ฟังก์ชันถ่ายรูปถูกใส่เข้ามาในโทรศัพท์มือถือครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) บนฟีเจอร์โฟน Samsung SCH-V200 ที่ทำให้มือถือสามารถถ่ายภาพดิจิทัลได้เปรียบเสมือนกล้องคอมแพคขนาดย่อมๆ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ ทำให้เลนส์กล้องเล็กๆ บนมือถือไม่สามารถทำอะไรได้มากเหมือนอย่างกล้องถ่ายรูป แต่ก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ อย่างเช่นเรื่องของเซ็นเซอร์กล้องที่ทำให้กล้องมือถือมีความละเอียดทัดเทียมกับกล้องถ่ายรูป หรือการซูมภาพ ที่ถึงแม้ว่ามือถือจะไม่มีกระบอกเลนส์ยาวๆ ก็สามารถซูมได้ไกลมากๆ โดยที่ไม่ต้องพกเลนส์ใหญ่ๆ เหมือนอย่างกล้องถ่ายรูป
Samsung SCH-V200 มือถือรุ่นแรกที่มีกล้องให้ใช้งาน
แต่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีการซูมบนมือถือไม่ได้เพิ่งถูกพัฒนาแค่ในไม่กี่ปีมานี้ อย่าง Periscope Zoom ที่ถูกใช้บน Huawei P30 Pro และสมาร์ทโฟนเรือธงต่างๆ ในปัจจุบัน จริงๆ ก็ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2004 แล้ว โดยตลาดมือถือต่างก็หาวิธีอัปเกรดกล้องให้สามารถซูมได้ด้วยรูปแบบต่างๆ ตลอดมา เราเลยขอย้อนไปดูกันหน่อยว่า มือถือที่ซูมได้จากอดีตถึงปัจจุบันเป็นยังไงกันบ้าง?
ไม่นานหลังจากที่มือถือเริ่มมีกล้องให้ใช้งาน ในปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) โทรศัพท์มือถือ Sharp 902 ได้ออกสู่สายตาชาวโลก ซึ่งเป็นมือถือรุ่นแรกของยุโรปที่มีความละเอียดกล้อง 2 ล้านพิกเซลและซูม 2x แบบออพติคัล (Optical) ได้ด้วยเลนส์เพียงตัวเดียว ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่ต้องสลับระหว่างเลนส์กว้างกับเลนส์ซูม และด้วยดีไซน์ของตัวเลนส์ที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมเหมือนอย่างสมาร์ทโฟนซูมไกลในปัจจุบัน เป็นการตอกย้ำว่า โทรศัพท์มือถือ Sharp 902 ใช้เลนส์แบบ Periscope จริงๆ
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) มือถือรุ่นต่อมาอย่าง Sharp 903 ก็ออกมาพร้อมกับความละเอียดกล้องที่มากขึ้นถึง 3.15 ล้านพิกเซล และต่อด้วย Sharp 904 ซึ่งเราสามารถใช้การออพติคัลซูมในการวิดีโอคอลด้วย 3G ได้
Sharp 902 | Sharp 903 | Sharp 904 |
โทรศัพท์มือถือ Nokia N93 ในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) และ N93i ในปีถัดมา มาพร้อมดีไซน์คล้ายกล้องแฮนดี้แคมที่สามารถหมุนหน้าจอได้ ยังคงมีความละเอียดเท่ากับรุ่นด้านบนที่ 3.15 ล้านพิกเซลแต่มีการซูมที่ถูกอัปเกรดเป็น 3x ออพติคัลซูม โดยตัวมือถือมีกันสั่นในตัวด้วยและคุณภาพวิดีโอ 3 ล้านพิกเซลในตอนนั้นถูกโฆษณาว่าเทียบเท่ากับ DVD เลยทีเดียว
ด้วยความที่กล้องถูกออกแบบให้อยู่ตรงข้อพับของตัวมือถือพอดี จึงไม่ได้ใช้เทคโนโลยี Periscope Camera เหมือนอย่างด้านบน
Nokia N93 | Nokia N93i |
แน่นอนว่า Nokia ก็มีคู่แข่ง โดยในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) Samsung G800 ถูกเปิดตัวออกมาด้วยจุดขายว่าเป็น "กล้องมือถือรุ่นแรกที่มีความละเอียด 5 MP พร้อมการซูมออพติคัล 3x" ที่ถึงแม้สเปกจะสูงกว่าแต่การถ่ายวิดีโอก็ยังไม่แตะมาตรฐานของ N93 ด้วยความละเอียดเพียง 320p แต่ในปีต่อมา โทรศัพท์มือถือ Samsung G810 ก็มาพร้อมกับวิดีโอที่ความละเอียด 480p (ซึ่งยังเป็นช่วงเวลาที่ความละเอียด DVD ยังครองตลาดอยู่ และ Blu-ray กำลังเริ่มต้น)
Samsung G800 | Samsung G810 |
เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจขึ้นอีกในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ที่ โทรศัพท์มือถือ Samsung W880 ถือกำเนิดมาพร้อมเลนส์ด้านหลังแบบออพติคัลซูมที่เริ่มแยกไม่ออกว่าเป็นมือถือมีกล้องหรือกล้องคอมแพคโทรศัพท์ได้ สเปกกล้องก้าวกระโดดมาเป็นความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ซูม 3x แบบออพติคัล และสามารถถ่ายวิดีโอได้ที่ 720p แต่สมาร์ทโฟนรุ่นนี้ไม่มีโอกาสได้ออกวางจำหน่ายทั่วโลก
Samsung W880 AMOLED 12M | Samsung W880 AMOLED 12M |
ในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ทาง Samsung เอาดีไซน์ดังกล่าวกลับมาใช้อีก แต่เปลี่ยนจากฟีเจอร์โฟนมาเป็นสมาร์ทโฟนในรุ่น Galaxy S4 zoom และ Galaxy K zoom ซึ่งใช้เลนส์ออพติคัลที่ระบบกันสั่น สามารถซูมได้ถึง 10x (24-240mm) และเซ็นเซอร์กล้องที่ใหญ่ถึง 1/2.3 นิ้ว
Samsung Galaxy S4 zoom | Samsung Galaxy K zoom |
ไม่ใช่แค่มือถือที่อยากเป็นกล้องคอมแพค แต่มีกล้องคอมแพคที่ยืมระบบปฏิบัติการมือถือมาใช้ด้วย อย่างทาง Samsung ก็นำระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มาใส่บน Galaxy Camera GC100 (ค.ศ. 2012 / พ.ศ. 2555) และ Galaxy Camera 2 GC200 (ค.ศ. 2014 / พ.ศ. 2557) ที่แม้จะใช้แอนดรอยด์แต่ก็ไม่มีฟังก์ชันในการโทรให้ใช้งานแต่อย่างใด
Galaxy Camera GC100 | Galaxy Camera 2 GC200 |
เช่นเดียวกับกล้อง Nikon Coolpix S800c (ค.ศ. 2013 / พ.ศ. 2556) ที่ผลิตกล้องคอมแพคโดยใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.3 Gingerbread บนหน้าจอ OLED 3.5 นิ้ว ที่สามารถเข้าใช้งาน Play Store ได้เต็มรูปแบบ
Nikon Coolpix S800c ด้านหน้า | หน้าจอ OLED ของ Nikon Coolpix S800c |
ในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) แบรนด์กล้อง Polaroid ก็เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ลงสนาม 'สมาร์ทโฟนกล้องคอมแพค' ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากสมาร์ทโฟน Altek Leo ที่ได้เพิ่มความละเอียดจาก 14 MP มาเป็น 16 MP ซูมออพติคัลได้ 3x ถ่ายวิดีโอด้วยความละเอียด 720p
Altek Leo | The Polaroid SC1630 Android HD ด้านหน้า | หน้าจอ The Polaroid SC1630 Android HD |
ไม่ใช่ว่าทุกแบรนด์ผลิตกล้องโดยใช้เซ็นเซอร์จาก Sony แล้วทางค่ายผู้ผลิตเซ็นเซอร์เองจะนิ่งเฉย ในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ก็จัดหนักเหมือนกันด้วยการส่งอุปกรณ์เสริมสำหรับใช้งานกับกล้องบนสมาร์ทโฟนไลน์สินค้า QX ออกมา ที่มีให้เลือกใช้งานทั้งเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่หรือการซูมได้ไกล เช่น QX100 ใช้เซ็นเซอร์ 1 นิ้วจากกล้อง RX100, QX1 ใช้เซ็นเซอร์ APS-C และเปลี่ยนเลนส์ได้ หรือ QX30 ที่สามารถซูมออพติคัล 30x บนเซ็นเซอร์ขนาด 1/2.3 นิ้ว
QX30 | QX1 |
กลับมาสู่ช่วงดีไซน์ที่เล็กลงอีกครั้งกับ โทรศัพท์มือถือ Asus Zenfone Zoom (ค.ศ. 2015 / พ.ศ. 2558) ที่ใช้เลนส์ Periscope ซูมได้แบบ 3x ออพติคัล (28-84mm) ในความหนาของตัวเครื่องเพียง 12 มิลลิเมตร
Asus Zenfone Zoom ZX550 | Asus Zenfone Zoom ZX551ML |
เป็นช่วงที่ตลาดกล้องสมาร์ทโฟนเริ่มเล่นมายากลอย่าง โทรศัพท์มือถือ Huawei Mate 20 Pro ที่นอกจากจะใช้ 3x Optical Zoom แล้ว ก็ยังใช้มายากลดิจิทัลเนรมิต 5x Hybrid Zoom เพิ่มมาอีก
ส่วน โทรศัพท์มือถือ Nokia 808 PureView ก็มีมายากลของตัวเองในชื่อ Solid State Zoom ที่เป็นการซูมโดยการครอปตัดภาพจากความละเอียด 41 MP เหลือ 5 MP แล้วมาเร่งภาพให้ชัดอีกทีหนึ่ง
Nokia 808 PureView
Oppo เป็นแบรนด์แรกที่ออกมาพูดถึงเทคโนโลยีซูม 5x ปี 2017 แต่ Huawei แซงหน้าออก P30 Pro มาก่อน ทำให้กลายเป็นแบรนด์แรกที่ใช้เลนส์ Periscope แล้วซูมแบบออพติคัล 5x ได้นั่นเอง
เป็นแบรนด์ที่ในยุคสมาร์ทโฟนกล้องโดดเด่นเอามากๆ ตอนที่ โทรศัพท์มือถือ Huawei P30 Pro ออกมาถึงแม้ว่าการซูมออพติคัลแบบ 5x ด้วยเลนส์ Periscope เล็กๆ จะเป็นของใหม่ในตลาด แต่ก็โดนกลบด้วยการซูมแบบ 50x ที่ใช้ซอฟต์แวร์ AI ช่วยให้สามารถถ่ายดวงจันทร์ได้อย่างมีรายละเอียดแทนไปซะอย่างนั้น
หลังจากรุ่นนี้ ในปีเดียวกันก็มีแบรนด์ต่างๆ ออกกล้อง Periscope Zoom ด้วยระยะต่างๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็น 2x, 3x, 5x หรือซูมแบบไฮบริดถึง 10x และปีต่อๆ มาก็ก้าวกระโดดกันไปแข่งที่การซูม 50x, 100x ที่เอาจริงๆ แล้วถึงแม้ว่าจะสามารถซูมได้ขนาดนั้น แต่ภาพที่ออกมาก็ยังสวนทางกับความละเอียดกล้องที่มากขึ้นเรื่อยๆ อยู่ดี
|
... |