ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

พระอัจฉริยภาพ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

พระอัจฉริยภาพ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 71,554
เขียนโดย :
0 %E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E+%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A+%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

เป็นที่ทราบกันดีว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ท่านทรงมีพระปรีชาสามารถในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรน้ำ การเกษตรกรรม การจัดการผังเมือง พระปรีชาสามารถทางด้านการศิลปะ และการดนตรี รวมถึงพระองค์ท่านยังทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรใต้เบื้องพระยุคลบาท จนเป็นที่ประจักษ์ต่อทั้งสายตาชาวไทย และชาวโลก 

เนื่องในโอกาสนี้ เว็บไซต์ Thaiware.com ขอรวบรวม เนื้อหาเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถทางด้านเทคโนโลยี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มานำเสนอไว้ ดังนี้

บทความเกี่ยวกับ # อื่นๆ

เนื้อหาในบทความ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับพระอัจฉริยภาพทางด้านไอที

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี

ตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปีที่ทรงงาน ปวงชนชาวไทยทุกคนทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระองค์ท่านทรงงานหนัก เพื่อแก้ปัญหาทุกข์สุขให้แก่เหล่าราษฎรมาอย่างยาวนาน พระองค์ทรงมีพระราชอัจฉริยภาพในหลากหลายด้าน นอกจากจะทรงเป็นคีตกวีที่คนทั่วโลกยอมรับแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นนักคิดค้น นักประดิษฐ์ พระองค์มีความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี

โดยคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์เครื่องแรกที่ใช้ทรงงาน คือ Macintosh Plus ผู้ที่ทูลเกล้าฯ ถวายคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ในตอนนั้น คือ ม.ล.อัศนี ปราโมช พระองค์ทรงใช้สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลด้วยพระองค์เอง, ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทย, ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ, ทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชภารกิจ และยังทรงใช้ประดิษฐ์ ส.ค.ส. อวยพรปีใหม่ให้กับประชาชนชาวไทยตลอดทุกปี พระกรณียกิจมากมายเหล่านี้เริ่มต้นมาจาก "Macintosh Plus"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี

พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยไว้หลายแบบ เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ ฯลฯ ทรงสนพระทัยประดิษฐ์อักษรขนาดใหญ่ที่สุด จนถึงขนาดเล็กที่สุด นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีความสนพระทัยที่จะประดิษฐ์อักษรภาษาอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ภาษาสันสกฤต และทรงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีสันสกฤต เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และท่านองคมนตรี ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ตลอดจนทรงมีพระดำริที่จะประดิษฐ์ภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย  

นอกจากพระองค์จะทรงใช้ Macintosh Plus ในการทรงงานแล้ว พระองค์ยังทรงใช้ในงานทางด้านดนตรี ทรงใช้ในการประพันธ์เพลง บันทึกโน้ตเพลง และเนื้อร้อง ซึ่งทั้งหมดนี้ พระองค์ได้ทรงศึกษาวิธีการใช้งาน รวมทั้งโปรแกรมเพื่อใช้ประกอบด้านดนตรีต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง  

ด้วยความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยีการใช้งาน รวมถึงระบบภายในต่าง ๆ ในเวลาต่อมาได้มีบุคคลทูลเกล้าฯ ถวายคอมพิวเตอร์รุ่น IBM PC Compatible ทำให้พระองค์ทรงสนพระทัยศึกษาในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ และได้ทรงสร้างโปรแกรมใหม่ๆ ขึ้นมา รวมทั้งเทคนิคด้านการใช้งานของคอมพิวเตอร์ ทรงเปิดเครื่องออกเพื่อดูระบบต่างๆ ภายในด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้ยังทรงปรับปรุงซอฟต์แวร์ใหม่ขึ้นใช้ พระองค์ทรงแก้ไขโปรแกรมใช้งานส่วนพระองค์ อย่างเช่น โปรแกรมภาษาไทย CU WRITER เป็นต้น เพื่อให้การใช้งานเป็นไปตามพระราชประสงค์ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กษัตริย์ที่ทั่วโลกต่างยกย่องว่า “ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน และทรงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวของปวงชนชาวไทย” 


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับพระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยุสื่อสาร

ไกลจากแผ่นดินสยาม ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ยังทรงพระเยาว์อยู่ ได้เกิดความสนพระราชหฤทัยในชิ้นส่วนเล็กๆ จากเครื่องวิทยุ และจากจุดเล็กๆ จุดนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ ที่สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้กับประเทศชาติในเวลาต่อมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี

“การสื่อสาร” เป็นปัจจัย ที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบันที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ยิ่งมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ด้วยพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสาร ว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, เป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของประเทศ ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

ในปี พ.ศ ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงตั้งสถานีวิทยุขึ้นมา พระราชทานนามว่า สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต ขึ้น เพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับประชาชน และเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง ๒ เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง ๑๐๐ วัตต์

ทั้งนี้ยังเป็นสื่อกลางนำพาน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้น ไปสู่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทุกข์ยากลำเค็ญ ยามที่ประเทศชาติประสบกับภัยพิบัติ อาทิ

  • โรคโปลิโอระบาด ในปี ๒๔๙๕
  • อหิวาตกโรคระบาดระหว่าง ๒๕๐๑ - ๒๕๐๒
  • โครงการควบคุมโรคเรื้อน ปี ๒๕๐๓
  • อุทกภัยครั้งใหญ่ทางภาคเหนือ ปี ๒๕๐๔
  • มหาวาตภัยภาคใต้ แหลมตะลุมพุก ปี ๒๕๐๕
  • และโรคอื่นๆ

เมื่อระบบสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ สามารถรับ-ส่ง สัญญาณได้ไกลขึ้น “เครื่องวิทยุสื่อสาร” จึงเป็นสิ่งที่พกติดพระองค์เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อรับฟังความทุกข์ ความสุข ของราษฎรทุกพื้นที่ และพระราชทานความช่วยเหลือ ได้อย่างทันท่วงที

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี

และด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิริยะอุตสาหะ ทรงทุ่มเทอุทิศพระสติปัญญา ทรงศึกษามุ่งมั่นจริงจัง นำเทคโนโลยีสื่อสารต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยึดหลักการเลือกใช้วิทยาการทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีความเป็นไปได้ และประหยัด เพื่อขจัดปัญหาการติดต่อสื่อสารกับพสกนิกรในท้องถิ่นอันห่างไกล ทำให้เกิด สายอากาศสุธี ๑, สายอากาศสุธี ๒, สายอากาศสุธี ๓ และสายอากาศสุธี ๔ นั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี

  • สายอากาศสุธี ๑ - เป็นสายอากาศ สำหรับเครื่องวิทยุสื่อสารผ่านความถี่สูงม­าก สามารถรับส่งได้ไกล หาทิศทางขณะติดต่อได้ สามารถต่อพ่วงกับวิทยุได้หลายเครื่องในเวล­าเดียวกัน และสูญเสียกำลังส่งขณะกระจายคลื่นได้บ้าง แต่ให้น้อยที่สุด และพระราชทานนามสุธี ๑ สร้างเสร็จในปี ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ในงานสื่อสารเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสา­ธารณภัยต่างๆ ทั้ง อัคคีภัย อุทกภัย รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการบรรเทาวิกฤตการณ์ท­างการเมืองในปี 2516

  • สายอากาศสุธี ๒ - เพื่อให้สามารถพัฒนาประสิทธิภาพของวิทยุสื่อสาร จึงมีพระราชประสงค์ ให้พัฒนาสายอากาศที่สามารถรับส่งสัญญาณระห­ว่างพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระตำหนักภู­พิงคราชนิเวศน์ สามารถรับสัญญาณจากเครื่องรับส่งวิทยุกำลั­งไม่เกิน ๑๐ วัตต์ ในระยะทางกว่า ๖๐๐ กิโลเมตร ได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อต้นปี ๒๕๑๗

  • สายอากาศสุธี ๓-๔ - สายอากาศสุธี ๓ และ สุธี ๔ ที่เกิดจากพระราชดำริให้พัฒนาเพื่อให้การสื่อสาร มีประสิทธิภาพสูงสุด สัญญาณไม่ขาดหายแม้ในสภาพอากาศแปรปรวน พระองค์ทรงพระราชทานแบบให้เปล่าแก่ทางราชการ ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงใช้ในกิจการรักษาพยาบาลทางไกลของม­ูลนิธิ พอ.สว. ด้วย

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงสนพระราชหฤทัยการสื่อสารทางวิทยุ ในเครือข่ายวิทยุสมัครเล่น ทั้งยังทรงทดลองใช้วิทยุติดต่อภายในข่ายวิทยุอาสาสมัคร และทรงติดต่อทางวิทยุ กับศูนย์สายลม กรมไปรษณีย์โทรเลข เพื่อทดสอบสัญญาณด้วยพระองค์เอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี

ในขณะเดียวกัน พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานคำแนะนำ อธิบายปัญหาเทคนิคต่างๆ ด้วยภาษาที่มีความเข้าใจง่าย ด้วยเหตุนี้ กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ก่อตั้งชมรมวิทยุอาสาสมัครขึ้นมา และได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายนามเรียกขานว่า VR009 แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ ๒๕๒๔

และด้วยพระอัจฉริยะภาพด้านการสื่อสารในเครือข่ายวิทยุสมัครเล่น คณะกรรมการสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยุอาสาสมัคร ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายประกาศนียบัตร พนักงานวิทยุสมัครเล่นชั้นสูง และถวายสัญญาณเรียกขาน HS 1A ทั้งยังน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระเกียรติให้ทรงเป็น Telecom Man Of The Nation เพื่อเทิดทูนพระอัจฉริยภาพด้านการสื่อสาร


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับพระอัจฉริยภาพทางด้านการถ่ายภาพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี

เป็นที่ประจักษ์กันดีว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านทรงมีความสนใจในศิลปะด้านการถ่ายภาพมาตั้งแต่ยังสมัยพระเยาว์ โดยพระราชอัธยาศัยโปรดการถ่ายภาพนี้ ทรงได้ต้นแบบมาจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพกกล้องถ่ายภาพ และมีอิริยาบถของนักถ่ายภาพ ไม่ว่าจะย่ำไปยังดินแดนใด เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงพอพระหฤทัยศิลปะในการถ่ายภาพมากเป็นพิเศษ เรามักจะเห็นภาพของพระองค์มีกล้องข้างพระกายอยู่เสมอ ซึ่งท่านทรงใช้ในการบันทึกภาพทั้งบุคคล และสภาพภูมิประเทศ เพื่อใช้ประกอบการแก้ปัญหาในพระราชกรณียกิจ

ในระยะแรกแม้จะทรงไม่ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพนัก เนื่องด้วยในสมัยนั้นกล้องถ่ายรูปยังไม่มีเทคโนโลยีในการช่วยถ่ายเหมือนกล้องในปัจจุบันนี้ กล้องถ่ายภาพที่ทรงใช้ในระยะเริ่มแรก ก็เป็นกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัวจึงต้องใช้พระราชวิจารณญาณอย่างรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วน ทรงศึกษาด้วยตัวเอง จนเป็นนักถ่ายรูปผู้มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น กล้องธรรมดา หรือ กล้องถ่ายภาพยนตร์

แม้ว่าในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพจะมีวิวัฒนาการขึ้นกว่าสมัยก่อนมากแล้ว แต่พระองค์ก็มิทรงใช้ พระองค์ยังทรงใช้กล้องคู่พระหัตถ์แบบมาตรฐาน อย่างที่นักถ่ายภาพรุ่นเก่ามือโปรทั้งหลายใช้กันอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเชี่ยวชาญแม้กระทั่งการล้างฟิล์ม การอัดขยายภาพทั้งภาพขาวดำและภาพสี พระองค์ทรงมีห้องล้างฟิล์ม (Dark Room) ที่บริเวณชั้นล่างอาคารสถานีวิทยุ อ.ส.เป็นห้องมืดสำหรับล้างฟิล์ม และอัดขยายภาพ ตามพระราชประสงค์ที่จะทรง “สร้างภาพ” ให้เป็นศิลปะถูกต้อง และ รวดเร็ว ด้วยพระองค์เอง

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

ตัวอย่างกล้อง Coronet Midget จากเว็บ the-saleroom.com

๑. กล้อง Coronet Midget

กล้องตัวแรกของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงมีกล้องถ่ายภาพเล็กๆ คู่พระหัตถ์ตั้งแต่พระชนมายุเพียง ๘ พระชันษา (ราวปี พ.ศ. ๒๔๗๙) โดยสมเด็จพระบรมราชชนนีได้พระราชทานกล้องถ่ายรูป Coronet Midget สีเขียวปะดำ ของฝรั่งเศส ราคาเพียง ๒ ฟรังก์สวิส แก่พระองค์  ด้วยกล้องนี้ใช้ฟิล์มราคา ๒๕ เซนต์ ซึ่งมีราคาถูกมากๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี
ตัวอย่างกล้อง Lumière Elax จากเว็บ balmainphotography.com

๒. กล้อง Vest Pocket Autographic Kodak

หลังจากนั้นไม่นาน ทรงใช้กล้องอีกรุ่นหนึ่งชื่อ Vest Pocket Autographic Kodak ลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยม ฝรั่งเรียกว่า Minibox ใช้ฟิล์มถ่ายได้ม้วนละ ๖ ภาพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี
ตัวอย่างกล้อง Lumière Elax จากเว็บ collection-appareils.fr

๓. กล้อง Lumière Elax

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ พระองค์ทรงมีกล้อง Lumière Elax ซึ่งผลิตในฝรั่งเศส อีกหนึ่งกล้อง ทรงใช้จนเชี่ยวชาญกับกล้องนี้เป็นอย่างดี เพราะเหมาะกับพระหัตถ์มาก หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็น Elax Lumie’re อีกกล้องหนึ่ง ซึ่งในการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระอานันทมหิดลกลับเมืองไทย พระองค์ทรงใช้กล้อง Elax Lumie’re บันทึกภาพระหว่างตามเสด็จโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงสนพระทัยทางการถ่ายภาพเป็นอันมาก

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับความสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี
ตัวอย่างกล้อง Linhof จากเว็บ linhof.com

๔. กล้อง Linhof

เข้าสู่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้ผลิตกล้องยี่ห้อดีๆ ต่างก็ปรับปรุงคุณภาพเพื่อแข่งขันกัน Linhof เป็นอีกยี่ห้อที่มาจากเยอรมัน พระองค์ทรงทดลองใช้ แต่ไม่เหมาะกับพระหัตถ์ของพระองค์ จึงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะทรงใช้อีกต่อไป

 

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

ตัวอย่างกล้อง Hasselblad จากเว็บ walyou.com

๕. กล้อง Hasselblad

กล้อง Hasselblad เป็นกล้องที่ผลิตจากสวีเดน ที่ครองตลาดมาทุกยุคทุกสมัย เป็นกล้อง SLR หรือที่ย่อมาจากคำว่า "Single Lens Reflex" เป็นกล้องที่ ใช้ฟิล์มขนาด ๓ นิ้ว หรือ เบอร์ ๑๒๐ ที่มีจุดเด่นก็คือ สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ มีแมกกาซีนใส่ฟิล์มได้หลายชนิดและหลายขนาด พระองค์ทรงทดลองใช้กล้องยี่ห้อนี้อยู่หลายปี จนกระทั่งเกิดแสงรั่วเข้าแมกกาซีน ช่างไทยสมัยนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องส่งกลับไปซ่อมที่บริษัทต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเลิกใช้

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง Ikoflex จากเว็บ tlr-cameras.com

๖. กล้อง Ikoflex

บริษัท Zeiss Ikon ได้ออกกล้องเป็นของตัวเองบ้างชื่อว่า Ikoflex ซึ่งเป็นกล้องสะท้อนภาพแบบเลนส์คู่ (Twin Lens Reflex)  Lens Zeiss Opton Tessar 1:3:5 F.75 mm. No.637288 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้กล้องเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก จึงทรงใช้กล้องนี้อยู่นาน ทรงมีพระราชดำรัสว่าใช้ง่าย เลนส์ดี ได้ภาพสวยคมชัดดีมาก

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง Contax II จากเว็บ zeisscamera.com

๗. กล้อง Contax II

บริษัท Zeiss ikon ผู้ผลิตเลนส์มีชื่อเสียงมากของเยอรมนี และผลิตเลนส์ให้กับกล้องชั้นดีต่างๆ มากมาย
ได้ออกกล้อง Contax-s เป็นกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว SLR(single Lens Reflex) หลังจากนั้นปรับปรุงเป็นรุ่น Contax II ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ในหลวงทรงใช้กล้อง Contax II ร่วมกับเลนส์ Zeiss-opton No.821255 และเลนส์ Zeiss-opton No.885584 Sonar 1:2 f.50 mm. เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก เพราะเป็นกล้องที่นำสมัยในยุคนั้น สามารเปลี่ยนเลนส์ได้ ทั้งยังมีเครื่องวัดแสงในตัวด้วย เมื่อเสด็จฯ ณ ที่ใด จะทรงใช้อยู่เป็นประจำ ปัจจุบันทรงพระราชทานไว้ที่สวนหลวง ร.9

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

ตัวอย่างกล้อง Leica M จากเว็บ kenrockwell.com

๘. กล้อง Leica M

ในช่วงที่ Contax II กำลังเป็นที่ชื่นชอบของนักถ่ายภาพ บริษัท E.Leitz Wetzlar ของเยอรมนีอีกเช่นกัน ได้ออกกล้อง Leica เป็นระบบ M แบบใหม่ และมีชื่อเสียงพอสมควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกล้องรุ่นนี้ โดยเป็นกล้องมือสองและทดลองใช้อยู่ระยะหนึ่ง

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง Super ikonta จากเว็บ eleveld.net

๙. กล้อง Super Ikonta
กล้อง Super ikonta ของบริษัท Zeiss ikon ใช้ฟิล์มเบอร์ ๑๒๐ ได้ภาพ ๖×๙ ซม. ๘ ภาพ หรือสามารถแบ่งเป็นภาพ ๖×๔.๕ ซม. ๖ ภาพ พระองค์ทรงใช้อยู่ระยะหนึ่ง แต่มีข้อเสียคือฟิล์มหมดม้วนเร็วเกินไป จึงได้พระราชทานให้หัวหน้าช่างภาพประจำพระองค์ในสมัยนั้น (นายอาณัติ บุนนาค) ใช้ในงานราชการต่อไป

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง Robot Royal No.G จากเว็บ antiquesreporter.com.au

๑๐. กล้อง Robot Royal No.G

ในขณะนั้นกล้องถ่ายภาพในเครือบริษัท Robot ได้ออกกล้อง Robot Royal No.G 125721 Mod 111 เลนส์ : Schneider-Kreuznach Xenon 1.1.9/3542375 เป็นกล้องที่ใช้ฟิล์มเบอร์ ๑๓๕ ภาพที่ได้เป็นสีเหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะกล้องป้อมกะทัดรัด เหมาะพระหัตถ์ เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง Kiev จากเว็บ ning-and-co-germany-35mm-with-a-sc

๑๑. กล้อง Kiev
เมื่อครั้งประเทศไทยได้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2496 ที่สวนลุมพินี สถานฑูตรัสเซียมาเปิดร้าน เจ้าหน้าที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย กล้องยี่ห้อ Kiev ซึ่งเป็นกล้องที่คล้ายกับ Zeiss ikon ขนาด ๖×๙ ซม. ทรงรับไว้และทดลองใช้จนเข้าพระทัยทุกขั้นตอน

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง Canon-7 จากเว็บ saopaulocamerastyle.wordpress.com

๑๒. กล้อง Canon-7

ในระยะหลังๆ กล้องที่ผลิตจากญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จึงทรงใช้กล้องญี่ปุ่นดูบ้าง อย่าง Canon-7 แบบเล็งระดับตา แต่ไม่สามารถทำงานได้ตามพระราชประสงค์เท่าใดนัก เพราะไม่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

ตัวอย่างกล้อง Canon-A-1 จากเว็บ en.wikipedia.org/wiki/Canon_A-1

๑๓. กล้อง Canon A-1

ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็นรุ่น Canon A-1 ซึ่งเป็นกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว SLR (Single Lens Reflex)
สามารถใช้งานได้สองระบบ คือระบบ Manual และ Auto พระองค์ทรงมีกล้องรุ่นนี้อยู่สองกล้อง คือ กล้องแรก Canon A1/2097120 FD 1:1.4/50 mm. 2052111 เลนส์มาตรฐาน อีกกล้องหนึ่งคือ Canon A1/2307372 เลนส์ RMC Tokina Zoom 35-105 mm. 1:3.5-4.3

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

ตัวอย่างกล้อง Canon-Dial 35 -2 จากเว็บ www.catawiki.fr

๑๔. กล้อง Canon Dial 35 -2

ต่อมาทรงมีกล้องรุ่นใหม่ๆ แบบอัตโนมัติคือ กล้อง Canon 35 Autofocus Lens f=38 mm เป็นกล้องขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พระองค์ทรงใช้อยู่พักหนึ่ง ทรงปรารภว่า ใช้ง่ายเกินไป และไม่ค่อยเหมาะกับพระหัตถ์มากนัก

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง Nikon F3 จากเว็บ en.wikipedia.org/wiki/Nikon_F3

๑๕. กล้อง Nikon F3

กล้องญี่ปุ่นที่ตีคู่มาก็ คือ Nikon กล้องรุ่น F3 ของ Nikon ได้รับความนิยมมาก เพราะรูปทรงแปลกใหม่ นำสมัยใช้วัสดุแกร่ง แข็งแรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงใช้กล้องรุ่นนี้พร้อมเลนส์มาตรฐาน และเลนส์ซูมขนาด 35-105 mm. อยู่พักหนึ่ง เมื่อคราวเสด็จฯ รอบโลกทรงใช้กล้อง Nikon รุ่น F3 นี้บันทึกภาพเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก หากแต่มีน้ำหนักมากไปนิด จึงทรงพระราชทานให้เป็นสมบัติของช่างภาพส่วนพระองค์มาจนกระทั่งทุกวันนี้

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

ตัวอย่างกล้อง Canon EOS 650 / EOS 620 จากเว็บ en.wikipedia.org/wiki/Canon_EOS_650

๑๖. กล้องCanon EOS 650 / EOS 620

ในช่วงที่กล้องถ่ายภาพประเภท ทำงานด้วยอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้กล้อง Canon EOS โดยเริ่มตั้งแต่ EOS 650 และต่อมาก็ทรงทดลองใช้รุ่น EOS 620 อีกรุ่นหนึ่ง

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง Nikon F401s จากเว็บ en.wikipedia.org/wiki/Canon_EOS_650_Nikon_F401s 

๑๗. กล้อง Nikon F401s

ขณะเดียวกันทางค่าย Nikon ก็ออกรุ่น F401s เป็นรุ่นที่มีแฟลชในตัวซึ่งมี Image Master Control สามารถใช้เลนส์ปรับระยะชัดอัตโนมัติได้ ทรงใช้กล้องคู่กับเลนส์ 35-105 mm. f3.5-4.5

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง Minolta Dynax 5000i จากเว็บ en.wikipedia.org/wiki/Minolta_5000i

๑๘. กล้อง Minolta Dynax 5000i

ถืออีกยี่ห้อหนึ่งที่ออกมาสร้างความแปลกใหม่ ให้กับวงการถ่ายภาพ คือ Minolta Dynax 5000i สร้างความสะดวกสบาย และถ่ายภาพได้ผลเที่ยงตรง ออกแบบได้แปลกใหม่ และเพิ่มการสร้างสรรค์ผลงานด้วยระบบการ์ด (Creative Expansion Card System) มีหลายแบบ อาทิ ถ่ายภาพกีฬา ถ่ายภาพบุคคล เป็นต้น

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง Minolta Weather Matic 35DL จากเว็บ flickr.com/photos/chipsmitmayo/4960109621

๑๙. กล้องคอมแพครุ่นต่างๆ

กล้องรุ่นใหม่สะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว และแบบถอดเปลี่ยนเลนส์ได้เหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงทดลองใช้ เพื่อศึกษาความก้าวหน้าของกล้องถ่ายภาพ ในขณะเดียวกัน พระองค์ทรงทดลองใช้กล้องคอมแพคแบบต่างๆ หลายรุ่น อาทิ Canon-HIS เลนส์ Canon Zoom EF 28-80 mm. , Canon Autoboy Tele 6 เลนส์ 35-60 mm. f/3.5-5.6. , Canon Zoom Xl เลนส์ 39-85 mm. f/3.6-7.3 , Ricoh FF-9D เลนส์ 35 mm f/3.5 , Pantax AF Zoom 35-70 mm. กับ Minolta Weather Matic 35DL และ Nikon TW Zoom

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง RICOH EF จากเว็บ en.wikipedia.org/wiki/RICOH_EF

๒๐. กล้อง RICOH EF
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงจับสลากได้รางวัลกล้อง RICOH EF-9D เลนส์ 35 mm. f1:35 และในปีต่อมา จึงทรงพระราชทานเป็นของขวัญจับสลาก

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ
ตัวอย่างกล้อง Canon EOS 30 จากเว็บ en.wikipedia.org/wiki/Canon_EOS_30

๒๑. กล้อง Canon EOS 30

กล้องรุ่นล่าสุดที่พระองค์ทรงใช้ถ่ายรูปพสกนิกร เมื่อเสด็จกลับจาก รพ.ศิริราช คือรุ่น Canon EOS 30 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้กล้องถ่ายภาพหลายรุ่น โดยที่บางรุ่นพระองค์จะทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เอง และไม่ได้เจาะจงว่าต้องใช้กล้องใหม่อยู่เสมอ พอมาระยะหลังหลายบริษัทนำกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพขึ้นทูลเกล้าถวายเนื่องในวโรกาสต่างๆ พระองค์ทรงทดลองใช้ บางกล้องจะทรงเก็บเอาไว้เป็นกล้องคู่พระหัตถ์ ส่วนกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพอย่างดีที่เหลือ ก็ได้โปรดพระราชทานให้บุคคล และหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ทางการถ่ายภาพต่อไป


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับพระอัจฉริยภาพทางด้านการทำฝนเทียม

โครงการพระราชดำริฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร ๑๕ จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ ในวันจันทร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ เสด็จพระราชดำเนินจากจังหวัดนครพนม ไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนคร และเทือกเขาภูพาน ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกร และนักประดิษฐ์ควายเหล็กที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ แล้วพระราชทานแนวความคิดนั้นแก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทาน ทฤษฎีต้นกำเนิดของฝนหลวง ดังนี้

“หลักการแรก คือ ให้โปรยสารดูดซับความชื้น (เกลือทะเล) จากเครื่องบิน เพื่อดูดซับความชื้นในอากาศ แล้วใช้สารเย็นจัด (น้ำแข็งแห้ง) เพื่อให้ความชื้นกลั่นตัวรวมกันเป็นเมฆ”

จากทฤษฎีเริ่มแรกที่เกิดขึ้นหลังจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ยังทรงใช้เวลาอีก   ๑๔ ปี ในการวิเคราะห์วิจัย ทบทวนเอกสาร รายงานผลการศึกษาและข้อมูลต่างๆ พระราชทานให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เพื่อประกอบการค้นคว้าทดลองมาโดยตลอด 

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองเป็นคนแรก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑-๒ กรกฎาคม ๒๕๑๒ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์

และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรก โดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง ขนาดไม่เกิน ๑ ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลอง ทำให้กลุ่มเมฆ ทดลองเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจน เกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว แล้วเคลื่อนตัวตามทิศทางลมพ้นไปจากสายตาไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากยอดเขาบัง แต่จากการติดตามผล โดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้  เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

ขั้นตอนการทำฝนหลวง

  1. ขั้นตอนที่หนึ่ง : "ก่อกวน" : ถือเป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การปฏิบัติการในขั้นตอนนี้มุ่งใช้สารเคมีกระตุ้นให้มวลอากาศลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำหรือความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ
  2. ขั้นตอนที่สอง : "เลี้ยงให้อ้วน" : เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโตซึ่งเป็นระยะสำคัญมากในการปฏิบัติการ เพราะจะต้องเพิ่มพลังงานให้แก่ Updraft (มวลอากาศขนาดเล็กที่ลอยขึ้นสูงที่สูง) ให้ยาวนานออกไป ต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์การทำฝนควบคู่ไปพร้อมกัน เพื่อตัดสินใจโปรยสารเคมีชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม
  3. ขั้นตอนที่สาม : "โจมตี" : จัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง เมฆ หรือ กลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องอาศัยประสบการณ์มาก จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ ๒ ประเด็นคือ เพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก หรือเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ กับพระอัจฉริยภาพทางด้านการคิดค้น กังหันน้ำชัยพัฒนา

ปัญหาน้ำเน่าเสียในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๗

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียในพื้นที่หลายแห่ง หลายครั้ง ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด และทรงห่วงใยในความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในระยะแรกระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๓๐ พระองค์ทรงแนะนำให้ใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยบรรเทาน้ำเสีย และวิธีกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวาและพืชน้ำต่างๆ ซึ่งก็เป็นวิธีทางธรรมชาติ ที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ผลในระดับหนึ่ง

จุดเริ่มต้นของกันหันน้ำชัยพัฒนา

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ สภาพความเน่าเสียของน้ำในบริเวณต่างๆ มีอัตราแนวโน้มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การใช้วิธีบรรเทาน้ำเสียตามธรรมชาติ ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จึงขอพระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถทำได้เองในประเทศ รูปแบบ “ไทยทำไทยใช้” ทรงได้แนวคิดจาก “หลุก” อุปกรณ์วิดน้ำเข้านาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นจุดคิดค้นเบื้องต้น และทรงมุ่งหวังช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการศึกษาและวิจัยสิ่งประดิษฐ์นี้ โดยดำเนินการจัดสร้างเครื่องมือบำบัดน้ำเสียร่วมกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการผลิตเครื่องกลเติมอากาศขึ้นในเวลาต่อมา และรู้จักกันแพร่หลายทั่วไประเทศในปัจจุบันคือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา"

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

พระราชดำริและรูปแบบของกันหันน้ำชัยพัฒนา

เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานรูปแบบและพระราชดำริ เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยการเติมออกซิเจนลงในน้ำ ด้วย ๒ วิธีการ ดังนี้

  • วิธีที่ ๑ ใช้อากาศอัดเข้าไปตามท่อ เป่าลงไปใต้ผิวนำแบบกระจายฟอง
  • วิธีที่ ๒ กระทำโดยใช้กังหันวิดน้ำ ตักน้ำขึ้นไปนผิวน้ำ และปล่อยให้ตกลงไปยังผิวน้ำตามเดิม โดยที่กังหันน้ำ จะหมุนช้า ด้วยกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ไม่เกิน ๒ แรงม้า หรือใช้พลังน้ำไหล

ซึ่งวิธีที่ ๒ สมควรพิจารณาไปสร้างต้นแบบ และทางกรมชลประทานรับสนองพระราชดำริในด้านการศึกษาและสร้างต้นแบบ โดยดัดแปลงเครื่องสูบน้ำพลังน้ำจาก “กังหันสูบน้ำทุ่นลอย” เปลี่ยนเป็น “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และได้นำไปติดตั้งใช้ในกิจกรรมบำบัดน้ำเสียที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ และที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นระยะเวลา ๔-๕ ปี

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพระราชกรณียกิจ

คุณสมบัติของกังหันน้ำชัยพัฒนา

กังหันน้ำชัยพัฒนา หรือเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (Chaipattana Low Speed Surface Aerator) ซึ่งเป็น Model RX-2 (Royal Experiment แบบที่ ๒) มีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงถึง ๑.๒ กิโลกรัมของออกซิเจน/แรงม้า/ชั่วโมง สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมปรับปรุงคุณภาพน้ำได้อย่างอเนกประสงค์ ติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ คลอง บึง ลำห้วย ฯลฯ ที่มีความลึกมากกว่า ๑ เมตร และความกว้างมากกว่า ๓ เมตร


ที่มา : www.balmainphotography.com , www.chaipat.or.th , www.changpuak.ch , www.royalrain.go.th , th.wikipedia.org , www.hs3lzx.com , siweb.dss.go.th , www.youtube.com , www.manager.co.th , thekingofit.blogspot.com

 

0 %E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E+%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A+%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
19 ตุลาคม 2559 19:55:11
Profile Pictureสมาชิก : Member
Comment Bubble Triangle
ขอบคุณครับมผม
 


 

รีวิวแนะนำ