การท่องไปอวกาศ เพื่อสัมผัสกับสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง และมองทัศนียภาพของโลก ที่เต็มไปด้วยแสงไฟ คงเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคน และคงมีคนที่พร้อมจะยอมจ่ายเงินมหาศาล เพื่อแลกกับการได้ไปสัมผัสประสบการณ์แบบนั้นสักครั้งหนึ่งในชีวิต
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ การส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศ จะเป็นความจริงที่เรารู้อยู่แล้วว่ามนุษย์ทำได้ แต่ถ้าพูดถึงการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรม อย่างจริงจัง ก็ยังมีหลายปัจจัยที่ต่างฝ่ายต้องเตรียมพร้อม ซึ่งปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ เกี่ยวกับอวกาศ กำลังจะทำให้อุตสาหกรรมนี้กลายเป็นจริง และการท่องเที่ยวอวกาศเชิงอุตสาหกรรมกำลังจะเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564)
โดยวันนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ 6 องค์กรเอกชน ที่มีความสามารถจะพาคุณไปท่องอวกาศได้อย่างสบาย ๆ ถ้าคุณมีเงินมากพอจะซื้อตั๋ว แล้ว 6 องค์กรจะมีอะไรบ้าง ?
Virgin Galactic เป็นบริษัทที่จัดทัวร์อวกาศระยะสั้น พาคุณบินขึ้นสูง 100 กิโลเมตรเหนือจากระดับน้ำทะเล ที่ให้คุณได้สามารถขึ้นไปสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนัก และ เห็นทัศนียภาพของโลกในไม่กี่นาที ด้วยเครื่อง Virgin SpaceShipTwo ที่สามารถบรรทุกคนได้ 8 คน ประกอบด้วย 2 นักบิน และ 6 ผู้โดยสาร
ภายในตัวเครื่องบิน : จาก https://astronomy.com/news/2020/08/six-ways-to-buy-a-ticket-to-space-in-2021
ภาพภายนอกจาก : https://astronomy.com/news/2020/08/six-ways-to-buy-a-ticket-to-space-in-2021
Virgin Galactic ถือเป็นบริษัทแรก ๆ ที่เปิดธุรกิจนำเที่ยวอวกาศอย่างเป็นทางการและเปิดจองตั๋วแบบสาธารณะ ซึ่งวันแรกก็มีคนจองถึง 600 รายทันที และก็น่าจะมีเพิ่มมาอีกเรื่อย ๆ โดยไฟลท์ของกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกอาจยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะการเปิดทัวร์ ยังคงอยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัย
อย่างไรก็ตามปีนี้ บริษัท มีคิวปล่อยจรวดถึง 4 ครั้ง โดยครั้งแรก เป็นการทดสอบให้ 2 นักบินได้ลองปฏิบัติภารกิจจริง และ สำเร็จไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนช่วงพฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) ส่วนคิวที่สอง จะเป็นการพาพนักงานของบริษัท Virgin Galactic ขึ้นไป, ครั้งที่สาม Richard Branson CEO ของบริษัท Virgin Galactic จะขึ้นไปด้วยตัวเองเพื่อยืนยันเรื่องความปลอดภัย และในครั้งสุดท้ายช่วงสุดท้าย ก็จะเป็นลูกค้ารอบตัดเชือกของบริษัท ซึ่งก็คือ ตัวแทนของกองทัพอากาศอิตาลี
การทดสอบในรัฐ New Mexico / อเมริกา
Virgin Galactic คิดค่าตั๋วราคาอยู่ที่ 7.9 ล้านบาท (250,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อคน หากคุณเข้าไปสมัครที่เว็บไซต์ https://www.virgingalactic.com/ ตอนนี้จะมีค่าธรรมเนียมจองคิว 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อถึงคิวเที่ยวเมื่อไหร่ค่อยจ่ายเต็ม
SpaceX มีหลายบริการที่เกี่ยวกับการขนส่งทางอวกาศ ไม่ว่าจะเป็น บริการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ บริการพานักบินไปปฏิบัติการที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) แต่เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวจริงจัง แม้ที่ผ่านมา SpaceX จะไม่ได้เปิดเผยข้อมูลมากนัก แต่บริษัทก็มีอีเวนท์ที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้บ่อยครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ SpaceX จะขายตั๋วผ่านบริษัทเอกชนที่เป็นพันธมิตรกัน หรือไม่ขายตั๋วแบบส่วนตัวให้คนสำคัญขึ้นไปเที่ยวเล่น (ประมาณว่าลูกคนรวย ลูกนักการเมือง)
ล่าสุด SpaceX กำลังจับมือกับสตาร์ทอัพ Axiom Space นำ Crew Dragon ยานขับเคลื่อนอัตโนมัติ พานักท่องเที่ยวไปสถานีอวกาศนานาชาติและอาศัยอยู่กินที่นั่น 8 วันเต็ม โดยภารกิจนี้มีชื่อว่า Axiom Mission 1
สำหรับข้อมูลภารกิจ ตัวยาน Crew Dragon สามารถบรรจุคนได้ 4 คน ซึ่งตอนนี้ที่นั่งเต็มแล้ว ประกอบไปด้วย Michael López-Alegría นักบินอวกาศของ Axiom Space, Eytan Stibbe นักธุรกิจเกี่ยวกับอากาศยานของอิสราเอล, Larry Connor นักธุรกิจเจ้าของ Connor Group องค์กรด้านการลงทุนในสหรัฐ, และ Mark Pathy นักธุรกิจจาก Canada
ส่วนราคาเที่ยวบินนี้ อยู่ที่ 1,700 ล้านบาท (55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กำหนดการณ์บินคือ 22 มกราคม พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022)
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า Tom Cruise นักแสดงตัวท็อปที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดี และ Doug Liman (ดัค ไลแมน) ผู้กำกับ จะเป็นหนึ่งในลูกเรือที่จะบินไปถ่ายหนังในสถานีอวกาศ แต่ภายหลังมีข่าวออกมาแก้ว่าทั้ง 2 จะไปในเที่ยวต่อไปแทน
Elon Musk เคยประกาศเอาไว้นานมากแล้ว ว่าจะทำให้การท่องเที่ยวอวกาศในเชิงพาณิชย์เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดคือการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารเลยทีเดียว
ภาพจาก : https://www.axiomspace.com/
ไหน ๆ ก็พูดถึง Axiom Space ไปแล้วก็จับมาเล่าต่อเลย เดิมหน้าที่หลักของ Axiom Space คือการรับงานก่อสร้างโมดูล (ส่วนประกอบของสถานีอวกาศ) เชิงพาณิชย์บนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่ง NASA เป็นผู้ว่าจ้างเอง และโมดูลส่วนนี้ก็จะใช้สำหรับอยู่อาศัยเพื่อรองรับการท่องเที่ยว
ภาพจาก : https://astronomy.com/news/2020/08/six-ways-to-buy-a-ticket-to-space-in-2021
นอกจากเรื่องการต่อเติมโมดูลส่วนที่อยู่อาศัยแล้ว ก็ยังมีการต่อเติมในส่วนของ ห้องวิจัยสำหรับบริษัทเอกชน รวมไปถึงมีส่วนที่ให้ชมวิวอวกาศแบบ 360 องศาอยู่ด้วย บอกเลยถ้าขาด Axiom Space การท่องเที่ยวในอวกาศก็อาจจะไม่เกิดขึ้น และโมดูลส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญทำให้อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นได้
Blue Origin เป็นบริษัทของมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Amazon อย่าง Jeff Bezos ที่มาลงเล่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศเช่นกัน ซึ่งเป็นลักษณะทัวร์ระยะสั้น ๆ คล้ายกับของ Virgin Galactic จำกัดรอบละ 6 คน บินรอบวงโคจรอยู่ที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเลไม่กี่นาที พอที่จะได้สัมผัสทัศนียภาพของโลกและสภาวะไร้น้ำหนักบนแคปซูลอวกาศติดจรวดที่มีชื่อว่า New Shepard ก่อนจะกลับมายังพื้นโลก
ภายในแคปซูล : https://spacenews.com/blue-origin-to-fly-first-people-on-new-shepard-in-july/
ที่จริง บริษัท Blue Origin ยังไม่ได้ประกาศขายตั๋ว แต่คาดว่าอีกไม่นานจะเปิดขายตั๋วอย่างเป็นทางการ แม้จะไม่มีราคาบอกชัดเจน แต่ตัวเจ้าของอย่าง Jeff Bezos ก็เคยแอบออกมาใบ้ผ่าน Twitter ว่า ราคาหลายแสนดอลลาร์สหรัฐแน่นอน หากตีเป็นเงินไทยก็หลายล้านบาท
ภาพจากภายนอก : https://spacenews.com/blue-origin-to-test-new-shepard-abort-system-next-week/
ภาพจาก : https://astronomy.com/news/2020/08/six-ways-to-buy-a-ticket-to-space-in-2021
Boeing ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทเที่ยวอวกาศ ที่เข้าใกล้คำว่าธุรกิจพาท่องอวกาศ เพราะในปีนี้ หรือ พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) Boeing กำลังเตรียมพร้อมที่จะทดสอบปล่อยยาน Boeing Starliner เป็นยานอัตโนมัติไร้คนขับที่บรรจุคนได้ 7 คน และมีเป้าหมายในการทดสอบคือการพานักบินไปส่งถึง สถานีอวกาศนานาชาติ และหากสำเร็จด้วยดี นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งที่บริษัทจะเปิดธุรกิจพาคนท่องอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเช่นเดียวกับ Space X
Space Adventures เป็นบริษัทที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) ผ่านประสบการณ์ให้บริการเที่ยวบินส่วนตัวไปยังสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้ว และ ยังเคยเสนอพาคนไปเที่ยวไกลถึงดวงจันทร์อีกด้วยในปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) โดยเสนอค่าที่นั่งในราคา 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีกมากมาย นับว่ามีประสบการณ์อย่างโชกโชน
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Soyuz_(spacecraft)#/media/File:Soyuz_TMA-7_spacecraft2edit1.jpg
ส่วนในปีนี้ ล่าสุดพวกเขากำลังจะมีเที่ยวบินไปสถานีอวกาศนานาชาติ กับยานอวกาศโซยุซ (Soyuz Spacecraft) รหัส Soyuz MS-20 ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) ซึ่งจะเป็นจะเป็นการพานักธุรกิจชาวญี่ปุ่น 2 คนไป รายงานบอกว่าทริปนี้ราคาตกอยู่ที่ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 600 ล้านกว่าบาทเท่านั้นเอง !
นอกจากนี้แล้ว ทางบริษัท Space Adventures ก็ยังมีอีกโครงการท่องเที่ยวอวกาศที่ทำร่วมกับ SpaceX ในการนำยาน Crew Dragon พานักท่องเที่ยวลอยเข้าสู่วงโคจรรอบโลก สูงกว่าระดับของสถานีอวกาศนานาชาติ (300 - 400 กิโลเมตร) ซึ่งนับว่าเป็นการพานักท่องเที่ยวเข้าไปลึกที่สุดในห้วงอวกาศ โดยเสนอที่นั่ง 4 ที่นั่ง ราคาที่นั่งละ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐเหมือนกับโครงการ Axiom Mission 1 ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดบินแต่คาดว่าปลายปี หรือเป็น ปีหน้า ก็คือ พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) ส่วนลูกเรือก็ไม่มีการเปิดเผยเช่นกัน
ทั้งหมดที่เรานำมาวันนี้คือองค์กรที่มีความสามารถพร้อมรับการมาของอุตสาหกรรมเที่ยวอวกาศ
แน่นอนว่าในปีนี้ ยังคงเรียกได้ไม่เต็มปากว่าการท่องเที่ยวอวกาศนั้นกลายเป็นอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว แต่ปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) ก็นับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะปูทางไปสู่อนาคต ความเป็นไปได้สูงสุดที่เราจะเข้าถึงได้ตอนนี้น่าจะเป็นการเที่ยวในระยะสั้นเหมือนบริการของ Virgin Galactic ซึ่งหากผ่านพ้นปีนี้ไป เราอาจได้เห็น การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น และ ใครที่ยังอยู่คงต้องเตรียมเงินให้พร้อม จะได้ไปเที่ยวอวกาศกัน
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |