ผมเริ่มรู้จักสิ่งที่เรียกว่า Bots เป็นครั้งแรก สมัยที่เล่นเกม Counter-Strike มันเป็นซอฟต์แวร์ที่จำลองผู้เล่นขึ้นมาเพื่อเล่นแข่งกับเราแทนมนุษย์จริงๆ ต่อมาเมื่อเล่นเกมออนไลน์ ผมก็ได้รู้จักกับ Bots ช่วยเล่น มันสามารถเล่นแทนเราได้ทั้งวันทั้งคืน อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย (แน่นอนว่ามันเป็นกระทำที่ผิดกฏกติกา) และเมื่อไม่นานมานี้ผมก็เพิ่งจะได้รู้ว่าในวงการของ "นักสะสมรองเท้า" หรือที่มีศัพท์เท่ๆ ว่า "Sneakerhead" เนี่ย ก็เจอมรสุมจาก Bots ด้วยเช่นกัน แถมโดนมานานแล้วอีกต่างหาก
ภาพจาก https://www.alltechbuzz.net/page/1279/?m&PageSpeed=noscript
สารภาพว่า ในครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องนี้ ผมงงไปนิดนึงเลยทีเดียว ว่าเราจะเอา Bots มาทำไรกับรองเท้าผ้าใบได้ (ฟะ?) แต่เมื่อได้ลองไปศึกษามันดู ก็ได้พบกับคำตอบที่น่าสนใจ จึงเป็นที่มาของบทความนี้
รองเท้าผ้าใบนั้น หากเป็นรุ่นในตำนาน ยิ่งเก่าก็ยิ่งหายาก และยิ่งมีราคาแพง ตัวอย่างเช่น Air Jordan 2 OG ที่เปิดตัวเมื่อปี ค.ศ. 1986 ในราคา $100 (ประมาณ 3,100 บาท) มีคนนำมาประมูลบน ebay สามารถขายได้ในราคาถึง $31,000 (ประมาณ 960,000 บาท) เลยล่ะ จะเห็นได้ว่าวงการรองเท้าผ้าใบนี่ มีมูลค่าสูงมาก
สาเหตุที่ทำให้มี Sneaker Bots เกิดขึ้น เราคิดว่าสามารถเริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนจาก ความสำเร็จของรองเท้าตระกูล YEEZY ที่เป็นการจับมือระหว่างผู้ผลิตรองเท้ากับแรปเปอร์ชื่อดังคานเย เวสต์ (Kanye West)
Nike Air Yeezy 2 Platinum ที่วางขายเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2012 ราคาเปิดตัวอยู่ที่ $245 (ประมาณ 7,600 บาท) เท่านั้น แต่มันถูกผลิตขึ้นมาในจำนวนจำกัดแค่ 5,000 คู่ ในขณะที่มีคนต้องการครอบครองอยู่มากมาย ทำให้ปัจจุบันราคากระโดดไปอยู่ที่ประมาณ $5,900 (ประมาณ 183,000 บาท) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากคิดกำไรก็จะกำไรมากถึง 2,300% เลยทีเดียว
ภาพจาก https://stockx.com/air-yeezy-2-pure-platinum
ทุกวันนี้ มีรองเท้าหลายรุ่นที่ใช้การตลาดรูปแบบนี้มาเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า อาจจะร่วมมือกับผู้มีชื่อเสียง หรือแบรนด์ดัง ผลิตออกมาเป็นรองเท้ารุ่นพิเศษ วางขายในจำนวนจำกัด เมื่อความต้องการมีสูง แต่ปริมาณมีจำกัด ทำให้กลายเป็น "ของหายาก" จึงไม่น่าแปลกใจหากจะมี "พ่อค้าแม่ค้า" จะหาซื้อมาเพื่อขายต่อเอากำไร หรือที่เรียกว่าการ "Resell"
รองเท้ารุ่นพิเศษเหล่านี้ โดยธรรมดาแล้วจะเปิดสั่งจองผ่านทางหน้าเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจซื้อ เข้ามาแข่งขันจับจองรองเท้ากันอย่างยุติธรรม แต่วิธีแบบนี้มันต้องอาศัยโชคมากเกินไป ผู้แสวงหากำไรจึงต้องมองหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ซึ่งก็คือการใช้ Bots
หากคุณเคยสั่งซื้อสินค้าอะไรสักอย่างที่มีจำนวนจำกัดแบบออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรองเท้ารุ่นพิเศษ คุณจะเผชิญกับเหตุการณ์ของหมดภายในพริบตา ทั้งที่คุณตั้งหน้าตั้งตารอ และกรอกข้อมูลทำธุรกรรมอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์ปกติจะทำได้แล้ว แต่มันก็ยังไม่ทัน หากคุณคิดว่า มีคนที่เร็วกว่าล่ะก็ คุณกำลังคิดผิด คุณอาจจะไม่ได้ช้าหรอก เพียงแต่ Bots เร็วกว่าคุณ ก็เท่านั้นเอง
Sneaker Bot ถูกออกแบบมาให้มันทำรายการสั่งซื้อรองเท้าที่ต้องการได้ด้วยความเร็วที่สูงกว่าที่มนุษย์จะไปแข่งขันได้ เพียงไม่กี่คลิกคุณสามารถให้บอททำการสั่งซื้อรองเท้ารุ่นเป้าหมายได้ทีละหลายคู่ ด้วยบัญชีจำนวนมาก ภายในพริบตา เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะทำการซื้อได้สำเร็จ
Bots หลายเจ้ามีราคาแพงถึง $500 (ประมาณ 15,500 บาท) หรือต้องจ่ายรายเดือนในราคาที่ไม่ถูกเลย แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากนิยมซื้อหามาใช้ เพราะกำไรที่ได้มันมากกว่าค่า Bots มากนัก
ปกติแล้ว ร้านค้าออนไลน์จะมีระบบซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า "Acceptance test" มันมีไว้สำหรับให้เว็บไซต์ใช้ตรวจสอบการทำงานว่าปกติดีหรือไม่ เวลาที่ร้านค้าจะเพิ่มสินค้าใหม่เข้าไปในระบบ ก็จะใช้ Acceptance test ในการทดสอบนี่แหละ
Sneaker Bot ส่วนใหญ่จะใช้ SeleniumLibrary ที่เดิมทีเอาไว้สร้าง Bots สำหรับทดสอบการทำงานของเว็บไซต์ ในการพัฒนา แต่ประยุกต์ให้เอามาใช้ในการเข้าถึงหลังบ้านของ Acceptance test ในการเข้าไปเพิ่มข้อมูลเพื่อชำระสินค้าให้เสร็จสิ้นโดยตรงในหลังบ้านของเว็บไซต์ได้ทันที ทำให้กระบวนการสั่งซื้อเกิดขึ้น และเสร็จสิ้นเร็วมาก ไม่มีทางที่การสั่งซื้อผ่านทางหน้าเว็บไซต์ปกติจะเทียบได้เลย ทำให้คุณมีโอกาสที่จะสั่งซื้อ "รองเท้า" ได้สำเร็จมากกว่าวิธีธรรมดาหลายเท่า
ภาพจาก https://www.techuseful.com/best-sneaker-bots/
จากตารางด้านบน จะเห็นได้ว่าตัวอย่าง Bots ที่เรายกมา รองรับการทำงานแบบ Proxy ด้วย คำถามที่คนทั่วไปน่าจะสงสัยคือ มันเอาไว้ทำอะไร?
หนึ่งในประโยชน์ของ Proxy คือ การใช้ปลอมแปลง IP Address ปกติแล้ว พวกรองเท้ารุ่นที่จำกัดการซื้อ เว็บไซต์จะมีการตรวจสอบให้ สามารถซื้อสินค้าได้เพียง 1 ชิ้นต่อหนึ่ง 1 IP Address เท่านั้น แต่ด้วย Proxy ทำให้ Bots สามารถสั่งซื้อกี่รอบก็ได้ ตามจำนวนบัญชีที่เรามีอยู่ในมือ
ภาพจาก https://www.techuseful.com/residential-proxies-datacenter-proxies/
เมื่อพ่อค้าใช้ Bots การที่ Sneakerhead จะซื้อรองเท้ามาเก็บสะสมได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้กับนัก Resell ก็คือ ต้องหันมาใช้ Bots บ้างเหมือนกัน มันเป็นเกมการแข่งขันที่คนปกติแทบไม่มีหวังไปแล้ว
สถานการณ์นี้ ไม่ใช่ว่าทางร้านค้าจะดีใจที่รองเท้าขายดีนะ เพราะมันก็เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเท่าไหร่ ต่อแฟนตัวจริงที่ไม่ต้องการโกงด้วยการใช้ Bots ความสนุกในการตามล่าของหายาก มัน คือการอาศัยโชคด้วย ไม่ใช่การโกงด้วยเทคโนโลยี
มีหลายแนวทางที่ผู้ผลิตรองเท้าคิดค้นขึ้นมาเพื่อต่อต้าน Bots วิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบันนี้ คือ การสุ่มผู้โชคดี โดยคนที่จองเข้ามาจะถูกนำชื่อไปจับฉลากเพื่อให้ได้สิทธิ์ซื้ออีกที ไม่ได้แข่งกันที่ความเร็วอีกแล้ว
ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกท่า ขอพูดถึง Nike SNKRS ที่ใช้แอปฯ ในมือถือในการจองแทน มีการใช้รหัส OTP ที่ส่งไปยังเบอร์โทรศัพท์ เพื่อลดปัญหา Bots ซึ่งก็ช่วยได้มากในระดับหนึ่งเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ปัญหา Bots ก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อป้องกันบอท ก็ต้องใช้เงินลงทุนด้วย ซึ่งไม่ใช่เจ้าของแบรนด์ทุกรายจะมีเงินลงทุนในจุดนี้
อย่าง StrangeLove Skateboards แบรนด์สเก็ตบอร์ดที่ได้ออกแบบรองเท้าร่วมกับ Nike เพิ่งจะออกมาประกาศยกเลิกการสั่งจองรองเท้ารุ่นพิเศษล่วงหน้า เนื่องจากเจอปัญหา Bots ได้เข้ามาป่วนหลังบ้านจนยอดจองเต็มตั้งแต่ก่อนที่หน้าเว็บจะเริ่มเปิดให้สั่งจองเสียด้วยซ้ำ
จะเห็นได้ว่า Bots ไม่เพียงสร้างปัญหาให้กับร้านค้า แต่ยังสร้างปัญหาให้กับสาวกที่ต้องการซื้อด้วยวิธีการแบบถูกต้องด้วยเช่นกัน ตราบใดที่เงินยังหอมหวาน คาดว่า Sneaker Bots น่าจะเป็นเรื่องที่คนรักรองเท้าต้องเผชิญกับมันไปอีกนาน รุ่นไหนอยากได้จริงๆ ก็คงต้องยอมเสียเงินให้กับเหล่าพ่อค้าที่นำมา Resell กระมัง
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |