกับ Lenovo ในปี ค.ศ. 2014 ทุกวันนี้เหลือแค่เพียงชื่อมือถือ Moto ที่ทาง Lenovo กลายเป็นผู้ดูแลแทนไปเสียแล้ว


ที่มา : www.cnet.com , www.businessinsider.com , www.theverge.com , en.wikipedia.org , content.time.com , www.lifestyleasia.com

 

0 RAZR+V3+%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%8F%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87+Motorola+%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น



 

รีวิวแนะนำ