ข้อดี
| ข้อสังเกต
|
หลังจากที่ได้พรีวิว Huawei Nova 3e กันไปเบาๆ แล้วหนึ่งรอบ บทความนี้เราขอกลับมาแนะนำสมาร์ทโฟนมิดเรนจ์ดีไซน์เรือธงกันแบบเข้มข้นขึ้น ให้ได้รับชมกันอีกซักหนึ่งรอบเพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจหาสมาร์ทโฟนดีๆ ราคาสบายกระเป๋ากันดู
Huawei Nova 3e มีให้เลือกด้วยกัน 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สีดำ และสีชมพูครับ ซึ่งตอนที่ได้ไปพรีวิว เราเห็นแต่สีน้ำเงินกับดำ แต่รุ่นที่อยู่ในมือเราตอนนี้ เป็นสี Sakura Pink ที่พอเห็นสีตัวเครื่องจริงๆ แล้วเป็นสีที่ละมุนมาก เป็นสีชมพูอ่อน ที่เราว่าผู้ชายก็น่าจะใช้งานได้นะ (สาวๆ น่าจะเรียกว่าเป็นสีนู้ด) สวยจริงๆ
หรือเราเป็นคนชอบสีชมพูรึเปล่าก็ไม่รู้?
ก่อนจะไปดูตัวมือถือกัน มาสำรวจกล่องกันซักเล็กน้อย ภายในกล่องนอกจากตัวเครื่องแล้ว ก็จะประกอบไปด้วย อะแดปเตอร์ Huawei Quick Charge, สาย USB Type-C, เข็มจิ้มถาดซิม และหูฟัง Hands free 3.5mm
อันนี้เราไม่แน่ใจ คือปกติแล้วมือถือ Huawei เขาจะติดฟิล์มกันรอยมาให้ด้วย แต่เครื่องนี้เราไม่เห็นฟิล์มอยู่บนหน้าจอนะ ไม่รู้ว่าเพราะเป็นเครื่องรีวิวรึเปล่า? (อาจจะถูกลอกออกไปแล้ว) แต่ไม่ใช่เรื่องน่าห่วงเท่าไหร่ เพราะนี่ใช้งานมาหลายวัน จอกระจกก็ไม่ได้เป็นรอยอะไร
มาดูดีไซน์ตัวเครื่องกันต่อ ก็อย่างที่เคยบอกว่า Huawei Nova 3e มีอีกชื่อหนึ่งว่า Huawei P20 Lite ก็เลยมีการถอดแบบดีไซน์ที่เหมือนกับ P20 ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอยาวขอบบางแบบ FullVision Display มีขอบ Notch ที่เป็นตำแหน่งของเซ็นเซอร์ด้านหน้า ลำโพงสนทนาและเลนส์กล้องหน้า วัสดุกระจกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง (ขอบอลูมิเนียม) กล้องคู่ด้านหลังที่มีการจัดเรียงเลนส์ แฟลชและตัวหนังสือต่างๆ เป็นแนวตั้ง และเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ตรงกลางด้านหลังตัวเครื่อง (แต่ P20 ไว้ตรงตำแหน่งปุ่มโฮมด้านหน้าตัวเครื่อง)
การวางตำแหน่งกล้องเหมือนรุ่นเรือธง แต่มีเซ็นเซอร์สแกนนิ้วอยู่ด้านหลัง
ปุ่มกดทั้งปุ่มพาวเวอร์และปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงอยู่ด้านขวาของตัวเครื่องตรงขอบอลูมิเนียมทั้งหมด ด้านล่างของตัวเครื่อง เป็นช่องเสียบสายหูฟัง 3.5mm, พอร์ต USB Type-C, ช่องไมค์ และลำโพงสปีกเกอร์
ขอบเลนส์กล้องนูนที่เคยเป็นปัญหา ตอนนี้ก็ไม่ค่อยมีใครบ่นแล้ว ใส่เคสทับก็จบ
รุ่นใหญ่ไม่มีรูหูฟังแล้ว แต่ในรุ่นเล็กยังมีให้ใช้งานอยู่
ส่วนถาดซิมเป็นแบบ 2 Slots ที่เราต้องเลือกว่าจะใส่ 2 ซิม หรือ 1 ซิม 1 การ์ด microSD ซึ่งช่อง Slot 2 ของมือถือเครื่องนี้ รองรับเพียง 2G เท่านั้นนะครับ
ช่องใส่ซิมการ์ดเป็นรูปแบบ nanoSIM ทั้งคู่ ซึ่งใน Slot2 ต้องเลือกใช้งานระหว่างซิมหรือ microSD Card
จากรูปในส่วนของการตั้งค่า ซิม 2 จะรองรับแค่เพียง 2G เท่านั้น ส่วน ซิม 1 รองรับทั้ง 2G/3G/4G
Huawei Nova 3e มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android Oreo 8.0 ครอบด้วย EMUI 8.0.0 ที่โฮมสกรีนเป็นรูปแบบที่ไม่มี App Drawer แอปฯ ทั้งหมดในเครื่องจะถูกเก็บอยู่บนหน้าโฮมสกรีน ซึ่งจะใส่รวมเป็นโฟลเดอร์ หรือจะมีหน้าโฮมสกรีนกี่หน้าก็ว่ากันไป ส่วนฟีเจอร์ใช้งานที่น่าสนใจของ Nova 3e มีดังนี้
**บางฟีเจอร์อาจจะไม่ใช่ของใหม่ แต่ยกขึ้นมาให้ได้ทราบกันเพราะดูว่าน่าสนใจดี
ระบบสแกนใบหน้า
คือส่วนตัวแล้ว เราไม่ค่อยถนัดการใช้งานมือถือที่มีปุ่มสแกนนิ้วอยู่ด้านหลังตัวเครื่องเท่าไหร่ ซึ่งถ้าไม่ถนัดก็ไม่ต้องใช้งานมัน เพราะ Nova 3e เพิ่มทางเลือกในการปลดล็อกด้วยการสแกนใบหน้าได้ ซึ่งการสแกนก็ไม่ได้ช้านะ สามารถทำได้เร็วอยู่
ส่วนเรื่องความแม่นยำนั้น เราหลับตาทั้ง 2 ข้าง เครื่องไม่สามารถปลดล็อกได้นะ อย่างน้อยต้องลืมตาข้างหนึ่ง แล้วก็มีช่วงที่หาว มือถือก็ไม่สามารถตรวจสอบใบหน้าเจอเช่นกัน 555
ปิดขอบดำ (notch)
สำหรับคนที่ไม่ชอบ ขอบดำ บนหน้าจอดีไซน์ใหม่ที่ใช้กันแทบทุกแบรนด์ ก็สามารถไปปิดได้ในส่วนของการตั้งค่า แต่เอาจริงๆ แล้วขอบ notch ก็ไม่ได้มีผลกับเครื่องนี้ซักเท่าไหร่ เพราะไม่ว่าจะเล่นเกมส์หรือดูคลิป การแสดงผลก็ไม่ได้ขยายไปตรงมุม notch แต่อย่างใด เหมือนอย่างสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นในท้องตลาด
การแคปหน้าจอด้วยการลาก 3 นิ้ว
จะแคปหน้าจอทุกครั้งต้องมานั่งกดปุ่มพาวเวอร์+ลดเสียง ก็คงจะไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะมือถือแต่ละรุ่นแต่ละค่าย ก็มีวิธีที่แตกต่างเป็นของตัวเอง สำหรับ Huawei Nova 3e ก็เช่นกัน โดยวิธีการก็คือ ใช้ 3 นิ้วแตะไปที่หน้าจอและลากลงเพื่อทำการแคปหน้าจอ แต่ถ้าต้องการจะใช้งาน ต้องไปเปิดในเมนูการตั้งค่าก่อนนะครับ
ลดหรือปิดเสียงเรียกเข้าด้วยแอคชั่นต่างๆ
ฟีเจอร์ช่วยอำนวยความสะดวกเล็กๆ ของมือถือ ที่หากมือถือมีเสียงเรียกเข้าหรือเสียงปลุก เราสามารถยกมือถือขึ้นมา เพื่อลดเสียงดังกล่าวให้เบาลงได้ ก่อนจะรับสายหรือปิดการปลุก หรือถ้าต้องการจะปิดเสียงเลย ก็วางจอมือถือคว่ำไว้ได้เลย
ตั้งเวลาเปิด/ปิดเครื่อง
ฟีเจอร์ช่วยจัดระเบียบชีวิต ด้วยการตั้งเวลาเปิด/ปิดมือถือเอาไว้ จะใช้เอาไว้กำหนดเวลาใช้งานมือถือก็ได้ จะตั้งไว้ตอนนอนก็ได้ สะดวกดี
โหมดประหยัดแบตเตอรี่
มีโหมดประหยัดแบตเตอรี่ ให้ใช้งานกัน 2 ระดับ โดยถ้าเปิดโหมดประหยัดพลังงานขั้นสูง หากแบตฯ เหลืออยู่ครึ่งหนึ่ง ก็ใช้งานได้นานถึง 7 วันเลยทีเดียว
เกมส์คงไม่ใช่ความโดดเด่นของ Huawei Nova 3e ซักเท่าไหร่ แต่ก็พอเล่นได้อยู่บ้าง อย่างเกมส์ PUBG ที่ช่วงนี้ถูกเอามายกเป็นตัวอย่างในการทดสอบเล่นเกมส์บนมือถือบ่อยๆ ซึ่งในส่วนของการตั้งค่ากราฟิกของเกมส์ ก็ไม่สามารถปรับไปถึง HD และเฟรมเรทสามารถปรับได้แค่ระดับกลางเท่านั้น
การตั้งค่าสูงสุดบน PUBG ที่ทำได้
ตัวเกมส์ไม่ได้ลื่นมาก เล่นเกมส์ FPS ลากเป้ายากอยู่เหมือนกัน
ถ้าถามว่าเล่นได้ไหม? เล่นได้ครับ แต่จะมีจังหวะสะดุดบ้าง ไม่ได้ลื่นปรึ๊ดๆ ตลอดเวลา ซึ่งเราได้ลองกับอีกเกมส์ที่เป็นแนวเดียวกันอย่าง Creative Destruction ก็พบอาการเดียวกันกับ PUBG ครับ
Creative Destruction เกมส์ลื่นกว่า PUBG อยู่หน่อยๆ แต่พบปัญหาการเล่นรูปแบบเดียวกัน
ส่วนพวกเกมส์ที่ไม่ใช่สายแอคชั่นที่ต้องการความไหลลื่นของการเล่น อย่าง Candy Crush, Hay Day, เกมส์เศรษฐี ฯลฯ ก็สามารถเล่นได้ชิลๆ เลยครับ
ถึงจะเคยบอกว่า Huawei Nova 3e เด่นที่กล้องหน้า แต่กล้องหลังก็ไม่ได้ขี้เหร่นะ โดย Nova 3e กล้องหลังมาพร้อมกับกล้องเลนส์คู่ ที่ค่ารูรับแสง (f) ค่อนข้างจะสูงไปนิด ที่ f/2.2 ถ่ายในที่แสงน้อยก็จะยากหน่อยตามระเบียบ
แน่นอนว่ากล้องเลนส์คู่ของหัวเว่ยก็ต้องมาพร้อมกับความสามารถในการถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังละลาย ซึ่งก็เหมือนกับหัวเว่ยรุ่นอื่นๆ กล้องหลังรุ่นนี้มาพร้อมกับความละเอียด 16 ล้านพิกเซล แต่สำหรับการถ่ายแบบหน้าชัดหลังละลายจะถ่ายได้แค่ 8 ล้านพิกเซลเท่านั้น และไม่รองรับการซูมอีกด้วย เราถึงไม่สามารถถ่ายรูปแบบผลักระยะด้วยการซูมได้
สำหรับการละลายฉากหลังด้วยซอฟต์แวร์ ก็ทำได้สวยดีเป็นธรรมชาติมากๆ แต่การตัดขอบของรูปฉากหน้า ถ้าเจอตัวแบบโหดๆ อย่างหนามกระบองเพชร (รูปตัวอย่างที่ถ่ายมา) หรือนางแบบที่ผมยุ่งๆ ซอฟต์แวร์กล้องก็คงกุมขมับปวดหัวอยู่เหมือนกัน
สังเกตดอกไม้สีขาวของต้นแคคตัส จะเห็นว่ามีตรงช่วงกลีบเล็กๆ ที่ไม่ถูกเบลอ ส่วนหนามรอบๆ ต้นในหลายๆ จุด ฟุ้งเบลอเลยทีเดียว
ด้านโปรไฟล์รูปที่ได้จากกล้องของ Nova 3e สีจะถูกเร่งให้มีความสดกว่าของจริงอยู่มาก ถ้าชอบภาพสีสดๆ นี่สะใจมาก รวมทั้งเส้นขอบต่างๆ ภายในภาพ จะถูกเร่งจนคมกริบบาดตาเลยทีเดียว
ใบไม้สีเขียวสดกว่าของจริงมาก รวมทั้งสีแดงก็ถูกเร่งอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
เส้นขอบต่างๆ เช่นลายบนหลังเต่าคมจนเห็นแต่ละเส้นได้อย่างชัดเจน
ส่วนกล้องหน้ามาพร้อมความละเอียด 16 ล้านพิกเซลเท่ากับกล้องหลัง ที่โดดเด่นก็คือซอฟต์แวร์ของกล้องปรับโทนผิวที่ถ่ายสวยมาก ผิวตัวแบบดูสดใส ส่วนโหมดบิวตี้ มีให้ปรับถึง 10 ระดับด้วยกัน ซึ่งรุ่นนี้ถือว่าทำได้ดีนะ ถ้าไม่ปรับสุด หน้าก็ยังดูเป็นธรรมชาติอยู่
ด้านฟีเจอร์ลูกเล่นอื่นๆ ที่น่าสนใจของกล้อง สำหรับกล้องหน้าก็มีในส่วนของลูกเล่น AR ที่ใส่ทั้งลูกเล่นสติ๊กเกอร์อนิเมชั่นบนหน้าและเปลี่ยนพื้นหลังได้
ส่วนกล้องหลัง ก็มีเลนส์ AR เช่นกัน แต่จะไม่มีลูกเล่นเปลี่ยนพื้นหลังให้ใช้งาน ที่น่าสนใจคือโหมดการถ่ายภาพโปรที่มีให้ใช้งานทั้งการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ โดยโหมดโปรในการถ่ายภาพนิ่ง สามารถปรับได้ค่อนข้างหลากหลายมาก ตั้งแต่ รูปแบบการวัดแสง, ค่า ISO, ความเร็วชัตเตอร์, การโฟกัสแบบแมนวล, ชดเชยแสง และค่าสมดุลแสงขาว ที่เราสามารถเลื่อนปรับอุณหภูมิภาพเองได้ ส่วนการถ่ายวิดีโอก็มีทั้ง รูปแบบการวัดแสง, ชดเชยแสง, การโฟกัส และไวท์บาลานซ์
ไวท์บาลานซ์สามารถปรับอุณหภูมิเองได้เหมือนกล้องโปรหลายๆ รุ่น
เสียดายเล็กๆ ที่ UI การปรับค่ากล้องไม่ยอมหมุนตามเวลาถ่ายแนวนอน ต้องตะแคงหัวเพื่ออ่านอยู่บ้าง
เมนูไม่ปรับเป็นแนวนอนตามภาพที่ถ่าย
หากชอบดีไซน์แบบ Huawei P20 แต่งบไม่ถึง ก็สามารถจัด Huawei nova 3e สวยๆ ไปได้เลย เพราะด้านกล้อง ถึงแม้ว่าฟีเจอร์จะไม่เท่ากับรุ่นเรือธง แต่ก็ใช้งานได้แบบสบายๆ ทั้งกล้องหลังที่ให้ภาพสวยสด คมชัด และกล้องหน้าที่เซลฟี่โทนผิว สีสวยมากๆ ส่วนถ้าต้องการจะนำมือถือไว้เล่นเกมส์ด้วย ก็สามารถพอเล่นได้อยู่บ้าน แต่ถ้าจะให้เล่นเกมส์เป็นหลัก คงไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ สำหรับ สมาร์ทโฟนเครื่องนี้
|
... |