(ขอบคุณรูปภาพจาก : uxdesign.cc)
เพื่อนๆ เคยสังเกตกันไหม? ว่าปุ่มทั้งสองนี้ต่างกันยังไง พอดูดีๆ ปุ่มโทรศัพท์และเครื่องคิดเลขมันเรียงไม่เหมือนกันนะ บนโทรศัพท์จะเรียง 1-2-3 จากบนลงล่าง และเครื่องคิดเลขจะเริ่มจาก 7-8-9 แทน พอรู้แล้วก็อดสงสัยไม่ได้เลยไปค้นหาข้อมูลดูเพิ่มเติม
และแล้วก็พบว่า.. มันมีทฤษฏีบางอย่างที่พอจะรองรับได้แต่ ไม่มีเหตุผลอะไรที่แน่ชัด ว่าทำไมแป้นทั้งสองถึงแตกต่างกัน ถ้าเป็นอย่างนั้น เพื่อนๆ ลองมาดูทฤษฏีที่ว่าสัก 3 ตัวอย่าง ว่าตกลงแล้วมันแตกต่างกันเพราะอะไรไปดูพร้อมๆ กันเลย
ทฤษฏีแรกที่จะนำมาอ้างอิงนั้นมาจากการออกแบบ Layout ของโทรศัพท์แบบโบราณ (Rotary Telephone) ซึ่งบนปุ่มกดแบบหมุนของโทรศัพท์สมัยนั้น จะเรียงจากเลข 1 บนมุมขวาก่อน และเลข 0 ด้านล่าง พอมาถึงการออกแบบปุ่มกดแบบมีเสียง (Touch-tone) สมัยใหม่ ถ้าจะให้เอาเลข 1 ไปไว้มุมขวาสุดก็คงไม่เข้าท่าเท่าไหร่ นั่นก็เพราะ "การอ่านแบบตะวันตกจะอ่านจากซ้ายไปขวา" ทำให้การจัดวางเลขเริ่มจากบนซ้ายไปขวาสุดเรียงลงมาดูจะเมคเซ้นส์กว่า เพราะมันอ่านง่ายซึ่งคนไทยเราก็อ่านแบบนั้นเช่นกัน
ทฤษฏีที่สองว่ากันด้วยเรื่องการออกแบบแผงวงจร (Circuit) และการจำเสียงบนฮาร์ดแวร์ (Tone-Recognition Hardware) สมัยนั้น ประมาณปลายปี 1950 นั้นนักออกแบบเครื่องคิดเลขได้เปิดตัวปุ่มกดที่เรียงเลข 7 8 และ 9 ไว้แถวบนสุด ก่อนที่ ปุ่มกดโทรศัพทแบบมีเสียง (Touch-Tone Telephone) จะถูกออกแบบตามมาในภายหลัง
ผู้เชี่ยวชาญการกรอกข้อมูล หรือ ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ที่ใช้เครื่องคิดเลขอยู่เป็นประจำ พวกเขาใช้งานปุ่มกดได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งปุ่มกดแบบนั้นมันเหมาะสำหรับเครื่องคิดเลขแต่มันไม่เหมาะกับปุ่มกดแบบมีเสียงบนโทรศัพท์เอาเสียเลย นั่นก็เพราะว่า เทคโนโลยีการจดจำเสียงปุ่มบนโทรศัพท์ในสมัยนั้น ยังทำงานได้ไม่เร็ว พอมีผู้ใช้งานที่กดปุ่มเร็วเกินไป ตัวเครื่องจึงไม่สามารถทำงานได้ทัน
นั่นก็เป็นเหตุผลให้นักออกแบบโทรศัพท์คิดค้นวิธีทำให้คนกดปุ่มได้ช้าลง พวกเขาก็เลยสลับปุ่มโทรศัพท์ให้ต่างจากเครื่องคิดเลข การกดปุ่มก็เลยช้าลงตาม ก็ดูเหมือนว่ามีเหตุผลอยู่นิดหน่อยเหมือนกัน กดเร็วนัก ก็ทำให้สับสนจนกดช้าซะเลย
และทฤษฏีสุดท้ายนี้ที่จะมานำเสนอ ดูจะมีเหตุผลซะมากกว่า เพราะมันอ้างอิงจากการทดลองใช้งานปุ่มหลายรูปแบบที่ได้ถูกสร้างขึ้น โดยมันเกิดขึ้นที่ Bell Labs ในปี 1960 ปีนั้น มีการทดลองว่าการจัดเรียง Layout ปุ่มกดโทรศัพท์รูปแบบใดมันใช้งานได้ง่ายที่สุด ซึ่งพวกเขาทดลองปุ่มกดบนโทรศัพท์หลายรูปแบบมาก จนตอนท้ายก็ได้ผลสรุปที่ใช้งานได้ดีที่สุดดังนี้
Layout แบบ 5 – 5 (5 ต่อ 5 จัดสองแถว แนวตั้ง)
Layout แบบ 3 x 3 + 1 (เรียง 3 คูณ 3 บวกปุ่มแยกอีก 1)
Layout แบบ 3 x 3 + 1 (แบบจัดเรียงใหม่)
ซึ่งเหตุผลหลักๆ จากทฤษฏีต่างๆ ของความแตกต่างที่เราได้พูดถึงกัน สรุปได้ง่ายๆ เป็นสองแบบนั่นก็คือ
ปุ่มบนโทรศัพท์ – ง่ายต่อการอ่าน ลดการกดที่ผิดพลาด"
และ
ปุ่มบนเครื่องคิดเลข –เหมาะกับการป้อนข้อมูลได้เร็ว ใช้เลขคล่องตัวกว่า"
จนกลายเป็นการออกแบบที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ และที่เราเห็นกันง่ายๆ เลยก็จะเป็นตู้กดเงิน ATM ที่ใช้การเรียงปุ่มรูปแบบเดียวกับปุ่มบนโทรศัพท์ (ผู้เขียนก็เพิ่งจะสังเกตเหมือนกัน)
แล้วเพื่อนๆ ชาวหมีของเราคิดว่าเพราะอะไร? มันสมเหตุสมผลไหม ลองมาแชร์เล่าให้ฟังกันได้นะ
|
It was just an ordinary day. |