มองเผินๆ เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊คทั่วๆ ไป แล้ว HP ZBOOK15G4 รุ่นนี้ ดูเหมือนว่า จะเป็นโน้ตบุ๊คที่ดูแล้วค่อนข้างเทอะทะเสียเหลือเกิน เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊คในปัจจุบัน ที่ถูกออกแบบมาให้บ้างเฉียบ จนแทบจะเท่ากับแฟ้มเอกสาร แต่จริงๆ แล้ว โน้ตบุ๊คหน้าจอ 15 นิ้ว ที่มีน้ำหนักเกือบ 2 กิโลกรัมเครื่องนี้ เป็น Mobile Workstation ที่ถือได้ว่า เป็นคอมพิวเตอร์ Workstation ในแบบพกพาที่ขนาดตัวค่อนข้างจะบางเบาทีเดียว
HP ZBOOK15G4 เป็น Mobile Workstation ระดับเริ่มต้น (Entry Level) ที่ต่อยอดมาจากรุ่น G3 โดยสเปคของในรุ่นนี้ ได้จัดเต็มมาทั้ง CPU Intel Core i7-7820HQ และกราฟฟิก NVIDIA Quadro M1200 4GB เลยทีเดียว เอาเป็นว่า ลองมาค่อยๆ ทำความรู้จักกับ Mobile Workstation เครื่องนี้กันเลยดีกว่า
ดีไซน์ของ HP ZBOOK15G4 เครื่องนี้ มาพร้อมกับบอดี้โลหะพื้นผิวด้านที่ดูแข็งแกร่ง ฝาพับหน้าจอของตัวเครื่องเป็นกรอบดีไซน์เฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของ ZBOOK G Series ต่างกับโน้ตบุ๊คทั่วๆ ไป ที่จะเป็นผิวเรียบๆ ทั้งฝาหลัง ขอบตรงส่วนฝาพับ มีอักษร Mobile Workstation ระบุเผ่าพันธุ์ของตัวผลิตภัณฑ์อยู่
ทางด้านหน้าจอของตัวเครื่อง เป็นหน้าจอแบบ FullHD ขนาด 15.6 นิ้ว ด้านซ้ายบนของหน้าจอมีโลโก้ Bang & Olufsen ด้านบนมีกล้องเว็บแคม พร้อมไฟ LED และช่องไมค์ให้ใช้งาน
ทางด้านคีย์บอร์ด เป็น Full Keyboard ที่มี Numpad ให้ใช้งานด้วย ปุ่มคีย์บอร์ดมีไฟ Backlit ให้สามารถมองเห็นแป้นพิมพ์ ขณะใช้งานในที่มืด หรือที่แสงน้อยได้ ด้านบนซ้ายเป็นปุ่ม Power และบนขวามีปุ่มคีย์ลัด เชื่อมต่อ Wi-Fi กับ ปุ่ม Mute ให้ใช้งาน ส่วนด้านซ้ายล่างของตัวเครื่อง มีโลโก้ ZBook ประจำอยู่
(ปุ่มทั้ง 4 มุมของคีย์บอร์ดและนัมเบอร์แพดมีการดีไซน์เก็บมุมมนนิดๆ ทำให้คีย์บอร์ดดูนุ่มละมุนลงมาเล็กน้อย)
Touchpad อยู่ด้านใต้คีย์บอร์ดตรงกับปุ่ม Spacebar พอดี ซึ่งพอเป็นฟูลคีย์บอร์ด เลยทำให้ทัชแพดอยู่เยื้องไปทางซ้ายหน่อยๆ มีปุ่มคลิกทั้งซ้าย กลาง ขวา ให้ใช้งาน ซึ่งมีอยู่ 2 ตำแหน่งด้วยกัน ทั้งด้านล่างและด้านบนของทัชแพด ซึ่งด้านบนมีไว้ใช้กับตัว Joystick อีกหนึ่งทางเลือกในการบังคับเคอร์เซอร์เมาส์
(เพิ่งเคยลองใช้งาน Joystick บนโน้ตบุ๊ค ก็ค่อนข้างสะดวกดี แต่ต้องฝึกคุมน้ำหนักมือดีๆ เพราะเคอร์เซอร์เมาส์จะเร็ว-ช้า ตามน้ำหนักมือเราด้วย ซึ่งเอาจริงๆ เราถนัดการใช้ Touchpad มากกว่า)
|
|
ด้านขวาของตัวเครื่องมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่แถบหนึ่ง สำหรับล็อกอินเข้าใช้งาน Workstation ด้วย Windows Hello ซึ่งการสแกนจะเป็นแบบลากนิ้ว และใช้เวลาระดับหนึ่ง เพื่อจะเข้าถึง Windows
ด้านพอร์ตการใช้งาน HP ZBOOK15G4 ให้มาอย่างครบถ้วน ทั้ง USB 3.0, USB 3.0 สำหรับชาร์จ, USB Type-C, HDMI, VGA, พอร์ตสายแลน และ ช่อง SD Card เรียกว่าใช้พื้นที่ความหนาของ Mobile Workstation ได้อย่างคุ้มค่า ต่างจากไลน์โน้ตบุ๊คทั่วๆ ไป ที่แข่งกันบางซะจน ต้องเลือกตัดพอร์ตหลายๆ ตัวทิ้งไป (แน่นอนว่าแล็บท็อปสำหรับทำงาน ก็ต้องทำให้สะดวกต่อการใช้งานมากที่สุด)
ด้านใต้ของตัวเครื่อง สามารถเปิดเพื่อสลับเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ได้ ตัวน็อตเป็นรูปแบบดาวหกแฉก (ประมาณเบอร์ 8) มียางรองฐานตัวเครื่องเป็นแผ่นยาว ล้อมรอบฝาด้านล่าง ที่มีความหนาพอสมควร ช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องที่ค่อนข้างมีน้ำหนักได้อย่างดี
เปิดมาด้านใน หลักๆ ที่น่าสนใจก็คือ Memory Slots สำหรับใส่ RAM ที่มีด้วยกันถึง 4 สล๊อต เท่ากับว่า Workstation รุ่นนี้ สามารถเพิ่มแรมสูงสุดได้ถึง 32 GB ด้วยกัน (8x4) ส่วนแบตเตอรี่ที่ใช้ มีความจุอยู่ที่ 7895 mAh ซึ่งก็ใหญ่พอสมควร
ลองนำ HP ZBOOK15G4 มาลองทดสอบใช้งานกับโปรแกรมตัดต่อวิดีโอยอดนิยมดู ก็สามารถใช้งานได้ลื่นไหลมาก ไม่ว่าจะเป็นการ Import ไฟล์วิดีโอต่างๆ หรือการลาก ตัดต่อ ใน Timeline ก็แทบจะไม่ต้องใช้เวลาในการโหลดวิดีโอเลย ส่วนเวลาในการ Export ตัวคลิปขนาด 221 MB ที่ทดสอบนี้ ก็ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีเท่านั้น ใช้เวลาเร็วกว่า iMac ที่ออฟฟิสเล็กน้อย (รุ่นปลายปี 2015) ที่ใช้ Intel Core i5 3.2GHz, RAM 16 GB DDR3, AMD Radeon R9 M390 2048MB
ลองทดสอบความสามารถของทั้ง CPU และ GPU ผ่านทางโปรแกรม CINEBENCH ดู พบว่าเฟรมเรตของการแสดงผลจาก OpenGL สามารถทำได้สูงถึง 91.73 fps เลยทีเดียว ส่วนทางด้านของ CPU ก็ทำคะแนนจาก CINEBENCHได้ถึง 773 cb ด้อยกว่า Intel Core i7 4th Gen 4.40GHz เพียงเล็กน้อยเท่านั้น (HP ZBOOK15G4 ใช้ Inter Core i7 7th Gen 2.90 GHz)
*เครื่องที่ทดสอบ ใช้ Windows 10 Pro นะ แต่โปรแกรมดันจับว่าเป็น Windows 8 ส่วนสเปคที่เหลือตรงปกครับ
น่าเสียดายเล็กๆ ที่ HP ZBOOK15G4 เครื่องนี้ ไม่ใช่รุ่นท็อปที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี DreamColor แต่เป็นเพียงหน้าจอความละเอียด Full HD พร้อมฟิล์ม Anti-Glare ซึ่งก็ให้การแสดงสีสันที่ค่อนข้างโอเคนะ ระหว่างที่ถ่ายรูปทำรีวิว ก็มีการจัดแสงถ่ายรูปบ้าง และสังเกตได้ว่า หน้าจอ ไม่ค่อยจะสะท้อนกับแสงของไฟสตูดิโอเท่าไหร่นัก ถือว่าสบายตา สบายใจในการใช้งานมาก
ส่วนด้านลำโพง Bang & Olufsen คู่ผลิตภัณฑ์ HP ก็ทำได้ค่อนข้างโอเค เนื่องจากเป็นโน้ตบุ๊คหน้าจอขนาด 15 นิ้ว ทำให้สามารถวางช่องลำโพงได้กว้างหน่อย (แถบด้านบนของคีย์บอร์ด) เสียงที่ออกมา ก็เลยค่อนข้างจะมีมิติอยู่หน่อยๆ ทำงานตัดต่อวิดีโอ จะเช็คเสียงรวมๆ ของคลิป ก็ทำได้ไม่น่าเกลียด แต่ถ้าจะฟังเสียงเบสหนักๆ หรือคลิปที่พลังเสียงเยอะๆ ก็คงต้องหาหูฟัง หรือลำโพงอื่นๆ มาต่อแทนละครับ
ข้อดี
| ข้อสังเกต
|
สำหรับ HP ZBOOK15G4 ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับคนใช้งาน Workstation ที่ต้องการสเปคสูงกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป และต้องการเคลื่อนย้ายขุมพลังคอมพิวเตอร์ไปไหนมาไหนด้วย (ถ้าไม่ติดปัญหาเรื่อง น้ำหนักของ Mobile Workstation ที่ค่อนข้างหนักอยู่ เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊คทั่วๆ ไป แต่รุ่นนี้ ก็ถือว่าเล็กมากแล้ว เมื่อเทียบกับ Mobile Workstation อื่นๆ) ด้านสเปคก็มีทรัพยากรเพียงพอให้สามารถใช้งานโปรแกรมตัดต่อ หรือโปรแกรมกราฟฟิกต่างๆ ได้อย่างสบายๆ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ ซึ่ง ZBOOK15G4 รุ่นที่รีวิวตัวนี้เป็นรุ่นเล็กสุด หากใครที่พอมีกำลังมากกว่านี้ ก็สามารถขยับไปเลือกใช้งานรุ่นที่หน้าจอเป็นทัชสกรีน หรือ DreamColor ที่ให้สีสันที่สดใสมากกว่า
|
... |