จุดเด่น | จุดสังเกต |
1. ปุ่มควบคุมสามารถจดจำได้ง่าย มีแค่ไม่กี่ปุ่มเท่านั้นที่ต้องใช้ ไม่ว่าจะเล่นบนแพลตฟอร์มใดก็ตาม | 1. มีความไม่สมจริงอยู่บ้างบางส่วน เช่น วิ่งหนีตำรวจมาระยะประชิด แต่พอกดหลบเข้าที่ซ่อนปั๊บ ตำรวจหาไม่เจอทั้งๆ ที่ซ่อนต่อหน้า |
2. เกมมีการผูกเนื้อเรื่องไว้อย่างน่าสนใจ ทำให้เราสามารถเข้าใจตัวละครได้ไม่ยาก มี Plot Twist ท้ายเรื่องด้วย | 2. สิ่งกีดขวางที่สามารถขยับได้ เช่น กล่อง มักกดปุ่มเลื่อนติดบ้างไม่ติดบ้าง ทั้งๆ ที่ยืนที่เดียวกันในแต่ละรอบ |
3. เมื่อเราถูกจับได้ในแต่ละครั้งที่ล้มเหลว เกมจะมีการสุ่มหลักฐาน, ศพ, และคราบเลือด ไปอยู่ในที่ต่างๆ ไม่ซ้ำกันในแต่ละรอบ ทำให้มีความท้าทายมากกว่าการเล่นติดอยู่แต่แบบเดิมๆ |
ถ้าพูดถึงคำนามอะไรที่มี Serial นำหน้า เราก็มักจะนึกถึงอะไรบางอย่างที่มีความต่อเนื่องกัน เช่น Serial Number เลขรหัสสินค้าที่มีเลข (และตัวอักษร) เรียงกันหลายหลัก, Serial Killer ฆาตกรต่อเนื่อง, ฯลฯ เมื่อเกมนี้มีชื่อว่า Serial Cleaner นั่นก็หมายความว่า เราต้องไปเป็น "ผู้ทำความสะอาดต่อเนื่อง" หรือเนื้อหาหลักๆ ของเกมที่จะให้เราไปทำก็คือ งานเก็บกวาดสถานที่เกิดเหตุตามหลังฆาตกรต่อเนื่องนั่นเอง
เกม Serial Cleaner เป็นเกมที่ผู้เขียนคาดว่าผู้พัฒนา "จงใจ" ให้พ้องเสียงกันกับ Serial Killer เพราะตัวเกมเองก็มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับฆาตกรต่อเนื่องโดยตรง ถูกพัฒนาโดย iFun4All และจัดจำหน่ายโดย Curve Digital ที่เคยปล่อยเกมดังๆ มาแล้วมากมายอย่าง Human: Fall Flat, For the King, Bomber Crew, และ The Flame in the Flood ซึ่งเกมนี้วางขายให้เล่นกันแทบจะทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง PC (Windows / Mac OS / Linux), PS4, Xbox One, และ Switch ใครสะดวกเล่นแบบไหนก็ไปจัดกันได้ ราคาก็จะแตกต่างกันไปตามแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน (บทความรีวิวนี้จะเล่นบน Switch นะ)
หลายคนน่าจะคุ้นตากับเกมนี้เป็นอย่างดี
เราจะได้รับบทเป็นคนทำความสะอาดที่เกิดเหตุ หรือพูดง่ายๆ ก็คือตามเก็บหลักฐานทั้งหมดในสถานที่ที่เกิดการฆาตกรรม ไม่ให้ตำรวจสามารถสาวไปถึงคนที่เป็นฆาตกรได้ งานนี้เราจะไม่สามารถต่อสู้กับตำรวจได้ ต้องใช้ทักษะการเอาตัวรอดและการหลบหนีเพื่องานนี้โดยเฉพาะ
เนื้อเรื่องของเกม Serial Cleaner จะมีไทม์ไลน์อยู่ในศตวรรษที่ 19 (บรรดาปี 19xx ทั้งหลาย) พูดถึงตัวเอกของเราที่อาศัยอยู่กับแม่สองคนในบ้าน และเราที่เป็นลูก แน่นอนว่าต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่แม่ก็หารู้ไม่ว่า ลูกชายกำลังทำงานที่ผิดกฎหมายด้วยการรับจ้างเก็บกวาดและทำลายหลักฐานในที่เกิดเหตุอยู่
ตัวเกมมีการอธิบายไปตามแต่ละ Contract ที่ผ่านไปว่า ตอนแรกตัวเอกของเราก็ไม่ได้มีปัญหาทางการเงินอะไร แต่เพราะการพนันมวย จึงทำให้เขากลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ในทันทีและต้องรีบหาเงินมาใช้คืน เพราะเริ่มถูกคุกคามตามมาถึงบ้าน ซึ่งในระหว่างที่กำลังทำงานหาเงินใช้หนี้อยู่นี้เอง ก็เริ่มมีการพูดถึงปมปริศนาว่า ทำไมถึงมีฆาตกรต่อเนื่องให้เราต้องตามเช็ดตามล้างอยู่ตลอดเวลา และจะมีการเฉลยในช่วงท้ายของเกมว่า ฆาตกรคือใคร
แรกๆ เล่นไปไม่รู้สึกอะไร แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ ก็เริ่มทำให้คนเล่นรู้สึกตะขิดตะขวงใจไปพร้อมกับตัวเอกได้
รูปแบบการเล่นของเกม Serial Cleaner จะเป็นแบบ Stealth กึ่ง Puzzle เพราะเราไม่เพียงแค่ต้องอาศัยความตัวเบาย่องเข้าไปทำลายหลักฐานและร่องรอยที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการวางแผนอีกด้วยว่า จะเข้าไปถึงจุดที่ต้องการได้อย่างไร เข้าไปได้แล้วจะกลับออกมาทางไหน แล้วจะไปเก็บของจุดอื่นต่อยังไง ซึ่งบางครั้ง ถึงแม้ว่าเราจะดูแพทเทิร์นการเดินของตำรวจในด่านดีแล้ว แต่ไทม์มิ่งการเดินทั้งของเราและของตำรวจ ก็สามารถทำให้แผนการพังได้เช่นกัน จนทำให้บางครั้งต้องอาศัยการด้นสด ทะลุเข้าไปแบบไม่มีแผนแล้วหาทางกลับออกมาอีกทีหน้างานก็มี
ด่านในเกมนี้จะถูกนับเป็น Contract หรือสัญญาว่าจ้าง ซึ่งจะได้รับผ่านโทรศัพท์เสมอ (ถ้าไม่คุยโทรศัพท์จะไปต่อไม่ได้) หลังจากจบงานในแต่ละครั้ง เราจะได้กลับมาที่บ้านของตัวเอกเพื่อกดสำรวจสิ่งต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ทีวี วิทยุ เอกสารหน้าบ้าน และสามารถคุยกับแม่ของเราที่มักจะเคลื่อนที่ไปอยู่ตามมุมต่างๆ ของบ้าน เพื่อรับรู้ความเป็นไปของเรื่องราวรอบตัวของตัวเอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าใครไม่สันทัดภาษาอังกฤษ หรือไม่ชอบอ่านเนื้อเรื่อง ก็สามารถข้ามไปรับโทรศัพท์อย่างเดียวแล้วออกจากบ้านได้เลย
ช่วงเริ่มเกมแรกๆ การเดินของตำรวจและจำนวนสิ่งต่างๆ ที่เราจะต้องเข้าไปจัดการยังมีน้อย ไม่สลับซับซ้อนมากเท่าไหร่ พอเราเข้า Contract หลังๆ ด่านจะเริ่มใหญ่ขึ้น และมีกลไกมากขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ต้องปล่อยให้จับได้ไปก่อน แล้วค่อยไปเรียนรู้อีกทีว่าการเคลื่อนที่วัตถุหรือกดสวิทช์ตรงไหน ทำให้เราได้เปรียบเสียเปรียบยังไงบ้าง บางด่านมีการทำพื้นผิวสูงต่ำหลอกตาก็มี ต้องสำรวจดีๆ
ถ้าไม่ลองเดินเข้าไปจะรู้มั้ยว่าตรงนี้เดินเข้าไปหลังเสาได้เนี่ย...
นอกเหนือจากการเก็บวัตถุหลักฐานในที่เกิดเหตุตามที่ได้รับว่าจ้างแล้ว ยังมีของอีกสองอย่างที่เราต้องคอยสอดส่อง - มองหา - ตามเก็บ นั่นก็คือ หนังสือแม็กกาซีน และ รีลฟิล์ม เพราะการเก็บของทั้งสองอย่างเพิ่มมาได้ จะช่วยปลดล็อกฟีเจอร์เสื้อผ้า และ Bonus Contracts พิเศษที่มีให้ทำนอกเหนือจาก Story Contracts ด้วย ซึ่งไอเท็มทั้งสองจะไม่มีปรากฎให้เห็นบนแผนที่รวมเวลาเรากดดู ต้องใช้การสังเกตเองโดยตรง ถ้าใครเล่นบน Switch แบบไม่ได้ต่อจอใหญ่ อาจจะต้องเพ่งกันหน่อย
ต้องเข้าไปใกล้ๆ ด้วยนะ ถึงจะขึ้นให้กดหยิบได้
ในส่วนของ Bonus Contracts ถ้าเราเล่น Contract ที่เราเก็บรีลฟิล์มมาได้จบแล้ว เวลาที่กลับมาที่หน้าเมนู ก็จะสามารถไปเลือกเล่นได้เลย ซึ่งตัวเลขของ Contract ก็จะรันต่อจากเลข Contract สุดท้ายของเนื้อเรื่อง (Contract 20) นั่นเอง
ตัวอย่าง Bonus Contract ที่มีให้เล่น
และเมื่อเราเล่น Story Contracts จบ ก็จะมีการปลดล็อก Challenges (ชาเล้นจ์) ต่างๆ ให้เลือกเล่นกันด้วยเพื่อทำคะแนนบันทึกไว้บน High Score ของแต่ละด่าน ใครอยากลองอันไหนก็จะมีคำอธิบายกำกับไว้ให้ด้วยว่าชาเล้นจ์นั้นเล่นยังไง และมีให้เลือกด้วยว่า จะเล่นในฉากกลางวันหรือฉากกลางคืน ฉะนั้นไม่ต้องห่วงเลยว่าจะไม่มีอะไรให้ทำต่อหลังเล่นเกมจบ
กราฟิกของเกม Serial Cleaner มาในรูปแบบของภาพเกมแบบ 2 มิติที่เราจะได้มองเห็นการกระทำทุกอย่างของทุกตัวละครในฉากจากมุมมองแบบ Top-view (มุมมองด้านบน) และสามารถสอดส่องความเคลื่อนไหวของตำรวจได้ตลอดเวลา ขอบเขตการมองเห็นของตำรวจ (หรือสิ่งที่สามารถตรวจจับเราได้) จะมีบอกให้เห็นด้วยแสงสีส้มว่ามีระยะใกล้ - ไกลเท่าไหร่
และเมื่อเราถูกพบเจอ แสงสีส้มจะกลายเป็นสีแดง และคนที่มองเห็นเราจะพุ่งเข้ามา หรือเรียกพวกมาจับเราทันที
ถ้าถูกเจอเมื่อไหร่ รีบหาที่ซ่อนตัวให้ไวก่อนโดนจับ
เนื่องจากด่านไม่ได้เป็นรูปแบบ 3 มิติที่เราสามารถมองเห็นความตื้น - ลึก - สูง - ต่ำ ได้อย่างชัดเจน แต่เป็นแบบ 2 มิติที่เห็นเพียงด้านบนแบนๆ มีแสงเงาคอยช่วยบอกระดับความสูงเท่านั้น ดังนั้น บางด่านที่มีความสูงต่ำในหลายระดับ ก็อาจจะดูไม่ออกจนกว่าจะได้เดินไปตรงนั้นด้วยตัวเอง ทำให้ผู้เขียนหาทางไปต่อไม่เจออยู่นาน เพราะไม่รู้ว่ามันสามารถเดินไปได้
พื้นที่สีม่วงเหมือนกัน ฝั่งซ้ายเดินไม่ได้ ฝั่งขวาที่ยื่นออกไปเดินได้ซะงั้นทั้งๆ ที่พื้นสีเดียวกัน
สิ่งที่ถือเป็นกิมมิคอย่างหนึ่งของเกมคือ ฟอนต์ของแต่ละชื่อ Contract ที่เราได้รับมา ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของด่าน หรือเป็นการสื่อถึงสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ภายในด่าน เช่น ถ้าเป็นฉากที่เกี่ยวกับตัวตลก ฟอนต์ก็จะคล้ายๆ กับฟอนต์ชื่อสวนสนุก หรือการที่เราต้องเข้าไปในฉากฆาตกรรมปริศนา ฟอนต์ก็จะออกแนวสืบสวนสอบสวน นับว่าเป็นอะไรที่ทำให้ดึงดูดคนเล่นให้รออ่านชื่อฉากได้ดี
Story | Gameplay | Graphic | Overall |
3 / 5 | 3 / 5 | 3 / 5 | 3 / 5 |
Serial Cleaner ถือเป็นเกมไขปริศนาที่เราสามารถเล่นได้เรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า การที่ออกแบบภาพกราฟิกแนวนี้มาให้เป็นสไตล์ Retro ก็สามารถทำได้ดี แต่ก็ยังมีความขัดใจในเรื่องของความสมจริงอย่างการหนีตำรวจซึ่งหน้า และแสงเงาของพื้นต่างระดับที่ดูยากอยู่เหมือนกันในบางด่าน ถ้าใครชอบเกมที่ต้องแก้ปัญหาปนระทึกขวัญ (เพราะต้องคอยหลบตำรวจ โดนจับเมื่อไหร่เล่นใหม่ทั้งด่าน) น่าจะชอบเกมนี้ไม่น้อย
|
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน |