เมื่อหน้าตาของดีไวซ์กลายเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อแล็ปท็อปดีๆ ไว้พกไปใช้งานไม่ให้เคอะเขินใครๆ มากกว่าปัจจัยเรื่องอื่นๆ เราเลยอยากจะแนะนำ Lenovo YOGA S940 มาให้ได้รู้จักกันสักหน่อย เพราะแล็ปท็อปรุ่นนี้ ตั้งแต่หยิบออกมาจากกล่อง มาจนถึงเปิดใช้งาน ดีไซน์สวยน่าพกไปนั่งใช้งานโชว์ในร้านคาเฟ่หรือ Co-working space มากๆ
จุดที่ประทับใจ
| จุดที่ไม่ชอบ
|
Lenovo YOGA S940 เป็นอัลตร้าบุ๊คประสิทธิภาพสูงจากทางเลอโนโวที่ถูกจับไว้ในตระกูล YOGA S ก็เพราะว่าเน้นดีไซน์สวยพรีเมียมและมีความเบาบางที่น่าประทับใจ ซึ่งก็บอกได้เลยว่าประทับใจจริงๆ กับความสวยงามตรงหน้าของ S940 ไม่เพียงเท่านั้น ประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ ยังอยู่ในเกณฑ์การใช้งานที่ดี ทั้ง CPU Core i7 ตัวเลือกกราฟฟิกที่สามารถเลือกเป็น Iris Plus ได้ ไปจนถึงหน้าจอ 4K ลำโพงคู่ Dolby Atmos ที่ตอบรับความบันเทิงได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากคาดหวังเรื่องการทำงานที่หลากหลาย เช่น การกางหน้าจอ 180 - 360 องศา หรือทัชสกรีนโหมดแท็บเล็ต อาจจะต้องมองข้ามรุ่นนี้ไป
สเปคของ Lenovo YOGA S940
เอาจริงๆ อัลตร้าบุ๊คที่บางกว่านี้ในตลาดก็มี แต่กับ S940 ที่มีความหนาสุดเมื่อพับหน้าจออยู่ที่ 10 มิลลิเมตร (วัดถึงฐานยางรองพื้น 14 มิลลิเมตร) มากับทรงสี่เหลี่ยมที่มีความยาวเป็นพิเศษ พร้อมกับดีไซน์ขอบตัวเครื่องที่ตัดเอียงเป็นแนวทแยงมุมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ก็ยิ่งทำให้ดูเซ็กซี่ยิ่งขึ้นไปอีก และแน่นอนว่าความบางขนาดนี้ ก็ต้องตัดพวกฮาร์ดแวร์ใหญ่ๆ ออกไป ซึ่งด้านข้างของ S940 เหลือเพียงพอร์ต USB-C มาให้ใช้งานถึง 3 พอร์ตด้วยกัน (ด้านขวา 2 พอร์ตและซ้าย (สำหรับชาร์จไฟ+ใช้งานอื่นๆ) 1 พอร์ต) และถึงแม้ว่า USB-C จะใช้งานได้ค่อนข้างครอบคลุมอยู่แล้ว ก็ยังมีช่อง AUX 3.5mm มาให้ด้วย ไม่ต้องหาหูฟัง USB-C มาใช้งานเหมือนสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นนะ
ที่บอกว่าทรงตัวเครื่องที่ดูยาวเป็นพิเศษนั่นแหละ เมื่อเปิดจอออกมาก็เป็นจอ IPS ขนาด 13.9 นิ้วพร้อมกับอัตราส่วน Widescreen 16:9 ทั่วๆ ไป แต่ที่แตกต่างก็คือ ขอบของหน้าจอบางมาก!! มีความหนาเพียง 4 มิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้ต่างจากแล็ปท็อปดีไซน์เก่าๆ ในท้องตลาดที่ต้องทำขอบล่างหนาๆ เพื่อใส่โลโก้ ขอบบนหนาๆ เพื่อใส่กล้อง ซึ่งตัวนี้ก็มีกล้องนะ แต่ใช้ดีไซน์แบบรอยบากกลับด้านแทนเพื่อไม่ให้กินพื้นที่หน้าจอ และก็ไม่ให้ขอบจอหนาไปด้วย (ปกติดีไซน์รอยบากบนมือถือจะกินพื้นที่หน้าจอเข้ามา)
S940 ใช้คีย์บอร์ดแบบไม่มี Num Pad (ซึ่งก็เป็นปกติของแล็ปท็อปไซส์นี้) และเอาพื้นที่ด้านข้างทั้ง 2 ด้านไปใส่ลำโพง Speakers แทน ตรงปุ่มจะสังเกตเห็นว่า ขอบด้านล่างมีความโค้งเล็กๆ เกือบทุกปุ่ม (ยกเว้นปุ่มฟังก์ชั่นแถวบนและ Spacebar) เพิ่มความเพรียวสวยเล็กๆ น้อยๆ ให้กับตัวเครื่อง มีไฟ Backlit สีขาวใต้ปุ่มที่ปรับความสว่างได้ 3 ระดับ ส่วนสัมผัสการใช้งาน เวลาพิมพ์ปุ่มจะให้ความรู้สึกนิ่มๆ ยวบๆ หน่อย ถ้าชอบคีย์บอร์ดแข็งๆ หรือติดเกมมิ่งคีย์บอร์ด อาจไม่ค่อยถูกจริตนัก
จริงๆ หน้าจอ 16:9 ก็เป็นหน้าจอที่เหมาะกับการทำงานที่มีเครื่องมือเยอะๆ อย่างโปรแกรมตัดต่อ หรือแบ่งหน้าจอทำงานเอกสารก็ได้พื้นที่ที่พอเหมาะอยู้ไม่น้อย แต่สำหรับ S940 น่าจะเกิดมาเพื่อการดูหนังหรือซีรีส์โดยเฉพาะ ทั้งหน้าจออัตราส่วนกว้าง ขอบจอที่แคบจนไม่เกะกะสายตา ไปจนถึงลำโพงคู่ DOLBY ATMOS ที่ยอมเอาพื้นที่ด้านข้างคีย์บอร์ดทั้ง 2 ข้างมาติดตั้งก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีอยู่ไม่น้อย จะเปิดหนังดูบนเตียงก่อนนอน หรือพกไปดูบนเครื่องบินก็เต็มอิ่มอยู่ไม่น้อย (แต่ที่สาธารณะ ใส่หูฟังก็ดีนะ)
ทัชแพดของ S940 เป็นแบบ Clickpad ที่ไม่มีพื้นที่ของปุ่มคลิกปรากฏให้เห็น สามารถคลิกซ้ายได้ด้วยการสัมผัสสั้นๆ หรือกดคลิกไปที่ทัชแพดก็ได้ (ได้เกือบทั้งแผ่น) ใช้คำสั่งคลิกขวาด้วยการคลิกที่มุมขวาล่างของทัชแพด หรือสัมผัสด้วย 2 นิ้วก็ได้ นอกจากนี้ยังรองรับมัลติทัชทั้ง 3 นิ้วในการเลื่อนสลับระหว่างแอปฯ หรือ 4 นิ้วในการสลับหน้าจอก็ได้
ช่วงนี้เราได้จับทัชแพดแล็ปท็อปหลายๆ รุ่น (ส่วนใหญ่เป็นรุ่นประหยัด) ซึ่งสำหรับ S940 ถือว่ามีทัชแพดที่งานประกอบแน่นอยู่พอสมควร จับใช้งานแล้วไม่ก๊องแก๊งชวนให้หงุดหงิดใจ ใช้งานสนุกอยู่พอสมควร ไม่ต้องต่อเมาส์ใช้งานเพิ่มเติมเลย
S940 ไม่มีเซ็นเซอร์สแกนนิ้ว แต่ใช้กล้องเว็บแคมรวมกับ Windows Hello ในการล็อกอินเข้าสู่ระบบ ซึ่งก็ทำงานได้อย่างรวดเร็วประทับใจ ตรวจจับใบหน้าเราได้อย่างว่องไวและล็อกเข้าใช้งานได้ทันที แต่ต้องมีองศาในการโผล่หน้าให้กล้องเห็นหน่อย เพราะถ้าเห็นไม่เต็มหน้าก็จะปลดล็อกไม่ได้ (ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี)
ปุ่มพาวเวอร์ของ S940 มีลักษณะเป็นปุ่มแบนๆ ยาวๆ คล้ายปุ่มพาวเวอร์บนสมาร์ทโฟน ซึ่งไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ แต่ลักษณะการใช้งานก็คล้ายกัน คือเราสามารถกดปุ่มเพื่อล็อกหน้าจอได้ และเมื่อกดเปิดอีกครั้งก็ต้องใส่รหัสผ่านหรือปลดล็อกหน้าจอด้วยใบหน้าเพื่อให้พร้อมใช้งานอีกครั้ง แต่ถ้าล็อกหน้าจอไว้นานๆ ก็ต้องบูสต์เครื่องใหม่อยู่ แต่ใช้เวลาไม่นานหรอก
เป็นฟีเจอร์ที่เป็นหนึ่งในจุดขายของ S940 ที่ได้นำ AI มาประกอบการใช้งาน โดยจะสามารถใช้งานได้ เมื่อเราต่อจอเสริมเพิ่มขึ้นมาจาก S940 ซึ่งตัวซอฟต์แวร์จะจับสายตาของเรา เมื่อเราเปิดใช้งานแอปฯๆ หนึ่งอยู่ หากเราย้ายสายตาไปยังจออื่นๆ หน้าต่างที่เปิดใช้งานจะถูกย้ายไปยังจอเสริมโดยอัตโนมัติ
(แต่ฟีเจอร์ Glance เป็นซอฟต์แวร์ของทาง Lenovo ที่ติดตั้งมากับตัวเครื่อง ซึ่งเครื่องที่เราได้รับมารีวิวไม่มีซอฟต์แวร์ดังกล่าว และหาโหลดปกติไม่ได้ เลยไม่ได้ลองเล่น)
ภาพจาก https://news.lenovo.com/pressroom/press-releases/lenovo-yoga-smartest-consumer-computers-yet/
S940 มีหนึ่งจุดขายในเรื่องของแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้ยาวนานถึง 15 ชั่วโมง แต่เฉพาะกับการเปิดหน้าจอแสดงผล FullHD เท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วแล็ปท็อปรุ่นนี้สามารถปรับความละเอียดหน้าจอสูงสุดที่ระดับ 4K ได้ แต่ก็แลกกับเวลาการใช้งานที่น้อยลง ซึ่งขณะที่ทดสอบเครื่อง แบตฯ ที่ 89% แจ้งเตือนว่าใช้งานได้อีก 8 ชั่วโมง 20 นาที ซึ่งถ้าเราใช้งานโปรแกรมหนักๆ จริงๆ ก็อาจจะไม่ถึง 5 ชั่วโมงด้วยซ้ำ ไม่เพียงพอกับการพกพาจอ 4K ไปใช้งานข้างนอกตลอดวัน
จอ IPS ของ S940 ให้สีสันที่คมชัดด้วยมาตรฐานสี HDR VESA400 พร้อมแสงหน้าจอที่สว่างได้สูงสุดถึง 500 nits ที่สู้กับแสงแดดริมหน้าต่างร้านกาแฟได้สบายๆ (แต่ก็จะไปสูบแบตฯ เช่นเดียวกับจอ 4K) แต่กับผิวหน้าจอเงาๆ ทำให้มีแสงสะท้อนเกิดขึ้นบนการแสดงผลอยู่พอสมควร ต้องหาองศาในการทำงานดีๆ ไม่งั้นอาจมีอาการปวดตาระหว่างใช้งานเพลินๆ ได้
ถึงแม้ว่าจอละเอียดๆ หรือแสงสว่างๆ จะดูดแบตฯ พอสมควร แต่ดีที่เดี๋ยวนี้การออกไปทำงานข้างนอกมีปลั๊กไฟให้ชาร์จแบตฯ กัน ไม่ว่าจะตามคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือ Co-working space ฟีเจอร์ Rapid Charge จะช่วยให้เราชาร์จไฟเร็วขึ้นเมื่อปิดเครื่อง ใช้เวลาไม่นาน แบตฯ ก็เต็มพร้อมใช้งานอีก แต่ถ้าไม่อยากชาร์จระหว่างวัน ก็ต้องลดแสงและความละเอียดจอลง
S940 โมเดลที่นำมารีวิวเป็นรุ่นที่ใช้ CPU รหัส U และใช้กราฟิก Intel UHD Graphics 620 ที่เหมาะกับการทำงานทั่วๆ ไป แต่ถ้าอยากจะเน้นสเปคกราฟิกที่แรงขึ้น ก็ไปเลือกรุ่นที่ใช้ CPU i7-1065G7 พร้อม Intel Iris Plus แทน ก็ขยับมาทำงานกราฟิกได้เป็นอย่างดีและก็พอเล่นเกมได้บ้าง
ได้ชื่อว่า YOGA หลายๆ คนอาจจะคาดหวังว่า S940 จะมีโหมดใช้งานอุปกรณ์ได้แบบมัลติฟังก์ชั่นทั้งการกางจอราบกับโต๊ะ พลิก 360 องศามาใช้เป็นแท็บเล็ต หรือตั้งหน้าจอในรูปแบบเต็นท์ แต่ YOGA S940 สามารถใช้งานในโหมดแล็ปท็อปได้เท่านั้น ไม่สามารถกางจอได้มากกว่านี้แล้ว ที่คงชื่อ YOGA ก็เป็นเพราะความเพรียวบางสวยงาม
มันก็เป็นเรื่องดีที่ S940 ใช้ USB-C ล้วนๆ ซึ่งเป็นพอร์ตสารพัดประโยชน์ ที่ทำได้ทั้งชาร์จไฟ โอนข้อมูลเร็ว (รองรับ Thunderbolt™) ต่อจอแยกได้ แถมทำให้เครื่องบางกว่า USB แบบเก่า แต่สำหรับตลาดที่อุปกรณ์ยังมีพอร์ตแบบเก่าๆ เยอะ เช่น การต่อ Thumb drive หรือต่อเมาส์ใช้งานเพิ่มเติม เราก็ต้องพึ่ง Dock อยู่พอสมควร (ซึ่งแล็ปท็อปที่ใช้พอร์ต USB-C ในตลาดก็ต้องพึ่ง Dock กันไปซักพักใหญ่ๆ แหละ)
ถึงแม้ว่าแล็ปท็อป Intel 10th Gen กำลังทยอยออกสู่ตลาด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่นักถ้าจะซื้ออัลตร้าบุ๊คที่ใช้แค่ Intel 8th Gen เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ดูเก่าซักหน่อยในตอนนี้ แต่บน Core i7 นั้น 8th Gen กับ 9th Gen ต่างกันแค่ความเร็วเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แล็ปท็อปในตลาดส่วนใหญ่ในตอนนี้มักจะใส่ทัชสกรีนมาให้ ไม่ว่าจะในนระดับราคาไหน ซึ่งสำหรับ S940 ไม่สามารถใช้ทัชสกรีนได้ ก็แอบเสียดายนิดๆ แต่เอาจริงๆ แล้วมีทัชแพดตอบสนองดีๆ ก็แทนทัชสกรีนได้เป็นอย่างดี และหน้าจอขอบบางๆ แบบนี้ การไม่มีจอทัชสกรีนอาจเป็นเรื่องที่ดีก็ได้นะ เพราะหน้าจอสวยๆ บางๆ ก็ไม่เหมาะสมที่จะต้องไปแตะเยอะๆ (ผิวเงาเป็นรอยง่าย)
ถึงแม้ว่าหน้าที่หลักๆ ของกล้อง S940 จะใช้กับ Windows Hello ในการปลดล็อกหน้าจอ แต่ความละเอียดกล้อง 720p ไม่ประทับใจเอาเสียเลย ถึงแม้ว่าจะให้รายละเอียดได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้คมขนาดจะอวดใครได้ เวลาคอนฯ คอลประชุมสาย ถ้าอีกฝั่งเป็นสมาร์ทโฟนละก็ ภาพเราแพ้ขาดเลย
ด้วยความที่เป็นอัลตร้าบุ๊ค 14 นิ้ว ที่ใช้พื้นที่น้อยมากๆ ทำให้ช่วงของฐานคีย์บอร์ดสั้นไปด้วย สำหรับคนที่มือใหญ่ อุ้งมือจะไปวางกับขอบของตัวเครื่อง (ที่มุมค่อนข้างคม) พอดี ซึ่งถ้าใช้งานในเวลานานๆ การกดทับอาจจะมีอาการเจ็บได้
ด้วยความที่เป็นอัลตร้าบุ๊ค S940 ไม่ได้มีระบบการระบายความร้อนที่โดดเด่นเหมือนอย่างเกมมิ่งแล็ปท็อปอยู่แล้ว และก็ไม่น่าจะมีความร้อนสูง โดยช่องระบายความร้อนจะอยู่ใต้เครื่องเลย วางตักก็อุ่นกำลังดี
ส่วนเสียงพัดลม ถ้าห้องไม่ได้เงียบมากๆ หรือไม่ได้เงี่ยหูฟังใกล้ๆ ก็แทบจะไม่ได้ดังจนก่อให้เกิดความรำคาญเลย แม้จะเปิดการใช้งานไปที่ Best Performace ก็ตาม
สำหรับคนที่กำลังมองหาอัลตร้าบุ๊คบางๆ ที่หน้าจอไม่ได้เล็กจนทำงานยาก Lenovo YOGA S940 ตอบโจทย์ตรงนี้ ด้วยหน้าจอขนาด 14 นิ้วกับดีไซน์ขอบจอที่บางมากๆ ทำให้เราได้แล็ปท็อปที่พกพาได้ง่าย และขนาดหน้าจอที่ไม่ได้เล็กจนเกินไป บวกกับดีไซน์สวยๆ ที่ถูกใจใครแล้วก็คงตัดสินใจได้ไม่ยาก ส่วนความบันเทิงก็ตอบโจทย์เป็นอย่างดีด้วยอัตราส่วนกว้างๆ 16:9 ความละเอียดสูงถึง 4K จอแสดงผลที่เกือบจะไร้ขอบบนแล็ปท็อป และระบบเสียงคมๆ อย่าง Dolby Atmos
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือความละเอียดสูงของหน้าจอที่อาจจะกินแบตฯ พอสมควร จึงอาจต้องพกสายชาร์จไปไหนมาไหนด้วย (ถ้าใจรัก 4K) ความสั้นของฐานคีย์บอร์ดที่อาจจะทำงานนานๆ ไม่ถนัด และ Lenovo YOGA S940 อาจไม่เหมาะกับการเล่นเกมหนักๆ เท่าไหร่นัก
|
... |