สมัยนี้ใครก็อยากได้โน้ตบุ๊ตที่ใช้งานได้ครบครัน All-in-One ในตัวเดียว ทั้งพิมพ์งาน - วาด - เขียน - จอพับได้ - สเปคตอบโจทย์ พร้อมราคาคุ้มค่าน่าคบหา และทั้งหมดที่ว่ามีอยู่ในโน๊คบุ๊คราคาประหยัดของ Lenovo อย่างรุ่น IdeaPad C340 รายละเอียดจะเป็นอย่างไร เดี๋ยวเราจะมาเล่าให้ฟังกัน
จุดเด่น
| จุดที่ไม่ชอบ
|
Lenovo IdeaPad C340 มาพร้อมดีไซน์เรียบๆ แต่ดูพรีเมี่ยม ฝาหลังพื้นผิวลื่นเป็นสีดำด้าน มีโลโก้ Lenovo อยู่ที่ด้านขวา รูปทรงคล้ายสมุดสีดำที่มีปากกาแนบ วัสดุเป็นพลาสติกแข็งดูแข็งแรง พูดตามตรงเรื่องดีไซน์ถูกจริตผู้เขียนมากๆ (ชอบสีดำเรียบๆ) ทำให้มันมักจะเป็นโน้ตบุ๊คที่พกไปใช้งานข้างนอกเสมอๆ
ขอบเครื่องทำจากอะลูมิเนียม แข็งแรงทนทาน ขอบมุมต่างๆ ก็โค้งมนไม่มีขอบคม สัดส่วนกว้าง-ยาวกว่า A4 ไม่มาก ส่วนความสูงอยู่ที่ 1.79 ซม. หนาไปนิดหนึ่ง แต่โดยรวมถือว่าขนาดกะทัดรัด พกพาสะดวก
ฝั่งซ้ายตัวเครื่องมี พอร์ตรับไฟจากอะแดปเตอร์, พอร์ต HDMI, พอร์ต USB-C (3.1) ส่วนฝั่งขวามีพอร์ต USB-A (3.1) สองช่อง (หนึ่งช่องจ่ายไฟตอนปิดเครื่องได้), พอร์ตอ่านการ์ดรีดเดอร์ (Card Reader), ปุ่ม Power (เปิด-ปิด) และช่องกดรีสตาร์ท (ต้องใช้เข็มจิ้ม)
ดีไซน์ปุ่ม Power เปิด-ปิดเครื่องที่อยู่ด้านข้าง ดีกว่าอยู่ด้านบน เพราะว่ามันห่างจากคีย์บอร์ดทำให้โอกาสการกดผิดน้อยกว่าปุ่มที่อยู่ใกล้ๆ กับคีย์บอร์ด ถือว่าออกแบบมาได้ดี คำนึงถึงการใช้งานจริง
ด้านหลังเครื่องมีบานพับจอแบบคู่ที่วัสดุทำจากโลหะ ดูแข็งแรงทนทานรองรับการพับได้ถึง 360 องศา ส่วนด้านข้างมีช่องระบายความร้อนคู่ที่อยู่ข้างๆ กัน เวลาใช้งานลมเย็นจะถูกดูดขึ้นจากใต้เครื่องแล้วเป่าออกมาเป็นลมร้อนที่หลังเครื่อง ไม่รบกวนการใช้งาน
เมื่อเปิดฝาหลังขึ้นมาจะเจอกับหน้าจอขนาด 14 นิ้ว ที่ขอบจอค่อนข้างหนาพอสมควร โดยเฉพาะด้านล่างที่หนาเตอะเป็นพิเศษ แต่ก็พอเข้าใจได้เพราะว่ามันเป็นโน้ตบุ๊ค All-in-One ที่จะมีการพับจอมาถืออยู่บ่อยๆ เลยต้องมีพื้นที่สำหรับจับ ซึ่งเป็นแบบขอบจอบางเวลาจับถือนิ้วอาจจะไปทัชโดนจอได้
ดีไซน์หน้าจอพับได้รองรับการพับถึง 360 องศา พับจากหน้าไปหลังได้เลย จุดนี้ทำให้ใช้งานได้หลายรูปแบบ จะเปิดใช้จอแบบโน้ตบุ๊คธรรมดาก็ได้ หรือจะพับจอกลับไปด้านหลังแล้วเปลี่ยนเป็นโหมดแท็บเล็ตก็ดี หรือพับ 120 องศา (เหมือนปฏิทิน) ไว้ขีดๆ เขียนๆ ก็สะดวก
คีย์บอร์ดของ Lenovo IdeaPad C340 ก็เป็นแบบ Backlit ที่มีไฟ LED ส่องสว่างอยู่ด้านใต้ ข้อดีคือใช้งานในที่มืดได้ดี มองเห็นปุ่มชัดไม่ต้องคลำหาปุ่มกด
ถัดลงมาอีกหน่อยก็เป็นโลโก้ DOLBY AUDIO, ทัชแพด และเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือสำหรับปลดล็อกเครื่อง (ใช้กับ Windows Hello) สุดท้ายมีมีโลโก้ AMD Ryzen 5/Radeon Vega/QR-Code (สำหรับ Support) และชื่อรุ่น IdeaPad C340 พร้อมโลโก้ Lenovo ด้านขวาล่าง
ในส่วนนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องที่ประสบพบเจอมาตลอด 2 อาทิตย์ที่ได้ใช้งาน ซึ่งมีทั้งจุดที่ชอบ และจุดที่ไม่ชอบผสมๆ กันไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ชอบมากกว่า มันจะเป็นอย่างไร เราสรุปไว้ให้เป็นหัวข้อๆ อ่านที่ด้านล่างนี้เลย
หน้าจอพับได้หลายรูปแบบ แถมมีปากกาสไตลัสแถมมาให้ ใช้งานสะดวกสบาย
เรื่องของ “ความยืดหยุ่นในการใช้งาน” ต้องยกให้ Lenovo IdeaPad C340 เลย เพราะมันเป็นโน้ตบุ๊คแบบ All-in-One ที่แปลงได้หลายร่าง แปลงเป็นโน้ตบุ๊คธรรมดาใช้พิมพ์งานเล่นเว็บทั่วไป จะแปลงเป็นกระดานวาดรูปด้วยปากกาสไตลัสก็ได้ หรือใช้พรีเซนต์งานก็สะดวก นอกจากนี้แล้วยังพับจอไว้ดูหนังตอนกลางคืนได้ด้วย (วางไว้บนตัว) ส่วนตัวมองว่ามันเหมาะกับคนประเภทไฮบริดที่ต้องทำงานหลายๆ ประเภท รวมถึงคนที่ต้องการความยืดหยุ่น อันนี้ถือว่าตอบโจทย์แบบสุดๆ เลย
สำหรับเรื่องบานพับหลาบคนคิดว่ามันจะเปราะบางหรือเปล่า จากที่ลองใช้งานมาดูก็รู้สึกว่าบานพับเนี่ยแข็งแรงพอสมควรเลย ไม่หักง่าย แถมตัวบานพับยังหนืดมากอีกด้วย ช่วยให้ตั้งจอได้สบายๆ
ฝาหลังดูมินิมอลดี ไม่มีลวดลาย มีแค่โลโก้ Lenovo เล็กๆ
“การออกแบบดีไซน์” ตัวเครื่องของ Lenovo IdeaPad C340 ให้ความรู้สึกที่ดูเรียบๆ แต่ก็ดูพรีเมี่ยม ส่วนตัวชอบมาก ดีไซน์คล้ายสมุดปกแข็ง ตัววัสดุที่ใช้เป็นพลาสติกแบบลื่นที่มีโทนสีดำ (ฝาหลัง) และอะลูมิเนียม (ใต้เครื่องและขอบข้าง) ที่มีน้ำหนักเบา โดยน้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 1.65 กก. ถือว่าไม่มากไม่น้อย ความหนาตัวเครื่องก็อยู่ที่ 1.79 ซม. ส่วนตัวมองว่าถ้าใช้งานแบบโน้ตบุ๊คธรรมดาน้ำหนักและความหนาถือว่าอยู่ในระดับพอดี พกพาสะดวก แต่พับใช้ในโหมดแท็บเล็ตถือว่าหนักและเครื่องหนาเกินไป (ส่วนนี้เราจะไปอธิบายเพิ่มเติมในข้อสังเกต)
สเปคไม่น่าเกลียดเลย AMD Ryzen 5 + Vega 8
จุดที่ชอบอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ “ราคาที่สมน้ำสมเนื้อ” Lenovo IdeaPad C340 เปิดตัวที่ราคา 16,990 บาท สเปคที่ได้มาถือว่าไม่น่าเกลียด ใช้ซีพียู AMD Ryzen 5 3500U รุ่นประหยัดไฟแต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความแรง ส่วนการ์ดจอก็เป็นแบบ iGPU หรือที่เรียกว่า "ออนบอร์ด" เป็นรุ่น AMD Radeon Vega 8 ที่มีความเป็นสองรองจาก MX 150 จากค่าย Intel อยู่ไม่เท่าไร (ผลเทสจาก passmark.com)
ด้านหน่วยเก็บข้อมูลก็เป็นแบบ SSD M.2 NVMe ขนาด 256GB ที่มาพร้อมกับความเร็วอ่าน/เขียนระดับ 3,200/1,200 MB/s เรียกว่าเร็วปรูดปราดกันเลยทีเดียว ส่วนแรมอันนี้น้อยไปนิดหน่อยมีให้มาแค่ 4GB เท่านั้น ซึ่งเหมาะกับใช้งานทั่วไป แต่ถ้าไปใช้กับโปรแกรมหนักๆ เช่น ตัดต่อ หรือแต่งรูป แรมจะไม่พอและทำให้เครื่องช้า
นอกจากนี้หน้าจอก็ได้มาพร้อมกับขนาด 14 นิ้วที่ทั้งรองรับทัชสกรีนและวาดเขียนด้วยปากกาสไตลัสอีกด้วย โดยรวมถือว่าคุ้มกับราคาที่จ่ายไป
แบตเตอรี่ใช้งานค่อนข้างอึดเลยทีเดียว
จากที่ลองใช้งาน Lenovo IdeaPad C340 มาก็รู้สึกได้เลยว่า “แบตเตอรี่อึดพอตัว" พกออกไปใช้งานข้างนอกได้สบายๆ โดยเปิดโหมด Battery Life (ประหยัดแบตฯ) แล้วเล่นเว็บพิมพ์งานผ่านเว็บ เล่นเว็บ เช็คโซเชียล เปิดเพลง แชทไลน์ ก็อยู่ได้เฉลี่ย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน (แต่อาจแปรผันตามความสว่างจอ และโปรแกรมที่เปิดใช้งาน) แต่ถ้าใช้งานหนักๆ เปิดโปรแกรมหนักๆ ทิ้งไว้ หรือเปิดพร้อมกันหลายโปรแกรม บวกกับเปิดจอสว่างสุด แบตฯ จะใช้ได้ประมาณ 4 ชั่วโมงลงไป และสำหรับตัวผู้เขียนเองที่ใช้พิมพ์งานกับท่องเว็บซะเป็นส่วนใหญ่คิดว่ามันก็ตอบโจทย์การใช้งานอยู่พอสมควรเลย ออกไปทำงานพกไปแต่เครื่อง อะแดปเตอร์ทิ้งไว้ที่บ้าน แต่ก็ใช้งานได้ตลอดวัน
ปากกาสไตลัสที่แถมมาให้พร้อมกับที่เก็บปากกา
เรื่องปากกาสไตลัสที่นอกจากจะ "แถมมาให้แบบฟรีๆ" แล้ว คุณภาพการเขียนถือว่าอยู่ในระดับที่โอเคเลย มีดีเลย์เล็กน้อยแต่ก็อยู่ในที่ระดับพอรับได้ การลงน้ำหนักก็มีหลายระดับที่เหมาะกับไว้ใช้วาดรูป ตัววัสดุปากกาก็ดูดี ใช้อะลูมิเนียมที่ดูแข็งแรงทนทาน น้ำหนักกำลังพอดีมือไม่หนักไป หรือไม่เบาไป แถมมีปุ่มกดฟังก์ชั่นอยู่บนตัวปากกาอีกด้วย ช่วยให้ใช้งานสะดวกยามใช้โหมดแท็บเล็ต สำหรับการใช้งานต้องใส่ถ่านแบบ AAAA หนึ่งก้อนก่อนถึงจะเขียนได้
ปากกาสไตลัสแนบเก็บข้างตัวเครื่องได้ พกสบายไม่กลัวหาย
ที่สำคัญมันยัง "แถมที่เก็บปากกา" มาให้พร้อมกัน เสียบเข้ากับช่อง USB-A เก็บปากกาสะดวกสุดๆ แถมยังติดเหนียวแน่นหนึบ ไม่หลุดออกไปง่ายๆ หมดกังวลเรื่องปากกาหล่นหาย แถมยังทำให้พกไปได้ทุกที่ทุกเวลา
พอร์ตมีมาให้ครบ ไม่ต้องต่อฮับ (HUB) เพิ่ม
สำหรับเรื่องพอร์ตเจ้า Lenovo IdeaPad C340 ก็มีมาให้ครบครัน มีพอร์ต USB-A 3.1 (x2) | USB-C 3.1 (x1) | HDMI (x1) | Card Reader (x1) | Audio Jack 3.5 มม. ทำให้ไม่จำเป็นต้องหาพวกฮับ (HUB) มาต่อเสริม นอกจากนี้พอร์ต USB-A 3.1 จะมีหนึ่งช่อง (มีสัญลักษณ์แบตเตอรี่) ที่มีความสามารถในการจ่ายไฟขณะปิดเครื่อง จุดนี้ชอบมากเวลาฉุกเฉินมือถือแบตฯ ใกล้หมดก็เอามาเสียบชาร์จไว้ได้เลย (เหมือนเพาเวอร์แบงค์อย่างไรอย่างนั้น)
ปรับแต่งโปรไฟล์เสียงได้ตามต้องการ
เรื่องระบบเสียงก็มี Dolby Audio ที่เป็นไดร์เวอร์ สำหรับให้ผู้ใช้งานได้ปรับแต่งโทนเสียงได้ตามต้องการ ส่วนตัวคิดว่ามันช่วยให้เสียงเหมาะกับรสนิยมของผู้ฟังมากขึ้น ถ้าชอบฟังเพลงเบสหนักๆ ก็ปรับย่านเสียงต่ำให้มากขึ้น หรือถ้าชอบเสียงสูงก็เร่งได้ นอกจากนี้แล้วยังตั้งพรีเซ็ตไว้สำหรับ การดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ หรือการพูดคุยได้อีกด้วย แต่ถามว่ามันช่วยให้เสียงดีกว่ารุ่นอื่นไหมคงตอบไม่ได้เพราะเรื่องเสียงมันเป็นเรื่องของรสนิยมล้วนๆ บอกได้แค่ว่ามันไม่แย่เท่านั้นเอง
ไฟ Backlit ใต้คีย์บอร์ด ปรับความสว่างได้ 2 ระดับ
ถือว่าเป็นข้อดีอีกอย่างเลยก็ว่าได้ ที่ตัวคีย์บอร์ดเป็นแบบ Backlit มีหลอดไฟ LED ส่องสว่างอยู่ด้านใต้ที่สามารถปรับความสว่างได้ 2 ระดับ ช่วยให้ผู้ใช้งานมองเห็นแป้นพิมพ์ตอนอยู่ในที่มืด จากที่ลองใช้ดูก็รู้สึกชอบนะหาปุ่มง่ายดี ไม่ต้องเพ่ง หรือเร่งแสงจากจอเพื่อให้มองเห็นปุ่ม
หนักไปสำหรับการใช้มือเดียว จับข้างเครื่องถือได้แปปเดียว
ถัดมาในส่วนนี้เราจะมาติกันบ้าง เริ่มกับจุดที่ไม่ชอบจุดแรกคือ “น้ำหนักมากและหนาไปนิดหน่อยสำหรับโหมดแท็บเล็ต” Lenovo IdeaPad มีน้ำหนักอยู่ที่ 1.65 กก. และหนา 1.79 ซม. ว่ากันตามตรงคือมันหนักไปสำหรับการถือด้วยมือเดียวโหมดแท็บเล็ต ถ้าจับข้างเครื่องถือได้แปปเดียว แต่ถ้าเอามือสอดใต้เครื่องก็พอได้อยู่ แต่ก็ยังรู้สึกหนักอยู่ดี เลยทำให้ไม่ค่อยพับเป็นโหมดแท็บเล็ตแล้วเอาขึ้นมาถือเขียนสักเท่าไร ส่วนมากจะวางไว้กับโต๊ะแล้วเขียนเอา หรือไม่ก็พับจอ 90-140 องศาเพื่อเขียน
ส่วนตัวคิดว่าถ้าน้ำหนักลดลงเหลือซัก 1 กก. และบางซัก 1.2 ซม. น่าจะดีมากเลย เหมาะกับโหมดแท็บเล็ตเพราะมันไม่สร้างภาระให้กับแขนมากนัก และยังช่วยให้ถือได้นานกว่าเดิมอีกด้วย
แต่ถึงอย่างนั้นสำหรับการใช้งานในโหมดโน้ตบุ๊คธรรมดาก็ไม่มีปัญหาอะไรกับน้ำหนักนะ เพราะว่าเราวางกับโต๊ะหรือต้นขาอยู่แล้ว น้ำหนักจึงไม่ใช่เรื่องปัญหาเลย ส่วนการพกพาก็ยังถือว่าสะดวกสบายไม่หนักมาก
วางพิมพ์งานกับต้นขา เกิดความร้อนสะสม ตรงตำแหน่งของ SSD
ส่วนนี้เป็นจุดที่รู้สึกว่าไม่ชอบเลย เนื่องจากตัวผู้เขียนเป็นคนที่ชอบวางโน้ตบุ๊คไว้กับต้นขาเวลานั่งพิมพ์งาน สิ่งที่สัมผัสได้ก่อนไม่ใช่ความสะดวกสบาย แต่เป็น “ความร้อนที่มาเร็วมาก” เปิดทำงานไว้ซัก 5 นาที ก็รู้สึกอุ่นๆ ที่ฝั่งซ้ายใต้เครื่องแล้ว (ตำแหน่งของ SSD)
เหตุผลที่เกิดความร้อนขนาดนี้คือ SSD ที่เป็น M.2 นั้นสร้างความร้อนสูงมากขณะอ่านเขียนข้อมูล โดยความร้อนเริ่มที่ 43 องศา และพาไปถึง 66 องศาเลยทีเดียว แถมในส่วนนั้นยังไม่มีช่องระบายอากาศอีกด้วย (รูระบายอากาศอยู่ด้านบน) เลยทำให้เกิดความร้อนสะสมอยู่ในจุดเดียว พอเยอะเข้าก็ลามขึ้นมาถึงที่วางมือฝั่งซ้าย ทำให้เวลาพิมพ์งานรู้สึกไม่สบายข้อมือสักเท่าไร
ด้วยความที่เป็นโน้ตบุ๊คแบบ All-in-One ที่หน้าจอพับได้ 360 องศา ทำให้องศาการมองของเราไม่ใช่แค่ด้านตรงด้านเดียว จอจึงควรมีมุมมองที่กว้างกว่าปกติ แต่เจ้า Lenovo IdeaPad C340 รหัส 14API รุ่นที่เราได้มารีวิวนั้น ใช้จอประเภท TN ที่มีองศามองภาพแคบมาก มองจากซ้ายหรือขวายังพอรับได้ แต่บนกับล่างถือว่าย่ำแย่ แค่องศาจอเปลี่ยนนิดหน่อยก็ทำให้ภาพมืด/สีเพี้ยนได้เลย จนต้องปรับจออยู่บ่อยๆ (เป็นปกติของจอ TN) นอกจากนี้การแสดงสีของจอ TN ยังจืดมากๆ อีกดัวย สำหรับตัวผู้เขียนเองที่ใช้แต่จอ IPS พอมาเป็นจอ TN แล้วรู้สึกมองแล้วปวดตา/ไม่ชิน อันนี้แนะนำให้ถ้าใครจะซื้อให้เลือกเป็นสเปคจอ IPS จะดีที่สุด
ด้วยความที่วัสดุฝาหลังเป็นพลาสติกแบบลื่นๆ บวกกับสีดำทำให้มันเก็บคราบรอยนิ้วมือเป็นอย่างดี และยังเห็นได้ชัดมากส่งผลให้ตัวเครื่องดูเก่าๆ ตัวผู้เขียนเองจึงต้องเช็ดอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นปัญหายิบย่อยที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย สร้างความตงิดใจอยู่ไม่น้อย เลยกลายเป็นจุดที่ไม่ชอบ (สำหรับบางคนอาจจะไม่รู้สึกแบบผู้เขียน)
โดยสรุปคือ Lenovo IdeaPad C340 ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊ค All-in-One มีฟีเจอร์และฟังก์ชั่นตอบโจทย์คนที่ต้องการความยืดหยุ่นและครบครันในตัวเดียวในราคาที่น่าคบหา และสเปคที่ได้มาก็ไม่น่าเกลียดเลย แถมมีปากกาสไตลัสแถมมาด้วย
ส่วนจุดที่ต้องคิดก่อนซื้อคือ น้ำหนักและความหนาที่ไม่เหมาะกับโหมดแท็บเล็ต ประเภทจอ TN สีจืดและมุมมองแคบ และความร้อนสะสม รวมถึงคราบรอยนิ้วมือ ถ้ารับจุดนี้ได้ก็ไม่ใช่ปัญหาสักเท่าไร จัดได้เลยไม่ต้องรีรอ
|
How to .... |