โปรแกรมเถื่อน ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาอย่างยาวนาน หากพูดกันตรงๆ ทุกวันนี้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นหาง่ายมาก แค่เสิร์ชอากู๋ไม่กี่นาทีก็เจอแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีผู้ไร้จิตสำนึกจำนวนมาก เลือกที่จะละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่าที่จะเสียเงินอุดหนุนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ "ก็ในเมื่อมันมีของฟรีแจก ทำไมฉันจะต้องเสียเงินล่ะ?"
แต่อันที่จริง มันไม่ใช่แค่เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น โอเค เราลองตัดเรื่องผิด-ถูกออกไปก่อน เรามาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้จากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์แทนดีกว่า มันมีอันตรายแอบแฝงที่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์มักจะมองข้ามไปอยู่หลายอย่างเลยล่ะ
ซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมมีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก มักจะเป็นเป้าหมายที่แฮกเกอร์ใช้เป็นเป้าในการหาช่องโหว่เพื่อโจมตี ซึ่งไม่ว่าผู้พัฒนาจะออกแบบมาอย่างรัดกุมขนาดไหน แต่เกมไล่ล่าระหว่างแมวกับหนูมันไม่เคยจบ เมื่อช่องโหว่ใหม่ถูกค้นพบ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ก็จะทำการอัปเดตเพื่ออุดรูรั่วดังกล่าว
การอัปเดตซอฟต์แวร์สมัยนี้ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และสมัยนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นการอัปเดตผ่านอินเทอร์เน็ตโดยการเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ด้วยระบบอัปเดตภายในตัวซอฟต์แวร์โดยตรง แต่ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่จะไม่สามารถอัปเดตด้วยวิธีนี้ได้ ต้องรอแพทช์แครกใหม่จากแครกเกอร์เท่านั้น ทำให้รูรั่วถูกเปิดทิ้งไว้ให้แฮกเกอร์ใช้โจมตีได้
ภาพจาก : https://pixabay.com/images/id-2300772/
ทำไมแครกเกอร์ต้องลำบากหาทางแครกโปรแกรม หรือเกมอย่างยากลำบากเพื่อมาแจกให้เราใช้กันฟรีๆ ด้วย หรือพวกเขาจะทำตัวเป็นโรบินฮูด ที่ปล้นคนรวยมาแจกจ่ายคนจน โอเค มีกลุ่มคนที่ทำแบบนั้นอยู่บ้าง เนื่องจากไม่พอใจผู้พัฒนาด้วยเหตุผลบางอยาง อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้วเรื่องราวไม่สวยงามแบบนั้น มันมีจุดประสงค์ร้ายแอบแฝงอยู่
การติดตั้งโปรแกรมเถื่อน หรือเกมเถื่อน มักจะมีการเรียกร้องให้ปิดการทำงานของโปรแกรมแอนตี้ไวรัส, ระบบตรวจเช็ค Digital Signatures หรือแม้กระทั่ง Firewall ไปก่อน เพราะระบบรักษาความปลอดภัยเหล่านั้น มักจะมีปัญหากับตัวแครกที่ต้องเข้าไปยุ่งกับไฟล์ Registry ของระบบ ไม่ว่าตัวแครกจะมีอันตรายแนบมาด้วยหรือไม่ แต่แค่การปิดระบบรักษาความปลอดภัยเหล่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องดีแล้ว
จากการรายงานด้านความปลอดภัยพบว่า ในไฟล์แครกของซอฟต์แวร์เถื่อนเหล่านี้ มักมีมัลแวร์แฝงตัวมาด้วย ซึ่งผู้ใช้ก็เป็นคนยินยอมให้มัลแวร์ฝังลงในระบบของตัวเองโดยไม่รู้ตัว เพียงเพื่อต้องการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน
นี่เป็นหนึ่งในเทคนิคที่อาชญากรไซเบอร์นิยมใช้มากกันพอสมควร แทนที่จะซ่อนมัลแวร์มากับการติดตั้ง แฮกเกอร์เลือกที่จะปรับแต่งการทำงานของซอฟต์แวร์โดยตรง เพื่อหลบการตรวจจับจากซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยต่างๆ
ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ทำเอกสาร อาจถูกดัดแปลงให้ทุกครั้งที่คุณบันทึกข้อมูล ไฟล์ดังกล่าวจะถูก "แอบส่ง" ไปยังเซิร์ฟเวอร์ของแฮกเกอร์ อีกตัวอย่างหนึ่ง ขอย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2019 มีมัลแวร์ตัวหนึ่งชื่อว่า Syrk มันเป็นโปรแกรมประเภท Aimbot (ช่วยเล็งเป้าอัตโนมัติ) สำหรับโกงเกม Fortnite ที่มาพร้อมกับ Ransomware ที่จะเข้ารหัสไฟล์ในเครื่องของผู้ใช้เพื่อเรียกเงินค่าไถ่ในการปลดล็อกไฟล์
ภาพจาก https://www.pcrisk.com/removal-guides/15532-syrk-ransomware
การใช้ของฟรีมาเป็นเหยื่อล่อแมงเม่าเข้ากองไฟ เป็นเทคนิคง่ายๆ แต่ได้ผลที่แฮกเกอร์ใช้อยู่เสมอ นอกเหนือไปจากการซ่อนมัลแวร์เอาไว้ในตัวติดตั้งโปรแกรมแล้ว หน้าเว็บที่ปล่อยให้ดาวน์โหลดก็มักจะซ่อนอันตรายเอาไว้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสคริปต์อันตรายที่ทำงานทันทีที่เราเข้าไปในเว็บ หรือแบนเนอร์ที่พาเราไปยังเว็บไซต์อันตราย
จากเหตุผลข้อหนึ่งถึงข้อสี่ คอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน หรือเซิร์ฟเวอร์ของคุณ อาจจะเสียหายจนต้องทำการล้างระบบใหม่ทั้งหมด นั่นรวมถึงข้อมูลทั้งหมดอาจจะสูญหายไปตามด้วย
ภาพจาก https://flic.kr/p/2h5JvBc
ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์พยายามทุกวิถีทางที่จะป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ วิธีที่นิยมใช้มากที่สุด คือ การตรวจสอบ Serial keys ที่ลงทะเบียนเอาไว้ หรือไม่ก็ค่า Registry ภายในเครื่อง ผลก็คือ ซอฟต์แวร์เถื่อนจะใช้งานได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หากถูกตรวจพบเมื่อไรห่ ก็จะไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ซึ่งหากมันไปหยุดทำงานในช่วงเวลาสำคัญล่ะก็ งานที่ทำอยู่อาจจะเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้เลยทีเดียว
หรือบางครั้งการแครกมาก็ไม่สมบูรณ์ บางฟังก์ชันของโปรแกรมไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งกว่าเราจะรู้ตัว งานของเราก็อาจจะเสียหายไปแล้ว
เวลาที่เรามีปัญหาในการใช้งานซอฟต์แวร์ ในบางครั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยากที่เราจะหาทางแก้ได้ด้วยตนเอง การมีทีมงานช่วยเหลือช่วยให้เราประหยัดเวลาได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่า หากคุณใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ คุณก็จะไม่มีสิทธิ์ขอความช่วยเหลือจาก Customer Support ได้เลยแม้แต่น้อย
เกือบทั้งโลกมีกฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่ การใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนก็มีบทลงโทษที่รุนแรงพอสมควร แถมหากคุณเป็นบริษัทใหญ่ด้วยแล้วล่ะก็ การถูกจับในข้อหานี้จะตกเป็นข่าวใหญ่ และพาชื่อเสียงของคุณดิ่งเหวลงไปด้วย แถมอาจจะเสียลูกค้า เสียรายได้ ล้มต่อเนื่องเหมือนโดมิโน่ได้เลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คือสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ("พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์") โดยจัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม (Literary work)
ตามพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ กำหนดว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายถึง คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือให้ได้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด ในกรณีที่บุคคลใด ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บุคคลนั้นจะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท
และหากเป็นการกระทำเพื่อการค้า จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ หากผู้ใดรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น แต่ยังนำไปขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ เผยแพร่ต่อสาธารณชน แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ นำเข้าหรือสั่งเข้ามาในประเทศไทย เพื่อหากำไร ก็มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาทและหากเป็นการทำเพื่อการค้า ผู้นั้นจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาทถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกเหนือจากการแก้ไขบรรเทาความเสียหายในคดีอาญาแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ยังสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง ในกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ภายใต้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ หากศาลพบว่ามีการ กระทำความผิดจริงอาจมีคำห้ามมิให้กระทำละเมิดอีกต่อไป และมีคำสั่งให้ชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงอันเนื่องจากการละเมิดดังกล่าว
ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
กว่าซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งจะพัฒนาเสร็จ มันแลกด้วยหยดเหงื่อ และมันสมองของเหล่านักพัฒนา ซอฟต์แวร์หลายชนิดใช้เวลาในการพัฒนาอย่างยาวนาน เสียเงินลงทุนไปอย่างมหาศาล กว่าจะสำเร็จออกมาให้เราใช้งานกัน แต่แล้วรายได้ที่พวกเขาควรจะได้กลับไม่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีใครซื้อ หรือยอดไม่ตรงตามเป้า เนื่องจากคนโหลดเถื่อนมาใช้กันหมด
เมื่อมันขาดทุน ผู้พัฒนาก็ไม่มีรายได้ที่จะมาใช้พัฒนาโปรแกรมต่อไป อีกนัยยะหนึ่ง ก็คือ เหมือนการตกงานนั่นเอง ชาวละเมิดลิขสิทธิ์บางคนเชื่อว่า ยังไงซอฟต์แวร์ก็ขายได้อยู่แล้ว เราไม่ซื้อ คนอื่นก็ซื้อ นักพัฒนายังไงก็รวยอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง มีสตูดิโอที่พัฒนาซอฟต์แวร์หลายแห่งที่เจ๊ง ปิดตัวลงไปเพราะปัญหานี้
ภาพจาก https://pixabay.com/images/id-937665/
จะเห็นได้ว่าข้อเสียของการใช้โปรแกรมเถื่อน ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องผิดกฏหมายเท่านั้น แต่มันยังมีความอันตราย และผลกระทบอีกหลายอย่างที่อาจส่งผลตามมาได้ ซึ่งความเสียหายนั้น มันอาจแพงมากยิ่งกว่าเงินที่เราต้องจ่ายในการซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์เสียอีก
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |