หากจะเอ่ยถึง Twitter อ่านออกเสียงภาษาไทยว่า "ทวิตเตอร์" ก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก แต่ถ้าหากจะเอ่ยถึง คนไทยที่ทำงานที่ Twitter "คงไม่มีใครรู้จัก" อย่างแน่นอน วันนี้ เรามีเรื่องราวการสัมภาษณ์งาน กับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลก (ย้ำว่าของโลก !!) ที่น่าท้าทาย ของผู้ชายที่ชื่อ เอ (ธนินทร์ ณ นคร) มานำเสนอกัน
และถ้าหากเอ่ยชื่อ เอ (ธนินทร์ ณ นคร) คงจะมีจำนวนคนไม่มากที่รู้จักเขา เพราะเขาไม่ใช่เซเลปในวงการไอที ไม่ใช่คนที่อยากจะทำตัวเป็นข่าวอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่คนที่อยากจะทำตัวโด่งดัง แต่ตัวตนที่แท้จริงของเขาคือ โปรแกรมเมอร์ หรือ เดฟ (Dev) อย่างที่ชนิดที่เรียกว่า Hard Core เอามากๆ
นั่นหมายความว่า วันๆ เขาอยากอยู่ในที่ เงียบๆ นั่งเขียนโปรแกรม ด้วยความขมักเขม้น ทุกคำถาม ทุกโจทย์ จากลูกค้า จากอินเตอร์เน็ต จากการแข่งขันต่างๆ ที่ได้มาถือเป็นความท้าทายของเขาทั้งหมด และ ที่สำคัญชีวิตของผู้ชายคนนี้ ไม่ได้ปูพรมแดงมาตลอด ประสบกับความล้มเหลวมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ด้วยความตั้งใจจริง และอุดมการณ์ที่แน่วแน่ ทำให้เขาขึ้นมาผงาดอยู่ตรงจุดนี้ได้
เอ จบการศึกษา ในระดับมัธยม จาก โรงเรียนอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี จากคณะวิทยาศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกรดเฉลี่ย (GPA) สะสม 3.30 และระดับปริญญาโท ซึ่งได้รับ ทุนอีราสมุส (Erasmus Mundus) โดยสาขาที่เรียนคือ European Master in Informatics โดยจะต้องเรียนที่ มหาวิทยาลัย RWTH Aachen ประเทศเยอรมัน เป็นเวลา 1 ปี และหลังจากนั้นต้องย้ายไปเรียนที่ University of Edinburgh ประเทศสก๊อตแลนด์ เป็นเวลาอีก 1 ปี เป็นอันจบชีวิตในด้านการศึกษาของเขา
Thaiware.com กับชีวิตการทำงาน ในช่วงแรก
เอ ธนินทร์ ณ นคร (คนขวาสุด) ให้สัมภาษณ์นิตยสาร E-Commerce
กับทีมงาน Thaiware.com ถ่ายตอนปี ค.ศ.1999 (พ.ศ. 2542)
เอ ถือเป็นโปรแกรมเมอร์ คนแรก ของเว็บ Thaiware.com (เว็บที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ อยู่นี่แหละครับ) ภายใต้การชวนของ นิ้ง ธรรณพ สมประสงค์ (คนเขียนบทความ ที่คุณกำลังอ่านอยู่ นี่แหละครับ - ยังเอาได้อีก) เรียกได้ว่า ถ้าไม่มีเอ ก็ไม่มีเว็บ Thaiware.com ในวันนี้อย่างแน่นอน
เพราะสมัยนั้น ผมยังเขียนโปรแกรมไม่เป็นเลย ก็ได้เอมาช่วยนี่แหละ สมัยนั้นยุคแรกของ Thaiware ตั้งแต่ปี 1999 เอเขียนเว็บด้วยภาษา Perl Script (.pl) เป็นภาษาที่ใช้เขียน โปรแกรมบนเว็บ (Web-based Application) ก่อนภาษา PHP จะเป็นที่นิยมกันเสียอีก
เอ ขณะนั่งทำงานที่ออฟฟิศ Thaiware.com วันแรก เดือนพฤษภาคม ปี 2004 (พ.ศ.2547)
จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งเอมาบอกผมว่า Thaiware.com เพียงแค่การเขียน PHP อย่างเดียว ดูไม่ท้าทายสำหรับเค้าเท่าไหร่ เขาต้องการอะไรที่มันซับซ้อน และ ท้าทาย กว่านั้น (ผมเชื่อว่า โปรแกรมเมอร์ คงเป็นกันทุกคนครับ พอได้ทำอะไรซ้ำๆ ก็จะเบื่อ ไม่ท้าทาย ต้องหาอะไร แปลก สด ใหม่ ทำอยู่เสมอ) จึงตัดสินใจแยกตัวออกมาจาก Thaiware.com ในปลายปี ค.ศ. 2004 (ผมคิดในใจ แล้วตรูละ เขียนโปรแกรมก็ไม่เป็น งานงอกเลยคราวนี้ 555) ซึ่งขณะที่แยกตัวออกจาก Thaiware.com นั้นเอยังศึกษาอยู่ในระดับปีที่ 3 ที่จุฬาฯ อยู่เลย
หลังจากออกมา เอ มุ่งมันอยาก จะสร้างผลงานด้านการวิจัย (Research) ให้เป็นที่ยอมรับดังนั้นจึงต้องไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ซึ่งขณะนั้น เขาคิดจะเรียนต่อถึงในระดับปริญญาเอก (Ph.D.) กันเลยทีเดียว แต่ด้วยระหว่าง ที่ศึกษาที่ยุโรป เขาคิดว่าการทำวิจัยนั้นมันเป็นเหมือน Abstract คือเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ โดยงาน Research ส่วนใหญ่ จะไม่มีใครสนใจและไม่มีผลกระทบกับคนทั่วไปโดยตรง นอกจากจะเป็นทฤษฎีที่ดังระดับโลกจริง ๆ ซึ่ง การเป็น Engineer หรือผู้สร้าง สิ่งที่ให้คนทั่วไปได้ใช้งานกันจริงๆ จะเห็นผลชัดและเร็วกว่า ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำอาจจะไม่น่าสนใจจากมุมของการทำ Research เลย
โดยหลังจากเรียนจบปริญญาโท ในปี ค.ศ. 2010 เอ มีความคิดอยากจะก่อตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง เป็น Start-up Business เล็กๆ จึงได้เปิดบริษัทขึ้นมากับกลุ่มเพื่อนที่ ได้ไปเรียนด้วยกันจาก โรงเรียนเก่า และ จุฬาฯ โดยเริ่มเปิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2010 โดยได้ใช้ออฟฟิศ จากบ้านของเพื่อนในหุ้นส่วน ซึ่งก็เป็นห้องเล็กๆ แถวย่านรามคำแหง ตั้งบริษัท ชื่อว่าบริษัท WhoWish (https://www.whowish.com/) ซึ่งต่างคนก็ยอมเสียสละ ไม่ได้เงินเดือนอะไรเลยมากว่า 10 เดือน !! โดย บริษัท ได้พัฒนาแอปพลิเคชันเล็กๆ ที่ทำงานบน Facebook มา 3-4 แอป พร้อมกันรับงาน จากภายนอก นิดหน่อยเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเอและทีมได้ตกลงกันว่า หามาล่าความฝันด้วยกัน แล้วไม่เวิร์ค ก็จะแยกย้ายกันไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือต้องการต่อไป
โฉมหน้า เว็บไซต์แก้มลิง (GamLing.org) ช่วยกันเฝ้าระวังน้ำท่วมในประเทศไทย
บ้านใครน้ำท่วม คงไม่มีใครไม่รู้จักเว็บ "แก้มลิง" (Gamling.org) ช่วงน้ำท่วม (ปลายปี ค.ศ. 2011) หลังจากที่ได้เปิดบริษัทมาประมาณ 1 ปี ทางบริษัท WhoWish โดยเอ และกลุ่มเพื่อนอีก 3 คน ได้มีความคิดที่จะเปิดเว็บไซต์ เว็บนึงที่ช่วย รายงาน สถานการณ์มหาอุทกภัย น้ำท่วม ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยใช้ชื่อว่าเว็บ "แก้มลิง" ซึ่งแนวคิดคือ ทำอย่างไรให้ข้อมูลน้ำท่วม เข้าถึงผู้ชม ได้ง่ายที่สุด (ทั้งเครื่องพีซี โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค แลปทอป รวมไปถึง แท็บเบล็ต) รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ที่ บทสัมภาษณ์ที่ผมเคยสัมภาษณ์เอ ไว้ใน Thaiware.com ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของชื่อเสียงมากมาย มีคนเคยเข้ามาใช้บริการสูงสุดมากถึง 6 หมื่นคนต่อวันเลยทีเดียว
แต่ด้วยความที่เว็บ "แก้มลิง" เป็นเว็บไซต์ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อ รองรับ สนับสนุน เหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ดังนั้นเป็นที่รู้กัน อยู่แล้วว่า หลังเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านไป ความนิยม หรือจำนวนคนเข้าเว็บก็ต้องตกลงอย่างน่าใจหายกันอย่างแน่นอน และหลังผ่านเหตุการณ์น้ำท่วม ก็เป็นไปตามคาด คนเข้าน้อยลงจริงๆ จนกระทั่งช่วงเดือน ธันวาคม ค.ศ. 2011 เอ ก็เริ่มสมัครหางานใหม่ทันที โดยครั้งนี้ต้องท้าทายกว่าเดิม และที่สำคัญ มีเป้าหมายเดียวคือบริษัทที่จะไปสมัครงานจะต้องเป็นที่อยู่ใน ประเทศสหรัฐอเมริกา เท่านั้น !
หลังจากที่ ได้ตัดสินใจเข้าสมัครงานในบริษัทระดับชั้นนำของโลก ที่มีถิ่นฐาน สำนักงานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เท่านั้น โดยคัดเลือกเน้นเฉพาะไอที โดยเอ จะเน้นสมัครในบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ (Start-up Business) และมีแนวโน้มที่จะไปได้รุ่งในอนาคต แต่พวกบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Google Facebook และ Twitter ก็อดไม่ได้ที่จะขอลอง ประลองฝีมือ สมัครเข้าไปด้วยเช่นกัน
โดยการสมัครงานเป็นการสมัครงานแบบออนไลน์ โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ของเค้า หาเมนูหมวด Job หรือ Carrier หาวิธีการส่งประวัติ (Resume) เข้าไป ซึ่งแต่ละที่ ก็จะมีกระบวนการสมัครงาน ที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยหลักแล้วคล้ายกันคือ จะมีการสัมภาษณ์ทางอินเตอร์เน็ตก่อน 1-3 ครั้ง และ หากเข้าตา ก็จะเชิญไป สัมภาษณ์งานแบบ On-site Interview หรือเข้าไปที่สำนักงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา เลยโดยทางบริษัทที่เรียกเราไป จะเป็นผู้ออกค่าตั๋วเครื่องบิน และ ที่พักให้กับเราทั้งหมด
ตลอด ในช่วงเดือน ธันวาคม ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา ภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมในบ้านเราเริ่มคลี่คลาย เอได้ใช้เวลาเกือบ 24 ชั่วโมง นั่งอยู่ที่บ้านเพื่อค้นหาบริษัทต่างๆ ที่น่า สนใจ และลองสมัครแบบออนไลน์เข้าไปดู โดยบริษัทที่สมัครเข้าไป มีดังต่อไปนี้
Google / SpeakerText / Posterous / Thoughtbot / HealthTap / Facebook / Twitter / Nextag / Expensify / Yammer / Groupon / Yelp / Causes.com / Square / Scribd
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ มีหลายเหตุการณ์ทั้ง เงียบไปเลย, สัมภาษณ์แล้วถูกปฏิเสธ, ติดต่อมา 1-2 ครั้งแล้วก็เงียบหายไป, เรียกไปสัมภาษณ์และ ได้รับข้อเสนอ ทั้งหมดเกิดขึ้น ภายใน 1.5 เดือน ถึง 2 เดือร หลังจากที่ได้ยื่นใบสมัครเข้าไป เอบอกว่าการสัมภาษณ์งานออนไลน์ ระหว่างตัวเองกับบริษัทในอเมริกา ส่วนใหญ่ ใช้เครื่องมือ 2 อย่างหลักๆ คือ Skype และ CollabEdit.com
หากเรามาดูในส่วนของ Skype นั้นคงไม่ต้องพูดถึง เพราะคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว ส่วนอีกตัวหนึ่ง เนื่องจาก ตำแหน่งที่สมัครเป็นตำแหน่งนักพัฒนาโปรแกรม (Developer) โปรแกรมเมอร์ (Programmer) หรือจะให้เรียกรู้ๆ ว่า วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer) นะแหละ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีการ เขียนโปรแกรมเล็กๆ ทดสอบกันบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เขาได้ใช้เว็บ CollabEdit.com ซึ่งเป็น เว็บที่เวลาเราพิมพ์อะไรไป อีกฝั่งก็จะเห็นสิ่งที่เราพิมพ์ไปพร้อมๆ กัน ฟรีนะครับ ลองไปใช้ดูได้
ซึ่งเวลาที่ใช้ในการสัมภาษณ์ออนไลน์ต่อครั้ง ใช้เวลาถึง 45 นาที ซึ่งถือเป็น 45 นาที ที่จะต้องทำให้เขาประทับใจที่สุด ทำให้เขาเห็นความสามารถที่มีอยู่ในตัวคุณออกมา ให้ได้มากที่สุด เพราะพลาดแล้ว ไม่มีโอกาสกลับมาแก้ตัวอีกครั้ง ไม่เหมือนสมัครบัตรเครดิต ที่สมัครไปแล้ว ไม่อนุมัติ ผ่านไป 6 เดือนคุณยังมีโอกาสกลับมาแก้ตัว ส่งเอกสารสมัครใหม่ได้อีก
ส่วนเรื่องของเวลาการสัมภาษณ์ หาก Twitter Facebook ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เขาเรียกสัมภาษณ์ออนไลน์ ช่วงประมาณ 6-7 โมงเช้า ในบ้านเรา (เวลาที่โน่นก็ตกประมาณ 4-5 โมงเย็น) ซึ่งเวลาค่อนข้างจะต้องตามเขา เพราะเขามีเวลาที่แน่นอน หากเป็น บริษัทเล็กๆ พวกนี้สามารถยืดหยุ่นได้ ขอต่อรองไปสัมภาษณ์ช่วง 9-10 โมงเช้า (ประมาณ 6 โมงเย็น ถึง 1 ทุ่ม ที่โน่น) บ้านเราได้ เรียกได้ว่าช่วงนั้น ต้องตื่นเช้า เป็นหมีแพนด้า กันทุกวันเลย (อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่า โปรแกรมเมอร์ ส่วนใหญ่ นอนเร็วเป็นกันที่ไหน)
และในที่สุดเขาได้รับข่าวดี คือการตอบรับให้บินไปสัมภาษณ์กับ 3 บริษัท ไอทีชั้นนำของโลกอย่าง Facebook, Twitter และ Expensify แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ แต่ละที่ก็พร้อมที่จะออกค่าตั๋วเครื่องบิน และที่พักให้เขาบินไปสัมภาษณ์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เอจะต้องบินไปกลับ กรุงเทพฯ - ซานฟรานฯ (แคลิฟอเนีย) จำนวน ทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน คำถามคือ "เพื่ออะไร ?" ทำไมไม่บินไปครั้งเดียว แล้วสัมภาษณ์ทั้ง 3 ที่ไปซะเลย
ในเมื่อคนเก่งเลือกได้แบบนี้ ก็ย่อมมีการเรียกสัมภาษณ์กันพร้อมๆ กันเป็นธรรมดา ซึ่งที่สุด เอก็สามารถต่อรองได้ว่าการบินไปสัมภาษณ์งานในครั้งนี้ มีรายละเอียดการออกค่าใช้จ่ายจากแต่ละค่ายดังต่อไปนี้
ซึ่งวิธีการรับมือกับ บริษัท 3 แห่งที่เสนอตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พักให้ ในการบินไปสัมภาษณ์งาน ซึ่งสุดท้าย เอก็บอก Facebook ไปตรงๆ ว่าเราจะใช้เงินที่เค้าออกไปให้ สัมภาษณ์งานที่อื่นด้วย ซึ่ง Facebook ก็โอเค และยินดีที่จะเลื่อนวันกลับให้ (มีเวลา 10 วันในอเมริกา) อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งทั้งหมดนี้ทาง Twitter และ Expensify จึงไม่ต้องออกค่าตั๋วเครื่องบินไปโดยปริยาย (ถือว่าเป็นโชคดีของมันทั้ง 2 ไป)
p>เอออกเดินทางไปช่วงกลางเดือน ของเดือนกุมภาพันธ์ 2012 กลับมาประมาณช่วงปลายเดือน เบ็ดเสร็จแล้วใช้เวลาประมาณ 10 กว่าวันในการพักอาศัยอยู่ที่นั่น โดยการ ไปสัมภาษณ์นั้นได้เรียงลำดับการสัมภาษณ์ออกเป็นเริ่มด้วย Facebook -> Expensify -> Twitter ตามลำดับ
ที่ Facebook จะมีคนมาสัมภาษณ์กัน 4 คน คนละ 45 นาที รวมเบ็ดเสร็จใช้เวลาทั้งสิ้น ประมาณ 4 ชั่วโมง รวมพักกินข้าว โดยจะมีการคุยกับ Product Manager, Engineering Manager และ Software Engineer อีก 2 คน ซึ่งจะมีการคุยถึง การออกแบบ Architecture สิ่งที่คุณเคยทำมาที่เจ๋งที่สุด รวมไปถึงการพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไป เช่น ทำไมอยากทำงานที่นี่ อยากจะปรับปรุง Facebook ยังไง, และสุดท้ายจะเป็น Technical Challenge ให้เขียนโปรแกรมบน Whiteboard
ผลการสัมภาษณ์ : ไม่ได้งาน :(
ที่นี่เป็น Start-up Business มีพนักงานเพียงแค่ 15 คน จึงกลายเป็นบริษัทที่เอ บอกว่าเป็นกันเองมากที่สุด และเป็นการสัมภาษณ์ที่นานที่สุดเช่นกัน ตั้งแต่เช้า จนถึงเกือบ 3 ทุ่ม โดยการสัมภาษณ์ที่นี่ขอเล่าเป็นลำดับขั้นตอนละกัน
โดยการสัมภาษณ์ จะทีปัญหาแบบ Ral-world Challenge 2 อัน ใช้อะไรทำ งานเป็นยังไง และก็แก้โจทย์ Brain-teaser หรือ ปัญหาที่ยากๆ แต่ก็มีความท้าทาย และน่าสนใจที่จะแก้ แล้วสุดท้าย CEO ของบริษัท ก็ออกมาคุย อธิบายประวัติทั้งหมด และบอกว่า จะได้รับข้อเสนอเข้าทำงาน ตอนนั้น เลย (ตอนนั้นเป็นเวลาเกือบ 2-3 ทุ่มแล้ว)
ผลการสัมภาษณ์ : ได้งาน :)
ที่ Twitter มีการสัมภาษณ์ โดยใช้พนักงานของเขา 6 คน โดยเฉลี่ย คนละประมาณ 45 นาที คนแรกเป็นอยู่ฝ่ายบุคคล (HR) และที่เหลือเป็นพนักงาน ที่น่าแปลกใจคือ 4 คนที่มาสัมภาษณ์เขาเคยเป็นพนักงานเก่าทำงานที่ Google อีก 1 คนมาจาก Paypal และอีก 1 คนมาจาก Yahoo ดูจากพนักงานที่มาสัมภาษณ์นั้น ดูแล้วถือ เป็นแหล่งรวม All Stars จากวงการไอที เลยก็ว่าได้
โดยเอไปถึง 9.30 น. กลับ 16.00 (4 โมงเย็น) มีการพักกินข้าว และพาไปกินข้าวอีกด้วย โดยที่ Twitter การให้โจทย์มาทำก็คงจะคล้ายๆ โจทย์ทางโปรแกรมมิ่งทั่วๆ ไป นอกจากนี้แล้วยังมีคำถามแนวธุรกิจเช่นรายได้จะหาได้ยังไง ฟังก์ชั่นหรือความสามารถที่จะเพิ่มให้ทาง Twitter มีอะไรบ้าง เสนอแนะเข้าไป
ในที่สุด เอ ก็ได้รับการ ยื่นข้อเสนอให้เข้าทำงาน ด้วยข้อเสนอที่พอใจ ทั้ง 2 บริษัทอย่าง Twitter และ Expensify ซึ่ง เอบอกว่า การเลือกงานในแต่ละที่ก็มีความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป ถ้าเราเลือก บริษัทใหญ่ อย่าง Twitter ได้ชื่อเสียง สวัสดิการที่ดี แต่ โอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน น้อยกว่า (เพราะคนเยอะแล้ว) รวมไปถึง การทำงานก็จะแคบลง
หากเราเลือกบริษัทเล็กๆ อย่าง Expensify ก็จะเป็นบริษัทเล็กๆ โอกาสเติบโต หากช่วยกันนำพาบริษัทโตขึ้นไปได้ โอกาสเติบโตในบริษัทก็จะมีมากกว่า การทำงานก็จะหลากหลายกว่า คงไม่ได้ทำอะไรซ้ำๆ ซากๆ เนื่องจากเป็นบริษัทที่เล็ก แต่แน่นอนความเสี่ยงก็สูงกว่าการได้ทำงานบริษัทใหญ่ๆ อย่างแน่นอน ซึ่ง อัปเดตล่าสุด เอ ได้เซ็นสัญญาเข้าทำงานที่ Twitter เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 นี้ ทางผมและทีมงาน Thaiware.com ขอแสดงความยินดีกับเอด้วย
คนไทยทุกคนสามารถสร้างโอกาสได้แบบเอ แต่อยู่ที่ว่ามันจะมาเมื่อไหร่ ถ้ามาแล้วจะคว้าเอาไว้ได้หรือไม่ การสัมภาษณ์งานออนไลน์ (Online Interview) นั้นเป็นการสัมภาษณ์ที่มีเวลาจำกัดมาก คุณต้องนำเสนอ พรีเซ้นต์ ตัวเองออกมาได้ให้มากที่สุด ทั้งหมดนี้ หากคุณเชื่อว่าคุณทำได้ ผมก็เชื่อว่าคุณต้องทำได้ หวังว่าบทความนี้ คงจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย ทุกคน สวัสดีครับ ...
บทความโดย
ธรรณพ สมประสงค์ (นิ้ง)
Thanop Somprasong (Ning)
Twitter : @thanop