จุดเด่น
| จุดสังเกต
|
ปัจจุบันนี้ ในท้องตลาดมีโปรเจคเตอร์ให้เลือกอยู่มากมาย ซึ่งหากแบ่งตามประเภทการใช้งานก็จะมีอยู่ 2 ประเภท อย่างแรก คือ Home Projector ที่จะเน้นไปที่คุณภาพของการแสดงผลที่ละเอียดคมชัด เฉดสีสวยงาม เหมาะกับการรับชมภาพยนตร์ภายในบ้าน ส่วนอีกแบบก็คือ Business Projector ที่จะเน้นความสว่างมากกว่าความละเอียด เนื่องจากการใช้ในที่ทำงาน คงไม่มีใครอยากประชุมพรีเซนต์งานกันในห้องมืดๆ หรอกเนอะ
BenQ EW800ST ที่เราได้มารีวิวในครั้งนี้ เป็นโปรเจคเตอร์สำหรับธุรกิจจาก BenQ ที่มีความน่าสนใจตรงที่มีระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android 6.0) ด้วยอยู่ในตัว ทำให้เจ้าโปรเจคเตอร์ BenQ EW800ST รุ่นนี้กลายเป็นสมาร์ทโปรเจคเตอร์ตัวแรกสำหรับธุรกิจ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ได้แค่การฉายสื่อมัลติมีเดียเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยระบบปฎิบัติการ และแอปต่างๆ ในตัว ทำให้มันเปิดไฟล์เอกสารได้เลยโดยตรง หรือใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ได้ด้วย เหมาะสำหรับการใช้งานในสถานศึกษา หรือธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง
อาจจะมีคนสงสัยว่า ทำไมต้องใส่ระบบปฎิบัติการ Android เข้ามาในตัวโปรเจคเตอร์ด้วย อันที่จริงมันก็เป็นไปตามเทรนด์ในการทำงานของปัจจุบันนี้นะ มีการสำรวจเกี่ยวกับการทำงานและการประชุมบริษัทต่างๆ ทั่วโลก พบว่าปัจจุบันพนักงานที่เป็นผู้จัดการระดับกลางใช้เวลางานไปกับการประชุมอย่างน้อย 35% ของเวลางานที่ทำทั้งหมด ในขณะที่ผู้จัดการระดับสูงหมดไปถึง 50% ประกอบกับเทรนด์ BYOD (Bring Your Own Device) ที่ปัจจุบันเราใช้อุปกรณ์ในการทำงานอย่างน้อย 2 ชิ้น คือ คอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน มีบ่อยครั้งที่เราต้องใช้ข้อมูลในอุปกรณ์ส่วนตัวอย่างสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตมาพรีเซนต์งาน และเพื่อการประชุม BenQ จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อมาตอบสนองเทรนด์การทำงานในปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น
นั่นก็คือ BenQ EW800ST นี่เอง โปรเจคเตอร์ที่รองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง จะมีความน่าสนใจขนาดไหน มาลองดูกันได้บทความรีวิวนี้กัน
ดีไซน์ของ โปรเจคเตอร์ BenQ EW800ST มาพร้อมกับเครื่องสีขาวตามสไตล์ของโปรเจคเตอร์สำหรับสำนักงาน เพราะมันดูเข้ากับการออกแบบได้ง่าย อีกทั้งออฟฟิศส่วนใหญ่ก็จะเน้นแสงสว่างอยู่แล้ว ทำให้มันกลมกลืนไปกับเพดานได้โดยง่าย
สมาร์ทโปรเจคเตอร์รุ่นนี้มี 2 ซีรีส์ คือ ซีรีส์ E600 แต่ว่าซีรีส์ E800 ที่เราได้มารีวิวนี้ จะเป็นแบบ Short Throw (ใช้ระยะฉายสั้นกว่า) และรองรับการใช้งานแบบ Cloud Integration ด้วย |
ตรงหน้าเลนส์มีเส้นสีเขียวบริเวณกรอบเลนส์ที่สื่อถึงการที่มันมีระบบปฏิบัติการ Android ในตัว เพราว่าใช้สีเขียวโทนเดียวกันเลย
ช่องระบายอากาศอยู่ที่มุมฝั่งซ้ายของตัวเครื่อง ขณะทำงานในโหมดปกติจะมีเสียงดังประมาณ 33 เดซิเบลเท่านั้น ส่วนในโหมด Eco จะเบาลงไปอีกอยู่ที่ประมาณ 29 เดซิเบล
ด้านหลังเป็นที่อยู่ของพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ซึ่ง โปรเจคเตอร์ BenQ EW800ST ก็ให้พอร์ตต่างๆ มาค่อนข้างครบนะ ทั้ง VGA/ HDMI/ USB/ LAN และช่องต่อเสียงอย่าง Audio IN/OUT มั่นใจได้เลยว่าจะรองรับอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน
โปรเจคเตอร์ BenQ EW800ST ยังรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้ด้วย โดยเราจะต้องเสียบ Wi-Fi Dongle ผ่านช่อง USB ซึ่งมีแถมมาให้พร้อมกับโปรเจคเตอร์ รองรับการปล่อยคลื่นสัญญาณทั้ง 2.4G และ 5G โดย BenQ ได้ออกแบบช่องเสียบลับมาให้ซ่อน Wi-Fi Dongle เอาไว้อย่างแนบเนียน
มาดูปุ่มบนตัวเครื่องกันบ้าง ก็จะมีอยู่แค่ไม่กี่ปุ่ม เป็นเรื่องธรรมดา เพราะส่วนใหญ่เรามักจะติดตั้งโปรเจคเตอร์ไว้กับเพดาน แล้วควบคุมผ่านรีโมตคอนโทรลเป็นหลักอยู่แล้ว
สังเกตว่าบนเครื่องมีปุ่มที่ชื่อว่า "ปุ่ม EcoBank" สำหรับใช้ปิดหลอดชั่วคราวเพื่อประหยัดพลังงานได้
ตัวรีโมทสามารถใช้ในการเลื่อนสไลด์พรีเซนเทชั่นได้ และยังใช้เป็นเมาส์ หรือยิงเลเซอร์เพื่อเป็น Pointer ได้ด้วย
เมื่อเราเปิดโปรเจคเตอร์ BenQ EW800ST ขึ้นมา ก็จะพบกับหน้าจอที่คล้ายกับหน้าจอของแท็บเล็ต Android แต่ตัว User Interface มีการปรับแต่งให้เหมาะสมกับการควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล
เมนูในหน้าหลักจะมี อยู่ 3 เมนูหลัก คือ
การส่งภาพจากอุปกรณ์ขึ้นไปฉายยังโปรเจคเตอร์ BenQ EW800ST แบบ Wireless (ไร้สาย) ความเจ๋งคือ มันรองรับทั้งจาก PC, Android และ iOS เลย โดยมีอยู่ทั้งหมด 2 รูปแบบ คือ
สำหรับระบบปฏิบัติการยอดฮิตอย่าง iOS ที่ขึ้นชื่อเรื่องความยุ่งยากในการแชร์หน้าจอ ก็สามารถใช้ AirPlay ฉายภาพไปยังโปรเจคเตอร์ BenQ EW800ST ได้อย่างง่ายดาย
การตั้งค่าต่างๆ มาในรูปแบบเดียวกับสมาร์ทโฟนเลย สวยงาม และใช้งานง่าย ไม่ได้เป็นสไตล์ OSD เหมือนอุปกรณ์แบบเก่า
แอปพลิเคชันที่มีให้ใช้งานใน BenQ EW800ST ยังมีอยู่ไม่เยอะ แต่ก็พอครอบคลุมต่อการนำเสนองาน และการประชุม เชื่อว่าในอนาคตทาง BenQ น่าจะมีอัปเดตเพิ่มให้เรื่อยๆ
ด้วยความที่มันมีระบบปฏิบัติการ Android ในตัว ทำให้มันมีแอปพลิเคชันสำหรับจัดการกับไฟล์ต่างๆ ในตัวเลย การเปิดไฟล์เอกสาร เราไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนช่วย โยนไฟล์ใส่แฟลชไดร์ฟแล้วเปิดได้ทันที ด้วยแอป WPS Office
เราทดลองเปิดไฟล์ Excel และ Word ดูโดยไม่ได้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ พบว่าแสดงผลได้ดี เหมือนกับการดูผ่านสมาร์ทโฟนเลย ต่างกันแค่ขนาดภาพที่มันใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก และไม่เพียงแค่เปิดดูนะ แอป WPS Office ยังสามารถแก้ไข และบันทึกเอกสารได้อีกด้วย
คลิกที่ภาพเพื่อขยาย
ในอดีต คนทำงานมักจะพกแฟลชไดร์ฟเอาไว้ด้วย แต่ทุกวันนี้เราแทบไม่เห็นใครใช้แฟลชไดร์ฟกันแล้ว เนื่องจากอินเทอร์เน็ตมีความเร็วสูงขึ้นมาก ทำให้การฝากไฟล์ไว้กับ Cloud เป็นทางเลือกที่สะดวกกว่ามาก ซึ่งเราสามารถเปิดไฟล์จากโปรเจคเตอร์ BenQ EW800ST ได้โดยตรงเลยแบบไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อผ่านโน้ตบุ๊ค ปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการอยู่หลายเจ้า เช่น Google Drive, OneDrive, Dropbox ฯลฯ
โดยใน BenQ EW800ST ก็จะมีแอป AMS Files สำหรับเข้าถึงไฟล์บนบริการ Cloud ต่างๆ หรือ Network Drive ได้เลย
ขั้นตอนแรกเราจะต้องเข้าไปผูกบัญชี Cloud ที่เราใช้กับบัญชีของ BenQ ก่อนที่ service-portal.benq.com ในภาพด้านล่างนี้ คือ เราได้ผูกเข้ากับ Google Drive เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เมื่อผูกบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราสามารถเปิดดูไฟล์ใน Cloud ได้เลยผ่านแอป AMS Files จุดนี้นับว่าสะดวกมาก ทำงานเสร็จ โยนไฟล์เข้า Cloud เปิดพรีเซนต์ในโปจเจคเตอร์ได้ทันที ลดขั้นตอนการเตรียมงานนำเสนอไปได้เยอะเลยล่ะ
BenQ EW800ST มี Firefox ในตัว เราสามารถเปิดเว็บไซต์ได้เลย โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน อย่างไรก็ตาม การใช้รีโมทควบคุมค่อนข้างลำบาก แนะนำว่าควรหาเมาส์/คีย์บอร์ด มาต่อด้วย ซึ่งเราสามารถนำมาต่อที่พอร์ต USB ด้านหลังแล้วใช้งานได้ทันที
เวลาที่ต่อเมาส์ เราสามารถใช้ "คลิกขวา" แทนคำสั่ง Back ได้ด้วย |
blizz เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดย TeamViewer นี่แหละ ใช้บัญชี และไอดีเดียวกันได้เลย สามารถเริ่มการประชุม หรือเข้าร่วมประชุมก็ได้ เราสามารถแชร์หน้าจอ, แชท, สนทนาได้เหมือนการใช้งาน TeamViewer บนคอมพิวเตอร์ (ต้องต่อไมค์ และกล้องด้วย หากต้องการการสนทนาแบบเห็นภาพ)
ส่วนถ้าผู้เข้าร่วมการประชุมท่านใดอยู่นอกห้องประชุม ก็สามารถดาวน์โหลดแอปฯ ลงสมาร์ทโฟนแล้ว
คอนเนคได้อย่างง่ายดาย
สามารถ Join การประชุมได้พร้อมกันสูงสุด 4 อุปกรณ์ด้วยกัน (เป็นระบบคอนเฟอเรนซ์เบื้องต้น) แต่ละอุปกรณ์สามารถสลับกันโชว์ข้อมูลในการพรีเซนต์ได้ อย่างในภาพด้านล่างผมให้ผู้ร่วมประชุมที่ใช้สมาร์ทโฟน Join เข้ามาแชร์หน้าจอจากสมาร์ทโฟน
หากคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนของเราไม่มี AirPlay, Mirror screen หรือ Miracast ทาง BenQ ก็ได้มีการแอปพลิเคชันเสริมให้ใช้ในการส่งภาพขึ้นไปฉายยังโปรเจคเตอร์ด้วยนะ รองรับทั้ง Windows, Mac, iOS และ Android เลย นั่นก็คือ BenQ InstaShare จะแชร์จากตัวอุปกรณ์ไปยังโปรเจคเตอร์ หรือแชร์จากโปรเจคเตอร์ไปยังอุปกรณ์ก็ได้
มันมีข้อดีอีกอย่างที่ต่างจากการ Mirror หน้าจอ คือ สามารถใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่ ในการสั่งงานโปรเจคเตอร์เหมือนเป็นรีโมทได้เลยอีกด้วย
อย่างที่เรากล่าวไว้ตั้งแต่แรกว่าโปรเจคเตอร์รุ่นนี้ออกแบบมาสำหรับใช้งานในระบบธุรกิจที่มีความอัจฉริยะ ซึ่ง BenQ EW800ST สามารถทำงานร่วมกับระบบ Service Portal เพื่อใช้งาน ระบบ X-Sign, DMS และ AMS ได้ด้วย โดยตัว BenQ Service Portal ควบคุมทำงานผ่านเว็บเซอร์วิสได้ทาง service-portal.benq.com
การใช้งานฟังก์ชันนี้จะต้องเข้าไปเชื่อมต่อบัญชีผ่านเว็บไซต์ service-portal.benq.com ก่อน โดยเว็บไซต์นี้จะใช้ในการจัดการกับระบบ X-Sign, DMS และ AMS ได้อย่างง่ายดาย
X-Sign เหมาะสำหรับงานประเภท Signage Content (พวกป้ายแสดงข้อมูล หรือ โฆษณา ฯลฯ) โดยเราสามารถสร้างสื่อได้หลากหลายรูปแบบเพื่อมาแสดงผลบน BenQ EW800ST มีเครื่องมือช่วยในการสร้างตัวอักษรวิ่ง ภาพนิ่ง และวิดีโอที่ใช้งานง่าย วิดีโอจะอัปโหลดขึ้นไป หรือดึงจาก เว็บไซต์ YouTube ก็ได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถตั้งเวลาที่ต้องการให้แสดงผลได้ล่วงหน้าเป็นวัน หรือเป็นเดือนอีกด้วยล่ะ
ข้อแนะนำ คือ หากเราตั้งการบรอดแคสต์เป็นแบบทั้งวัน (All day) จะต้องสั่งยกเลิกอันเก่าก่อนตั้งอันใหม่นะ ไม่งั้นมันจะ Error แต่ถ้าตั้งเป็นช่วงเวลา พอครบก็จะหายไปเอง
มีคำถามที่น่าสนใจ "ถ้าเราลืมไปว่าตั้งบรอดแคสต์เอาไว้ แล้วกำลังใช้โปรเจคเตอร์ประชุมอยู่ จะเกิดอะไรขึ้น?" จุดนี้ไม่ต้องตกใจ ถ้าเราลืม กำลังประชุมเพลินๆ แล้วมีบรอดแคสต์เด้งขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องเข้าไปยกเลิกที่ Service Portal ให้เสียเวลา แค่กดปุ่ม Home ที่รีโมทบรอดแคสต์ก็จะถูกยกเลิกทันที
ตัวอย่างการแสดงข้อความวิ่ง ที่เราทำแบบง่ายๆ ขึ้นมานะครับ สามารถพิมพ์ได้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษเลย
ปัจจุบันนี้ ในบริษัทแห่งหนึ่ง จะเต็มไปด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมายหลายชิ้น การจะดูแลพวกมันให้ครอบคลุมเป็นงานยาก จึงมีการพัฒนาระบบ DMS (Device Managed Service) ขึ้นมา ซึ่ง BenQ ก็มีระบบ DMS ให้ลูกค้าใช้ด้วย แน่นอนว่า BenQ EW800ST ก็ทำงานร่วมกับ DMS Local ได้เช่นกัน โดยเชื่อมต่อผ่านสายเคเบิ้ล RJ45 (LAN) หรือ RS-232
DMS จะมีประโยชน์อย่างมาก เวลาที่เรามีอุปกรณ์ที่ต้องดูแลเยอะๆ เราสามารถตรวจสอบสถานะการทำงานของเครื่อง ผ่าน Log ที่ถูกบันทึกเอาไว้ ซึ่งข้อมูลค่อนข้างละเอียดเลยล่ะ มันบอกได้หมดว่ามีการเชื่อมต่อตอนไหน มีการสั่งงานอะไรเกิดขึ้นกับตัวอุปกรณ์บ้าง
AMS หรือ Account Management System เป็นระบบสำหรับจัดการกับบัญชีผู้ใช้ เพราะโปรเจคเตอร์เป็นของใช้ส่วนรวม ในการทำงานร่วมกันเพื่อความเป็นส่วนตัว มันจึงจำเป็นต้องมีระบบจัดการบัญชีที่ดีด้วย
อย่างที่เกริ่นไว้ช่วงแรกว่าโปรเจคเตอร์รุ่นนี้เชื่อมต่อกับ Cloud ได้ด้วย แต่ละบัญชีก็ต้องแยก Cloud ออกจากกัน เราสามารถเข้ามาจัดการกับรายละเอียดเหล่านั้นได้ที่เมนู AMS ใน BenQ Service Portal
หลังจากที่เราได้ลองใช้ โปรเจคเตอร์ BenQ EW800ST มาประมาณสัปดาห์หนึ่ง สิ่งที่รู้สึกได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับโปรเจคเตอร์แบบเดิมที่เรามีอยู่ คือ เรื่องของความสะดวก ที่ช่วยประหยัดเวลาในการจะพรีเซนต์อะไรสักอย่างระหว่างประชุมไปได้มาก
ส่วนตัวที่ผมได้ใช้งานบ่อยๆ จะเป็นฟังก์ชัน AirPlay ที่ส่งภาพจาก iPad ขึ้นไปฉายได้ทันที กับตัว AMS ที่ผมสามารถโยนไฟล์ขึ้น Cloud แล้วมาเปิดให้ทีมดูบนโปรเจคเตอร์ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมาต่อ Notebook ให้วุ่นวาย
ข้อเสียก็พบอยู่บ้างในเรื่องของการควบคุม UI ต่างๆ ด้วยรีโมท แต่ทุกอย่างแก้ไขได้โดยง่าย ด้วยการหาเมาส์/คีย์บอร์ดไร้สายมาเชื่อมต่อ
ผู้ที่สนใจ EW800ST ราคา 32,900 บาท (รวมภาษีแล้ว) ส่วนรุ่นเริ่มต้นจะมีราคาเริ่มต้นที่ 19,900 บาท (รวมภาษีแล้ว)
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |