ข้อดี
| ข้อสังเกต
|
Huawei P20 เป็นสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นล่าสุดของทางหัวเว่ย ต่อจากรุ่น P10 ซึ่งเหตุที่ไม่ใช้ชื่อว่า P11 ก็เป็นเพราะดีไซน์ ที่เปลี่ยนมาใช้หน้าจอแบบ FullView Display ที่มีรอยบาก notch อยู่ด้านบนของหน้าจอ โดยนอกจากรุ่น P20 แล้ว ยังมีอีก 2 รุ่นในซีรีย์นี้ ได้แก่ Huawei P20 Lite และ Huawei P20 Pro ที่เราเคยพรีวิวไปก่อนหน้านี้
ซึ่งคงเป็นคำถามสำหรับสาวกหลายๆ คนว่า ควรจะใช้รุ่นไหนดี ระหว่าง P20 กับ P20 Pro เพราะด้วยราคาที่ต่างกันพอสมควร เราเลยขอหยิบ Huawei P20 มาแนะนำให้รู้จักกันบ้าง
สเปคของสมาร์ทโฟน Huawei P20
จอ FullView พร้อม notch
ปีที่แล้ว ตอนที่ P10 เปิดตัว เราแอบชั่งใจอยู่เล็กๆ เพราะว่าดีไซน์ Infinity Display ของ S8 นี่สวยจริงๆ ซึ่ง P10 ยังเป็นหน้าจอแบบ 16:9 อยู่ (ที่ขอบหนาๆ นั่นแหละ) แต่ใน Huawei P20 นี้ ได้ปรับเปลี่ยนเป็น จอแบบ FullView Display อัตราส่วน 18.7:9 แถมยังเพิ่ม notch มาด้วย ทำให้ P20 เป็นสมาร์ทโฟนอีกรุ่นมีดีไซน์ที่ไม่ล้าสมัยอีกต่อไป ซึ่งก็ดูเต็มตาน่าใช้มากเลยทีเดียว
มีเรื่องน่าเสียดายอยู่จุดหนึ่ง ก็คือหน้าจอของ Huawei P20 เป็นหน้าจอแบบ LCD ซึ่งความคมชัดและแสงสี จะไม่เท่ากับ Huawei P20 Pro ที่ใช้จอแบบ OLED
เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือใต้หน้าจอ
ใน Huawei Mate Series จะมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ด้านหลังของตัวเครื่อง แต่สำหรับ P series แล้ว ถึงแม้ว่าในรุ่น P20 จะเป็นหน้าจอแบบ FullView Display แต่ก็ไม่ยอมย้ายเซ็นเซอร์ไปด้านหลังอยู่ดี (ถ้าย้ายไป ขอบจอด้านล่างอาจจะบางขึ้นอีกหน่อย) ซึ่งสิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือนี้ ก็คือการนำมาใช้แทนปุ่ม Nav key ได้ ตัดปัญหาที่บางที ปุ่ม Nav Key ไม่ขึ้นมาให้กดได้ (กดปุ่ม 1 ที = Back, กดค้าง = Home, ปัดซ้าย-ขวา = เข้า Recent Apps)
ช่องต่อหูฟัง 3.5mm หายไป
Huawei P20 ถูกตัดช่องแจ็คเสียบหูฟังออกเป็นที่เรียบร้อย (ในกล่องมีสายแปลง USB-C เป็น 3.5mm ให้) โดยลำโพงสปีกเกอร์นั้นอยู่ด้านขวาของพอร์ต USB-C เช่นเดิม ส่วนด้านซ้ายที่มีลักษณะคล้ายรูลำโพงนั้น เป็นเพียงช่องไมค์เท่านั้น (1 ช่องไมค์ 4 ช่องบอด) ด้วยเหตุที่ทำให้มีลักษณะเป็นรูลำโพงเหมือนกัน เพราะยึดหลักดีไซน์แบบ Symmetric นั่นเอง
ปุ่ม Power สีแดง เปลี่ยนดีไซน์จาก P10
Huawei P20 มีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และปุ่ม Power อยู่บริเวณด้านขวาของตัวเครื่องเช่นเดิม แต่ที่เปลี่ยนแปลงก็คือลายสีแดงบนปุ่ม Power ได้เปลี่ยนจากเส้นรอบตัวปุ่ม กลายเป็นขีดบริเวณด้านบนของปุ่มแทน ซึ่งเราว่าแบบเก่าเท่กว่า
บอดี้ด้านหลังตัวเครื่อง
Huawei P20 ได้เปลี่ยนจากบอดี้อลูมิเนียม มาเป็นบอดี้กระจก ที่มีความเงางาม สวยหรู (และเปื้อนรอยนิ้วมือ) มากกว่า ซึ่งเสน่ห์ของ P20 ก็คือบอดี้สี Twilight ที่ได้นำกระจกหลายๆ ชิ้นมาเรียงต่อกันให้เกิดการไล่สีสวยๆ แต่น่าเสียดายที่เครื่องที่เราได้มารีวิวเป็นบอดี้สีดำ และรุ่น P20 ไม่มีสี Twilight จำหน่ายในประเทศไทย (มีบนรุ่น P20 Pro) ครับ
อีกหนึ่งจุดสังเกต ก็คือ โลโก้ Huawei และ ตัวหนังสือต่างๆ ไม่ได้ถูกจัดเรียงในแนวตั้ง แต่ถูกวางในแนวยาวเป็นแถวเดียวกับเลนส์คู่ ถือเป็นการบอกว่า สมาร์ทโฟนรุ่นนี้ จะถูกใช้งานในแนวนอนเป็นหลัก สำหรับการถ่ายรูป (หรือเล่นเกมส์กันนะ 555)
หน้าจอ LCD ที่ไม่ได้เปลี่ยนเป็น OLED
ถึงจะบอกว่าหน้าจอของ Huawei P20 ไม่ได้เปลี่ยนไปใช้จอ OLED ซึ่งทำให้จอแสดงผลไม่คมชัดเต็มอิ่มเท่า แต่จริงๆ แล้ว จอ LCD ของ P20 ก็ดูสวยสบายตา น่าใช้งานไม่น้อยเลย ด้านความคมชัดก็ถือว่าดีมากๆ (หากไม่เคยเห็นจอ OLED มาก่อนนะ)
ด้วยระบบปฏิบัติการ EMUI นั้นมีฟีเจอร์ให้เล่นเยอะแยะหรือปรับแต่งให้ใช้งานตามถนัดมากมาย แต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง ฟีเจอร์เด่นๆ ให้ได้รับชม (และนำไปลองเล่น) กันนะครับ
หน้าจอโฮมสกรีน
ในระบบปฏิบัติการ EMUI จะมีหน้าจอ Home Screen หรือ Launcher ให้เลือกใช้งาน 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ แบบ Standard ที่ทุกแอปฯ จะอยู่ที่หน้าโฮมทั้งหมด (ซึ่งหน้าเพจของโฮม จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนแอปฯ ที่มี) และ แบบ Drawer ซึ่งแอปฯ ทั้งหมดจะถูกเก็บเอาไว้ใน App Drawer และเราสามารถเลือกเฉพาะแอปฯ ที่ใช้งานบ่อยๆ มาไว้ในหน้าโฮมแทน โดยทั้ง 2 รูปแบบ เราสามารถสร้างโฟลเดอร์แยกประเภทแอปฯ ขึ้นมาบนหน้าโฮมได้
หน้า Home screen แบบ Standard
หน้า Home screen แบบ App Drawer
Notch
ฟีเจอร์นี้พูดไว้ตั้งแต่ตอนพรีวิว P20 Pro แล้ว ก็คือหากใครที่ไม่ชอบ Notch ก็สามารถเข้าไปในการตั้งค่า เพื่อปิด notch ออกไปได้ แต่จากที่ได้เคยสัมผัสกับ P20 Pro ที่ใช้จอ OLED มาแล้ว จะเห็นได้ว่า แถบสีดำที่ขึ้นมาปิดจอของ P20 Pro จะดำเนียนกว่าจอของ P20 ที่แถบสีดำแอบดูสว่างนิดๆ
ข้อนิ้วมหัศจรรย์
อันนี้ชอบมาก ตอน P10 ก็ใช้งานเป็นประจำ ระบบปฏิบัติการแบบ EMUI จะสามารถใช้ข้อนิ้วป้อนคำสั่งต่างๆ ในการใช้งานได้ เช่นการแคปหน้าจอ แบ่งจอ เข้าแอปฯ ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งที่ใช้บ่อยเลยก็คือการแคปหน้าจอเฉพาะพื้นที่ สะดวกจริงจัง
เคาะ 2 ที เพื่อแคปหน้าจอที่กำลังเปิดอยู่ (หรือใช้ 2 ข้อนิ้ว เคาะ 2 ที เพื่ออัดคลิปหน้าจอก็ได้)
หรือจะเคาะแล้ววาดวงตามพื้นที่ที่ต้องการแคปหน้าจอก็ได้ ไม่ต้องไปครอบตัดภาพที่หลัง
เคาะแล้วลากตรงกลางหน้าจอ เพื่อแบ่งหน้าจอเปิดใช้งาน 2 แอปฯ พร้อมกัน (ใช้ไม่ได้ทุกแอปฯ)
ฟีเจอร์ Draw ที่เราสามารถวาดตัวอักษร เพื่อเข้าไปยังแอปฯ ต่างๆ ที่ตั้งค่าไว้
ซึ่งค่าเริ่มต้นในตัวอย่างได้เซ็ตตัว 'c' เป็นกล้อง, ตัว 'e' เป็นเบราว์เซอร์
ปุ่มสแกนลายนิ้วมือ ที่ใช้เป็น Nav Key ได้
โดยทั่วไปแล้วสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ หากไม่มีปุ่ม Soft keys ต่างๆ ให้ใช้งาน (ปุ่ม Home, Back, Option/Recent App) ก็จะมี Nav Key ให้ใช้งานในหน้าจอของตัวเครื่อง (ตามรูปด้านล่าง) ซึ่งหากสาวก EMUI ไม่อยากให้มีปุ่มเหล่านี้ในหน้าจอ ก็สามารถปิด Nav Key และเปลี่ยนไปใช้เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแทนปุ่มพวกนี้ได้
โดยวิธีการใช้งานเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ จะมีคำสั่งต่างๆ ดังนี้
ด้วยกล้องตัวที่ 3 ที่หายไป ทำให้ความสามารถที่เราเคยได้ทดสอบบน Huawei P20 Pro นั้น หายไปจาก Huawei P20 พอสมควรเลย แต่ถามว่า มันทำให้คุณภาพของกล้องแย่ลงไหม ขอตอบเลยว่าไม่แน่นอน ซึ่งความแตกต่างของ Huawei P20 กับ P20 Pro และความน่าสนใจต่างๆ ของกล้อง Huawei P20 มีดังนี้
หน้าตา UI ไม่เหมือนกับรุ่น Pro
ใน Huawei P20 Pro มีการปรับ UI ของกล้องใหม่ ที่สามารถเลือกโหมดกล้องได้ง่ายและหลากหลายขึ้น เพียงปัดซ้าย-ขวา ก็เปลี่ยนโหมดกล้องระหว่างโหมด Night, Portrait, Photo, Video, Pro ฯลฯ ได้ทันที แต่สำหรับ Huawei P20 จะใช้ UI กล้องเหมือนกับในรุ่น P10 ที่มีฟังก์ชั่นใช้งานได้น้อยกว่า แต่ก็เรียบง่ายและคุ้นมือดี
|
ไม่มี Optical Zoom
ใน Huawei P20 Pro มีจุดขายที่ การซูมแบบ Optical ที่ 3x และการซูมแบบ Hybrid ถึง 5x แต่สำหรับใน P20 จะมีเพียงการซูมแบบ Hybrid ที่ 2x เช่นเดียวกับในรุ่น P10 ก่อนหน้า
ซึ่งจากความเห็นของเราแล้ว ฟังก์ชั่นซูมกล้องในแบบ Hybrid ช่วยให้เราสามารถถ่ายภาพในระยะได้ใกล้ขึ้นก็จริง ซึ่งสามารถนำมาใช้งานได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ละเอียดและคมชัดเท่ากับการเปิดความละเอียดสูงสุดที่ 20MP (หรือ 40MP ใน Huawei P20 Pro) เพราะฉะนั้นหากต้องการดึงประสิทธิภาพสูงสุดของกล้อง Huawei ออกมา การถ่ายแบบความละเอียดสูงสุด จะเห็นผลมากกว่า (ซึ่งในโหมดความละเอียดสูงสุดจะไม่สามารถซูมได้)
ในความละเอียดสูงสุด กล้องจะล็อกการซูมเอาไว้
โหมด 3D Face ทำได้น้อยกว่ารุ่น Pro
ใน Huawei P20 Series เวลาที่ถ่ายพอร์ตเทรตหรือถ่ายเซลฟี่ กล้องจะมีฟังก์ชั่นตรวจจับใบหน้าเป็น 3 มิติ และเลือกฟิลเตอร์แสงจำลองให้เหมือนกับการถ่ายรูปในสตูดิโอได้ ซึ่งใน Huawei P20 Pro เราจะสามารถไปปรับแต่งรูปแบบแสงหรือทิศทางแสงในภายหลังได้ด้วย แต่สำหรับ P20 จะสามารถทำได้เพียงเลือกฟิลเตอร์ก่อนถ่ายเท่านั้น
ถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงสุด 20MP (รุ่น Pro ได้ 40MP)
เอาจริงๆ ความละเอียด 20MP บน Huawei P20 ก็ถือว่าให้รายละเอียดภาพได้ดีอยู่แล้ว (ส่วน 40MP เรียกว่าดีมาก) ซึ่งหากไม่ได้เอาภาพไปปริ้นเพื่อไปแปะป้ายโฆษณา หรือเอาไปตกแต่งเพิ่มเติม ก็น่าจะเพียงพอกับการใช้งานนะ
เปรียบเทียบระหว่าง 20MP, 12MP และ 12MP (แบบ Hybrid Zoom)
ภาพเต็ม
20MP | 12MP | Hybrid Zoom 2x |
ภาพครอบตัดเฉพาะยอดตึก
20MP | 12MP | Hybrid Zoom 2x |
จากการเปรียบเทียบความละเอียดของภาพ 3 รูปแบบ จะเห็นได้ว่าในขนาด 20MP และ 12MP นั้น ไม่แตกต่างกันมากนัก อาจจะเพราะด้วยขนาดภาพที่ขึ้นเว็บไซต์ ความละเอียดของทั้ง 2 รูปแบบ ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน แต่อาจจะเห็นผล หากนำไปใช้กับงานพิมพ์ที่ต้องขยายขนาดของรูปเพิ่มขึ้นอีก
ส่วนในภาพ Hybrid Zoom 2x จะเห็นได้ว่า มิติของภาพจะดูมีความลึกและความคมชัดน้อยลง รวมทั้งจุดรบกวนที่มากขึ้น ซึ่ง Huawei P20 Pro ที่สามารถซูมแบบ Optical ที่ 3x ทำได้ดีกว่า แต่หากใครไม่ได้ใช้การซูมถ่ายบ่อยๆ อยู่แล้ว กล้องของ Huawei P20 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
โหมด AI ช่วยในการถ่ายภาพ
ก่อนหน้านี้ สมาร์ทโฟนมีกล้องโหมด Auto ที่ไม่สามารถถ่ายรูปได้ทุกรูปแบบ ตลาดจึงพัฒนาโหมดโปร มาให้ใช้งานในมือถือ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใช้งานโหมดโปรได้อย่างคล่องแคล่ว และล่าสุด ก็ได้มี AI มาช่วยในการถ่ายรูปให้เป็นเรื่องง่ายขึ้น อย่าง Huawei P20 นี้ ก็มี AI มาช่วยในการถ่ายภาพ (ซึ่งมีมาตั้งแต่ Huawei Mate 10 แล้ว) โดย AI ในรุ่นนี้ จะรู้จักประเภทของภาพถ่ายต่างๆ มากกว่ารุ่นก่อน ทำให้เราสามารถถ่ายภาพต่างๆ ได้สวยขึ้น เช่น อาหารสีสดน่ากินขึ้น ถ่ายย้อนแสงก็เห็นรายละเอียดชัดเจน ถ่ายสัตว์เลี้ยงที่เคลื่อนไหวก็ชัดเป๊ะ ถ่ายดอกไม้ใบหญ้า ก็สีสดใส ถ่ายของชิ้นเล็กๆ ก็ชัดเจนใหญ่เต็มเฟรม เป็นต้น
อาหารที่ถูกถ่าย จะเป็นโทนอบอุ่น ซึ่งทำให้อาหารดูน่ากินขึ้น
ดอกไม้ จะถูกเร่งสีให้มีความสดกว่าปกติ (ซึ่งสดกว่าดอกไม้จริงอยู่หลายเบอร์เหมือนกัน)
ส่วนวัตถุสีเขียว ก็จะถูกเร่งให้สีเขียวสดขึ้น (เทียบกับรูปดอกไม้แล้ว สีเขียวในภาพนี้จะสว่างสดใสกว่า)
ซึ่งบางครั้งบางที โหมด AI ก็ไม่ได้ดังใจอยู่บ้างในบางกรณี เช่นการเห็นสุนัขพันธุ์บางแก้วหูตั้งเป็นแมว เห็นหลังคาสีเขียวเป็นพื้นหญ้า หรือการถ่ายอาหาร ที่บางครั้งเราตั้งใจจะซูมรายละเอียดอาหารใกล้ๆ กล้องก็เปลี่ยนโหมดเป็น Close-up แทน (ซึ่งโหมด Close-up กลายเป็นซูมเข้าไปแบบอัตโนมัติอีก ทำให้บางทีเราไม่สามารถจัดองค์ประกอบได้ดั่งใจ)
จัดองค์ประกอบภาพ กะว่าจะให้เห็นชิ้นเนื้อโตๆ กล้องดันซูมเข้าไปอีกซะงั้น
โหมดถ่ายภาพกลางคืน
ในโหมดถ่ายกลางคืนของกล้อง Huawei P20 นี้ ก็เหมือนกับโหมดถ่ายกลางคืนของสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ที่เราต้องถือกล้องนิ่งๆ ตามเวลาที่กำหนด (ที่ได้ลอง ใช้เวลานานสุด 6 วินาที) ซึ่งจากที่เคยได้ลองมาในรุ่นอื่นๆ ก็จะมีเบลอบ้าง แสงล้นบ้าง แต่สำหรับ Huawei P20 ไม่รู้ว่าเพราะ AI หรือระบบกันสั่น ซึ่งภาพที่ได้ออกมาก็คมชัดอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
รูปตัวอย่างที่ถ่ายด้วยโหมดกลางคืน
ในรูปแรก แม้จะเห็นว่าดูมีแสงไฟ แต่จริงๆ แล้ว เคาน์เตอร์ด้านหน้าและร่ม ค่อนข้างจะมืดสนิท แต่เมื่อถ่ายออกมากลับแสงพอดี แถมแสงไฟจากร้านรอบๆ ที่สว่างกว่า ไฟก็ไม่ได้ล้นออกมาอีกด้วย ลักษณะการทำงานของโหมดกลางคืนจึงคล้ายกับการถ่ายภาพแบบ HDR ก็คือการถ่ายภาพหลายๆ ช็อต แล้วเลือกเอาพื้นที่ที่แสงพอดีมารวมเป็นภาพสมบูรณ์ ประทับใจมากๆ สำหรับโหมดถ่ายภาพนี้
การถ่ายวิดีโอสโลวโมชั่น
สำหรับการถ่ายวิดีโอสโลวโมชั่น Huawei P20 Pro จะสามารถถ่ายที่ความละเอียดสูงสุด 960fps แต่บน Huawei P20 สามารถทำได้สูงสุดเพียง 240 fps เท่านั้น
ถ้าไม่ติดเรื่องหน้าจอ OLED, กล้องใหม่ที่ซูมชัดๆ ได้เยอะกว่า และมาตรฐานกันน้ำ เรามองว่า Huawei P20 เป็นสมาร์ทโฟนอีกรุ่นหนึ่งที่คุ้มค่า และน่ามีไว้เป็นสมาร์ทโฟนข้างกายอยู่ไม่น้อยนะ ด้วยความที่เป็นสมาร์ทโฟนเรือธงที่ราคายังไม่ก้าวข้าม 20,000 บาท (ซึ่งรุ่นเรือธงยอดนิยมในตลาด ก้าวไปเกือบเลข 3 กันแล้ว) และมีฟีเจอร์การใช้งานที่ครบครัน ทำให้ Huawei P20 จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก ที่น่าพิจารณาให้เป็นสมาร์ทโฟนข้างกายอีกรุ่นหนึ่งในปีนี้ครับ
|
... |