เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเคยปวดหัวกับเวลาเขียนรายงานส่งอาจารย์หรือเขียนงานอื่น ๆ แล้วสั่งปรินท์ออกมาดูก็พบว่ามีคำผิดและจุดที่เขียนผิดอยู่หลายจุด ซึ่งนอกจากจะเปลืองกระดาษและน้ำหมึกแล้ว บางครั้งก็อาจโดนอาจารย์วงปากกาแดงวงใหญ่ ๆ พร้อมตัวเลขติดลบหักคะแนนมาให้รู้สึกเจ็บใจที่ไม่ตรวจทานให้ดีก่อนเอางานไปส่ง (ก็ก่อนหน้านั้นอ่านแล้วไม่เห็นเจอคำผิดเลยนี่นา ทำไมพออยู่ในมืออาจารย์แล้วมันงอกขึ้นมาได้นะ ?)
หรือสำหรับใครที่ทำงานแล้วก็คงไม่พ้นกดส่งออกไฟล์ออกไปเป็น ไฟล์เอกสาร PDF (Export to PDF) เพื่อเอาไปเสนอลูกค้า หรือจะเอาไปส่งอีเมลต่อไปให้แผนกอื่น แล้วก็มาพบเอาภายหลังว่ามี "คำผิด" บนเอกสารที่กดส่งไปเมื่อสองชั่วโมงก่อนอย่างน่าเจ็บใจ จะแก้ไขอะไรก็ไม่ทันแล้วเพราะได้กดส่งเมลไปแล้วอีกต่างหาก ซึ่งถ้าเจอลูกค้าที่จุกจิกก็คงโดนมองว่า "ไม่โปร" และอาจส่งผลต่อโอกาสในการตกลงร่วมงานกันได้ เพราะขนาดเอกสารที่ส่งมายังมีข้อผิดพลาดที่ไม่น่าจะพลาดได้ แล้วการร่วมงานกันต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนะ ?
จะดีกว่าไหมถ้าเรามีตัวช่วยในการ "ค้นหาคำผิด" หรือจุดที่ผิดพลาดในงานเอกสารของเราก่อนที่จะสายเกินแก้ หรือรู้ตัวว่ามีคำผิดเมื่ออยู่ในมืออาจารย์ (หรือเพื่อนร่วมงาน / ลูกค้า) และไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ทันแล้ว ? มารู้จักกับ Katproof เว็บไซต์ตรวจคำผิดฝีมือคนไทยที่จะมาช่วยแก้ปัญหาน่าปวดหัวนี้กันดีกว่า !
ภาพจาก : https://www.katproof.com/
Katproof (https://www.katproof.com/) เป็นเว็บไซต์น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) ที่ผ่านมานี้เอง โดยทางผู้พัฒนาระบุว่าชื่อเว็บไซต์ Katproof ที่ใช้ตัว K เพราะต้องการเล่นคำเพื่อสื่อถึงการสะกดคำผิด (จาก Cat เป็น Kat) ซึ่งมาสคอตประจำ เว็บไซต์ Katproof ก็เป็นแมว (Cat) ที่จะช่วยทำหน้าที่สอดส่องมองหา "คำผิด" ในงานเอกสารของทุกคนนั่นเอง
คลังข้อมูลของเว็บไซต์ Katproof นี้จะตรวจคำผิดโดยอิงจากฐานข้อมูลของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (https://dictionary.orst.go.th/) เป็นหลัก ส่วนคำทับศัพท์ในภาษาอังกฤษก็อิงจากฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน (https://transliteration.orst.go.th/) ด้วยเช่นกัน แต่ในบางคำก็ยอมรับการพิมพ์คำตามความนิยมด้วย เช่นคำว่า Resort ก็รองรับทั้งการสะกดว่า "รีสอร์ต" (เขียนถูกตามหลักราชบัณฑิตยสถาน) และ "รีสอร์ท" (เขียนตามความนิยมของผู้ใช้ส่วนมาก) เป็นต้น
สำหรับใครที่สนใจใช้งาน Katproof ก็จะต้องสมัครเป็นสมาชิกหรือลงชื่อเข้าใช้งานผ่าน Facebook และกดยอมรับเงื่อนไขการใช้งาน (หลัก ๆ ก็ไม่มีอะไรมาก แค่เข้าถึงโปรไฟล์ Facebook ในการลงทะเบียนเป็นสมาชิกเท่านั้น) ส่วนการสมัครใช้งานด้วยอีเมลก็ง่ายมาก ๆ เพียงแค่กรอกอีเมลและรหัสผ่านลงไปแล้วรอรับอีเมลยืนยันการสมัครสมาชิกและกดเข้าไปในลิงก์ยืนยันการสมัครใช้งานผ่านอีเมล เท่านี้ก็จะสามารถใช้งานเจ้าแมวให้ช่วยตรวจคำผิดได้แล้ว (ถ้าหาในกล่องข้อความ ไม่เจอก็ลองกดดูใน Promotion Tab หรือ Junk Mail ดู น้องอาจจะเข้าไปหลบในนั้นก็ได้)
ข้อมูลเพิ่มเติม : วิธีย้ายเมล์สำคัญจาก Promotion Tab ไป Primary Tab บน Gmail
ในส่วนของวิธีการใช้งานเว็บไซต์ก็ง่ายมาก ๆ เพียงแค่พิมพ์ (หรือ Copy ข้อความมาวาง) ลงไปในช่องทางด้านซ้ายมือที่มีข้อความว่า "Place your text here ใส่ข้อความตรงนี้ คลิกตรวจ" จากนั้นกดไปที่ "ปุ่ม ตรวจ" และรอให้เจ้าเหมียวทำการค้นหาคำผิดในข้อความที่พิมพ์ลงไป (หากข้อความมีความยาวจะใช้เวลาตรวจนานนิดนึง ให้เวลาน้องหน่อยนะ) เมื่อตรวจเรียบร้อยจะปรากฏข้อความทางขวามือของหน้าจอที่จะระบุคำผิดหรือคำที่คาดว่าอาจจะพิมพ์ผิดในงานของเรา โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
ตัวอักษรสีแดง แสดงคำที่สะกดผิด หรือคำที่ไม่มีในระบบ โดยหากเป็นการตรวจคำผิดแบบคำต่อคำจะมีการแก้ไขคำที่ขึ้นตัวหนังสือสีแดงให้ด้านหลัง แต่ถ้าเป็นข้อความจำนวนมาก ๆ จะปรากฎตัวอักษรสีแดงที่มีการขีดเส้นใต้ และเมื่อลากเมาส์ไปวางจะปรากฏคำที่สะกดถูกขึ้นมา แต่สำหรับคำที่ไม่มีในคลังศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานนั้นจะไม่ปรากฏคำที่ถูกต้อง
ตัวอักษรสีเหลืองส้ม แสดงคำที่ (คาดว่าน่าจะ) สะกดอักษรผิด ซึ่งเมื่อลากเมาส์ไปวางบริเวณคำนั้น ๆ จะมีคำที่ถูกต้องแนะนำขึ้นมา และตัวระบบนี้จะเป็นการคาดเดาคำที่สะกดอักษรผิดเท่านั้น ทำให้บางครั้งอาจแนะนำคำที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทที่ต้องการจะสื่อออกมาได้ (แนะนำว่าให้พิจารณาแก้ไขตามความเหมาะสมน่าจะดีกว่า)
แถบอักษรสีฟ้า แสดงถึงการเว้นวรรคตอนผิด หรือผิดแปลกไปจากจุดอื่น ๆ (ตามหลักราชบัณฑิตยสถานต้องเว้นวรรคหน้าและหลังไม้ยมกเสมอ)
อย่างไรก็ตาม การตรวจเช็คข้อความของเจ้า Katproof นี้ในปัจจุบันยังรองรับการตรวจและแก้ไขคำผิดแค่เฉพาะในภาษาไทยเท่านั้น ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจเพิ่มการตรวจคำศัพท์ภาษาอังกฤษเข้ามาอีกก็เป็นได้ แต่การตรวจภาษาไทยของ Katproof ก็ไม่ได้การันตีความถูกต้อง 100 % แต่อย่างใด เพราะหลายครั้งที่เราใช้คำในบริบทที่แตกต่างออกไปก็จะเห็นว่ามีการแก้ไขคำที่ผิดไปจากบริบทที่เราต้องการจะสื่อ ดังนั้นจึงแนะนำให้ทำการตรวจเช็คคำด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่งจะปลอดภัยกว่า
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |