เคยนึกสงสัยไหมว่า เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) ยอดฮิตที่เรารู้จัก เช่น โปรแกรม Google Chrome, โปรแกรม Safari, โปรแกรม Microsoft Edge, โปรแกรม Moziila Firefox และ โปรแกรม Internet Explorer (IE) ใครเป็นผู้นำตลาดที่แท้จริง และ แต่ละเจ้าได้รับความนิยมเท่าไหร่เมื่อวัดจากส่วนแบ่งการตลาดในระดับโลก (Global Market Share)
บทความนี้เราได้นำข้อมูลจาก เว็บไซต์ Statcounter.com มาเปิดเผยความนิยมและจัดอันดับเว็บเบราว์เซอร์ ท็อป 9 ในปัจจุบันกันครับ
ตำนานที่ยังคงอยู่ (แต่ร่อแร่) หลังจากถูก Microsoft ลอยแพแล้ว ลอยแพอีก ด้วยการประกาศย้ำว่าจะเลิกสนับสนุน อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) เรียกว่าเป็นการปิดฉากจริง ๆ ของเว็บเบราว์เซอร์ที่เคยอยู่จุดสูงสุดในวงการ
โดย เว็บเบราว์เซอร์ Internet Explorer (IE) ที่ทุกวันนี้ก็ไม่ค่อยจะมีคนใช้งานอยู่แล้ว เนื่องจากความย่ำแย่ของตัวโปรแกรมที่ Microsoft เองก็รู้ดี ถึงได้หันไปเน้นพัฒนาอะไรใหม่ ๆ อย่าง โปรแกรม Microsoft Edge ซึ่งปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ที่ผ่านมายังเห็นมีผู้ใช้อยู่ตั้ง 1.4 % ปีนี้ก็ลดมาอีก เห็นสถิติที่แบบนี้ ก็นับเวลาถอยหลัง ก่อนโดนธรณีสูบหายไปได้เลย สำหรับ Internet Explorer
อันดับ 8 เป็นของ เว็บเบราว์เซอร์ Android Browser หรือเว็บบราวเซอร์บนแอนดรอยด์รุ่นคลาสสิก ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วย Google Chrome ให้กลายเป็นมาตรฐานของแพลตฟอร์ม
ไม่น่าเชื่อว่ายังมีผู้ใช้งานหลงเหลืออยู่ อาจจะเหลือจากมือถือตกรุ่นที่ใช้ระบบ Android รุ่นเก่า ๆ และมีหลงเหลือให้ดาวน์โหลดแบบ APK อยู่บ้าง
เชื่อว่าหลายคนน่าจะไม่ค่อยรู้จักชื่อ เว็บเบราว์เซอร์ UC Browser นี้ แต่จริง ๆ มันค่อนข้างโด่งดังในแพลตฟอร์มมือถือ ปัจจุบันเจ้าของคือ Alibaba หน้าตาของหน้าตาผู้ใช้งาน (User Interface) ค่อนข้างสวยงาม มีฟีเจอร์อย่างครบครัน
ส่วนตัวไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับเว็บเบราว์เซอร์นี้เท่าไหร่ จุดเด่นที่ทราบคือ เป็นเว็บเบราว์เซอร์ขนาดเล็ก กินเนื้อที่ในการติดตั้งน้อย นิยมใช้ในหลายประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะมาแรงมากในอินเดีย และ อินโดนีเซีย ส่วนบ้านเราก็มีคนใช้งานเหมือนกัน แต่น่าจะเป็นส่วนน้อย โดยมีฟีเจอร์เด่น ๆ คือการบีบอัดข้อมูลเพื่อให้ประหยัดเน็ตนั่นเอง
วิดีโอจากช่อง UC Browser
หากเทียบกับเมื่อปีที่แล้ว ตำแหน่งในตลาดของ เว็บเบราว์เซอร์ Opera ก็ยังอยู่ที่เดิม เป็นเว็บเบราว์เซอร์ที่ความสามารถไม่ได้ด้อยกว่าเจ้าอื่นเลย แต่ก็ถูกคนส่วนใหญ่มองข้าม มีแต่ฐานแฟนคลับที่ค่อนข้างอินดี้หน่อย ๆ
สาเหตุที่ เว็บเบราว์เซอร์ Opera ไม่ค่อยได้รับความนิยมก็คงเป็นผลมาจากการตลาด ที่ตัวสื่อต่าง ๆ ไม่ค่อยจะมีบทความหรือข่าวสารการอัปเดตออกมาเชียร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการบอกต่อกันจากผู้ใช้งานจริง ซึ่งบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าค่อนข้างดี เพราะเจ้านี้เขาจะเน้นความเร็วเป็นหลัก รวมถึงการใช้ทรัพยากรเครื่องน้อย ช่วยกลบข้อด้อยจากการใช้เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome หรือ Firefox ที่กินทรัพยากรมากเกินไป
นอกจากนี้ฟีเจอร์เด่น ๆ ก็มีเหมือนกัน อย่างโหมดเทอร์โบ (Turbo) ที่เอาไว้ใช้เปิดตอนอยู่นอกสถานที่ ก็ถือเป็นฟีเจอร์ที่ดีที่ช่วยลดการใช้ข้อมูล ทำให้ไม่เปลืองเน็ต แต่สุดท้ายก็โดนเจ้าอื่นก๊อปทำตามได้เหมือนกัน
เป็นเว็บเบราว์เซอร์ที่อยู่นอกกระแส และ ทำให้แปลกใจเหมือนกัน ว่าทำไมถึงมาอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ แต่ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะ เว็บเบราว์เซอร์ Samsung Internet เป็น เว็บเบราว์เซอร์ พื้นฐานที่ติดมากับอุปกรณ์มือถือ หรือ แท็บเล็ตของ Samsung ก็ไม่น่าแปลกที่จะกินส่วนแบ่งในตลาดไปเยอะ เพราะก็จะเหมือนกับ เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome ที่มักจะติดมากับอุปกรณ์ Android เกือบทุกรุ่น หรือ เว็บเบราว์เซอร์ Safari ที่มักจะติดมากับ iPhone, iPad หรือ Mac นั่นเอง
นอกจากนี้ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะฟีเจอร์หลายอย่างบนมือถือกับแท็บเล็ตก็ค่อนข้างน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย เช่น คุณสมบัติ Ads blocker ที่ไม่ต้องติดตั้งส่วนเสริมให้ยุ่งยาก สามารถเปิดและติดตั้งในการตั้งค่าได้เลย มันทำให้ง่ายต่อคนที่ใช้งานเป็นครั้งแรกมาก
ส่วนความปลอดภัยด้านอื่น ๆ เช่นการตั้งค่าบล็อกเว็บเพจที่ชอบเด้งขึ้นมาอัตโนมัติ ก็เป็นอีกคุณสมบัติที่ผมมองว่าดีนะ เพราะเวลาเข้าเว็บไซต์บางเว็บ มันชอบมี เว็บไซต์อื่นที่เป็นโฆษณาเด้งแทรกขึ้นมาน่ารำคาญมาก และ มันจะอันตรายสุด ๆ ถ้าเป็นเว็บที่มีไวรัส
และนอกจากนี้ก็ยังมี โหมดความลับ (Secret Mode) ที่เหมือนโหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito Mode) ของ เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome และอีกหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการเข้ากันได้ของเว็บไซต์ในรูปแบบ Mobile ก็ค่อนข้างลื่นไหล
พักหลัง ๆ มานี้ Samsung Internet เริ่มวางบทบาทตัวเองเป็นคู่แข่งกับ เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome บนระบบปฏิบัติการ Android จึงค่อนข้างมีการอัดฉีดเรื่องโฆษณาและรีวิวพอสมควร เลยคาดว่าอาจเป็นปัจจัยที่ส่งให้ถีบตัวเองมาอยู่ในอันดับ 5 ยอดนิยมได้นั่นเอง
เว็บเบราว์เซอร์ Mozilla Firefox หรือ "จิ้งจอกไฟ หรือ หมาไฟ" ตอนนี้มาอยู่ในอันดับ 4 ด้วยส่วนแบ่งเพียง 3.25% ขณะที่ปีก่อนอยู่ในอันดับ 2 และมีส่วนแบ่งถึง 14.81% สะท้อนให้เห็นเลยว่าความนิยมตกลงไปมากทีเดียว
ถ้าพูดถึงปัจจัยเชิงลึกคงพูดยาก เรื่องความสามารถด้อยกว่าก็ไม่ใช่ กินแรมก็ไม่เชิง ทำให้สรุปง่าย ๆ ว่าคงเป็นเรื่องของการตลาด เพราะขณะที่เจ้าอื่นอย่าง เว็บเบราว์เซอร์ Safari และ Microsoft Edge ล้วนมีอุปกรณ์ของตัวเองเป็นที่ยึดเหนี่ยวผู้ใช้
ส่วนเว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome เองก็ยังมีพลานุภาพของ Google Search ที่หากพูดถึงยังไงคนก็ต้องใช้ Google Chrome เพราะมันง่ายที่จะซิงก์ข้อมูลกับบัญชีผู้ใช้งานของกูเกิล (Google Account) และไปใช้บนอุปกรณ์อื่น ซึ่งรวมการ ล็อกอินครั้งเดียวใช้บริการของ Google ได้หมดเลย ไม่ว่าจะเป็น Gmail, Google Workspace หรือ YouTube เป็นต้น ส่วนเว็บเบราว์เซอร์ Firefox ก็ค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะไม่รู้จะไปเกาะติดกับอะไร
ถือว่าแบ่งรับ แบ่งสู้กับ Firefox เป็นอย่างมาก แต่ก็เบียดแซงมาอย่างฉิวเฉียดอยู่ในอันดับที่ 3 กับ เว็บเบราว์เซอร์ Microsoft Edge ที่มีส่วนแบ่งอยู่ 3.37 %
ที่มาของเว็บเบราว์เซอร์ Microsoft Edge หลายคนน่าจะรู้อยู่แล้ว ถึงแม้จะออกมาตามหลังคนอื่น แต่เพราะพัฒนาขึ้นมาจากเอนจิ้น Chromium จึงทำให้มีฟีเจอร์ และ ความสามารถเทียบเท่ากับ Google Chrome ถึงขั้นมองเผิน ๆ ก็ไม่ต่างกันมาก
แต่สิ่งที่ เว็บเบราว์เซอร์ Microsoft Edge ต่างกับเว็บเบราว์เซอร์รุ่นพี่ และดึงดูดผู้ใช้ให้ยอมเปลี่ยนได้ แม้ว่าความสามารถจะใกล้เคียงแต่การใช้ทรัพยากรเครื่อง อย่าง แรม (RAM) นั้นน้อย เมื่อเทียบกับทั้งเว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome และ Firefox ทำให้เวลาเปิดแท็บหลายแท็บเครื่องจะไม่ค่อยหน่วง แต่บางคนก็ไม่ยอมเปลี่ยนเพราะความเคยชิน
ในความรู้สึกส่วนตัว ผมว่า Home Page ของ Microsoft Edge ค่อนข้างทำออกมาดี มีการอัปเดตข่าวสาร มีพยากรณ์อากาศ ให้ดู แต่มองอีกแง่หนึ่งมันไม่ชินเอาเสียเลย ดูเกะกะตาไปหมด แต่ก็ขึ้นอยู่กับความชอบ ส่วนถ้าใครอยากรู้ว่า Microsoft Edge มีความสามารถเด่น ๆ อะไรบ้าง เราเคยมีบทความแนะนำอยู่ลองไปย้อนอ่านกันได้ครับ
เว็บเบราว์เซอร์ Safari ได้อันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งถึง 18.46 % สะท้อนเป็นนัยยะ ถึงอัตราการใช้งานอุปกรณ์ของ Apple ของคนทั้งโลกเลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าเว็บเบราว์เซอร์ Safari นั้นเป็นค่าเริ่มต้นสำหรับอุปกรณ์ Apple อยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกที่จะกินส่วนแบ่งไปมาก เพราะรวมทั้งจากผู้ใช้ Mac และ iOS เข้าด้วยกัน
เว็บเบราว์เซอร์ Safari ถือเป็นผู้บุกเบิกในหลายฟีเจอร์ ยกตัวอย่างโหมดเรนเดอร์ (Reader Mode) ที่เปลี่ยนให้หน้าเว็บที่เต็มไปด้วยตัวอักษร โฆษณา และ วิดีโอ ให้เป็นหน้าหนังสือที่ดูเรียบง่ายและอ่านสะดวกขึ้น ซึ่งภายหลังก็กลายเป็นฟีเจอร์ที่เจ้าอื่น ทำตาม ๆ กันมา
ล่าสุดปีนี้ Safari ก็เพิ่งได้เพิ่มการ Touch ID และ Face ID บนมือถือในการล็อกอินเว็บไซต์ต่าง ๆ และ การเปิดตัวของ Mac OS BigSur ก็ช่วยเพิ่มความสามารถให้ Safari บน Mac ปรับแต่งหน้าโฮม (Home Page) ตามใจ ก็น่าจะถูกใจสาย Apple ไม่น้อย
อันดับ 1 ก็ไม่หนีไปไหนไกลจากเว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome และยังทิ้งห่างความนิยมจากเจ้าอื่น ๆ รวมทุกแพลตฟอร์มกินส่วนแบ่งไปถึง 65.18% ขยับตัวขึ้นจากปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ที่เคยมีสถิติจดไว้อยู่ที่ 62.09% ถือว่าไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก
ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าคนส่วนใหญ่ ยังคงชินกับความ Standard ของ เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome ที่ดูเรียบง่าย Home Page ขาว ๆ โล่ง ๆ ไม่ต้องเติมอะไรมาก มีแค่ช่อง Search และทางลัดเข้าสู่เว็บที่เราใช้งานบ่อย ๆ
ในด้านประสิทธิภาพเอง เราก็รู้ ๆ กันอยู่ ด้วยลูกเล่นที่ทำให้ล็อกอินแอคเคาท์ Google บนเว็บเบราว์เซอร์ได้ ก็ทำให้หลายอย่างสะดวกกับผู้ใช้มาก โดยเฉพาะเรื่องบริการต่าง ๆ ของ Google เช่น YouTube, Gmail เป็นต้น
แถม Google Chrome ยังมีส่วนเสริม (Extension) ให้เลือกใช้งานมากมาย สามารถปรับแต่งได้ตามสไตล์ ด้านความปลอดภัย หายห่วง ล่าสุดยังเพิ่งออกอัปเดตเวอร์ชันใหม่หรือ M89 เมื่อเดือน มีนาคม ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) มาแก้ปัญหาเรื่องการกินแรมบน Desktop ก็คาดการณ์ว่าตำแหน่งของ Google Chrome ยังคงไม่เปลี่ยนไปอีกหลายปี
หลายคนน่าจะอยากรู้อันดับในประเทศไทยด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับในระดับโลกแล้วก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง Samsung Internet ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 คิดว่าน่าจะเป็นเพราะกระแสนิยมมือถือ Samsung ในบ้านเราค่อนข้างดี สำหรับ เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome และ Safari ก็ดึงส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นไปเล็กน้อย ขณะที่ เว็บเบราว์เซอร์ Microsoft Edge, Mozilla Firefox และ Opera โดนลดบทบาทไปเหมือนแทบจะไม่มีบทบาทเลย เช่นเดียวกับ Internet Explorer และเบราว์เซอร์อื่น ๆ ที่กล่าวมา
ในเรื่องของความสามารถ และ ข้อแตกต่างของแต่ละเว็บเบราว์เซอร์ บอกตรง ๆ มันเทียบกันยากหากจะพูดว่าใครดีกว่าใคร เพราะแต่ละเจ้าก็มีข้อดี และ ความเหมาะสมของตัวเอง และเชื่อว่าส่วนใหญ่มันเกิดจากความเคยชินจึงทำให้บางคนตัดสินว่าของที่ตัวเองใช้อยู่นั้นดีที่สุด
สำหรับข้อมูลจากเว็บไซต์ที่นำมาวันนี้ หรือ statcounter.com ก็เป็นเว็บหนึ่งที่จัดอันดับ Ranking หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อันดับระบบปฏิบัติการ, อันดับโซเชียลมีเดีย, อันดับสมาร์ทโฟน, อันดับ Search Engine ซึ่งมีหลายครั้งที่สื่อนำมาใช้อ้างอิงบ่อย ๆ มีความน่าเชื่อถือพอสมควร
อย่างไรก็ตามบทความนี้ไม่ได้จะทำขึ้นมาอวยใคร แค่อยากบอกต่อเฉย ๆ ส่วนการวิเคราะห์ก็เป็นความเห็นส่วนตัวบวกกับข้อมูลที่สืบค้นในอินเทอร์เน็ต และถ้าใครมีความเห็นอื่นว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ก็คอมเมนท์กันได้ครับ
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |