ข้อดี
| ข้อสังเกต
|
อุปกรณ์ประเภท Graphics tablet หรือที่บ้านเรานิยมเรียกกันอย่างติดปากว่าเมาส์ปากกา ปัจจุบันนี้ ในท้องตลาดมีให้เลือกซื้อหามาใช้หลายรุ่นเลยล่ะ XP-PEN ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักวาดพอสมควร ด้วยความที่ทำสเปก กับราคามาได้น่ารักเป็นมิตรต่อกระเป๋าตังค์เป็นอย่างมาก
ทาง XP-Pen เขาก็มีหลายรุ่นให้เลือกใช้งาน แต่ในรีวิวนี้เราจะมาแนะนำตัว XP-PEN Artist 22R Pro ให้ได้รู้จักกัน จะแจ่มแมวขนาดไหน มาลองติดตามกันได้ในบทความนี้เลย
หากเทียบกับเจ้าตลาดอย่าง WACOM แล้ว XP-Pen Artist 22R Pro วางราคามาให้อยู่กึ่งกลางระหว่าง Wacom Cintiq 16 DTK-1660 และ Wacom Cintiq 16 DTK-2260 ลองมาดูสเปกเปรียบเทียบของทั้ง 3 รุ่นนี้กันสักหน่อย
Wacom Cintiq 16 DTK-1660 | XP-Pen Artist 22R Pro | Wacom Cintiq 22 DTK-2260 | |
ราคา | ~21,000 บาท | ~25,900 บาท | ~35,000 บาท |
ความละเอียดหน้าจอ | 15.6 นิ้ว 1,920x1,080 (FHD) | 21.5 นิ้ว 1,920x1,080 (FHD) | 21.5 นิ้ว 1,920x1,080 (FHD) |
พาเนลของหน้าจอ | IPS 72% NTSC 96% sRGB | IPS 88% NTSC 120% sRGB | IPS 72% NTSC 96% sRGB |
Response Time | 25 ms | 14 ms | 22 ms |
Brightness | 210 cd/m2 | 250 cd/m2 | 210 cd/m2 |
Aspect Ratio | 16:9 | 16:9 | 16:9 |
Contrast | 1,000:1 | 1,000:1 | 1,000:1 |
ขนาด | 422 x 285 x 25 มม. | 570 x 334.8 x 44.8 มม. | 570 x 359 x 40 มม. |
น้ำหนัก | 1.9 กก. (ไม่รวมขาตั้ง) | 6.99 กก. (ขาตั้งในตัว) | 5.6 กก. (ไม่รวมขาตั้ง) |
Pen Pressure Levels | 8,192 ระดับ | 8,192 ระดับ | 8,192 ระดับ |
Pen Resolution | 5,080 lpi | 5,080 lpi | 5,080 lpi |
การเชื่อมต่อ | HDMI, USB-A, DC | USB-C, 2xUSB, HDMI, VGA, DC | HDMI, USB-A, DC |
นอกเหนือไปจากสเปกในตารางแล้ว XP-Pen Artist 22R Pro ยังมีปุ่มชอทคัทมาที่เครื่องถึง 20 ปุ่ม ที่เราสามารถปรับแต่งได้อย่างอิสระ แล้วก็ให้ปุ่มแบบหมุนมาอีก 2 ปุ่ม เอาไว้สำหรับหมุนปรับขนาดหัวแปรงได้อย่างง่ายดาย ซึ่งจะช่วยให้เราทำงานได้รวดเร็วขึ้น แต่ถ้าชอบดีไซน์แบบเรียบๆ มีความมินิมอลหน่อย จุดนี้ WACOM ก็จะดูสวยงามกว่านะ
ก่อนจะไปอ่านรีวิวเรามาสำรวจอุปกรณ์ภายในกล่องที่ให้มาเสียหน่อย ซึ่งก็ให้มาครบถ้วน พร้อมใช้งานได้ทันที ไม่ได้ต้องไปซื้อหาอุปกรณ์เสริมอะไรเพิ่ม
ในกล่องจะประกอบไปด้วย
พวกสายเชื่อมต่อก็ไม่มีการงก ให้มาทุกชนิดที่หน้าจอรองรับเลย
XP-Pen Artist 22R Pro มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 21.5 นิ้ว แบบ IPS ความละเอียด Full HD พร้อมค่าสีที่เที่ยงตรงถึง 88% NTSC 120% sRGB เลยทีเดียว
ขอบหน้าจอค่อนข้างหนา แต่เราคิดว่าก็ดีแล้ว ไม่อย่างนั้นเวลาทำงานตรงบริเวณขอบๆ จะวางมือยากไปหน่อย
กระจกหน้าจอของ XP-PEN Artist 22R Pro นอกจากจะมีการเคลือบสารลดแสงสะท้อนแล้ว ยังมี "ความสาก" อีกด้วย มันอาจจะเทียบไม่ได้กับความรู้สึกของการเขียนบนกระดาษจริงหรอก แต่ก็ใกล้เคียง และทำมาได้ดีทีเดียวนะ
ด้านข้างของจอแสดงผล มีปุ่มชอทคัทที่มีให้มามากถึง 20 ปุ่ม ซึ่งเราสามารถตั้งค่าชอทคัทที่ต้องการได้อย่างอิสระ เพื่อให้เหมาะสมกับซอฟต์แวร์ที่เราใช้งาน และยังมีปุ่มแบบหมุนให้เราใช้งานถึง 2 ฝั่ง จะถนัดซ้าย หรือถนัดขวาก็ใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย
การควบคุมหน้าจอตัวนี้ จะสั่งผ่านปุ่มแบบสัมผัสที่ด้านบนของตัวเครื่อง การตั้งค่าก็จะเหมือนกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ปกติทั่วไปเลย
ด้านข้างเราสามารถเลือกที่จะติดที่ยึดสไตลัสเข้าไปได้ โดยเลือกติดฝั่งไหนก็ได้แล้วแต่ว่าเราเป็นคนถนัดซ้าย หรือถนัดขวา
มาดูด้านหลังของหน้าจอกันบ้าง XP-PEN Artist 22R Pro จะมีขาตั้งในตัวเลย ซึ่งเราสามารถปรับระดับองศาความเอียงเพื่อให้ตรงกับลักษณะการใช้งานของเราได้อย่างง่ายดาย
ภาพเปรียบเทียบระหว่างปรับขาแบบตั้ง และปรับเอนนอนที่องศาสูงสุดเท่าที่จะทำได้ ต้องขอชมว่าออกแบบมาได้ดี ตอนปรับเอนนอนสุดๆ แล้ว ก็ยังมั่นคงใช้ได้ ลองวาดดูก็ไม่มีอาการโยกเยกแต่อย่างใด
พอร์ตเชื่อมต่อถูกวางในแนวขนานไปกับตัวเครื่องเพื่อพรางตัว ส่วนตัวเราชอบดีไซน์แบบนี้มากกว่าหันพอร์ตออกไปด้านหลังเลย เพราะมันจะทำให้เรา "จัดการ" กับมุมมองต่างๆ เวลาที่มองด้านหลังจอได้ง่ายกว่า ไม่มีหัวสายชี้โด่ชี้เด่ ให้รำคาญสายตา
สไตลัสของ XP-PEN Artist 22R Pro เป็นแบบไม่ต้องใส่ถ่าน หรือชาร์จแบตเตอรี่ ทำให้ด้ามปากกามีน้ำหนักเบา และใช้งานต่อเนื่องได้อย่างสบายใจ
หัวสไตลัสสามารถหมุนออกมาเพื่อเปลี่ยนไส้ได้ง่ายๆ แถมในกล่องยังมีหัวสำรองให้มาเยอะมากๆ เลยล่ะ บริเวณที่จับหุ้มด้วยยางช่วยให้จับได้อย่างมั่นคง
บนด้ามสไตลัสมีปุ่มให้มา 2 ปุ่ม สำหรับเรียกใช้งานคำสั่งหัวแปรง และยางลบ ซึ่งเราสามารถปรับค่าปุ่มนี้ผ่านซอฟต์แวร์ได้
ผู้ผลิตเคลมสเปกของ XP-PEN Artist 22R Pro มาว่าแสดงผลครอบคลุม 88% NTSC และ 120% sRGB จะตรงขนาดไหน เราได้ทำการทดสอบด้วย DisplayCal และ SPYDER X PRO DATACOLOR ได้ผลดังนี้ครับ
ผลลัพธ์ไม่ค่อยน่าพอใจสักเท่าไหร่
ทุกอย่างดูดีขึ้นทันตา
จากการเปรียบเทียบก่อน และหลังคาริเบรท เราก็พบว่าสเปกของ XP-PEN Artist 22R Pro ใกล้เคียงกับที่ทางผู้ผลิตได้ระบุเอาไว้นะครับ แต่ผู้ใช้ควรจะทำการคาริเบรทก่อนใช้งานด้วย เพราะคาดว่าโรงงานไม่น่าจะคาริเบรทมาให้
หลังจากที่เราเชื่อมต่อหน้าจอเข้ากับคอมพิวเตอร์ของเราเสร็จแล้ว (หากต่อผ่าน HDMI หรือ VGA ต้องต่อสาย USB-C ด้วยนะครับ) เราก็ต้องลงไดร์เวอร์ก่อนด้วยนะครับ (สามารถดาวน์โหลดได้จาก https://www.xp-pen.com/download-483.html) เพื่อให้ XP-PEN Artist 22R Pro กับคอมพิวเตอร์รู้จักกัน อนุญาตให้เราปรับแต่งการทำงานได้
หลังลงไดร์เวอร์เสร็จ มันจะมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ที่มีชื่อว่า PenTablet ด้วย ซึ่งเราสามารถใช้มันในการปรับแต่งการทำงานของ XP-PEN Artist 22R Pro ได้ ตั้งแต่การทำงานของปุ่มบนสไตลัส, ค่าการแสดงผลของหน้าจอ และปุ่มชอทคัท/วงแหวน
ค่าการแสดงผลของหน้าจอก็สามารถปรับโหมดสี, ความอิ่มสี, ความสว่าง และค่า Contrast ได้เลย ซึ่งง่ายกว่าการกดปุ่มที่ตัวเครื่องมาก
อย่างที่บอกว่า XP-PEN Artist 22R Pro ให้ชอทคีย์มาถึง 20 ปุ่ม และปุ่มวงแหวนอีก 2 อัน เราสามารถปรับแต่งการทำงานของปุ่มเหล่านี้ได้อย่างอิสระมากๆ เลยล่ะครับ ตั้งค่าใช้การใช้งานให้เหมาะสมกับซอฟต์แวร์ทุกตัวได้อย่างแน่นอน
หลังจากตั้งค่าอะไรทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว มาลองใช้งานจริงกันเลยดีกว่า โดยเราจะทดลองใช้งาน XP-PEN Artist 22R Pro ด้วยซอฟต์แวร์ openCanvas 7 ครับ
เราสามารถเอาซีเรียลคีย์ของ XP-PEN Artist 22R Pro ไปลงทะเบียนที่หน้าเว็บ XP-PEN เพื่อรับซอฟต์แวร์วาดรูปได้ฟรี 1 ตัว โดยมีให้เลือกระหว่าง openCanvas 7 และ ArtRage 5
ด้วยความที่มันรองรับแรงกดได้ถึง 8,192 ระดับ การลงน้ำหนักเส้นเบา เส้นหนัก จึงทำได้ง่ายๆ อย่างเป็นธรรมชาติ
แรงกดที่ละเอียดจะช่วยให้การลงแสงเงาในภาพ ง่ายกว่าเดิมมากเลยล่ะครับ
ความแม่นยำของเคอร์เซอร์ปากกา ถือว่าแม่นยำในระดับที่ใช้งานได้ แต่ตามขอบของหน้าจอจะมีความ Parallax อยู่บ้าง แต่มันก็ไม่ใช่พื้นที่ที่เราใช้ทำงานเป็นหลักอยู่แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานจริงเท่าไหร่ ปกติเวลาวาดรูปเราก็จะจัดตำแหน่งของผ้าใบ (Canvas) เอาไว้ที่กลางหน้าจออยู่แล้ว
หน้าจอด้านนอกนอกจากจะมีผิวคล้ายกับกระดาษ แล้วยังเคลือบสารกันแสงสะท้อนมาให้ด้วย ทำให้เวลาวาดไม่โดนแสงจากไฟเพดานสะท้อนมากวนใจ อาจจะมีบ้างหากแหล่งกำเนิดแสงอยู่ใกล้มากๆ แต่ในความสว่างปกติ ก็ถือว่าทำได้ดี
แม้ชื่อเสียงของ XP-PEN อาจจะเป็นรองเมื่อเทียบกับแบรนด์เจ้าตลาด แต่ในด้านประสิทธิภาพการทำงานของมันแล้วก็สามารถบอกได้เลยว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน
ในด้านของไดร์เวอร์ก็ทำมาได้ดี ใช้งานง่าย การปรับแต่งค่าไม่ยุ่งยากซับซ้อน ส่วนข้อเสียที่เราพบก็น่าจะเป็นเรื่องของสีหน้าจอที่ควรคาริเบทก่อนใช้งานจริง กับสายที่แถมมาสั้นไปหน่อยแค่นั้นเอง
ใครที่มองหาแท็บเล็ตวาดรูปอยู่ XP-PEN Artist 22R Pro ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจนะ หาซื้อไม่ยาก THAIWARE SHOP เราเองก็มีขาย คลิกไปสั่งซื้อกันได้เลย
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |