ข้อดี
| ข้อสังเกต
|
หลังจากที่ทาง Google ได้เข้าซื้อกิจการ Fitbit เมื่อปลายปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ด้วยมูลค่ากว่าหกหมื่นล้านบาท ตอนนี้ Fitbit Charge 4 ก็ได้เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็น สมาร์ทวอทช์ (Smartwatch) หรือนาฬิกาอัจฉริยะ รุ่นแรกของ Fitbit หลังจากอยู่ใต้ร่มเงาของ Google ซึ่งใครที่สงสัยว่ามันจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า ต้องบอกเลยว่าทุกอย่างยังคงคาแรคเตอร์ความเป็น Fitbit เอาไว้เหมือนเดิมทุกประการนะ
ภาพจาก https://www.fitbit.com/th/charge4
หน้าตาของ สมาร์ทวอทช์ Fitbit Charge 4 นั้น แทบจะเหมือน Charge 3 แทบจะทุกประการเลยล่ะ แต่ความจริงหากดูตามสเปคขนาดของตัวเรือนมันต่างกันเล็กน้อยนะ แม้หน้าจอจะมีขนาด 1 นิ้ว เท่าเดิม หน้าจอของ Charage 4 มีไฟ Backlight ที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยจะปรับความสว่างตามแสงของสภาพแวดล้อมได้ด้วย อย่างไรก็ตาม หน้าจอยังไม่สามารถแสดงผลแบบ Always on นะ แอบน่าเสียดายอยู่เหมือนกัน
Fitbit Charge 4
| Fitbit Charge 3
|
ความเห็นส่วนตัวของผู้รีวิว
สำหรับอุปกรณ์ที่จำหน่ายในปี 2020 นี้ หน้าจอขาวดำ 1 นิ้ว ของ Fitbit Charge 4 ออกจะไม่น่าจะประทับใจเท่าไหร่นัก (จอนี้ใช้มาตั้งแต่ Fitbit Charge 3 ที่วางจำหน่ายในปี 2018) แม้จอชนิดนี้จะมีจุดเด่นด้านประหยัดแบตเตอรี่ แต่ในท้องตลาดตอนนี้ก็มีอุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่เป็นจอสี โดยที่แบตเตอรี่ก็ใช้งานได้หลายวันเหมือนกัน
ฝั่งซ้ายของตัวเรือนมีปุ่มแบบสัมผัสที่จะมีการสั่นตอบสนองเมื่อเรา "กด" จุดนี้ต้องใช้คำว่านะ ไม่สามารถใช้คำว่า "แตะ" ได้จริงๆ แต่ก็ไม่ได้กดยากอะไรมากนัก ส่วนฝั่งขวาของตัวเรือนไม่มีปุ่มอะไรครับ
ด้านหลังของตัวเรือนก็จะมีเซ็นเซอร์ต่างๆ และพอร์ตสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ สังเกตว่าตัวเซ็นเซอร์จะมีความนูนขึ้นมาออกจากฝาหลังนะครับ เพื่อให้เวลาใส่มันแนบไปกับข้อมือของเรามากขึ้น ซึ่งมันจะช่วยให้การวัดข้อมูลต่างๆ มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
สายของ Fitbit เป็นแบบเข็มขัดเหมือนนาฬิกาทั่วๆ ไปนะครับ สามารถถอดเปลี่ยนสายเองได้ง่ายๆ ใครไม่ชอบสายเดิมๆ ก็มีสาย 3rd-party ขายอยู่เยอะนะ หาซื้อมาถอดเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ เลย
หมายเหตุ อ้างอิงจากการใช้งานเฟิร์มแวร์เวอร์ชัน 48.20001.82.46
ก้อนจะลงลึกไปถึงฟังก์ชัน มาลองดูการควบคุมของ Fitbit Charge 4 กันก่อนสักหน่อย ในหน้าจอหลักจะบอกเวลา, วันที่ และพวกข้อมูลการออกกำลังกาย แล้วแต่หน้าปัดที่เราตั้งไว้ครับ
หน้าปัดสามารถเลือกเปลี่ยนได้ ซึ่งก็มีให้เลือกอยู่ทั้งหมด 24 แบบ แต่แบบที่แสดงข้อมูลได้เยอะๆ ก็จะไม่ค่อยสวยด้วยสิ 😂 ก็ต้องเลือกเอาว่า จะเน้นความสวยงาม หรือฟังก์ชันดี
การปัดหน้าจอลง จะเป็นการเข้าสู่หน้าต่างแจ้งเตือน เท่าที่ลองใช้มาก็แจ้งเตือนเกือบทุกอย่างที่สมาร์ทโฟนของเราได้ตั้งแจ้งเตือนไว้นะ อย่างไรก็ตาม Fitbit Charge 4 ไม่รองรับการแสดงผลภาษาไทยนะครับ
ส่วนการปัดจอขึ้น จะเป็นรายการข้อมูลกิจกรรมของร่างกายเรา อย่างเดินไปกี่ก้าวแล้ว, เดินมาระยะทางกี่กิโลเมตร, อัตราการเต้นของหัวใจ, จำนวนก้าวขึ้นบันได, อัตราการเผาผลาญแคลอรี่ ฯลฯ อะไรพวกนี้ โดยเจ้า Fitbit Charge 4 จะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ให้เราแบบสดๆ หรือแบบเรียลไทม์ (Real-time) อยู่ตลอดเวลาเลยล่ะ ซึ่งถือเป็นความสามารถเด่นของสมาร์ทวอทช์รุ่นนี้เลยก็ว่าได้
สุดท้ายจะเป็นการปัดซ้าย เพื่อใช้งานแอปพลิเคชัน ก็จะมีให้ใช้ดังนี้ แผนการออกกำลังกาย แอปพลิเคชันฟังเพลง Spotify จัดการตารางนัดหมาย ผ่อนคลายด้วยลมหายใจ ตัวจับเวลา นาฬิกาปลุก และสภาพอากาศ
ทุกแอปพลิเคชันที่มีให้ใช้ ออกแบบมาใช้งานค่อนข้างง่ายนะ แต่พบปัญหากับ Spotify นิดหน่อย คือถ้าผมเปิด "Spotify บนมือถือ" ก่อน แล้วค่อยเข้าแอป "Spotify บน Charge 4" มันมักจะไม่เชื่อมต่อให้ ผมจำเป็นจะต้องปิดแอปพลิเคชันบนมือถือก่อน จากนั้นเปิดใหม่อีกครั้ง แล้วค่อยเปิด Spotify บน Charge 4 อีกที มันถึงจะ Sync ให้ ซึ่งไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม แต่ถ้าเป็น Spotify บนคอมพิวเตอร์ไม่พบปัญหานี้นะ มันจะใช้งานได้เลยในทันที
Fitbit Charge 4 สามารถตรวจจับ และบันทึกข้อมูลกิจกรรมการออกกำลังกายของเราได้อัตโนัมัติ โดยไม่ต้องตั้งค่าใดๆ โดยเราสามารถดูข้อมูลเหล่านั้นได้ในแอปพลิเคชันออกกำลังกาย) แต่ถ้าเราอยากตั้งเป้าหมายอย่างที่ต้องการก็แค่แตะเข้าไปตั้งค่าได้ในนั้นเลย
โดยมันรองรับ การเดิน, วิ่ง, วิ่งบนเครื่องวิ่ง, ปั่นจักรยาน และ ว่ายน้ำ หากเป็นกิจกรรมชนิดอื่นนอกเหนือจากนี้ก็สามารถเลือกเป็น Workout (ฝึกฝนร่างกาย) ได้
การตั้งเป้าหมายการออกกำลังกายสามารถเลือกได้ถึง 4 รูปแบบ คือ ตามระยะทาง ระยะเวลา จำนวนแคลอรี่ หรือ Zone Minutes (อัตราการเต้นของหัวใจที่ในขณะออกกำลังกาย โดยคำนวณจากอัตราการเต้นของหัวใจส่วนบุคคล และอัตราการพักหัวใจ)
แม้บนสมาร์ทวอทช์ Fitbit Charge 4 จะแสดงผลบันทึกข้อมูลให้เราได้ แต่การจะดูบันทึกอย่างละเอียดรวมไปถึงการตั้งค่าตัวเครื่อง เราต้องมาทำผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนครับ
โดยแอป Fibit สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจาก App Store หรือ Google Play การจะเชื่อมต่อ Fitbit Charge 4 กับสมาร์ทโฟนก็จะต้องทำผ่านแอปพลิเคชันนี้นี่แหละ ซึ่งเราก็ต้องมาตั้งค่าผู้ใช้ให้เรียบร้อยก่อนด้วยนะครับ พวกน้ำหนัก,อายุ และส่วนสูง การคำนวณผลลัพธ์จะได้มีความแม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้ Fitbit Charge 4 ยังรองรับการทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันออกกำลังกายยอดนิยมอีกหลายตัวนะ ก็ลองเข้าไปจิ้มๆ ค้นหาตัวที่ชอบได้
ภาพด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างข้อมูลการนอนหลับของตัวผมเอง เห็นแล้วก็ตกใจเหมือนกัน รู้สึกเลยว่าพักผ่อนน้อยเกินไป ข้อมูลนี้เราสามารถดูบันทึกย้อนหลังได้เป็นเดือนๆ เลยล่ะ เก็บละเอียดมาก
การออกกำลังกายเพียงคนเดียวอาจจะทำให้เรารู้สึกท้อ และเบื่อหน่ายได้ง่ายๆ Fitbit เขาก็เลยมีกิจกรรมมาให้เราเลือกท้าทายได้ด้วย และยังมีระบบ Social Network เพื่อแข่งขันกับเพื่อน จุดนี้ผมว่าทำได้ดีเลย ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งความสะดวกมากๆ ที่อยากพูดถึง คือ สมาร์ทวอทช์ Fitbit Charge 4 สามารถใช้ Fitbit Pay ได้ด้วยนะ สามารถผูกบัตรเครดิตเอาไว้ และแตะเพื่อจ่ายเงินได้เลย ที่สำคัญมันใช้งานในประเทศไทยได้แล้วนะครับ แต่มีข้อจำกัดตรงที่รองรับเฉพาะบัตรของธนาคารกสิกร, กรุงไทย, กรุงเทพ และไทยพาณิชย์ เท่านั้น และร้านค้าจะต้องมีเครื่องรูดบัตรที่รองรับด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ตามห้างในปัจจุบันนี้ก็รองรับหมดแล้วนะ
สมาร์ทวอทช์ Fitbit Charge 4 ในร่วมเงาของ Google ยังคงรักษาจุดแข็งด้าน Fitness Traker เอาไว้ได้เป็นอย่างดี และดียิ่งกว่าเก่า ในขณะที่แม้ฟังก์ชันด้านสมาร์ทวอทช์จะดูธรรมดาไปสักนิด แต่เอาจริงๆ มันก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีแล้วนะ หากจะติดก็คงเป็นเรื่องที่ไม่รองรับการแสดงผลภาษาไทย ทำให้อ่านแจ้งเตือนข้อความไม่ได้ หรือเวลาคนโทรเข้าก็อ่านชื่อไม่ออก (แก้ได้ด้วยการบันทึกชื่อคนในสมุดโทรศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ) และหน้าจอแสดงผลแบบขาวดำที่อาจจะดูล้าสมัยไปสักนิดในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) นี้
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |