ปีที่แล้วการเปิดตัวของสมาร์ทโฟนจอพับของแบรนด์ต่างๆ เป็นการสร้างปรากฏการณ์ที่ถือเป็นยุคบุกเบิก 'The Next Gen' ของสมาร์ทโฟนเลยก็ว่าได้ แต่ไม่ทันไรก็ทยอยประสบชะตากรรมเดียวกันคือปัญหาคุณภาพที่ทำให้ต้องเลื่อนวันวางจำหน่ายออกไปแถว แม้จะมีความไม่พอใจของแฟนๆ แต่ทุกคนก็เข้าใจว่าการที่จะผลิตโทรศัพท์ที่ซับซ้อนขนาดนี้ออกมา อุตสาหกรรรมคงต้องการเวลาในการเรียนรู้มากมายจากความผิดพลาด ประชาชนจึงพอที่จะให้อภัยได้ แต่สำหรับปีนี้แล้วหากมีการเลื่อนอีก ผู้ผลิตก็น่าจะรู้ว่าจะไม่มีโอกาสที่ 3 อีกต่อไปแล้ว
นั่นเป็นเหตุผลว่าปี 2020 ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงปัจจัยใดบ้างมาเป็นแนวทางในการสร้างความสำเร็จให้กับสมาร์ทโฟนจอพับของตน ขณะที่ผู้ซื้ออย่างเราจะมองเห็นคุณสมบัติใดที่คุ้มค่า และตัดสินใจเลือกซื้อมาใช้
คนส่วนมากกังวลเรื่องความทนทาน เพราะสมาร์ทโฟนจอพับนั้นอาจบอบบาง และเกิดความเสียหายได้ง่าย จากสิ่งรอบตัวเช่น เล็บมือ การถูกน้ำเข้า ฝุ่นเกาะ หรือการตกกระแทก
ซึ่งสำคัญที่สุดคือหน้าจอ ขณะที่ Motorola Razr นั้นเลือกใช้หน้าจอพลาสติกแทนกระจก และเคลือบผิวให้หนาอีกชั้นเพื่อช่วยในการป้องกันความเสียหาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องพิสูจน์ดูกันอีกทีว่าจะได้เรื่องหรือไม่ หลังวางจำหน่ายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์
อีกฝั่งของค่ายสัญชาติเกาหลี Samsung Galaxy Z Flip (ชื่อรุ่นใหม่ของ Samsung Galaxy Fold) ที่กำลังจะวางจำหน่าย 14 กุมภาพันธ์นี้ เราก็จะได้เห็นหน้าจอของ Galaxy Z Flip ที่ใช้นวัตกรรมกระจกยืดหยุ่นงอได้ ส่วนอีกบริษัท (iPhone) ก็เหมือนจะมีอะไรที่ล้ำกว่าอย่าง กระจกเพชรซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความยึดหยุ่นและทนทานได้อย่างดี
นอกเหนือจากหน้าจอที่ต้องทนทานแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจคือช่วงข้อต่อรอยพับ เพราะหากโทรศัพท์ราคาแพงที่คุณซื้อมา ปิดช่วงรอยต่อนั้นไม่ดีจนมีฝุ่นเข้าไปอุดตัน หรือโดนน้ำเข้าและเจ๊งทันที มันก็จะเป็นปัญหาแน่นอน และปัญหานี้ก็ยังเป็นเหตุผลที่ Galaxy Fold ต้องถูกชะลอการขายออกไปหลายเดือนและทำการออกแบบใหม่ทั้งหมด
ซึ่งเมื่อพูดถึงการพับเก็บหน้าจอแล้ว คำถามก็คือมันจะส่งผลกระทบกับจอโทรศัพท์เมื่อใช้งานไปนานๆ หรือไม่ ดังนั้นสำหรับเรื่องนี้ ผู้ผลิตก็ควรจะออกแบบบานพับที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องหน้าจอมีรอยร้าว หรือมีรอยย่น เป็นต้น
จากสมาร์ทโฟนที่เราเคยเห็นเป็นจอใหญ่จอเดียว ตอนนี้เราจะได้เห็นสมาร์ทโฟน 2 จอแล้ว นั่นหมายความการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ก็ควรจะมีลูกเล่นและบทบาทใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นเข้ามาทำให้ผู้ซื้ออย่างเราสะดวกสบายในการใช้งานมากกว่าโทรศัพท์ทั่วไป
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ สมาร์ทโฟนจอพับของ TCL ที่ทำได้เหมือนแล็ปท็อปเครื่องจิ๋วเครื่องหนึ่ง ที่เมื่อเราเปิดหน้าจอจับตั้งขึ้น ด้านบนก็จะเป็นหน้าจอแสดงผลแอปพลิเคชัน ขณะที่ด้านล่างจะเป็นแป้นคีย์บอร์ด หรือ ปุ่มกดเกม ซึ่งหากแอปพลิเคชันต่างๆ มีลูกเล่นมากและทำให้มันสมูทได้ ก็จะสร้างความพึงพอใจได้มากกับผู้ซื้อ
บางรุ่นที่ขนาดเครื่องเล็กเมื่อแบ่งเป็น 2 หน้าจอ ส่วนที่ใช้พิมพ์ข้อความหรือแป้นพิมพ์นั้นจะเล็กจนน่าหงุดหงิด ซึ่งหากมาทบทวนดูแล้วจะเป็นการดีที่สุดหากเราซื้อเครื่องที่มีขนาดเล็กมาใช้ดูยูทูป หรือเล่นโซเชียลเท่านั้น ตัวอย่างเช่น Motorola Razr ที่มีหน้าจออีกส่วน แค่ 2.7 นิ้วซึ่งเอาไว้ใช้สำหรับดูข้อความและส่งข้อความง่ายๆ ดังนั้นอีกปัจจัยที่เราควรดูคือขนาดหน้าจอที่เหมาะสมกับการใช้งาน
นอกจากคุณภาพของหน้าจอและกล้อง แบตเตอรี่ก็ยังเป็นคุณสมบัติ 1 ใน 3 อันดับแรกที่ผู้ซื้อให้ความสำคัญปัญหาก็คือสมาร์ทโฟนรุ่นก่อนหน้านี้มีแบตเตอรี่ก้อนใหญ่พิเศษที่ช่วยเพิ่มอายุการใช้งาน แต่สำหรับรุ่นพับได้นั้นจะแตกต่างกันออกไป เพราะใช้เพียงแบตฯ เล็กๆ สองก้อนแยกไว้สำหรับสองหน้าจอ
ซึ่งประสิทธิภาพยังไม่เท่ากับแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ก้อนเดียว อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ผู้ผลิตก็ควรจะหาวิธีทำให้มันใช้งานได้นานมากขึ้นเพราะไม่อย่างนั้นแล้วหากลูกค้าต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อต่ออายุการใช้งาน อาจจะไม่เป็นผลดีกับบริษัทในระยะยาว
นอกจากประสิทธิภาพ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือเรื่องราคาที่แพงเกินไป เพราะขนาด Motorola Razr ที่เล็กและเรียบง่ายที่สุดยังมีราคาตั้ง 1,500 ดอลลาร์ (ประมาณ 46,000 บาท) ดังนั้นผู้บริโภคบางคนอาจไม่สนใจจะซื้อตอนวางจำหน่ายแรกๆ แต่อาจจะรอให้ราคาตกก่อนค่อยซื้อ ซึ่งหากเราเห็นสมาร์ทโฟนจอพับที่มีราคาต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์ลงไป (ประมาณ 30,000 บาท) ก็คงจะดีไม่ใช่น้อยที่จะตัดสินใจซื้อ
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |