ผู้เขียนเชื่อว่า หลายคนน่าจะไม่เคยได้ยินชื่อ ค่าย miHoYo มาก่อนเลยด้วยซ้ำไปหากไม่มีเกม Genshin Impact ปรากฎขึ้นบนสื่อออนไลน์ทุกแขนงเช่นในปัจจุบัน เพราะส่วนใหญ่แล้ว ค่ายที่ทำรายได้ระดับหมื่นล้านบาท มักจะเป็นค่ายดังที่ผลิตเกมระดับ AAA มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Ubisoft, Valve, EA, CD Projekt Red, ฯลฯ ที่เรารู้จักกันดี แต่เพราะอะไร ทำไมอยู่ๆ เกม Genshin Impact ถึงทำให้ค่าย miHoYo กลายมาเป็นที่รู้จักในแถวหน้าของวงการเกมในฐานะเจ้าของเกมที่ได้รับรางวัล iPhone Game of the Year 2020 บน iOS Store เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกันค่ะ
เดิมทีนั้น บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นโดยมีบัณฑิต 3 คน นามว่า Cai Haoyu, Liu Wei และ Luo Yuhao จากมหาวิทยาลัย Shanghai Jiao Tong (เซี่ยงไฮ้เจียวทง) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีความเชื่อ และความชอบอะไรที่เหมือนๆ กันในเทคโนโลยีและวัฒนธรรมของ อนิเมะ, การ์ตูน และเกม เกิดเป็นบริษัท miHoYo ขึ้นในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) ทั้งสามคนเรียกตัวเองว่า โอตาคุ (คำเรียกคนที่ชอบอนิเมะและการ์ตูนญี่ปุ่น) จึงเป็นที่มาของสโลแกนประจำบริษัทว่า Tech Otakus save the world (โอตาคุสายเทคโนโลยีกู้โลก)
ในปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) ท่ามกลางความหมิ่นเหม่ที่จะล้มละลาย ในที่สุด ทีมพัฒนาก็ได้เรียนรู้โมเดลการสร้างรายได้จากเกม Puzzles & Dragons เกมมือถือเกมแรกที่สามารถทำรายได้ทะลุหลักพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้สำเร็จ และเปิดให้บริการเกม Honkai Gakuen 2 ด้วยรูปแบบงานศิลป์และเกมเพลย์ในแบบเดียวกับเกมดังกล่าว จุดเปลี่ยนที่ใหญ่ที่สุดก็คือการหันมาทำโมเดลเกมกาชาแทน ซึ่งทำให้เกม Honkai Gakuen 2 กลายเป็นเกมติดอันดับ Top 10 Grossing ในจีนทันที และได้เปิดตัวทั่วโลกในเวลาต่อมาในชื่อ Guns GirlZ - Mirage Cabin และ Guns Girl - Honkai Gakuen ที่ทำให้บริษัทแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการ
Credit : https://www.youtube.com/watch?v=jiOUup94DX4
ปัจจุบัน บริษัท miHoYo มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน และสามารถจ่ายเงินพนักงานได้มากกว่ายักษ์ใหญ่ในวงการเกมอย่าง Tencent และ Netease เสียอีก โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในใจกลางย่านธุรกิจของเซี่ยงไฮ้ที่มีค่าเช่าแพงระยับ และถึงแม้ว่าการประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงไปทั่วโลกของ Genshin Impact จะทำให้ผู้เล่นกระหายอยากได้คอนเทนท์ใหม่ๆ จากตัวเกมมากแค่ไหน ทางบริษัทฯ ก็ยังคงอนุญาตให้พนักงานได้หยุด 7 วันเต็มตามมาตรฐานของวันหยุดประจำชาติจีนที่ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี (ที่นิยมเรียกกันว่า Golden Week) เสมอ
สัปดาห์ทองของจีนหรือ Golden Week จะมีการตกแต่งไฟเฉลิมฉลองอย่างตระการตา
Credit : https://qixifestival.com/other-traditional-chinese-festivals-calendar
ปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) - ทีมแรกของ miHoYo ได้ฟอร์มทีมขึ้นและเปิดตัวเกม "FlyMe2theMoon" ในฐานะนักพัฒนาอิสระ
Credit : https://aminoapps.com/c/anime/page/item/fly-me-2-the-moon/kvtQ_I4zVDxGEawvYJDw450Raaxe5L
ปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) - miHoYo ได้จดทะเบียนเป็น บริษัทอย่างเป็นทางการและเปิดตัวเกมมือถือ "Honkai Gakuen"
Credit : https://www.youtube.com/watch?v=mSyWhVGdDuo
ปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) - เปิดตัวเกม "Honkai Gakuen 2" ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก และถือเป็นการบุกเบิกโลกแห่งเกมมือถือสไตล์อนิเมะของจีน
ปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) - "Honkai Impact 3" ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ และด้วยคุณภาพที่ยอดเยี่ยมจึงทำให้เป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมจากผู้ใช้อย่างมากมาย
Credit : https://honkaiimpact3.mihoyo.com/global/en-us/home
ปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) - ทำการทดสอบ "Genshin Impact" เป็นครั้งแรก
ปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) - "Honkai Impact 3" เวอร์ชัน PC ได้เปิดให้บริการทั่วโลก
ปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) - "Tears of Themis" ได้เปิดตัวบนแพลตฟอร์มมือถือ เป็นเกมแนวจีบหนุ่ม
Credit : https://yumemirusekai.wordpress.com/tears-of-themis/
ปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) - "Genshin Impact" ได้เปิดให้บริการทั่วโลกบนแพลตฟอร์ม PlayStation4, PC, iOS และ Android
Credit : https://genshin.mihoyo.com/en/home
ตอนแรกที่เปิดตัวเกมนี้ให้เล่นกันอย่างเป็นทางการ ใครหลายคนต่างก็คิดว่า เกมนี้มีความเหมือน กับเกมชื่อดังของค่าย Nintendo อย่าง Zelda: Breath of the Wild อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพอากาศ, สภาพแวดล้อม, ธาตุ, การทำอาหาร, การคราฟต์ของ, ฯลฯ ชนิดที่ว่าเกม Genshin Impact ต้องเอาต้นแบบมาจากเกมที่ว่าแน่ๆ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว เกมนี้มีต้นแบบมาจากเกม Fate Grand Order เกมกาชาชื่อดังที่ขึ้นชื่อเรื่องความเกลือ ต่างหากล่ะ !
Credit : https://www.nintendo.com/games/detail/the-legend-of-zelda-breath-of-the-wild-switch/
ในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) Fate Grand Order เปิดให้เล่นอย่างเป็นทางการในรูปแบบของเกมเทิร์นเบส JRPG และภายใน 6 เดือนแรกหลังเปิดให้บริการ เกมนี้ก็สามารถทำเงินไปได้ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 3 พันล้านบาท) 5 ปีต่อมา ตัวเกมก็สามารถทำรายได้สุทธิถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 12,000 ล้านบาท) และกลายเป็นเกม PVE ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดบนทุกแพลตฟอร์มนับตั้งแต่ GTA V เคยทำไว้เลยทีเดียว
Credit : https://mmohuts.com/game/fategrand-order/
จะสังเกตได้ว่า เกมกาชาที่มีการ PVP อย่าง Summoners War และ AFK Arena นั้น จะมีแหล่งรายได้อยู่ที่ผู้เล่นกระเป๋าหนัก (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "วาฬ") ที่ต้องสรรหาปั้นตัวใหม่ๆ ตามเมต้าในขณะนั้นมาสู้กัน ทำให้เกิดการเติมเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่อัปเดต แต่ว่า Fate Grand Order นั้นจะต่างออกไป เกมนี้ใช้การออกแบบตัวละครให้สวยงาม และทำให้เป็นที่ต้องการของผู้เล่น จากนั้นก็จับตัวละครเหล่านั้นใส่ลงไปในตู้กาชาที่มีเรตสุ่มต่ำๆ ทำให้เหล่าวาฬทั้งหลายทุ่มเงินมาสุ่มหาตัวละครที่ตัวเองต้องการ แน่นอนว่าเกมแบบนี้คงไม่สามารถมีฐานผู้เล่นเท่ากับเกมพัซเซิลเข้าถึงง่ายอย่าง Candy Crush Saga ไปได้ ฉะนั้นแล้ว การเพิ่มเพดานรายได้จากเหล่าวาฬ และทำให้ผู้เล่นเหล่านั้นถูกผูกมัดด้วยความพึงพอใจในการได้ครอบครองตัวละครดีๆ ก็จะเป็นหนทางที่ดีกว่าในการทำเงิน
Credit: https://www.theverge.com/2020/3/31/21202056/king-candy-crush-saga-free-unlimited-lives-covid-coronavirus-who-social-distancing-partnership
และเมื่อองค์ประกอบต่างๆ มารวมกัน ทั้งรูปแบบเกมที่หลายคนมองว่าเหมือนเซลด้า บวกกับการสุ่มกาชาที่สามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่องตามรอยรุ่นพี่ Fate Grand Order แล้ว รายได้จะไปไหนเสีย
|
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน |