สำหรับนักปั่นจักรยาน และสิงห์นักบิดที่ชื่นชอบการออกทริปเดินทางไกล อาจจะเคยหงุดหงิดใจกับการเลือกใช้หน้ากากอนามัยที่พอเหมาะพอดีกับหมวกกันน็อคของเรา แต่ข่าวดีก็คือ ตอนนี้มี R-PUR (อาร์-เพียว) หน้ากากป้องกันมลพิษตัวแรก จากแบรนด์ฝรั่งเศส (และผลิตในฝรั่งเศส) ที่เขาเคลมตัวเองว่าเป็น หน้ากากป้องกันมลพิษตัวแรก ที่ออกแบบมาสำหรับนักปั่นจักรยาน และสิงห์นักบิด สวมใส่ร่วมกับหมวกกันน็อคทั้งแบบครึ่งใบ และแบบเต็มใบได้อย่างลงตัวแนบเนียน ใส่แล้วดูดีดูเท่เลยหล่ะ
และที่สำคัญคือ R-PUR ใช้ไส้กรองที่ผ่านมาตรฐานการป้องกันฝุ่นระดับ FFP3 (เป็นมาตรฐานการป้องกันฝุ่นของทางฝั่งยุโรป ส่วนมาตรฐาน N95 นั้นเป็นมาตรฐานของทางฝั่งอเมริกา) ซึ่งหน้ากากตามมาตรฐาน FFP3 นั้นไม่เพียงแค่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 แต่ยังสามารถกรองฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ถึง PM 0.05 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า PM 2.5 ถึง 50 เท่า ทำให้สามารถกรองได้ทั้งฝุ่นละเอียด รวมถึงเชื้อไวรัส เชื้อรา และแบคทีเรียที่มีขนาดเล็กมากๆ
และที่เหนือกว่าหน้ากากอนามัยโดยทั่วๆ ไปคือ มีชั้นการกรองแบบ Activated Carbon ที่สามารถกรองก๊าซพิษประเภท VOCs ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สี ควันบุหรี่ และกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ เรียกว่านอกจากสวมใส่แล้วจะทำให้เราดูดี ก็ยังทำให้เราปลอดภัยกว่าการใช้หน้ากากอนามัยทั่วๆ ไปขึ้นอีกระดับ โดยที่ชิ้นไส้กรองของ R-PUR นั้นมีอายุการใช้งานอยู่ในช่วง 5-15 อาทิตย์ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สวมใส่ และปริมาณมลพิษในอากาในพื้นที่นั้น โดยการตรวจสอบอายุการใช้งานของไส้กรองทำได้ผ่านแอปฯ ที่มีชื่อว่า R-PUR ที่มีให้ใช้ทั้งบนระบบ Android และ iOS
ข้อดี
| ข้อสังเกต
|
ถุงผ้าที่แถมมาให้ ผลิตมาจากวัสดุอย่างดีมีความยืดหยุ่นพอสมควร สามารถจัดเก็บหน้ากาก R-PUR ได้อย่างมิดชิด
ชิ้นไส้กรองของหน้ากากป้องกันมลพิษ R-PUR ที่มีชื่อเรียกว่า NANO FILTRATION ใช้วิธีการยึดติดกับตัวหน้ากากด้วย แถบตีนตุ๊กแก (Velcro strap) ที่สามารถติดตั้ง และถอดออกจากหน้ากากได้ง่ายเมื่อไส้กรองหมดอายุการใช้งาน
ชิ้นไส้กรองของหน้ากากป้องกันมลพิษ R-PUR ที่มีชื่อเรียกว่า NANO FILTRATION มีความละเอียดอ่อนและแยกย่อยออกเป็นหลายชั้นตามภาพด้านบน โดยที่ส่วนประกอบ ที่ 1 และ 2 จะเป็นส่วนของวาล์วที่เป็นช่องทางออกของอากาศร้อน จากลมหายใจออกของเรา ในส่วนขององค์ประกอบหมายเลข 3 เป็นชั้นผ้าที่มีคุณสมบัติกันน้ำ องค์ประกอบหมายเลข 4 เป็นชั้นกรองอนุภาคละเอียด อย่างฝุ่น PM 2.5 รวมถึงฝุ่นที่มีความละเอียดเล็กมากในระดับนาโน ส่วนองค์ประกอบหมายเลข 5 เป็นชั้นกรองแบบ Activated Carbon ที่สามารถกรองก๊าซพิษประเภท VOCs และกรองกลิ่น ในส่วนขององค์ประกอบหมายเลข 6 เป็นแผ่นผ้าชั้นใน และะองค์ประกอบหมายเลข 7 เป็นชั้นยางนุ่มๆ ที่จะสัมผัสแนบกับสันจมูกและใบหน้าของเราในขณะที่สวมใส่
โดยที่ชิ้นส่วนของไส้กรองแบบ NANO FILTRATION นั้นเราไม่สามารถถอดแยกย่อย เพื่อทำการเปลี่ยนไส้กรองแต่และชั้นได้ด้วยตัวเอง จะเป็นการซื้อเปลี่ยนใหม่แบบยกชิ้นเลยเมื่อหมดอายุการใช้งาน โดยที่ชิ้นไส้กรองมีราคาขายอยู่ที่ 1,200 บาท และจะมีอายุการใช้งานอยู่ในช่วงราวๆ 5-15 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้งาน R-PUR ในพื้นที่ที่มีฝุ่นในระดับใด โดยตรวจสอบอายุการใช้งานของไส้กรองได้จากแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า R-PUR ครับ
เราสามารถตรวจสอบอายุการใช้งานของ ไส้กรอง NANO FILTRATION ผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า R-PUR ที่รองรับทั้งการใช้งานบนระบบ Android และ iOS โดยที่แอปพลิเคชันนี้ ใช้วิธีการคำนวณอายุการใช้งานโดยอ้างอิงจาก ฐานข้อมูลปริมาณมลพิษในเมืองที่เราอาศัยอยู่ ร่วมกับกิจกรรมที่เราทำ และระยะเวลาที่เราทำกิจกรรมในแต่ละวัน
โดยในภาพซ้ายสุดทางด้านบนผลคำนวณอายุการใช้งานของแอปพลิเคชัน โดยตามภาพเหลืออายุการใช้งานไส้กรอง 50% ส่วนภาพกลางนั้น แอปพลิเคชันจะให้เราเลือกกิจกรรมที่เราทำบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน (เลือกได้มากกว่า 1 กิจกรรม) โดยมีกิจกรรมให้เลือก 5 แบบ คือ Moto (ขี่มอเตอร์ไซค์) , Bicycle (ปั่นจักรยาน) , Electric mobility (จักรยาน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า) , Walking (เดิน) และ Running (วิ่ง) ส่วนในภาพขวา เราสามารถตรวจสอบระยะเวลาที่ทำกิจกรรม รวมถึงปริมาณมลพิษทางอากาศในแต่ละวันได้
โดยข้อมูลจากทางแบรนด์ R-PUR ระบุว่าแอปพลิเคชันได้ใช้อัลกอริทึมที่ชาญฉลาดในการคำนวณอายุการใช้งานของไส้กรองอากาศได้อย่างแม่นยำ
วิธีการสวมใส่หน้ากาก R-PUR ที่ถูกต้องก็เป็นตามภาพเลยครับ โดยที่ชุดแถบรัดด้านล่าง (The lower strap) รัดเข้ากับทางด้านหลังคอ และในส่วนของ ชุดแถบรัดด้านบน (The upper strap) รัดเข้ากับส่วนบนของศรีษะ ในองศาที่ทำมุมกับ แถบรัดด้านล่าง ประมาณ 45 องศา โดยจุดสำคัญคือ แถบรัดด้านบน จะต้องไม่บีบหรือกดทับใบหูของเรา
ส่วนการสวมใส่ที่ไม่ถูกวิธีคือ ชุดแถบรัดด้านบน อยู่ต่ำเกินไปจนบีบรัดใบหู หรือไม่ก็อยู่สูงเกินไปจนผิดองศา ซึ่งการที่ชุดแถบรัดด้านบนไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม อาจจะทำให้หน้ากากเลื่อนหนุดออกจากตำแหน่งเมื่อสวมหมวกกันน็อค
โดยที่ชุดแถบรัดทั้งทางด้านล่างและด้านบน นั้นยึดติดเข้าหากันด้วย แถบตีนตุ๊กแก ที่สามารถปรับระยะความยาว เพื่อให้สวมใส่อย่างแน่นกระชับ พอดีกับสรีระของเรา
วิธีการติดตั้ง ชุดแถบรัดด้านล่าง และ ชุดแถบรัดด้านบน เข้ากับศรีษะของเรา
เมื่อสวมใส่ R-PUR
มาพูดถึงเรื่องการสวมใส่หน้ากาก R-PUR ร่วมกับหมวกกันน็อคกันบ้าง ตามที่ทางแบรนด์เขาเคลมว่าสามรถใส่ร่วมกับหมวกกันน็อคทั้งแบบเต็มใบ และครึ่งใบได ้และจากการที่เราลองใช้งานจริงกับหน้ากากเต็มใบ สำหรับขี่มอเตอร์ไซค์แบบที่หาซื้อได้ทั่วๆ ไป ต้องบอกเลยว่าไซส์ หรือขนาดของหมวกกันน็อคนั้นมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจากการลองกับหลายๆ คนด้วยหมวกกันน็อคใบเดียวกัน (ที่สามารถสวมหมวกกันน็อคใบนี้ได้แบบพอดีหัว) พบว่าบางคน (ที่อาจจะขนาดศรีษะค่อนข้างใหญ่) ในตอนที่สวมหมวกกันน็อคลงไป มันดันให้หน้ากาก P-PUR เลื่อนหลุดลงมาจากปากและจมูก ทำให้ใช้งานร่วมกันไม่ได้ แต่กับบางคน (ที่อาจจะศรีษะค่อนข้างเล็ก) ก็พบว่าสามารถสวมใส่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา ตามคลิปด้านบน คือถ้าหมวกกันน็อคแบบเต็มใบที่เรามีอยู่ ใช้งานกับ R-PUR ไม่ได้ ก็ต้องซื้อหมวกใบใหม่ที่ไซส์ใหญ่กว่าเดิม
โดยสรุปคือ หมวกกันน็อคแบบเต็มใบที่เรามีอยู่ อาจจะใช้งานร่วมกับ R-PUR ไม่ได้ ดังนั้นควรสวมใส่ R-PUR ไปลองหมวกที่ร้านขายหมวกกันน็อคเลยนะ เพื่อให้ได้ไซส์หมวกกันน็อคที่พอเหมาะพอดีกับการใช้งานร่วมกับ R-PUR จะได้ไม่เสียเงินฟรีๆ ไปกับไซส์ของหมวกกันน็อคที่ใช้งานไม่ได้ แต่กับหมวกกันน็อคแบบครึ่งใบ ที่ไม่ปิดคาง ก็ไม่มีปัญหาในการใช้งานร่วมกับ R-PUR ครับ
ความรู้สึกแรกจากการใช้งาน ต้องบอกเลยว่าเจ้า R-PUR ให้ความรู้สึกในการสวมใส่ที่แน่นกระชับกว่า และหายใจยากกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไปๆ แบบรู้สึกได้ และด้วยความที่แน่นกระชับเป็นพิเศษของ R-PUR ทำให้รู้สึกอึดอัดในครั้งแรก แต่ใส่ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มชิน อีกหนึ่งความรู้สึกที่สัมผัสได้คือ ขอบยางด้านบนของไส้กรองชั้นใน นั้นกดทับสันจมูกคอนข้างแรง ทำให้รู้สึกเจ็บเล็กๆ วิธีแก้ปัญหาคือ ขยับชิ้นหน้ากากให้สูงขึ้นก็ช่วยให้รู้สึกสบายสันจมูกมากขึ้น และอีกหนึ่งความรู้สึกในขณะสวมใส่คือ แผ่นกรองด้านในไม่ได้สัมผัสกับริมผีปากของเราเหมือนอย่างหน้ากากอนามัยทั่วๆ ไป สามารถขยับปากพูดได้อย่างอิสระ และคนอื่นได้ยินเสียงเราพูดชัดเจน
เมื่อถอด R-PUR หลังจากที่สวมใส่เป็นเวลานานๆ พบว่าที่สันจมูกมีรอยแดงจากการกดทับ แต่ไม่ได้ทำให้เจ็บปวดแต่อย่างใด
เราทดสอบโดย ลองสวมหน้ากากแล้วเดินริมถนนเป็นระยะทางร่วม 5 กม. ร่วมกับนั่งเรือโดยสารเป็นเวลาต่อเนื่องรวมประมาณชั่วโมงครึ่ง ก็ต้องบอกว่า การสวมใส่ R-PUR ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวันแต่อย่างใด แต่อย่างที่บอกคือด้วยความแน่นกระชับ และประสิทธิภาพการกรองฝุ่นควันที่เหนือกว่าระดับมาตรฐานของมัน ทำให้รู้สึกว่าหายใจยากกว่าหน้ากากอนามัยทั่วๆ ไปที่เราคุ้นเคยอยู่เล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ถึงกับลำบากหรือเหนื่อยกับการเดินในระยะทางไกลๆ แต่อย่างใด
และเมื่อเสร็จสิ้นการเดินทางเป็นระยะเวลากว่าชั่วโมงครึ่ง ก็ได้เวลาถอดเจ้า R-PUR ออกจากใบหน้า รู้สึกได้เลยว่ามีเหงื่อซึมๆ ออกมาจากใบหน้าตรงบริเวณที่ขอบยางของหน้ากาก สัมผัสกับใบหน้า และอีกหนึ่งความรู้สึกที่สัมผัสได้คือ อาจจะด้วยชั้นกรองแบบ Activated Carbon ของเจ้า R-PUR ทำให้ไม่ได้กลิ่นไอเสียจากการจราจรบนท้องถนน หรือช่วงที่เดินผ่านรถเก็บขยะ (ที่โดยปกติแล้วมีกลิ่นรุนแรง) แต่ R-PUR ทำให้กลิ่นเบาลงมากๆ จนเรียกได้ว่าแทบจะไม่ได้กลิ่น ก็เป็นความรู้สึกที่น่าประทับใจ
และด้วยความที่เห็นว่ามีภาพโปรโมทของทางผู้ผลิต R-PUR ที่แสดงให้เห็นว่ามีการสวมหน้ากากอันนี้แล้ววิ่งออกกำลังกาย เลยเกิดความสงสัยว่า เจ้าหน้ากากนี้มันเหมาะสำหรับการสวมใส่ในขณะออกกำลังกายจริงหรือ?
ตัวอย่างของเครื่องออกกำลังกายแบบ Elliptical Trainer
เราเลยลองทดสอบโดยการใส่ R-PUR แล้วออกกำลังกายบน เครื่องเดินวงรี (Elliptical Trainer) ผลปรากฏว่า ด้วยการสวมใส่ที่แน่นกระชับ และประสิทธิภาพการกรองที่ดีเยี่ยมของมัน ทำให้ในช่วงที่เร่งจังหวะการออกกำลังกาย จนทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะเหนื่อยหอบ ก็รู้สึกได้เลยว่าเหนื่อยและทรมานมากกับการสูดหายใจ รู้สึกเหมือนว่าสูดอากาศเข้าสู่ร่างกายได้ไม่มากพอ ต้องบังคับตัวเองให้สูดหายใจลึกขึ้น ทำให้เหนื่อยกับการออกกำลังกายมากเป็นพิเศษ สรุปตามความรู้สึกส่วนตัวคือ R-PUR อาจไม่เหมาะกับการสวมใส่ในขณะที่ออกกำลังกายหนักๆ อย่างเช่นการวิ่ง หรือปั่นจักรยานแบบเน้นทำความเร็ว แต่ถ้าเป็นการวิ่งเหยาะๆ หรือปั่นจักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน ที่ไม่ได้เน้นเรื่องความเร็วมากมาย ก็ทำได้สบายๆ ครับ
หน้ากากป้องกันมลพิษดีไซน์เท่ ดูดี ที่สวมใส่ได้แบบกระชับใบหน้าสุดๆ ป้องกันมลพิษได้เล็กละเอียดกว่าระดับ PM 2.5 และมีชั้นกรองแบบ Activated Carbon ที่ช่วยกรองกลิ่นอย่างได้ผล แต่ก็ต้องบอกเลยว่าเหมาะเฉพาะสำหรับการใส่เดินริมถนน หรือการสวมใส่ขณะวิ่งเบาๆ และปั่นจักรยานเบาๆ แต่กับการออกกำลังกายแบบหนักจริงจัง การสวมหน้ากากนี้จะทำให้เหนื่อยหนักเกินพอดี แต่มีเรื่องที่ควรรู้คือการใช้งานร่วมกับหมวกกันน็อคแบบเต็มใบ หมวกกันน็อคใบที่เรามีอยู่อาจใช้งานร่วมกับ P-PUR ไม่ได้ (เพราะมันอาจจะเล็กเกินไปนิด) ต้องลงทุนซื้อหมวกใบใหม่ที่ไซส์ใหญ่กว่าเดิม
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |