บ่อยครั้งที่การค้นหาข้อมูลบนเสิร์ชเอนจินต่างๆ (เช่น Google) ในปัจจุบัน เว็บที่ติดหน้าแรกไม่ใช่เว็บไซต์ บล็อกหรือเว็บบอร์ดที่ไหน แต่กลับกลายเป็นแพลตฟอร์มโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์หรือแม้กระทั่งยูทูป ซึ่งก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่า ข้อมูลหรือคำตอบส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ได้ย้ายไปอยู่บนโซเชียลกัน แต่ถ้าจะให้เสิร์ชเอนจินที่ใช้งานกันปกติล้วงลึกไปถึงโซเชียลก็ยังไม่มีฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์เท่าไหร่ แต่มีเครื่องมือค้นหาอยู่ตัวหนึ่ง ที่เราสามารถล้วงลึกข้อมูลต่างๆ ในโซเชียลได้ รวมทั้งตอบโจทย์กับสายงานการตลาดดิจิทัลในปัจจุบันเป็นอย่างมาก นั่นก็คือเสิร์ชเอนจินที่ชื่อว่า Zanroo Search
Zanroo Search เป็นเครื่องมือเสิร์ชเอนจินสัญชาติไทยบนเว็บไซต์ zanroo.com ที่ให้บริการทางด้านการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต แต่สิ่งที่ทำให้ Zanroo Search มีความแตกต่างจากเสิร์ชเอนจินเจ้าอื่นๆ ในตลาด ก็เป็นเพราะว่า ข้อมูลที่ทาง Zanroo Search ทำการค้นหา เป็นข้อมูลบนโซเชียล ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลหลักบนโลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ที่มีการอัปเดตอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ลองมาดูกันว่า Zanroo Search หน้าตาเป็นอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง และมีอะไรที่น่าสนใจ
บนเสิร์ชเอนจินอื่นๆ เราอาจจะคุ้นเคยกับหมวดหมู่การค้นหาอย่าง รูปภาพ วิดีโอ ข่าว หรือใน Google Search จะมีเพิ่มหมวดแผนที่ เที่ยวบิน หนังสือ ฯลฯ เข้ามา แต่สำหรับ Zanroo Search จะแยกหมวดหมู่การค้นหาออกเป็นโซเชียลช่องทางต่างๆ ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter, YouTube ไปจนถึง Forum และ Blog ต่างๆ ซึ่งเป็นการเจาะการหาข้อมูลไปทางโซเชียลอย่างชัดเจน
ในหน้าการค้นหา มีไอคอนที่แสดงว่าแหล่งข้อมูลมาจากโซเชียลใดอย่างชัดเจน
เราสามารถเลือกฟิลเตอร์ให้สามารถดูเฉพาะ Topics หรือ Comments ได้ สะดวกต่อการทำงานอยู่ไม่น้อย
อยากตามเทรนด์ง่ายๆ ตัวเสิร์ชเอนจินก็มี Zanroo Trends ให้บริการ ที่เราสามารถติดตามเทรนด์ได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ Top10 ของทั้ง Twitter, Facebook, #Hashtag (ของทั้ง Facebook และ Twitter), Webboard หรือข่าวสารต่างๆ หรือจะดูรวมๆ แบบ Overall ก็ได้
Zanroo Trends แยกตามหมวดหมู่ต่างๆ
แต่ละเทรนด์จะมีการอัปเดตอันดับขึ้น-ลง หรือเทรนด์ใหม่ให้ด้วย ซึ่งไม่ได้อัปเดตแบบเรียลไทม์ตลอดเวลา แต่ก็มีการอัปเดตสม่ำเสมอ (เห็นตั้งแต่ไม่กี่นาทีไปถึง 1-2 ชั่วโมง)
ถ้าเรามีการค้นหาคีย์เวิร์ดหนึ่งๆ เป็นประจำอยู่แล้ว เช่น การทำตลาดให้แบรนด์ หรือติดตามศิลปิน ก็สามารถติดดาว (Follow) ให้กับคีย์เวิร์ดนั้นๆ ให้สามารถเรียกใช้ง่ายๆ ได้ แต่ต้องเข้าสู่ระบบก่อน จะใช้อีเมล เฟสบุ๊ค หรือบัญชีกูเกิ้ลก็ได้ ซึ่งเมื่อตั้ง Follow แล้ว คีย์เวิร์ดนั้นก็จะถูกแสดงไว้ใต้ช่องค้นหา
แต่ในเวอร์ชันฟรี จะสามารถติดตามได้แค่คีย์เวิร์ดเดียว ถ้าอยากติดตามมากกว่านั้น ต้องสมัครแพ็คเกจระดับสูงเพื่อใช้งานเพิ่มเติม
นอกจากการแสดงข้อมูลค้นหาตามช่องทางต่างๆ แล้ว เราสามารถเช็คข้อมูลการค้นหาเป็นตัวเลขได้ในเมนู Analyse โดยจะบอกถึงการมีส่วนร่วมต่อคีย์เวิรืดนั้นๆ ว่ามีข้อความเกี่ยวกับคีย์เวิร์ดในแต่ละโซเชียลมากน้อยแค่ไหน หรือมียอด Engagement มากแค่ไหน
ซึ่งจะมีหลายๆ ฟีเจอร์ที่ให้ข้อมูลละเอียดขึ้นถูกล็อกเอาไว้สำหรับแพ็คเกจสมาชิกระดับ Advanced ที่มีให้เลือกใช้งานทั้งรายเดือนและรายปี
ในส่วนของ Top 5 Most Engagement มีปุ่มฟิลเตอร์ให้เลือกเปิด/ปิดได้ ว่าจะดูข้อมูลอันดับในช่องทางไหนบ้าง?
นอกจากแพ็คเกจฟรีที่มีฟีเจอร์ตามที่กล่าวมาด้านบนแล้ว หากต้องการฟีเจอร์ใช้งานระดับสูง หรือที่มากกว่าเวอร์ชันฟรี ก็จะมีแพ็คเกจสมาชิกให้เลือกใช้งาน ซึ่งแบ่งออกเป็น แพ็คเกจ Advance รายเดือนและรายปี ซึ่งจะทำให้ฟีเจอร์อย่างการ Follow หรือ Analyze สามารถทำงานได้มากขึ้นและละเอียดขึ้น
เมื่ออัปเกรดแพ็คเกจแล้ว จากที่ Follow ได้เพียงคีย์เวิร์ดเดียว ก็จะสามารถติดตามได้มากขึ้นถึง 15 คีย์เวิร์ดด้วยกัน ซึ่งก็ทำให้สามารถใช้งานกับหลายๆ โปรเจคได้ รวมทั้งมีคีย์เวิร์ดที่ครอบคลุมเรื่องหนึ่งๆ ที่ติดตามได้มากขึ้น
ไม่เพียงแค่ติดตามคีย์เวิร์ดได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ในส่วนเมนู Analyse ก็สามารถดูข้อมูลที่ละเอียดและหลากหลายมากขึ้นอีกด้วย
ในเวอร์ชันฟรี Trend Line จะดูได้เพียงผลรวมของทุกแชนแนล แต่ในแพ็คเกจ Advanced จะสามารถดูเส้นกราฟแยกตามช่องทางต่างๆ ได้ด้วย
ไม่เพียงแค่ดูได้ว่าเทรนด์นั้นๆ ได้รับความสนใจมากน้อยแค่ไหน แต่ยังสามารถจำแนกออกไปอีกได้ว่า ผู้คนมีการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนั้นๆ ในช่องทางต่างๆ ไปในทางบวกหรือลบมากแค่ไหน (Sentiment) หรือมีการตอบโต้อะไรบ้าง (Engagement)
จำแนกข้อมูล ด้านบวก/เป็นกลาง/ด้านลบ เป็นตัวเลขชัดเจน
สามารถดูการตอบโต้รูปแบบต่างๆ จากช่องทางต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความรู้สึก คอมเม้น แชร์ ฯลฯ (แน่นอนว่าดูแยกแต่ละช่องทางได้)
ไม่เพียงแค่ข้อมูลในเชิงปริมาณเท่านั้น เราสามารถดูช่วงเวลาการโพสต์ของข้อมูลที่เราค้นหาได้ ว่าผู้ใช้งานแต่ละท่านได้โพสต์เทรนด์ดังกล่าวในช่วงเวลาไหน ใครลำดับก่อน-หลัง เรียงให้เห็นกันชัดๆ เลย
เรียงเป็นเส้นไทม์ไลน์ให้เห็นลำดับก่อน-หลังชัดๆ
หรือจะดูเป็น Heat map จำแนกตามช่วงเวลาความฮอตของเทรนด์นั้นๆ ก็ได้
หากต้องการดูข้อมูลเฉพาะ Influrencer ก็มีแถบที่แสดงข้อมูลเฉพาะโพสต์จาก Influrencer ให้ใช้งานอยู่
ถ้าต้องการเปรียบเทียบกับข้อมูลอื่นๆ หรือคู่แข่งต่างๆ ก็สามารถเพิ่มคีย์เวิร์ดเพื่อทำการเปรียบเทียบกันในมุมต่างๆ ได้ โดยสามารถเปรียบเทียบได้สูงสุด 3 คีย์เวิร์ดด้วยกัน
ไม่เพียงแค่ข้อมูลล่าสุดในปัจจุบัน แต่เราสามารถเก็บข้อมูลย้อนหลังได้ด้วยการตั้งช่วงเวลาที่ต้องการ โดยสามารถตั้งเวลาที่ละเอียดสุดไปจนถึงระดับวินาทีได้เลย
จริงๆ แล้ว Zanroo Search เป็นเครื่องมือค้นหาที่เริ่มเปิดให้ใช้งานไปเมื่อต้นปี 2019 และก็ได้มีการอัปเดตปรับปรุงการใช้งานอยู่เรื่อยๆ (ระหว่างที่เรานั่งทำรีวิว ก็ยังมีการอัปเดตทั้งหน้าตาและฟีเจอร์ใหม่อยู่เรื่อยๆ) ซึ่งเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ก็ได้มีการปรับโฉมใหม่เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกขึ้นอยู่ ซึ่งเราก็อยากให้เพื่อนๆ ได้ลองใช้งานกันดู ไม่ว่าจะคนทั่วไปหรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับตลาดบนโซเชียล น่าจะสนุกกับการทำงานขึ้นอีกไม่น้อย
|
... |