ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในแนวหนังที่ได้รับความนิยม และเป็นกระแสหลักอยู่เสมอ คือ หนังฮีโร่ (Hero movies) โดยเฉพาะสองค่ายยักษ์ใหญ่จากทั้งฝั่ง DC และ Marvel ที่ขับเคี่ยวพยายามหาคอนเทนท์มาเสิร์ฟแฟน ๆ อยู่เสมอ หนังเอย ซีรีส์เอย เรียกได้ว่าปีนึงมีหนังฮีโร่ให้เราดูหลากหลายรสชาติเลยทีเดียว
แต่หลายคนคงจะรู้สึกและสัมผัสได้ว่าหนังฮีโร่ ก็วนเวียนอยู่ในทุกช่วงวัยของเรา ตั้งแต่เด็กจนโต มีฮีโร่หลากหลายแนว หลายตัวละครที่เข้ามาและผ่านไปเยอะมาก แต่สังเกตไหมเนื้อเรื่องและรายละเอียดต่าง ๆ มันแตกต่างกันออกไป
คำว่า Hero (ฮี-โร่) ถูกบัญญัติในภาษาอังกฤษครั้งแรกช่วงศตวรรษที่ 16 แต่คำนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ มาจากภาษาละติน และมาจากชาวกรีกที่ถูกใช้บรรยายหลายสิ่งหลายอย่าง มันได้มีความหมายแตกต่างออกไปตามตำนานแต่ละที่ เช่น อาจจะหมายถึงนักรบ, หรือใช้เรียก Hercules เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ หากจะให้นิยามคำว่า Hero ตามความหมายมันก็คงแปลได้ว่า วีรบุรุษ, วีรชน, คนกล้า ใช้นิยามคนในโลกของความจริง
ส่วนอีกหนึ่งคำคือ Superhero (ซู-เปอร์-ฮี-โร่) ถูกใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2460) ในหนังสือพิมพ์ เพื่อบรรยายถึงบางคนที่ทำบางอย่างเหนือกว่าปกติ (เช่น ลูกเสือช่วยแมวบนต้นไม้ ณ ตอนนั้นก็สามารถเรียกว่าซูเปอร์ฮีโร่ได้) ต่อมาคำว่า Superhero ก็กลายมาเป็นการบรรยายถึงคนที่มีพลังเหนือมนุษย์ต่าง ๆ เป็นขั้นกว่าของคำว่า Hero อีกที ตามความหมายก็จะหมายถึง ตัวเอกในหนังหรือการ์ตูนที่มีกำลังเกินมนุษย์ มักไม่ค่อยใช้บรรยายในโลกของความเป็นจริง
และ...ฮีโร่มันก็ไม่ได้หมายถึงแค่คนสวมผ้าคลุมบินได้หรือมีพลังวิเศษอย่างเดียวแต่อย่างใด
Not all heroes wear capes.
ไม่ใช่ฮีโร่ทุกคนสวมผ้าคลุม แน่นอนว่าคนธรรมดาไร้พลังก็เป็นฮีโร่ได้
ดังนั้นหากจะกล่าวกันจริง ๆ คำว่า "หนังฮีโร่" ใช้เรียกหนังที่มีวีรบุรุษหรือสตรี ที่ออกมาปกป้อง ป้องกัน ใช้ความสามารถที่ตนมีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ต่อกรกับอธรรมหรือความไม่ยุติธรรม ส่วน "หนังซูเปอร์ฮีโร่" คือขั้นกว่าของหนังฮีโร่อีกที ตัวหนังเกี่ยวกับตัวเอกที่ออกมาปกป้อง ป้องกัน ใช้ความสามารถที่ตนมีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ต่อกรกับอธรรมหรือความไม่ยุติธรรมด้วยพลังที่เหนือมนุษย์ ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองแบบมีความเหมือนและต่างกัน เพราะหนังซูเปอร์ฮีโร่ก็เป็นหนังฮีโร่ด้วยเช่นกัน
หนังฮีโร่ทั้งที่ตัวเอกมีพลังหรือไม่มีพลังก็ออกมาให้เราเห็นมากมายเช่นกัน ด้วยขนบธรรมเนียม ความชอบ และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และหนังฮีโร่มันก็ข้องเกี่ยวกับเราตลอดทุกช่วงชีวิต ไม่มากก็น้อย และคงจะเรียกได้ว่ามันเป็นประเภทหนังที่ไม่มีวันตายจริง ๆ
แต่ก่อนหนังฮีโร่ไม่ได้มาโลดแล่นบน Box Office ได้รับความนิยมจนคนรู้จักกันทั่วโลกกันอย่างทุกวันนี้ มันผ่านการเดินทางมาอย่างยาวนาน
เอาจริง ๆ จุดเริ่มต้นของหนังฮีโร่ ไม่ใช่บุคคลมีพลังเหนือมนุษย์หรือบินได้ เขาเป็นเพียงบุคคลธรรมดาในชุดธรรมดาที่สวมหน้ากากด้วยผ้าและหมวก มีอาวุธเป็นดาบ เขาคือศาลเตี้ยนามว่า Zorro ในหนัง Mark of Zorro ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) ผลงานการกำกับของ Fred Niblo และผู้รับบทหน้ากาก Zorro ก็คือ Douglas Fairbanks
Douglas Fiarbanks ในบท Don Diego Vega/Señor Zorro
จากหนัง ภาพยนตร์เรื่อง The Mark of Zorro (1920)
ที่มาภาพ : imdb.com
แต่ก่อนที่จะมาเป็น "หนังฮีโร่" ได้รับความนิยมมาก่อนในรูปแบบของการ์ตูน ทั้งในหนังสือพิมพ์ หรือจะเป็นหนังสือการ์ตูนของตนเอง และที่ได้รับความนิยมสุด ๆ ในช่วงนึง
ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481) กับ Action Comic ของ Jerry Siegel และ Joe Shuster ที่แนะนำโลกให้ได้รู้จักกับ Superman จนกลายเป็นตัวจุดประกายความนิยมในคอมิกส์ฮีโร่ตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็น Detective Comics กับ Batman, Flash ใน Flash Comics, Shazam ใน Whiz Comics และอีกมากมาย
หนังสือการ์ตูน Action Comics เล่ม 1
ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Action_Comics_1
และอะไรคือสาเหตุที่หนังสือการ์ตูนฮีโร่ได้รับความนิยม ?
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วง ค.ศ. 1939-1945 (พ.ศ. 2482-2488) คำว่า "ฮีโร่" นับว่าเป็นส่วนสำคัญของทุกคนในยุคนั้น เหล่าทหารหาญที่ได้ร่วมรบ เอาชนะกลับมาบ้าน ก็เรียกพวกเขาได้ว่าเป็น “ฮีโร่” ซึ่งแน่นอนว่าผู้คนต่างเคร่งเครียดจากสภาวะสงคราม พวกเขาก็ต้องการหลีกหนีความจริง และการ์ตูนฮีโร่ก็เป็นตัวสร้างความบันเทิงชั้นดี และเปรียบเสมือนความแฟนตาซี เป็นพระเอกในสงครามซะด้วย
Baltimore Lauren ได้เขียนไว้ใน Bleeding Cool ว่า
หนังสือการ์ตูนอเมริกันประมาณ 5,500 เล่ม ถูกตีพิมพ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เรามีการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่กว่า 3,500 เรื่องในขณะนั้น
แถมยังกล่าวต่อไปว่า ผู้ชายหลายคนที่สร้างฮีโร่และหนังสือการ์ตูนในยุคนั้นเป็นชาวยิว เขาจึงตั้งใจให้ฮีโร่ของพวกเขาเอาชนะพวกนาซีได้ พวก Superman หรือ Captain America เอาชนะพวกอักษะได้ก่อนที่เหตุการณ์จริงจะทำได้ซะอีก และเหตุนั้นทำให้ผู้สนับสนุน Hitler ถึงกับต้องขู่ Jack Kirby และ Joe Simon (ผู้สร้าง Captain America) เลยทีเดียว และเรื่องราวแบบนั้นมันก็ได้สร้างความบันเทิงให้กับผู้คน รวมถึงสร้างขวัญกำลังใจให้ไม่น้อยเลย
Captain America เล่มแรก
ที่มาภาพ : https://www.marvel.com/comics/issue/7849/captain_america_comics_1941_1
สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้หล่อหลอมซูเปอร์ฮีโร่ ด้วยแนวคิดแบบอเมริกัน ในเรื่องความรักชาติ, ความยุติธรรม และการที่ผู้คนกว่า 50 ล้านคนเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลกระทบต่อเรื่องราวเหล่านั้นมันมีอิทธิพลต่อทุกสิ่ง และเรายังคงเห็นภาพสะท้อนของมันในหนังฮีโร่ยุคปัจจุบันด้วย กับเรื่องราวการเผชิญหน้ากับสิ่งเลวร้าย การต่อสู้ของความถูกต้อง ยุติธรรม ความเท่าเทียม
หนังเรื่องแรกที่ดัดแปลงจากการ์ตูนฮีโร่ มาจากค่าย DC Comics เรื่อง Adventures of Captain Marvel ในปี ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ตามมาด้วย Batman ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486) ที่แสดงโดย Lewis Wilson เป็นซีรีส์จำนวน 15 ตอน ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน รวมถึงการมาของบุรุษเหล็กใน Superman ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) แสดงโดย Kirk Alyn
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Adventures of Captain Marvel ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484)
ที่มาภาพ : imdb.com
หลังจากนั้น DC ก็มีซีรีส์ที่ได้รับความนิยมสุด ๆ คือ Adventures of Superman ค.ศ. 1952-1958 (พ.ศ. 2495-2501) ที่แสดงนำโดย George Reeves เป็นภาพฮีโร่ที่ชัดและคุ้นตาที่สุดสำหรับใครหลายคน สำหรับชายผู้มีพละกำลังแข็งแกร่ง บินได้ ตาปล่อยเลเซอร์ ปากพ่นไอน้ำแข็ง และสวมผ้าคลุม นั่นคือภาพฮีโร่ที่หลายคนจดจำ
George Reeves ในบท Superman
จากซีรีส์ Adventures of Superman ค.ศ. 1952-1958 (พ.ศ. 2495-2501)
ที่มาภาพ : imdb.com
หรือจะเป็นฉบับของ Christopher Reeve ใน Superman ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521), Superman II ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524), Superman III ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526) และ Superman IV : The Quest for Peace ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530)
รวมถึงซีรีส์ Batman ค.ศ. 1966-1968 (พ.ศ. 2509-2511) ที่แสดงนำโดย Adam West ในบท Batman และ Burt Ward ในบท Robin ก็ได้กลายเป็นวัฒนธรรมป๊อป (Pop-culture) ในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ ทำให้ทั้งตัวซีรีส์และหนังสือการ์ตูนได้รับความนิยมมากว่า 2 ทศวรรษเลยทีเดียว
Adam West และ Burt Ward ในบท Batman และ Robin
จากซีรีส์ Batman ค.ศ. 1966-1968 (พ.ศ. 2509-2511)
ที่มาภาพ : imdb.com
ในขณะที่ฝั่ง DC ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ฝั่ง Marvel กลับยังไม่เป็นคู่ต่อสูที่สูสีสักเท่าไหร่ มีการ์ตูนที่ได้รับการแปลงเป็นหนังเรื่องแรกกับ Captain America ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) ที่กระแสไม่ดีเลย หรือจะเป็น Howard the Duck ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) ก็ล้มเหลวเช่นกัน
Dick Purcell ในบท Captain America จากหนัง ภาพยนตร์ Captain America ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487)
ที่มาภาพ : imdb.com
หรือจะข้ามมาทางฝั่งเอเชียกันบ้าง ที่เราจะคุ้นเคยคุ้นชินกันกับ ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน - Ultraman ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) หรือจะเป็น ไอ้มดแดงอาละวาด - Kamen Rider ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514)
ภาพจากซีรีส์ Ultraman ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509)
ที่มาภาพ : imdb.com
Kamen Rider V1 จากซีรีส์ Kamen Rider ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514)
ที่มาภาพ : https://kamenriderrecap.wordpress.com/2014/01/03/kamen-rider-x-doctor-who-kamen-rider-2-and-the-second-doctor/
หรือไทยก็มีหนังฮีโร่ชื่อดังเหมือนกันและได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ อย่างเรื่อง อินทรีแดง เป็นบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนัง Captain Lightfoot
มิตร ชัยบัญชา ในบท อินทรีแดง
ที่มาภาพ : https://th.wikipedia.org
โดยเนื้อเรื่องในอินทรีแดงก็จะสะท้อนปัญหาสังคม ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การทุจริต คอร์รัปชั่นต่าง ๆ จนได้รับความนิยมอย่างมาก จนถูกดัดแปลงเป็นหนังและละครหลายครั้ง ซึ่งครั้งแรกกับเรื่อง จ้าวนักเลง ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) โดยมีพระเอกคือ มิตร ชัยบัญชา ตัวหนังทำรายได้เกินล้านบาท ส่งให้มีภาคต่ออีกมากมายทั้ง ทับสมิงคลา ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505), อวสานอินทรีแดง ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506), ปีศาจดำ ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509), จ้าวอินทรี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) และ อินทรีทอง ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ที่เป็นเรื่องสุดท้ายที่เจ้าตัวได้แสดง เพราะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะถ่ายทำเรื่องนี้ แต่ชื่อของอินทรีแดงก็ยังถูกพูดถึงกันอยู่ทุกวันนี้
จะเห็นได้ว่าเนื้อเรื่องหนังฮีโร่หลายเรื่องในยุคนี้ บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา ขาวดำชัดเจน ความดีปะทะความชั่ว เข้าถึงง่าย กลุ่มผู้ชมก็จะเป็นเด็กเสียส่วนมาก เด็ก ๆ ติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง เรื่องราวกับพระเอกสวมชุดรัดรูปออกปราบปรามเหล่าร้าย ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ฮีโร่ในยุคนั้นส่วนมากเป็นแบบนี้แทบทั้งนั้น และนั่นก็คงจะเป็นสาเหตุหลักที่หลายคนชอบด้วยความง่ายของเรื่องราว
จำได้เลยว่าตอนเด็กที่เราดูบ่อย ๆ พ่อก็ถามว่า “ทำไมชอบดู มันสนุกหรอ พ่อดูทุกตอนมันก็เหมือนกันหมด มีปัญหา เจอตัวผู้ร้าย แปลงร่าง ตีกัน พระเอกสู้ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่สุดท้ายก็ชนะ” จบแบบนี้และวนลูปไป พอมานึก ๆ ดูตอนนี้มันก็จริง มันไม่ได้มีอะไรเลย แต่อาจจะเพราะด้วยความเป็นเด็ก เราเลยเอ็นจอยกับเรื่องแบบนี้ ที่ย่อยง่าย รวมถึงรูปลักษณ์สุดเท่ ที่พร้อมจะร้องงอแงให้พ่อแม่ซื้อของเล่นตัวเหล่านั้นให้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป หนังฮีโร่ที่เรารู้จักก็ได้มีการพัฒนาในด้านตัวละคร บท และเนื้อหาจนเปลี่ยนผ่านยุคมา
เมื่อเด็กที่ชื่นชอบหนังสือการ์ตูน หนัง ซีรีส์ แนวฮีโร่ได้เติบโตขึ้น ความที่มันจะเป็นมิติเดียว ตัวละครแบน ๆ ก็อาจจะสร้างความเอือมระอาอยู่บ้าง ดังนั้น ความเป็นฮีโร่ มันเลยปรับเปลี่ยนไปให้มันดูสมจริงและรุนแรงขึ้น !? ที่สำคัญกลุ่มคนดูก็อายุมากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งจริง ๆ แล้วหนังสือการ์ตูนสมัยก่อนก็มีความรุนแรงอยู่ไม่น้อยเลย เพราะในช่วงปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) ทางรัฐบาลอเมริกาก็ได้พยายามโทษหนังสือการ์ตูนว่ามันเป็นการปลูกฝังความรุนแรงให้เด็ก
หนังฮีโร่ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้สดใส สว่างสไว มันเริ่มสมจริงขึ้น มีพื้นฐานบนโลกมนุษย์มากขึ้น ดูจับต้องได้ และที่สำคัญรูปลักษณ์เริ่มเปลี่ยนไป มันเริ่มมีฮีโร่ที่ไม่ได้ใส่ชุดรัดรูป ไม่ได้ใส่ผ้าคลุม ที่มาพร้อมด้วยเนื้อหาที่รุนแรงขึ้น มาให้เราได้ชมกัน ในยุคนั้นมีดาราดังอย่าง Arnold Schwarzenegger และ Bruce Willis ที่เป็นพระเอกจ๋า ร่างกายกำยำ ราวกับออกมาจากหนังสือการ์ตูน แล้วใครล่ะจะต้องการฮีโร่ในชุดรัดรูปอีก ?
การมาของ RoboCop ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) ได้ก่อกำเนิดขึ้นมา กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลก Dystopian ในอนาคต เมื่อตำรวจรายหนึ่งได้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่เขาก็ได้กลับมาใหม่ในรูปแบบครึ่งคนครึ่งเครื่องจักร กลายเป็น Super-Cop ซึ่งเนื้อหาเต็มไปด้วยความรุนแรง มีฉากยิงกัน ฆ่ากัน เลือดออกให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งเต็มตา
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Robocop ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530)
ที่มาภาพ : imdb.com
ท่ามกลางความดาร์คก็ได้ก่อกำเนิด Hero Blockbusters อย่าง Batman ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) ของ Tim Burton ที่แสดงนำโดย Michael Keaton เราจะเห็นได้ว่ามันมีความเป็นหนังฮีโร่ยุคแรก แต่มันก็มีการปรับเปลี่ยนโทนของหนังให้ดาร์คขึ้น อาจจะเพราะเป็นสไตล์ของตัวผู้กำกับด้วย การดีไซน์ต่าง ๆ มันไม่ใชหนังฮีโร่เหมือนที่เราคุ้นเคยกันในยุคแรก มันคือก้าวใหม่อย่างชัดเจน มีความเป็นหนัง Neo-Noir ที่สำคัญตัวหนังถูกจัดอยู่ในเรท PG-13 ทั้ง ๆ ที่ส่วนมากก่อนหน้านี้สูงสุดก็แค่ PG เท่านั้น
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Batman ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532)
ที่มาภาพ : imdb.com
และความนิยมของหนังเรื่องนี้ ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งด้านคำวิจารณ์และรายได้บน Box-office ทำรายได้ทั่วโลกไป 411 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แค่สัปดาห์แรกเปิดตัวที่อเมริกาก็ทำรายได้ไป 40 ล้านดอลลาร์แล้ว ยุคนั้นสัญลักษณ์ค้างคาวของ Batman พบเห็นได้ทั่วไปมากพอ ๆ กับเจอป้าย Coca-Cola เลยทีเดียว กลายเป็นหนึ่งใน Pop-Cultures แห่งยุค 80 เลยก็ว่าได้
ในปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ได้มีหนัง The Crow หรือคนไทยคุ้นกันในชื่อ อีกาพญายม ปล่อยออกมา กับเรื่องราวของ Eric Draven ชายหนุ่มที่โดนฆ่าระหว่างที่จะไปช่วยเหลือแฟนสาวที่โดนกระทำชำเราจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา 1 ปีให้หลังเหตุการณ์นั้นเขาฟื้นขึ้นมาจากหลุมเพื่อล้างแค้น หนังเนื้อเรื่องสุดดาร์ค เนื้อหาสุดโหด ซึ่งเป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนอิสระเรื่องแรกที่ไม่ได้มาจากสองค่ายยักษ์อย่าง DC และ Marvel ตัวหนังได้นำความรุนแรงมาสู่สายตาผู้คนแบบที่ไม่เคยมีหนังฮีโร่เรื่องไหนทำมาก่อน เรียกได้ว่าดึงเอาความรุนแรงมาจากฉบับการ์ตูนเลยก็ว่าได้ ตัวหนังสามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ และก็ยังได้รับเสียงชื่นชมมากมายจากผู้ชม ทั้งกลุ่มที่ชื่นชมหนังสือการ์ตูนและตัวหนัง กลายเป็นหนังคัลท์สุดคลาสสิคอีกเรื่อง
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ The Crow ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537)
ที่มาภาพ : imdb.com
หรือจะเป็น Spawn ฮีโร่พันธุ์นรกในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) กับเรื่องราวของเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติการและโดนหักหลังจนทำให้เสียชีวิต แต่เขาได้ต่อรองกับปีศาจและฟื้นคืนชีพอีกครั้งในนาม Hellspawn กับภารกิจการนำเหล่าปีศาจจากขุมนรกมายึดครองโลก แต่เขาก็เป็น Anti-Hero ปราบปรามคนชั่ว ถึงแม้หนังจะไม่ปังมาก แต่ก็เป็นหนังฮีโร่แนวใหม่ ที่มีความดาร์ค เกี่ยวข้องกับนรก รูปลักษณ์ดั่งปีศาจ ซึ่งในฉบับการ์ตูนโหดกว่ากันเยอะ และก็ไม่ใช่จากค่ายใหญ่อย่าง DC กับ Marvel เช่นกัน
Spawn จากหนัง ภาพยนตร์ Spawn ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540)
ที่มาภาพ : imdb.com
ในขณะที่ DC ได้วาดลวดลายไว้ในวงการหนังไม่ใช่น้อย ทาง Marvel ก็มีความเคลื่อนไหว เพราะทาง New Line Cinema ได้ซื้อลิขสิทธิ์ขอทำหนังของตัวละคร Blade จากทาง Marvel* ปล่อยฉายในปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) และก็ประสบความสำเร็จอย่างไม่คาดคิด เป็นความสำเร็จแรกในวงการหนังของทาง Marvel เลยก็ว่าได้ กับเนื้อหาของลูกครึ่งแวมไพร์นักล่าแวมไพร์ แน่นอนว่าฆ่าเป็นฆ่า ถือเป็นฮีโร่ที่เท่และโหดไม่ใช่เล่น
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Blade ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541)
ที่มาภาพ : imdb.com
*ซึ่งการที่ Marvel ต้องขายลิขสิทธิ์ไปแบบนี้ เพราะว่าตัวค่ายเกือบล้มละลาย ไม่มีทุนในการสร้างหนัง จึงจำเป็นต้องขายตัวละครให้ค่ายอื่นไปสร้างหนังแทน (เฉพาะลิขสิทธิ์ในการสร้างหนังเท่านั้น พวกซีรีส์ การ์ตูน ของเล่นหรือสินค้าต่าง ๆ ยังเป็นของ Marvel) โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น แบ่งรายได้เป็นต้น*
หรือแม้กระทั่ง The Matrix ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) คงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหนังฮีโร่เช่นกัน แอ็คชันกันเท้าไม่ติดพื้น การสโลโมชัน การหยุดกระสุน และอื่น ๆ อีกมากมาย แถมหนังเรื่องนี้ยังเต็มไปด้วยแนวคิดล้ำ ๆ มากมายทั้ง ทฤษฏีสมคบคิดต่าง ๆ, เรื่องราวของภาษาทางคอมพิวเตอร์, การแฮก, โลกอนาคต, AI ครองโลก ไม่ใช่เพียงแค่การเตะต่อยตีกับผู้ร้ายแล้ว ที่สำคัญชุดยังเป็นแค่ชุดดำแว่นดำเท่านั้น
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ The Matrix ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542)
ที่มาภาพ : imdb.com
จะเห็นได้ว่าฮีโร่ในยุคนี้ทั้งรูปลักษณ์ภายนอก และวิธีการดำเนินเรื่องจากต่างออกไปจากยุคแรก ฮีโร่ในยุคนี้จะมีความซับซ้อนมากกว่าเดิมและมีความคลุมเครือ ฮีโร่จะไม่ขาวจัด ดำจัด จะเป็นตัวละครเทา ๆ แต่ก็ยังคงเป็นหนังฮีโร่ตามที่สู้กันระหว่างความดีและความชั่ว
21st Century Fox ก็ได้เข้าไปขอซื้อลิขสิทธิ์ X-Men มาจาก Marvel และก็ปล่อยหนังฉายออกมาภาคแรกในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกเริ่มรู้จัก Marvel ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ยุคของพวกเขาอย่างแท้จริง (ถึงแม้ลิขสิทธิ์ทำหนังจะเป็นของ Fox ก็ตาม) แถมยังถูกยกย่องว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของหนังฮีโร่ยุคใหม่
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ X-Men ค.ศ. 2000 (พ.ศ 2543)
ที่มาภาพ : imdb.com
มีการคัดเลือกนักแสดงมือเก๋า เช่น Patrick Stewart และ Ian McKellen มากกว่าจะหาพวกนักแสดงกล้ามใหญ่ในชุดรัดรูป มีเหล่านักแสดงหลักเป็นผิวขาวที่มีเสน่ห์อย่าง James Marsden, Famke Janssen, Anna Paquin แต่เขาเลือกใช้สายกล้ามเพียงหนึ่งคนเท่านั้น นั่นก็คือ Hugh Jackman ณ ตอนนั้นยังเป็นนักแสดงชาวออสเตรเลียที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมากเท่าไหร่
ทางด้านฉากแอ็คชันก็มีการใช้ CGI เข้ามาช่วยเยอะแยะมากมาย ด้วยพลังของตัวฮีโร่ แต่ถึงกระนั้นผู้กำกับอย่าง Bryan Singer ก็ไม่ได้เน้นแอ็คชันจ๋า ตัวหนังมีการสะท้อนสังคมเรื่องความแตกต่าง การยอมรับ การกดขี่และการกบฏ การต่อสู้กับรัฐบาล อยู่ในทุกภาคนับตั้งแต่ภาคแรก มีความเป็น Psychodrama มากกว่าฮีโร่แอ็คชันในยุคแรก และกลายเป็นมาตรฐานของแฟรนไชส์ชุดนี้ในภาคต่อ ๆ มา
Unbreakble ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) คือหนังฮีโร่ของคนไม่ชอบหนังฮีโร่ ฉีกขนบหนังฮีโร่ มันแทบจะทำลายโครงสร้างทุกอย่างที่หนังฮีโร่เป็น ไม่ได้มีฉากแอ็คชันโชว์เอฟเฟคอลังการ แต่ส่วนมากจะเป็นการพูดคุยหาความจริงเกี่ยวกับตนเอง จากผลงานการกับของ M. Night Shayamalan แสดงนำโดย Bruce Willis และ Samuel L. Jackson กับเรื่องราวของชายผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวโดยไร้รอยขีดข่วนจากอุบัติเหตุรถไฟ ทำให้เขาค้นพบว่าตัวเองมีพลังอะไรบางอย่าง และความสำเร็จนี้ก็ทำให้ตัวหนังมีภาคต่อจนกลายเป็นไตรภาค กับ Split ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2016) และ Glass ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) เรียกได้ว่าเป็นชุดหนังฮีโร่ที่ไม่ได้รู้สึกเหมือนว่าเป็นฮีโร่ แต่มันมีแนวคิดที่แบบ ถ้ามีฮีโร่ในชีวิตจริง ๆ คงเป็นแบบนี้แหละ
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Unbreakable ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543)
ที่มาภาพ : imdb.com
และแล้วเหตุการณ์ 9-11 ในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) ส่งผลกระทบต่อผู้คนไปทั่วโลก วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ ผู้คนต่างใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัว เกิดความแตกแยกมากขึ้น กล่าวโทษรัฐบาลบ้างอะไรบ้าง และหนังฮีโร่ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน เริ่มตั้งคำถามถึงศีลธรรม ดำเนินเรื่องด้วยความหวาดกลัวการก่อการร้าย รวมถึงมีการสะท้อนสังคมด้วย
ทางด้าน DC ได้หยิบแฟรนไชส์ Batman มา Reboot ใหม่ ในฉบับของ Christopher Nolan กับไตรภาค Batman ที่เริ่มจาก Batman Begins ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548), The Dark Knight ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551), The Dark Knight Rises ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) และอย่างที่ทุกคนคงได้ทราบกันดี ว่ามันไม่ใช่หนังฮีโร่ทั่วไปที่เด็กดูแล้วจะชอบ มันคือหนังฮีโร่ที่สะท้อนสังคม เกี่ยวข้องกับศีลธรรม ความถูกต้อง รายล้อมอยู่รอบตัวละครหลัก Batman/Bruce Wayne ที่แสดงโดย Christian Bale รวมถึงตัวร้ายที่มีมิติมากขึ้น ทั้ง Dr. Jonathan Crane/Scarecrow (Cillian Murphy), Joker (Heath Ledger), Bane (Tom Hardy) มีเหตุมีผลของการกระทำ มีจุดมุ่งหมาย มาพร้อมการแสดงที่ยอดเยี่ยม ไม่ใช่แค่ตัวร้ายเอาไว้เป็นกระสอบทรายของฮีโร่อีกแล้ว
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Batman Begins ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)
ที่มาภาพ : imdb.com
DC ก็พยายามผลักดันหนังฮีโร่เรื่องอื่น ๆ ที่มีแย่ปะปนกันไปอย่าง Catwoman ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) เรื่องนี้ก็เป็นเหตุผลนึงที่เราไม่เห็นหนังเดี่ยวของ Black Woman ถึงแม้ Halle Berry จะดูดีแค่ไหนในเรื่องนี้ก็ตาม แต่บทก็ไม่ไหวจริง ๆ นอกเหนือจากนั้นก็มี Constantine ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) เรียกได้ว่าฮีโร่นักไล่ผีก็ว่าได้, Superman Returns ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) การกลับมาของ Superman ผู้มารับบทคือ Brandon Routh ที่เนื้อเรื่องก็กลาง ๆ และที่น่าชื่นชมที่สุดในยุคนี้ของ DC คือ Watchmen ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552)
Watchmen ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) คือหนังฮีโร่สุดดาร์ค สะท้อนสังคม ถูกจัดอยู่ในเรท R เลยทีเดียว กับเรื่องราวในอเมริกาช่วงปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) ความตึงเครียดจากสงครามระหว่างอเมริกาและสหภาพโซเวียตกำลังคุกรุ่น ความวิบัติของเหล่าฮีโร่ มีความเป็นหนัง Neo-Nior ที่แปลกแหวกแนวจากเรื่องอื่น ๆ ได้อย่างน่าชื่นชม
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Watchmen ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552)
ที่มาภาพ : imdb.com
ในระหว่างนี้ Marvel พยายามสร้างแบรนด์ให้ตัวเอง (ถึงแม้จะยังไม่ใช่จาก Studio สร้างหนังของตัวเองก็ตาม) มันก็ได้ก่อกำเนิด Spider-Man ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ของค่าย Sony ผลงานการกำกับของ Sam Raimi นำแสดงโดย Tobey Maguire กับจุดเริ่มต้นการกำเนิดให้แมงมุม อย่างที่บอกว่านอกจากหนังฮีโร่แล้ว มันยังเป็นหนังแนว Coming-of-age อีกด้วย เป็นตัวละครที่หลายคนเข้าถึงง่าย ต่อติดง่าย และรู้สึกเอาใจช่วยทุกการกระทำของตัวละคร Peter Parker
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Spider-Man ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545)
ที่มาภาพ : imdb.com
ตัวหนังประสบความสำเร็จในทุกด้าน ทั้งคำวิจารณ์และรายได้ ตัวหนังทำรายได้ทั่วโลกไป 825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท นี่เป็นหนังฮีโร่ที่ได้สร้างความรู้สึกสว่างไสวสดใสให้กับผู้ชม หลังผ่านเหตุการณ์ 9/11 อันเลวร้ายที่ผ่านมา และแน่นอนความสำเร็จของมันทำให้มีภาคต่อออกมาใน Spider-Man 2 ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) และ Spider-Man 3 ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) กลายเป็นไตรภาคให้ผู้คนจดจำ ปลุกกระแสหนังฮีโร่ให้ลุกฮือ ผู้คนต่างหันมาสนใจหนังฮีโร่อย่างมากมาย
หลังจากนั้น Marvel ก็พยายามเหลือเกินกับการทำให้ตัวละครของพวกเขาเป็นที่รู้จัก ด้วยการปล่อยหนังอีกมากมาย ทั้ง Hulk ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546), Daredevil ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546), Elektra ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548), Fantastic Four ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548), Ghost Rider ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ที่อาจจะทั้งดีทั้งแย่ปะปนกันไป มีความเป็นหนังฮีโร่ยุคแรก ๆ อยู่ แต่ชาวโลกก็เริ่มเปิดรับและรู้จักเหล่าฮีโร่มากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าเหตุผลนั่นก็เพราะ Marvel
และมันก็เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่แสนสำคัญของ Marvel กับหนังอย่าง Iron Man ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ผลงานการกำกับของ Jon Favreau และแสดงนำโดย Robert Downey Jr. ในบทบาท Tony Stark ที่หลายต่อหลายคนบอกว่า RDJ ไม่ได้แสดงเป็น Tony Stark แต่ Tony Stark นั่นแหละแสดงเป็น RDJ
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Iron Man ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551)
ที่มาภาพ : imdb.com
ตัวละครฮีโร่ที่ต้องการไถ่บาป ชุบตัวจากเรื่องเลวร้าย กลายมาเป็นฮีโร่ ที่เนื้อเรื่องราวกับเขียนมาจากชีวิตจริงของตัวนักแสดง กับเรื่องราวต้นกำเนิดฮีโร่นามว่า Iron Man จากผู้สร้างอาวุธที่ทำร้ายคนทั่วโลกด้วย ให้มาสร้างอาวุธเพื่อปกป้องคนทั่วโลกแทน
ที่สำคัญนี่คือหนังที่สร้างโดย Marvel เองและแน่นอนว่าตัวหนังได้รับเสียงชื่นชมมากมาย และทำรายได้ไปถึง 585 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนรู้ว่านี่คือการวางหมากของ Marvel กับจิ๊กซอว์ชิ้นแรก ที่จะกลายเป็นจักรวาลอันยิ่งใหญ่สร้างความรู้สึกร่วมให้กับเหล่าแฟน ๆ ทั่วโลกได้มาเฝ้ารอกับก้าวแรกของ MCU (Marvel Cinematic Universe)
เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการแข่งขันที่แท้จริงของหนังฮีโร่ โดยเฉพาะสองค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Marvel และ DC กับจักรวาล MCU และ DCEU (DC Extended Universe) ที่ผลัดกันออกหนังมาแข่งกันเป็นว่าเล่น แถมหลายครั้งยังจงใจให้หนังฉายใกล้ ๆ กัน เพื่อจะกลบกระแสของอีกฝ่ายเลยทีเดียว
การเริ่มต้นจักรวาล MCU นับว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญจริง ๆ เพราะนั่นคือการทำให้ทั้งโลกต่างจับตามองการมาปรากฏบนจอเงินทุกครั้งที่หนังจากจักรวาลนี้จะเข้าฉาย
ภาพเหล่าตัวละครจากจักรวาล MCU
ที่มาภาพ : wall.alphacoders.com
ใน Phase One เราได้รู้จักกับตัวละครอื่น ๆ ในจักรวาล MCU อีกมากมาย มันถูกปูมาอย่างไม่รีบร้อน เชื่อมเรื่องราวทีละเล็กทีละน้อย ให้เรารู้จักแต่ละตัวละครในจักรวาลนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจาก Iron Man ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) เราก็ได้รู้จักกับ The Incredible Hulk ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551), สานเรื่องราวต่อใน Iron Man 2 ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553), ได้รู้จักกับ Chris Hemsworth ในนามเทพเจ้าสายฟ้า Thor ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554), ประทับใจความเท่ของ Chris Evans ในบทบาทกัปตันใน Captain America : The First Avenger ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) และปิด Phase ด้วยการรวมทีมของ Captain America, Iron Man, Hulk, Thor พร้อมตัวละครใหม่อย่าง Hawkeye ที่รับบทโดย Jeremy Renner และ Black Widow ที่รับบทโดย Scarlett Johansson ใน The Avengers ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555)
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ The Avengers ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555)
ที่มาภาพ : imdb.com
ส่วน Phase Two ก็สานต่อเรื่องราวอย่างชาญฉลาด และเปิด Phase ด้วย Iron Man 3 ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) และพาเราไปรับรู้จิ๊กซอว์ส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย ตามมาด้วย Thor : The Dark World ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556), Captain America : The Winter Soldier ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557), รู้จักกับทีมสุดเกรียน Guardians of the Galaxy ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557), Avengers : Age of Ultron ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) และมนุษย์มด Ant-Man ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558)
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Guardians of the Galaxy ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557)
ที่มาภาพ : imdb.com
สังเกตความถี่ของหนังที่ Marvel ปล่อยออกมาไหม ปีละ 1-2 เรื่องเลยทีเดียว ทั้งความมั่นใจ ความฮิตติดกระแส แฟน ๆ ต่างเรียกร้องเรื่องราวฮีโร่ในจักรวาล MCU มากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งความคาดหวังไว้มากมาย และพวกเขาก็ไม่ทำให้แฟน ๆ ผิดหวัง แถมยังสร้างเซอร์ไพรส์มาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะใน Phase Three เรียกได้ว่าเป็นจุดพีคของจักรวาลเลยก็ว่าได้
เริ่มตั้งแต่ Captain America : Civil War ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) กับการต้อนรับ Spider-Man กลับบ้านที่แสดงโดย Tom Holland, รู้จักกับพ่อมดสุดแกร่งที่แสดงโดย Benedict Cumberbatch ใน Doctor Strange ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559), ต่อเรื่องราวใน Guardians of the Galaxy Vol. 2 ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560), เปิดตัวเต็ม ๆ กับ Spider-Man : Homecoming ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560), ภาคสุดฮาสุดปั่นใน Thor : Ragnarok ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560), มหาสงครามศึกชิงอัญมณี Avengers : Infinity War ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561), รู้จักอีกโลกใน Ant-Man and the Wasp ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561), ปิดฉากมหาศึกอัญมณีในได้อย่างครบถ้วนทุกอารมณ์ Avengers : Endgame ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ที่กวาดรายได้ไปมหาศาลจนขึ้นแท่นเป็นหนังที่ทำรายได้มากที่สุดในโลกแซงหน้า Avatar (ภายหลังโดน Avatar แซงกลับหลังจากเอามาฉายใหม่) และปิด Phase ได้อย่างน่าติดตามใน Spider-Man : Far From Home ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562)
ภาพเหล่านักแสดงจากหนัง ภาพยนตร์ Avengers: Endgame ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562)
ที่มาภาพ : fanart.tv
พร้อม ๆ กันนั้นยังสนับสนุนความหลากหลายใน Phase นี้ด้วย กับการที่มีหนังฮีโร่ผิวดำคนแรกอย่าง Black Panther ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) โดยผู้กำกับอย่าง Ryan Coogler พร้อมนักแสดงนำผู้ล่วงลับอย่าง Chadwick Boseman และ Michael B. Jordan อีกทั้งยังมีหนังฮีโร่หญิงคนแรกอย่าง Captain Marvel ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ที่แสดงนำโดย Brie Larson
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Black Panther ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561)
ที่มาภาพ : imdb.com
หนึ่งสิ่งที่ Marvel ทำสำเร็จในยุคนี้นอกเหนือจาก CGI ที่ตระการตาแล้ว คือการออกแบบตัวละครให้เป็นมนุษย์ ร้องไห้ได้ เสียใจเป็น มีเจ็บ มีพ่ายแพ้ มีดีมีร้ายบ้างปะปนกันไป ทำให้หลายต่อหลายคนรู้สึกเข้าถึงความเป็นมนุษย์ของตัวละครเหล่านี้ พวกเขาสัมผัสได้ และทำให้เอาใจช่วย รวมถึงสร้างมิติให้ตัวร้ายมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น ไม่เพียงแต่คนรู้จักแค่ชื่อหนังหรือตัวละครแล้ว ทุกคนต่างรู้ว่ามันคือแบรนด์อย่าง Marvel ที่ตีตลาดได้ตรงจุด และสร้างความน่าตื่นเต้นให้แทบจะทุกครั้งที่หนังปล่อยฉาย กลายเป็นธรรมเนียมการดูหนังโรง และกลายเป็น Pop-Culture แห่งยุคเลยจริง ๆ
แต่ก็มีหนังฮีโร่ ที่เป็น Anti-Hero แปลกแหวกแนวมาจากเรื่องอื่น ๆ ของ Marvel เช่นกัน ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในการสร้างของ Marvel นั่นก็คือ Deadpool ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) และเหมือนจะเป็นข้อได้เปรียบของเรื่องนี้เสียด้วย เพราะการที่มันไม่ได้อยู่ใน Marvel มันจึงกลายเป็นหนังฮีโร่สุดเกรียน กล้าเล่น กล้าจิก กล้ากัดคนอื่นเค้าไปทั่ว จนมันสร้างความประทับใจให้แฟน ๆ มากมาย จนเกิดภาคต่อมาใน Deadpool 2 (2018) และในที่สุดมันก็ได้กลับสู่อ้อมอกของ Marvel แต่ปัญหาคือ มันจะโดนลดเรทลงไหม มันจะกลายเป็นยังไงเมื่อมาอยู่กับ Marvel ของเจ้าบ้านผู้แสนดีอย่าง Disney รอติดตามกันต่อไป
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Deadpool ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)
ที่มาภาพ : imdb.com
เหล่าตัวละครจาก DC
ที่มาภาพ : en.as.com
หลังจากที่ Marvel ตั้งตัวได้ ทำหนังด้วย Studio ของตัวเอง และกำลังก้าวไปสู่จุดยิ่งใหญ่ ทางด้าน DC ก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากัน ถึงแม้จะมีเรื่องแป้กเยอะกว่าก็ตาม ทั้ง Jonah Hex ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) หรือ Green Lantern ค.ศ. 2011 (พ.ศ 2554) ที่หลายต่อหลายคนอยากจะลืมเลือน แต่ก็มีหนังชูโรงเริ่มต้นจักรวาล DCEU อย่าง Man of Steel ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ที่ทำให้โลกติดภาพ Superman คนใหม่อย่าง Henry Cavill ไปเลย
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Henry Cavill ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556)
ที่มาภาพ : imdb.com
แต่จักรวาล DCEU ดูเหมือนจะไม่ได้สวยหรูเหมือน MCU เพราะหลังจากนั้นหลายเรื่องก็แป้กพอสมควร ไม่ว่าจะ Batman v Superman : Dawn of Justice ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) รวมถึง Suicide Squad ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) ที่นอกจากตัวละคร Harley Quinn ที่แสดงโดย Margot Robbie เอาไว้อย่างน่าชื่นชม แต่ทางด้านตัวหนังก็โดนจวกเลยทีเดียว
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Batman v Superman : Dawn of Justice ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)
ที่มาภาพ : imdb.com
ยังพอมีหนังกู้หน้าจักรวาลได้บ้างอย่าง Wonder Woman ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ที่ Gal Gadot งดงามในทุกอิริยาบทก็ดูมีแววรุ่งเหมือนกัน ตามมาด้วย Aquaman ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ที่นำโดย Jason Momoa ที่เหมาะกับบทบาทสุด ๆ ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน และ Shazam! ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ที่อาจจะดูขัดมู้ดและโทนกับเรื่องอื่น ๆ ของ DC ก็ตาม แต่ก็ดูได้เพลิน ๆ หนังเหล่านี้ยังพอทำให้จักรวาล DCEU อยู่รอดได้
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Wonder Woman ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560)
ที่มาภาพ : imdb.com
แต่ถึงกระนั้น การ “รีบเกินไป” ของ DC ที่อยากจะเทียบเคียง Avengers ของ Marvel ก็ได้ปรากฏ Justice League ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ออกมา…ผลก็กลายเป็นอย่างที่เราเห็นว่า ยับ…ถึงแม้จะมีคนดูบางส่วนชอบบ้าง แต่นักวิจารณ์ก็สับเละ ด้วยปัญหามากมายของตัวหนัง ทั้งการที่ตัวหนังไม่เคยให้เรารู้จักตัวละครอย่าง Flash, Cyborg หรือ Aquaman มาก่อน หรือแม้กระทั่ง Batman ก็ได้เห็นในหนังปะทะกับ Superman ไม่ใช่หนังเดี่ยวแต่อย่างใด รวมถึงการเปลี่ยนผู้กำกับจาก Zack Snyder เป็น Joss Whedon ก็ทำให้มีการเรียกร้องให้ปล่อยเวอร์ชัน Snyder Cut ออกมา จนแฟน ๆ ได้เห็นกันใน Zack Snyder’s Justice League (2021) ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนั้นเลยกลายเป็นว่า DCEU รีบเกินไปที่จะรวมทีมเหล่าฮีโร่ อาจเพราะเห็นว่าเริ่มต้นจักรวาลช้ากว่าทาง MCU เลยรู้สึกว่าตามหลัง ต้องรีบเร่งให้ทัน แต่ผลกลับไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบที่ Marvel ทำได้เลย
เหล่า Justice League จากหนัง ภาพยนตร์ Justice League ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560)
ที่มาภาพ : imdb.com
หรืออย่าง Birds of Prey ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ที่จุดขายเป็น Harley Quinn ที่แสดงโดย Margot Robbie แต่…ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาด หรือภาคต่อ Wonder Woman 1984 ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ก็สู้ภาคแรกไม่ได้สักอย่าง ดูโดน Marvel กลบไปอย่างเห็นได้ชัด
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์
Birds of Prey and the Fantabulous Emancipation of One Harley Quinn ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563)
ที่มาภาพ : imdb.com
แต่…พอ DC ทำหนังที่ไม่ได้อยู่ใน DCEU ออกมาอย่าง Joker ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) กลับกลายเป็นดีเฉยเลย แน่ล่ะมันไม่ใช่หนังฮีโร่ แต่มันเป็นหนังจิตวิทยาสะท้อนสังคม ที่หนังอิงมาจากตัวละครคู่ปรับตลอดกาลของ Batman ที่ Todd Phillips ถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม รวมถึงการแสดงของ Joaquin Phoenix ในบท Arthur Fleck ก็แสดงได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ส่งผลให้ตัวหนังเข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 11 สาขา จนคว้ารางวัลไปได้ 2 สาขา และเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ 4 สาขา สามารถคว้าไปได้ 2 สาขา
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Joker ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562)
ที่มาภาพ : imdb.com
หรือนี่คือจุดเปลี่ยน…
หลังจากนั้นเราได้เห็นการก้าวเข้ามาของ James Gunn ผู้เคยโลดแล่นในจักรวาล MCU มาแล้ว เขาได้รับหน้าที่มากำกับ The Suicide Squad ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) ที่เรียกได้ว่าเป็นการกู้หน้าจักรวาล DC เลยก็ว่าได้ เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ว่าการทำหนังกับ DC มีอิสระมากกว่า และเขาก็ทำสำเร็จ ตัวหนังได้รับเสียงชื่นชมมากมาย แถมยังมีซีรีส์แยกไปอย่าง Peacemaker ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ด้วย
ตัวละครจากหนัง ภาพยนตร์ The Suicide Squad ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564)
ที่มาภาพ : fanart.tv
เรามาพูดถึงหนังอีกเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในจักรวาล DCEU อย่าง The Batman ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) เรียกได้ว่ายอดเยี่ยม จากผลงานการกำกับของ Matt Reeves นำแสดงโดย Robert Pattinson มีความเป็นหนังฮีโร่ ที่เป็นแนวสืบสวนสอบสวน Film-noir นำเสนอออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม และก็ยังคงความเป็น DC ด้วยความดาร์คแบบดาร์คจริง ๆ (มึดเลยทีเดียว)
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ The Batman ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)
ที่มาภาพ : imdb.com
และล่าสุดกับ Black Adam ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ที่กลับมาในจักรวาล DCEU ที่ตอนแรกเดิมทีจะโผล่มาตั้งแต่ Shazam! แต่บทเรียนจากการรีบเกินไป เลยทำให้ทางค่ายตัดสินใจทำหนังเดี่ยวออกมาดีกว่า เรียกได้ว่าตรงจุด รู้ว่าคนดูต้องการอะไร เลยเสิร์ฟแอ็คชันมาแบบจัดเต็ม ถึงแม้เนื้อเรื่องจะเบาแค่ไหน ก็ทดแทนด้วยฉากแอ็คชันที่เพลิดเพลินจนจบเรื่อง แถมการกลับมาปรากฏตัวของ Henry Cavill ในบทบาท Superman ก็ทำให้แฟน ๆ เริ่มตื่นเต้นและอยากเห็นทิศทางของจักรวาล DCEU ต่อไปในภายภาคหน้า
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Black Adam ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)
ที่มาภาพ : imdb.com
แต่ถึงแม้ DC ช่วงหลังจะเริ่มทำได้ดีมากเพียงใด Marvel ก็ยังคงรุกตลาดหนักเช่นเดิม (หนักกว่าเดิมอีก) เริ่มเดินเครื่อง Phase Four เริ่มตั้งแต่ Black Widow ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564), Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564), Eternals ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564), Spider-Man : No Way Home ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564), Doctor Strange in the Multiverse of Madness ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565), Thor : Love and Thunder ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) และ Black Panther : Wakanda Forever ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Spider-Man: No Way Home ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564)
ที่มาภาพ : imdb.com
โดยส่วนตัวนอกจาก Spider-Man : No Way Home ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) ที่เซอร์วิสจัดเต็ม กับแนวทางหนังสยองขวัญผสมฮีโร่อย่าง Doctor Strange in the Multiverse of Madness ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่า
สังเกตไหมว่า Marvel ช่วงหลังนี้เกิดการ “ต่อไม่ติด” กับคนดูอยู่บ้าง อาจเพราะด้วยความที่สเกลมันใหญ่ขึ้น เหล่าฮีโร่มันดูห่างไกลจากเรามากขึ้น มันแตะต้องได้ยากขึ้น เริ่มไม่อยู่บนพื้นโลกกันแล้ว อย่าง Eternals ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) หรือ Thor : Love and Thunder ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) หรืออาจเพราะความที่มันซ้ำจำเจของเรื่องราวจนทำให้คนเริ่มเบื่อหนังฮีโร่ ผู้คนอาจจะเริ่มเอียนหรือเบื่อหนังฮีโร่ก็เป็นได้
ซึ่งบางครั้งไม่ใช่ว่ามันไม่ดี แต่การมาถี่ ๆ เกินไปของ Marvel กลับไม่ได้ทำให้หลายคนไม่ตื่นเต้นอย่างที่เคยอีกแล้ว เพราะมันไม่ใช่แค่หนัง ยังมีซีรีส์อีกต่างหาก หรือมันจะจริงอย่างที่ Martin Scorsese เคยกล่าวเอาไว้…
Martin Scorsese
ที่มาภาพ : t24.com.tr
Martin Scorsese ผู้กำกับมือเก๋าชื่อดัง เคยถูกสัมภาษณ์ช่วงปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ว่าเคยดูหนัง Marvel ไหม ? คำตอบที่ได้เรียกได้ว่าเป็นที่ฮือฮาเลยทีเดียว เพราะเจ้าตัวบอกเอาไว้ว่า
ผมพยายามแล้ว แต่คุณรู้ไหม แต่นั่นมันไม่ใช่ ภาพยนตร์ ด้วยซ้ำ
ด้วยความสัตย์จริงเลยนะ สิ่งที่ผมคิดว่ามันใกล้เคียงที่สุดที่พวกเขาทำ เหล่าบรรดานักแสดงที่พยายามแสดงเต็มที่ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ มันคงเป็นได้แค่สวนสนุกเท่านั้น มันไม่ใช่ภาพยนตร์ที่พยายามถ่ายทอดอารมณ์ของมนุษย์ หรือประสบการณ์ทางจิตวิทยาให้แก่มนุษย์คนอื่น
แน่นอนว่าเกิดกระแสจากทั้งฝั่งที่เห็นด้วย ว่ามันก็จริง Marvel ทำหนังออกมาก็เหมือนกันหมด ส่วนทางฝั่งไม่เห็นด้วยก็บอกมันก็แตกต่างกัน แถม Scorsese บอกเองว่าพยายามดูแต่ไม่ได้ดู แล้วจะมาตัดสินได้ยังไง นักแสดงและผู้กำกับของ Marvel ก็ออกมาโต้กลับ Scorsese มากมาย ทั้ง James Gunn, Samuel L. Jackson หรือแม้แต่ Tom Holland
แต่อย่างไรก็ตาม ทาง Marvel ก็ไม่ได้สะทกสะท้าน พวกเขายังคงเดินหน้าครองตลาดหนังฮีโร่อยู่ดี เห็นได้ชัดเลยว่านอกจากหนังแล้ว พวกเขายังลุยตลาดสตรีมมิ่ง ปล่อย Original คอนเทนท์ออกมาเพียบ
พอมีการเปิดตัว Disney+ ทาง Marvel ก็ได้การปล่อยซีรีส์ที่เกี่ยวข้องออกมามากมายทั้ง WandaVision ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564), The Falcon and the Winter Soldier ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564), Loki ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564), What If…? ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564), Hawkeye ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564), Moon Knight ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565), Ms. Marvel ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565), She-Hulk : Attorney at Law ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)
ในทางกลับกันซีรีส์จากทางฝั่ง DC ก็ค่อนข้างกร่อย ๆ เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป ไม่ได้ต่อติดกับจักรวาลเหมือนอย่าง MCU ที่จริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นข้อดีของทางฝั่ง DC เสียมากกว่า ที่ไม่มีความจำเป็นต้องไปตามไล่เก็บซีรีส์เพื่อที่จะได้เข้าใจและเข้าถึงจักรวาลเหมือนอย่างทาง Marvel เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะจ่ายค่าสมาชิกบริการสตรีมมิ่งเพื่อจะรอเนื้อหาจากทาง Marvel ไปตลอด
ซึ่งหากใครที่ติดตามทั้งสองค่าย ก็จะรับรู้ถึงการแข่งขันกันมาโดยตลอด ทั้งสองค่ายมีความแตกต่างกันชัดเจน จะเห็นได้ว่าทั้งมูดและโทนหนังจะแตกต่างกัน สำหรับใครที่ไม่รู้จักฮีโร่ตัวนั้น ๆ ไม่ต้องมีตัวเปิดเรื่องบอก ก็รู้ได้ทันทีเลยว่าหนังเรื่องนี้มาจากค่ายไหน
ความแตกต่างระหว่างผลงานจาก Marvel และ DC | |
---|---|
Marvel | DC |
|
|
หากมองกันในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คงจะบอกได้ว่า DC ดูเหมือนจะเป็นมวยรองเสียมากกว่า ด้วยความนิยมของตัวหนัง และความต่อเนื่องเชื่อมต่อจักรวาลของพวกเขาแล้ว น่าจะโดนกลบโดย Marvel แทบทั้งหมด แต่ถ้ามองย้อนกลับไปไกลกว่านั้นใครจะไปคิดว่า Marvel จะเดินมาถึงจุดนี้ได้ ในขณะที่ DC กำลังโชดช่วง Marvel ก็ค่อย ๆ วางแผนปูจักรวาลอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป จากการไล่ตาม กลายเป็นผู้นำ และครองอุตสาหกรรมหนังไปได้อย่างเฉียบคม อาจจะเพราะ Marvel ปล่อยหนังปีละ 2-4 เรื่องด้วย ขณะที่ DC จำนวนก็น้อยกว่ากับ 1-2 เรื่อง นี่ก็อาจจะเป็นส่วนนึงที่ทำให้คนหันมาสนใจหนังจากทาง Marvel มากกว่าด้วย
แต่ถ้ามองกันในปัจจุบัน ถึงแม้ Marvel จะมีผลงานมากกว่า DC ก็ตาม แต่รู้สึกว่าตอนนี้ทั้งสองค่ายเริ่มสูสี เพราะ Marvel ก็ไม่ได้มีเรื่องหนังที่ปังมากมาย แถมมันยังมาถี่จนคนเริ่มตื่นเต้นน้อยลง ในขณะเดียวกัน DC ก็เริ่มดูดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็อย่างว่า…สงครามหนังฮีโร่ มันไม่ได้มีแค่ยกเดียวจบ…
ทั้งหมดทั้งมวลหนังฮีโร่ในยุคนี้ก็มีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งแนวแบบฮีโร่ยุคแรก ๆ ฮีโร่สายดาร์ค การผสมผสานแนวอื่น ๆ เข้ามาในหนังฮีโร่ แต่ผสมผสานความใกล้เคียงกับความจริง มันไม่ใช่เพียงแต่หนังเฉพาะกลุ่มอีกแล้ว มันคือหนังที่เข้าถึงทุกคน และแต่ละเรื่องก็มีผู้ชมในแบบของมัน และที่มันได้รับความนิยมมากกว่าฮีโร่ยุคแรกอาจจะเพราะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คนเข้าถึงเนื้อหาการโฆษณาของค่ายหนังฮีโร่ได้มากขึ้น ได้เห็นตัวอย่างจากในเน็ตหรือบิลบอร์ดต่าง ๆ เป็นต้น
Sony's Spider-Man Universe
ที่มาภาพ : sony.fandom.com
ยังมีอีกหนึ่งค่าย ที่ข้องเกี่ยวกับหนังฮีโร่ของ Marvel อย่าง Sony นับตั้งแต่การซื้อลิขสิทธิ์ไปทำหนัง Spider-Man ที่กำกับโดย Sam Raimi ตามมาด้วย The Amazing Spider-Man ทั้งสองภาค
และครั้งที่การได้เห็น Spider-Man กลับมาโลดแล่นในจักรวาล MCU ก็เพราะการไม่ปังของ The Amazing Spider-Man จึงเกิดการตกลงถือลิขสิทธิ์ตัวละครนี้ร่วมกัน สิทธิ์ในการสร้างสรรค์หนัง Spider-Man ยังเป็นของ Sony อยู่ แต่ที่ทาง Marvel ยอมช่วย เพราะว่าจะได้สิทธิในการนำตัวละคร Spider-Man มาปรากฏตัวในจักรวาล MCU
เรียกได้ว่า Sony ข้องเกี่ยวกับจักรวาล Spider-Man ของ Marvel มาโดยตลอด และพวกเขาก็ได้สร้างจักรวาล Spider-Verse ขึ้นมาในรูปแบบหนัง อนิเมชัน กับเรื่อง Spider-Man : Into the Spider-Verse ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ผลปรากฏว่าได้รับความนิยมจากทั้งทางฝั่งแฟน ๆ Spider-Man รวมถึงผู้ชมที่ไม่ใช่แฟนด้วย และจากความสำเร็จนี้ก็มีภาคต่อใน Spider-Man : Across the Spider-Verse ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566)
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ อนิเมชัน Spider-Man : Into the Spider-Verse ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561)
ที่มาภาพ : imdb.com
และ Sony ก็กำลังจะเริ่มต้นจักรวาลของพวกเขาด้วยหนังอย่าง Venom ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ด้วยการเป็นหนัง Anti-hero ผสมความ Horror และ Comedy เข้าไป ซึ่งความกดดันมหาศาลได้ถาโถมหนังเรื่องนี้ เพราะความสำเร็จของมันคือตัวตัดสินชะตาจักรวาลหนังฮีโร่ในอนาคตของ Sony
Venom ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ก็ประสบความสำเร็จมากพอ จนส่งผลให้ทาง Marvel และ Sony ได้เจรจากันใหม่เกี่ยวกับการแชร์จักรวาลร่วมกันของตัวละคร Spider-Man เพราะทาง Sony ก็อยากมีจักรวาลของตัวเอง ส่วน Marvel ก็ต้องการ Spider-Man ในจักรวาล MCU เช่นกัน มีการร่วมกันทำ Spider-Man : Homecoming ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560), Spider-Man: Far From Home ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) และ Spider-Man : No Way Home ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564)
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Venom ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561)
ที่มาภาพ : imdb.com
และภายหลังก่อกำเนิดจักรวาลของ Sony ในนาม SPUMC (Sony Pictures Universe of Marvel Characters) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น SSU (Sony's Spider-Man Universe)
SSU เป็นจักรวาลของ Sony ที่จะบอกเล่าเรื่องราวตัวละครต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวของ Spider-Man ในจักรวาล MCU โดยเริ่มตั้งแต่ Venom ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ตามมาด้วย Venom : Let There Be Carnage ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2562), Morbius ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2564), Kraven the Hunter ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566), Madame Web ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567), El Muerto ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) รวมถึงซีรีส์ Silk และอีกมากมายที่ยังไม่ได้ประกาศออกมา
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ Morbius ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)
ที่มาภาพ : imdb.com
และการที่เราได้เห็น Venom มาปรากฏในช่วงฉากหลังเครดิตของ Spider-Man : No Way Home ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) ก็นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จนทำให้แฟน ๆ อยากเห็นการมาปรากฏตัวของตัวละครอื่น ๆ ทั้งในจักรวาล MCU หรือใน SSU ก็ตาม
แต่ถึงกระนั้น หนังฮีโร่เชิดหน้าชูตาของ Sony นอกจากแฟรนไชส์ Spider-Verse ที่ปังแล้วนั้น เรื่องอื่น ๆ ก็ค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ ดูได้เพลิน ๆ ไม่ได้ถูกใจนักวิจารณ์สักเท่าไหร่ ซึ่งจักรวาลนี้ก็เหมือนเป็นการส่งเสริมจักรวาล Marvel อีกทาง เพราะทาง Sony ก็ต้องแบ่งกำไรกับทาง Marvel ส่วน Marvel ก็เหมือนช่วยส่งจักรวาลนี้อยู่กลาย ๆ เหมือนกัน
หลายคนก็อาจจะเอือมกับความซ้ำจำเจของหนังฮีโร่ ของทั้ง Marvel และ DC จนอยากเบือนหน้าหนีไป เบื่อกับการนั่งรถไฟเหาะขบวนหนังฮีโร่ พวกเขาจึงเลือกฮีโร่ทางเลือก ที่ยังคงภาพที่คุ้นเคยไว้บ้าง แต่มีเนื้อหาที่แตกต่างอีกออกไป ดั่งเช่นซีรีส์ The Boys ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) และอนิเมชันซีรีส์ Invincible (ค.ศ. 2021) (พ.ศ. 2564)
เริ่มกันที่ซีรีส์ The Boys (2019) มีชื่อไทยว่า ก๊วนหนุ่มซ่าส์ ล่าซูปเปอร์ฮีโร่ นี่เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวบนโลกที่เหล่าฮีโร่ถูกควบคุมดูแลโดยองค์กร เปลือกนอกเขาคือฮีโร่ปกป้องผู้คน แต่เบื้องหลังพวกเขากลับใช้พลังในทางที่ผิด จึงเกิดกลุ่มคนธรรมดากลุ่มนึงที่เต็มไปด้วยความแค้นจากเหล่าฮีโร่ที่เคยกระทำกับพวกเขา รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อหวังจะโค่นกลุ่มฮีโร่อันดับ 1 ของโลกที่เรียกตัวเองว่า The Seven
ภาพจากซีรีส์ The Boys ค.ศ. 2019- (พ.ศ. 2562-)
ที่มาภาพ : imdb.com
นี่คือซีรีส์ที่มาพร้อมกับ เรท 18+ เต็มไปด้วยความรุนแรง ทั้งภาษา เนื้อหา ฉากการฆ่าแกงกัน ฉากทางเพศ และหลายฉากถึงกับต้องอุทานว่า “เ*ยไรเนี่ย” เราจะได้เห็นการดำเนินเรื่องที่แปลกแหวกแนวจากหนังหรือซีรีส์ฮีโร่เรื่องอื่น ๆ ที่ได้ดูมา เมื่อฮีโร่ไม่ใช่พระเอก กลับเป็นกลุ่มคนบ้าพลังที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด เต็มไปด้วยเบื้องหลังสุดโสมม และกลุ่มคนธรรมดาจะหาทางจัดการพวกเขายังไง มันสนุกตรงนี้นี่แหละ เรียกได้ว่าเป็นการหลีกหนีความเอียนจากหนังฮีโร่ DC กับ Marvel ได้ดีเลยทีเดียว
ส่วนอีกเรื่องซีรีส์ Invincible ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) บอกเล่าเรื่องราวของวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีพ่อเป็นยอดมนุษย์สุดทรงพลังอันดับหนึ่งของโลก เขาจะต้องมารับช่วงต่อความยิ่งใหญ่นี้ แต่มันไม่ง่ายแบบนั้น เขาต้องแบกรับภาระพร้อมความรับผิดชอบอันหนักอึ้งไว้บนบ่า
ฉากจากซีรีส์ Invincible ค.ศ. 2021- (พ.ศ. 2564-)
ที่มาภาพ : imdb.com
เนื้อเรื่องอาจไม่มีอะไรและดูไม่แตกต่างเท่าไหร่ แต่มันเป็นอนิเมชันซีรีส์ที่มาพ่วงมาด้วยเรท 18+ ด้วยเนื้อหาและภาพความรุนแรงสุดโหด ดิบ เถื่อน เลือดนี่กระฉูด ควักไส้ ควักพุงกันเลยทีเดียว ถึงแม้เนื้อหามันจะเป็น coming-of-age แต่บทมันเข้มข้น และน่าติดตามจริง ๆ
อย่างที่ได้บอกไปว่าทางฝั่งไทยก็มีฮีโร่เป็นของตัวเองไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะฝั่งละครทางทีวี
Crystal Knight เป็นโปรเจคละครทีวีของน้าต๋อย เซมเบ้ ที่เป็นการเติมเต็ทความฝันตัวเองอยากสร้างอะไรของตัวเอง อยากมีขบวนการ 5 สีของไทย เลยเอาเงินที่ได้จากการทำงานไปลงทุนประมาณ 15 ล้าน ทุ่มทุนด้วยการไปเรียนวิชากังฟูจริง ๆ มาฝึกให้นักดแสดงที่จะมาแสดงในเรื่องนี้ ทำโครงเรื่อง หาที่ถ่ายทำ ออกไปถ่าย เรื่องราวของผู้สร้างเกมที่ดันทำให้ปีศาจในเกมหลุดมาในชีวิตจริง เขาจึงต้องตามหาผู้กล้าทั้ง 5 เพื่อมาเป็นนักรบแห่งแสงสว่าง Crystal Knight
ฉากเปิด Crystal Knight
สปอร์ตเรนเจอร์ ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากขบวนการเซ็นไต เป็นกลุ่มฮีโร่ที่มีความสามารถด้านกีฬา ทั้งมวย, ฟุตบอล, ว่ายน้ำ, ยิมนาสติก, เทนนิส เวลาแปลงร่างก็จะเอ่ยคำว่า Sport Charge Up Change!
ขบวนการสปอร์ตเรนเจอร์ ภาค1 ตอนที่ 1-3
“มาแล้วววว ลูกผู้ชายพันธุ์ดี ฮีโร่ฮีโร่” ลูกผู้ชายพันธุ์ดี ค.ศ. 2014-2015 (พ.ศ. 2557-2558) เรื่องราวของอดีตนายตำรวจออกปราบปรามคนชั่วด้วยพลังของตะกรุด
เพลงลูกผู้ชายพันธุ์ดี ซีซั่น 3
และยังมีละครแนว ๆ นี้อีกมากมาย ทั้ง นรสิงห์ ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549), คมแฝก ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551), นักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553), ลูกผู้ชายไม้ตะพด ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555), ยอดมนุษย์ดาบเทวดา ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558), นักสู้สะท้านฟ้า ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561)
และไม่ใช่แค่ละครเท่านั้น หนังแนวฮีโร่ของไทยก็มีเหมือนกัน อย่าง มนุษย์เหล็กไหล ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ฮีโร่ที่ได้พลังมาจากเหล็กไหลที่หล่อหลอมกับเลือดเนื้อ หรืออย่าง ขุนพันธ์ ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) หนังอิงประวัติศาสตร์กับเรื่องราวของนายตำรวจขุนพันธรักษ์ราชเดช มือปราบจอมขมังเวทย์ที่ออกปราบปรามเหล่าร้าย ในภาคแรกอาจจะยังไม่ชัดถึงความเป็นฮีโร่เท่าไหร่ แต่ภาคสองในปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) นี่มันหนังฮีโร่ชัด ๆ ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่ามันก็เท่ไม่ใช่เล่น แถมกำลังจะมีภาค 3 มาให้เราติดตามกันอีก
ภาพจากหนัง ภาพยนตร์ ขุนพันธ์ 3 ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566)
ที่มาภาพ : สหมงคลฟิล์ม
อย่างหนึ่งฮีโร่ไทยไม่ประสบความสำเร็จก็คงเถียงไม่ออกจริง ๆ ว่าคนไทยชอบดูถูกกันเอง ดีไม่ดีแค่เห็นหน้าตาก็ตัดสินกันไปก่อนแล้วว่ามันแย่ไม่น่าดู ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันได้ดูด้วยซ้ำ เวลาเพจหนังโพสโปรโมทหนังไทยทีไร ก็มักจะเห็นกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเข้าไปแซะไปแขวะไปต่อว่าทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ดูด้วยซ้ำ คืออยากให้ลองเปิดใจ ลองไปดูมันเสียก่อน ชอบหรือไม่ชอบยังไง ค่อยมาว่ากันอีกที เราก็จะได้พูดได้เต็มปาก ติได้ตรงจุดว่าเราชอบหรือไม่ชอบเพราะอะไรกันแน่
ไม่ว่าจะยุคใดก็ตาม เราจะเห็นหนังฮีโร่มาโดยตลอด ถึงแม้จะมีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป วิธีการดำเนินเรื่องที่แปลกใหม่ รูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป หรือกลุ่มคนดูที่วนเวียนเปลี่ยนไปตลอดหลายรุ่น ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ทุกเพศทุกวัย และเป็นเรื่องน่ายินดีที่หนังฮีโร่มันไม่ใช่ "หนังปัญญาอ่อน" ที่คนชื่นชอบหนังแนวนี้มักจะถูกแซะเวลาบอกใครต่อใครว่าไปดูหนังแนวนี้ในเมื่อก่อน ตอนนี้มันกลายเป็นเนื้อหาสุดฮิตแนวนึงที่ให้อะไรกับเราหลายอย่างมากกว่าที่เราคิด
ฮีโร่ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ฮีโร่ช่วยเหลือทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และฮีโร่ก็ไม่จำเป็นต้องสวมผ้าคลุมเสมอไป เพียงแค่คุณช่วยเหลือมนุษย์ผู้ร่วมโลกคนอื่น คุณก็เป็นฮีโร่ในใจของใครได้เหมือนกัน
นั่นแหละคือจุดประสงค์หลักของหนังฮีโร่
บางคนอาจจะบอกว่า "หนังฮีโร่ตายแล้ว"…แต่ผมว่าไม่หรอกครับ จริง ๆ ความเป็นหนังฮีโร่มันแทบจะมีอยู่ในทุกเรื่องแหละ ถึงแม้โลกจะเปลี่ยนหนังซูเปอร์ฮีโร่ไปมากมายแค่ไหน แต่มันก็ไม่เคยพรากฮีโร่ไปจากเราได้เลย
|
สบายสบายให้มันสมายเวลาสบายแล้วจะได้สบายสมาย... :) |