ไปมาหาสู่กันจนเป็นเรื่องปกติในวงการเสียแล้ว สำหรับ "การนำเกมส์มาดัดแปลงให้กลายเป็นฉบับภาพยนตร์" (หรือจะเกมส์ที่ดัดแปลงจากภาพยนตร์ด้วยก็ได้นะ แต่เดี๋ยวไว้ว่ากันในบทความหน้า) ที่แม้จะถูกสร้างออกมาแล้วอย่างมากมาย แต่กระนั้น ผลงานที่สามารถจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ภาพยนตร์ที่ดีได้ กลับมีเพียง "หยิบมือเดียว" และผู้เขียน ก็ได้รวบรวมภาพยนตร์เหล่านั้นลงในบทความนี้แล้วครับ แต่จะมีเรื่องอะไรบ้าง เชิญพิสูจน์ด้วยตาตนเองได้เลย!
ฉบับเกมส์เป็นอย่างไร? หนึ่งในสุดยอดซีรีย์เกมส์แนว Survival Horror ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์วงการเกมส์! (ผู้เขียนชื่นชอบและรักซีรีย์นี้มาก) โดยเฉพาะในภาคแรกๆ (0, 1, 2, 3) ที่ผู้เล่นจะได้เข้าใจนิยามของการเอาชีวิตรอดอย่างถ่องแท้ ด้วยการที่ตัวเกมส์จะมอบอิสระให้กับผู้เล่นทั้งการดำเนินเหตุการณ์ที่ลำดับได้ตามใจชอบ การต่อกรกับอุปสรรคภายในเกมส์ที่การหลบหนีหรือดับเครื่องชน "ไม่มีตัวเลือกใดผิด" หากแต่ผู้เล่นต้องตัดสินใจกับการรับมือสถานการณ์ต่างๆ ด้วยเครื่องมือช่วยเหลือที่มี ณ ในขณะนั้น (สมุนไพรรักษาบาดแผล, ปืนและกระสุน, อาวุธป้องกันตัว ฯลฯ)
ฉบับภาพยนตร์เป็นอย่างไร? หากนับเพียงภาค 1 และ 2 (Resident Evil และ Resident Evil: Apocalypse) ภาพยนตร์จากเกมส์เรื่องนี้ ถือว่าทำออกมาได้ดีพอสมควร แม้หลายอย่างจะไม่ได้เหมือนในเกมส์ต้นฉบับราวถอดกันมา (ยกเว้นภาค 2 ที่มีการปรากฎตัวขึ้นของ จิล วาเลนไทน์ ตัวละครหลักของเกมส์จากภาค 1, 3 และ Revelation) แต่ก็เป็นการประยุกต์ดัดแปลงให้เข้ากับเวลาฉายที่มีอยู่อย่างจำกัดและความสมเหตุสมผลที่ลงตัวกับสื่อประเภทภาพยนตร์ ส่วนภาคต่อๆ มาก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจละกันนะครับ...
ฉบับเกมส์เป็นอย่างไร? Angry Birds เป็นหนึ่งในเกมส์แรกๆ ที่นำองค์ประกอบสุดตึงเครียดตลอดมาในเกมส์แนวแก้ปริศนา (Puzzle) อย่าง "เวลา" ออกและเปลี่ยนให้ผู้เล่นจับจ่ออยู่กับการคิดตัดสินใจได้เต็มที่่ผ่านข้อจำกัดของจำนวนครั้งในการผ่านอุปสรรคแทน โดยตัวเกมส์ จะให้ผู้เล่นได้รับบทเป็นเหล่านกหลากสีหลายสายพันธุ์ที่ต้องรวมตัวกันเพื่อขับไล่แก๊งโจรสลัดหมูสีเขียวจอมตะกละที่มารุกล้ำถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเขาที่ซ้ำยังขโมยลูกเด็กเล็กไข่ไปอีกทอด ซึ่งผู้เล่นจะต้องใช้ความสามารถอันหลากหลายของบรรดานกเหล่านี้ในการกวาดล้างหมูเขียวจอมตะกละและสิ่งก่อสร้างที่พวกมันได้ก่อสร้างไว้ให้หมดสิ้น
ฉบับภาพยนตร์เป็นอย่างไร? "อย่าตัดสินหนังสือเพียงหน้าปก" (don't judge a book by its cover) ดูจะเป็นสำนวนสุภาษิตเปรียบเปรยที่เหมาะสมกับ Angry Birds ภาพยนตร์อนิเมชั่นดัดแปลงจากเกมส์นี้ได้มากที่สุดแล้วละครับ เพราะไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าตัวหนังนั้น "สนุกเกินคาด" ไม่ว่าจะมุกตลกที่เข้าใจได้ทุกเพศทุกวัย เหล่าตัวละครนกหัวร้อนที่ออกแบบได้ออกมาดูน่ารักน่าหยิก และกิมมิคส่งตรงจากเกมส์ที่เหล่านกทั้งหลายจะดีดตัวเองออกจากปืนหนังยางขนาดยักษ์เพื่อให้ตนกลายเป็นกระสุนหลากรูปแบบหลากความสามารถเพื่อทำลายสิ่งก่อสร้างและบรรดาหมูเขียววายร้ายที่ถอดแบบมาจากฉบับเกมส์ได้อย่าง "ตรงไปตรงมา" (อารมณ์แบบเอางี้เลยหรอ!? ฮ่าๆ)
ฉบับเกมส์เป็นอย่างไร? อีกหนึ่งซีรีย์เกมส์ที่ตีความอารมณ์สยองขวัญได้ออกมาได้ถึงพริกถึงขิงตรงตามนิยามทุกตัวอักษร ทั้ง การก่อร่างสร้างอารมณ์สะพรึงตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าสู่เกมส์ด้วย "หมอก" กลุ่มก้อนละอองน้ำสีเทาแก่อันเป็นบรรยากาศหลักในเกมส์ ที่จะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้เล่นให้หวาดระแวงในทุกตรอกซอกมุมและหนทางข้างหน้าว่า "มีสิ่งใดที่ไม่เป็นมิตรรออยู่หรือไม่" เหล่าศัตรูภายในเกมส์ที่ออกแบบรูปลักษณ์มาได้น่าเกรงขามและชวนให้สยดสยองไม่อยากเข้าใกล้ในคราเดียวกัน และปิดท้ายด้วย เนื้อเรื่อง ที่เกริ่นและจูงใจให้ตามติดด้วยปริศนาก่อนจะส่งท้ายด้วยตอนจบสุดหักมุมในภายหลัง
ฉบับภาพยนตร์เป็นอย่างไร? เลือกคนให้ถูกกับงานหรือ "Put the Right Man on the Right Job" ดูจะเป็นสำนวนเปรียบเปรยที่เหมาะสมกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะไม่ว่าทุกรูปแบบความกลัวใดๆ ที่ท่านๆ เคยสัมผัสจากในเกมส์ "คุณก็จะได้พบเจอมันในฉบับภาพยนตร์นี้ด้วยเช่นเดียวกัน" ซึ่งการถ่ายทอดความสะพรึงสุดจะหาไม่เหล่านี้ คงจะยกเครดิตให้ใครไปเสียไม่ได้นอกจากนายคริสโตเฟอร์ กอนส์ (Christophe Gans) ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศสที่รักและเป็นแฟนคลับเกมส์ซีรีย์ดังกล่าว จึงส่งผลให้อารมณ์ความสยองขวัญที่คนดูจะได้รับในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ผิดเพี้ยนจากเกมส์ต้นฉบับไปสักเท่าไหร่ อีกทั้งการปรับเปลี่ยนตัวละครหลักของฉบับภาพยนตร์ให้กลายเป็นผู้หญิง ก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันได้ทำให้คนดูได้ลุ้นระทึกและมีอารมณ์ร่วมไปกับบรรดาเหตุการณ์ระทึกขวัญที่ตัวละครเอกต้องเจอในระดับสูงเลยทีเดียว
ฉบับเกมส์เป็นอย่างไร? นักเรียนทุกคนกราบ! โปรดแสดงความเคารพให้กับ "DOOM" ครูทุกสถาบันของเกมส์แนวยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง! (FPS: First-Person Shooter) ที่ปัจจุบันซีรีย์ดังกล่าวก็ได้มีอายุอานามแล้วถึง 25 ปี ซึ่งแม้ในทุกๆ ก้าวที่เติบโต ตัวเกมส์จะได้มีการปรับเปลี่ยนหรือแต่งเติมส่วนเสริมต่างๆ เข้ามาที่สำเร็จและล้มเหลวบ้างปะปนกันไปบ้าง (ชัดเจนสุดคือ Doom 3 ที่ใส่แนวสยองขวัญเข้ามาเพื่อเปลี่ยนกลิ่นการเล่น) แต่กระนั้นโครงสร้างหลักอันว่าด้วยระบบการต่อสู้ที่เน้นความดิบเถื่อน! รวดเร็ว! และไหวพริบที่ตกหล่นไม่ได้สักชั่วขณะ! ก็ยังคงอยู่ตลอดมา และในฉบับรีบูตปี 2016 ที่ผ่านมาอย่าง "DOOM" นี้เอง ก็เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณตั้งต้นของซีรีย์กลับคืนมาแทบจะทุกระเบียดนิ้ว!
ฉบับภาพยนตร์เป็นอย่างไร? ในมุมมองผู้เขียนนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ มีส่วนที่ดีเพียง "ช่วงท้ายของเรื่องอันเป็นฉากที่ผู้ชมจะได้เห็นมุมมองตัวละครเอกของเรื่องในแบบฉบับเกมส์แนวยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง" ที่ก็ถือว่าดีไซน์จังหวะการต่อสู้ออกมาได้พอไปวัดไปวาอยู่แม้จะไม่ระดับพระกาฬแต่ก็ไม่ถึงขั้นดูขี้เหร่จนไม่สนุก แต่ส่วนที่เหลือของตัวหนังก็ต้องขอบอกตรงๆ ว่าเต็มไปด้วยจังหวะจะโคนในการเล่าเรื่องที่ขาดๆ เกินๆ กลุ่มตัวละครที่มีพฤติกรรมแปลกๆ ไม่สมกับสังกัดกลุ่มกองกำลังทหารชุดพิเศษเลยสักนิด (ยิงปืนมินิกันกระบอกเท่าบ้านขึ้นเพดานฝ้าเพราะตกใจเสียง คิดดูละกันว่ามืออาชีพขนาดไหน...)
แค่ดูยังกลัวแทนเลย บรึ๋ย!
ฉบับเกมส์เป็นอย่างไร? ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมผัสเพียง 15 นาที... และจากนั้น ก็ไม่เคยย่างกรายเข้าหาอีกเลย แต่กระนั้นด้วยจิตวิญญาณอันแรงกล้าที่อยากจะนำเสนอให้เพื่อนๆ ชาวไทยแวร์ได้รู้จักภาพยนตร์จากเกมส์เนื้อดีทั้งหลายเหล่านี้ จึงต้องจำใจ! ใช้บริการรับชมเหล่ายูทูบเบอร์สายเกมเมอร์ที่เล่นเกมส์นี้... (ไม่มีทางเล่นเองเด็ดขาด ไม่! ฮ่าๆ) ซึ่งบอกเลยว่า "คิดดีแล้วจริงๆ ที่ไม่เล่นเอง" เพราะทั้งการนำเสนอด้านงานภาพของเกมส์นี้ที่ไล่ตั้งแต่บรรยากาศ (Atmosphere) ที่ชวนให้รู้สึกวังเวงเสียวสันหลัง สีของภาพที่ถูกย้อมให้พื้นที่สว่างและพื้นที่มืดมิดตัดกันอย่างเห็นได้เพื่ออำพรางศัตรูอันเป็นมนุษย์ที่ใบหน้าถูกปกคลุมด้วยน้ำตาเลือดที่พวกมัน "ฆ่าไม่ตาย" พร้อมปิดท้ายด้วยเรื่องราวชวนผวาของเกมส์และบทสรุปส่งท้ายที่ชวนให้จดจำไปอีกนานแสนนาน
ฉบับภาพยนตร์เป็นอย่างไร? ไม่ว่าจะเป็นสื่อประเภทใด ยังไงเสียการสร้างความกดดันด้วยบรรยากาศก็ยังคงเป็นจุดเด่นเสมอมาของศิลปินจากแดนปลาดิบทั้งหลายครับ และ Forbidden Siren ฉบับภาพยนตร์นี้ ก็ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานความกดดันด้านดังกล่าวไว้อย่างครบถ้วน แต่กระนั้นบทสรุปของเรื่องเอง กลับมีการหักมุมที่ไร้ซึ่งความสมเหตุสมผลชนิดที่ว่าไม่น่าให้อภัยเลยละ แต่ผู้เขียนจะไม่สปอยล์ละกันเพราะหากตัดส่วนนี้ออก ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังสามารถมอบประสบการณ์ขนหัวลุกให้คนดูได้อย่างยอดเยี่ยมอยู่นะ
ฉบับเกมส์เป็นอย่างไร? อาจไม่ใช่เกมส์แนว RTS (Real-Time Strategy) ดีที่สุดในโลก แต่หากมีการจัดทำนียบเกมส์ที่ทรงคุณค่าแก่ประวัติศาสตร์วงการเกมส์แล้วละก็ ชื่อของ "Warcraft" ต้องติดอยู่ทุกในโผอย่างแน่นอน! เพราะไม่ว่าจะระบบการเล่นที่ง่ายแต่มีความลุ่มลึก กราฟฟิกที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์น่ามองในทุกยุคทุกสมัย และปิดท้ายด้วยเนื้อเรื่องของเกมส์ที่สนุกชวนให้ติดตามราวดั่งภาพยนตร์ไตรภาคเนื้อดี
ฉบับภาพยนตร์เป็นอย่างไร? สิ่งเดียวที่ภาพยนตร์จากเกมส์เรื่องนี้ทำได้แย่ คือ "การปรากฎตัวบนโลกภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่สายเกินไป" เพราะหากวัดจากคุณภาพแล้ว จะพบว่าไม่มีสิ่งใดย่ำแย่จนติดดินเลยสัก หากแต่ในความทรงจำของเราๆ ต่างระลึกแฟรนไชส์ "The Lord of the Ring" ว่าเป็นภาพยนตร์มหากาพย์แฟนตาซีโลกจดจำไปแล้วในก่อนหน้านี้ และนั่นคงเป็นอะไรที่ลืมเลือนออกไปจากหัวได้ยากยิ่งนัก
ฉบับเกมส์เป็นอย่างไร? "อินเดียนา โจนส์ฉบับหญิงแกร่ง" ดูจะเป็นนิยามถูกต้องที่สุดของ Tomb Raider ซีรีย์เกมส์ผู้บุกเบิกการผสมผสานสองแนวเกมส์ที่เข้ากันอย่างลงตัวอย่าง แอคชั่น (Action: มันสะใจ) และแอดเวนเจอร์ (Adventure: ผจญภัยไปกับการขับเคลื่อนตัวเกมส์ด้วยเรื่องราว) โดยผู้เล่นจะได้รับบทเป็น ลาร่า ครอฟท์ หญิงสาวนักโบราณคดีผู้ชำนาญการต่อสู้ต้องออกตะลุยไปยังโบราณสถานต่างๆ ที่ต้องรับมือกับบรรดากับดักสุดอันตราย สิ่งมีชีวิตน่าเกรงขาม และปริศนาแสนเชาว์ปัญญาที่รอให้แก้เพื่อรับค่าเหนื่อยเป็นวัตถุโบราณหาค่าไม่ได้
ฉบับภาพยนตร์เป็นอย่างไร? "เกมส์สนุกเท่าไหน ฉบับภาพยนตร์นี้ก็สนุกเท่านั้น" ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณผู้กำกับของเรื่องและนักแสดงนำอย่าง แองเจลิน่า โจลี่ (Angelina Jolie) ที่ตีบทและเอกลักษณ์ของเกมส์ได้ออกมาอย่างยอดเยี่ยมดูสนุกและเพลิดเพลินได้ไม่จำกัดว่าคนดูจะเป็นแฟนเกมส์หรือนักดูหนังธรรมดา ทั้งท่าแอคชั่นประจำตัวของลาร่า ครอฟท์อย่างการตีลังกายิงปืนคู่ การโลดโผนกระโจนเข้าเกาะเกี่ยวผนังภูเขาความสูงเสี่ยงตาย และการหาวิธีแก้ปริศนาที่แสนซับซ้อนอันตราย
ฉบับเกมส์เป็นอย่างไร? ผู้นำเทรนด์เกมส์แนวแอคชั่น-แอดเวอเจอร์ (Action - Adventure) ที่ซ้ำยังเป็นผลงานเกมส์ที่รวบรวมหลายองค์ประกอบที่น่าสนใจเข้าไว้ด้วยกัน ไล่ตั้งแต่ การใช้ธีมเป็นปราสาทหลังยักษ์ของเคาท์แเคร๊กคูลาผีร้ายที่เจ้าของสถานที่จากนิยายของแบรม สโตกเกอร์ตนนี้ ยังปรากฎตัวในบทบาทศัตรูตัวสุดท้ายของเกมส์อีกทอด ความยากของเกมส์ที่ท้าทายฝีมือผู้เล่น และปิดท้ายด้วยการนำเสนอเนื้อเรื่องปลายเปิดที่ผู้เล่นจะเข้าพบเหตุการณ์สำคัญของเกมส์ช่วงไหนก่อนก็ได้ (ในภายหลังรูปแบบนำเสนอเนือเรื่องนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับซีรีย์เกมส์ Resident Evil ภาค 1, 2, 3 และ 7)
ฉบับภาพยนตร์เป็นอย่างไร? ศิลปะหนึ่งชิ้นหากศิลปินได้มีเวลาและพื้นที่ในการปลดปล่อยแนวคิดจินตนาการได้อย่างไร้ข้อจำกัดแล้วนั้น ผลงานที่ออกมาก็จะเต็มไปด้วยคุณภาพสูง ซึ่ง Castlevania ฉบับอนิเมชั่นทีวีซีรีย์ของทาง Netflix นี้ ก็เป็นตัวอย่างชั้นดีของการไม่กำหนดแนวทางหรือห้ามปามข้อจำกัดในการสร้างใดๆ ที่ไล่ตั้งแต่การที่ทึมงานได้เลือกให้ภาพยนตร์จากเกมส์เรื่องนี้ออกมาในรูปแบบอนิเมชั่นซีรีย์ที่ถ่ายทอดอารมณ์อากัปกิริยาได้ตรงตามต้นฉบับเกมส์มากกว่า และสามารถดีไซน์ฉากต่อสูุ้ดุเดือดตามใจฉันได้มากกว่า! และปิดท้ายด้วยการปล่อยให้ผู้สร้างภาพยนตร์ได้เลือกนำต้นฉบับเกมส์ภาคที่ได้รับความนิยมตลอดกาลมาดัดแปลงอย่างภาค 3 (Castlevania III: Dracula's Curse) แทนที่การดิ่งตรงใช้ภาคแรกเริ่ม หรือโดยสรุปแล้วนั้น นี่คือภาพยนตร์ดัดแปลงจากเกมส์ที่ให้เกียรติต้นฉบับมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ฉบับเกมส์เป็นอย่างไร? Prince of Persia คือเกมส์แนวข้ามสิ่งกีดขวาง (Platfomer) ที่ริเริ่มระบบผ่าดโผนและความคล่องตัว (Arcobatic) อันเป็นการให้ผู้เล่นได้สนุกไปกับการยึดเกาะจับพื้นที่ต่างระดับเพื่อผ่านอุปสรรคทั้งหลาย พร้อมต่อกรกับศัตรูด้วยการกะจังหวะหลบหลีกและรุกสวน โดยในยุคนั้นรูปแบบการเล่นนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในแง่ความแปลกใหม่ ที่หนำซ้ำยังได้ขับเคลื่อนให้วงการเกมส์ เริ่มสอดใส่ความท้าทายในการเล่นมากยิ่งขึ้น แต่แล้วเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน Prince of Persia ในภาค "Sand of Time" (2003) ก็ได้ปฎิวัติตัวตนของซีรีย์ที่เป็นอยู่ ด้วยการลดทอนความยากลงพร้อมเพิ่มระบบ "ย้อนเวลา" (Reverse Time) จุดเปลี่ยนและจุดจดจำครั้งสำคัญของซีรีย์ ที่ผู้เล่นจะสามารถกลับไปแก้ไขการเคลื่อนไหวหรือท่วงท่าการต่อสู้ที่ตัดสินใจผิดและเลือกรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยวิธีการที่ดีที่สุดแทน
ฉบับภาพยนตร์เป็นอย่างไร? เจอร์รี่ บรัคไฮเมอร์ (Jerry Bruckheimer) อาจเป็นผู้ควบคุมการสร้าง (Producer) เพียงคนเดียวในโลกภาพยนตร์ที่สามารถดึงดูดผู้คนในผลงานต่างๆ ได้เพียงแค่มีชื่อของเขาติดอยู่บนใบปิดหนัง โดยหากวัดจากผลงานที่เขาเคยนั่งแท่นจัดการทรัพยากรด้านการถ่ายทำมาแล้วละก็ จะพบได้ว่าแต่ละเรื่องนั้น มีแนวทางการดำเนินเรื่องราวหรือการวางฉากไคลแม็กซ์ (จุดที่น่าสนใจที่สุด) ที่ยอดเยี่ยม ทรงพลัง และขับส่งอารมณ์ร่วมได้ในระดับสูง ซึ่ง "Prince of Persia" ฉบับภาพยนตร์นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ยังคงออกมาสนุก และเลือกนำจุดเด่นของเกมส์ต้นฉบับมาใช้ได้อย่างลงตัว (แต่น่าเสียดายที่รายรับไม่เยอะเท่าที่ควรเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ได้เห็นข่าวคราวโปรเจคภาคต่อ)
ฉบับเกมส์เป็นอย่างไร? นี่คือซีรีย์เกมส์ที่ตอบโจทย์ผู้ที่อยากหลีกหนีความเบื่อหน่ายในการขับรถบนท้องถนนของโลกแห่งความจริงหรือถวิลหาอดรีนารีนจากความรวดเร็ว นั่นก็เพราะ Need for Speed (ในภาคแรกๆ) ไม่ได้มีหลักฟิสิกส์ที่ซับซ้อน มาคุมเชิงผู้เล่น และไม่สนใจว่าคุณจะมีทักษะขับรถมากน้อยแค่ไหน มีเพียงสิ่งเดียวที่ตัวเกมส์มอบให้กับผู้เล่นอย่างเถรตรง คือ "ความเร็วสุดทรงพลัง" ที่แม้แต่ช้างสารก็ฉุดไม่อยู่! แต่นอกเหนือจากนี้ ธีมการแข่งรถใต้ดิน เลี่ยงหลบกฎหมายการจับกุมของตำรวจก็เป็นสีสันตลอดมาของซีรีย์
ฉบับภาพยนตร์เป็นอย่างไร? Need for Speed คือการตักเตือนแฟรนไชส์ Fast and Furious ถึงการไม่ละทิ้งตัวตนของตัวเองที่เคยเป็น เพราะในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนี้ ได้นำเสนอสิ่งที่แฟรนไชส์ที่ว่ามาทำหายไป คือ "ความตื่นเต้นในการช่วงชิงความเป็นหนึ่งบนท้องถนนเป็นหลัก" ทั้งการชิงไหวชิงพริบกันของเหล่ารถยนต์แรงม้าทะยานฟ้า การเลี้ยวเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง และการทิ้งรอยยางจากการบิดคันเร่งเตรียมออกตัว แต่กระนั้นหากใครคาดหวังภาพยนตร์เนื้อเรื่องยอดเยี่ยมหรือน้ำหนักการกระทำของตัวละครแล้วละก็ ลืมเรื่องนี้ไปเสียเถอะครับ...
|
ทำไมไม่เรียกแมว! รักหนัง รักเกม ร๊ากกทุกคนนน ~ <3 |