ไม่เพียงแต่ในโลกของภาพยนตร์ที่ Spin-Off หรือการนำตัวละครไม่ก็ส่วนที่น่าสนใจจากในผลงานหลักไปต่อยอด ให้ผลงานตั้งต้นถูกขยายรายละเอียดเสริมที่ตัวผลงานหลักไม่มีเวลาบอกเล่า ไปจนถึงทำให้ผลงานหลักนั้นมีมุมมองที่น่าสนใจและน่าขบคิดมากยิ่งขึ้น (แต่เอาจริงๆ มันก็คือช่องทางการหาเงินเพิ่มนั่นแหละ ฮ่าๆ) ซึงในโลกของเกมส์เอง วิธีการดังกล่าวก็มักจะถูกนำมาใช้อย่างบ่อยครั้งจนอาจกล่าวได้ว่าวิธีการนี้มีความนิยมไม่น้อยไปกว่าการรีมาสเตอร์ รีเมค และรีบูตเลยทีเดียว แต่ในบทความตัวนี้ ผู้เขียนได้ทำการหยิบจับ "10 เกมส์ที่ใครหลายคนอาจจะเคยผ่านหูผ่านตาหรือผ่านมือมาไม่มากก็น้อย" แต่มันจะผลงานไหนบ้างนั้น เชิญตามติดได้นับจากนี้เลยครับ
แม้ในทุกภาคหลักของ Final Fantasy ซีรีย์เกมส์เจ้าตำนาน RPG ผู้ค้ำฟ้าแห่งวงการนี้ จะเป็นการสร้างโลกพื้นหลังขึ้นมาใหม่ (แต่บางภาคจะอยู่ในจักรวาลหรือใช้ปูมหลังและตำนานเดียวกัน) พร้อมด้วยเนื้อเรื่องที่เริ่มต้นและจบในภาค แต่จากความประสบความสำเร็จในระดับมหาศาลที่ Final Fantasy VII ได้รับ รวมไปถึงหลากหลายตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีเอกลักษณ์ทั้งการออกแบบคาแรคเตอร์ดีไซน์และปูมหลังเรื่องราว ก็ดูจะเป็นการยากนักที่ผู้พัฒนา/จัดจำหน่ายอย่าง Square Enix จะทอดทิ้งวัตถุดิบชั้นเลิศโดยไม่กระทำการสานต่อความสำเร็จใดๆ เพิ่มเติม
Dirge of Cerberus เป็นเกมส์ในลำดับที่สองที่ได้ Spin-Off ออกมาจาก Final Fantasy VII ที่ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็น Vincent Valentine (วินเซนต์ วาเลนไทน์) หนึ่งในตัวละครที่น่าจดจำและมีเอกลักษณ์จาก Final Fantasy VII
โดยเนื้อเรื่องของเกมส์จะเกิดขึ้น 3 ปีให้หลังจากเหตุการณ์ในภาคหลัก ที่วินเซนท์จะต้องช่วยเหลือผู้คนจาก Deepground องค์กรที่หมายจะปลุก Omega อสูรกายที่สามารถทำลายล้างโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ในพริบตา
ซึ่งในเมื่อภาคนี้ เราจะได้สวมบทบาทเป็นตัวเขา แน่นอนว่าอาวุธที่เราจะได้ใช้เป็นหลักคือ “ปืน” ที่ซ้ำมุมมองในการเล่นไปจนถึงรูปแบบการเล่นเองก็ได้กลายเป็น Action - Adventure ที่มีระบบ RPG อันเป็นเอกลักษณ์ของ Square Enix ในแทบจะทุกผลงานแทรกเข้าในหลายส่วนของเกมเพลย์ (ว่าแต่ หมอนี่เขาเป็นอะไรกับ Jill Valentine...)
เกมส์ลำดับที่สามที่ Spin-Off ออกมาจาก Final Fantasy VII โดยผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็น Zack Fair (แซ็ค แฟร์) ตัวละครที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อพี่ค้าว (Cloud หรือว่าคลาวด์นั่นแหละ) ตัวละครเอกจากภาคตั้งต้น ที่… ผู้เขียนไม่ขอเปิดเผยเนื้อหาใดๆ ต่อละกันนะครับว่าเขาสำคัญกันเช่นไร แต่เอาเป็นว่ามันคือการเติมเต็มเนื้อเรื่องปูมหลังที่ขาดหายไปของคลาวด์ที่เราไม่ได้รับรู้จากตัวเกมส์หลักนั่นแหละ
และเช่นเดียวกันกับ Dirge of Cerberus ที่ตัวเกมส์ในภาคนี้ได้เปลี่ยนระบบการเล่นให้กลายเป็น Action ที่ระบบ RPG ยังคงคลุมองค์รวมผลของการต่อสู้พร้อมด้วยระบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในเกมส์ฉบับนี้อย่าง Slot machine อันเป็นการสุ่มท่าพิเศษต่างๆ ที่จะช่วยเหลือผู้เล่นในการต่อสู้ ซึ่งภาพรวมของตัวเกมส์นั้นได้รับคำวิจารณ์ออกมาดีเยี่ยมในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเนื้อเรื่อง ระบบการเล่น และในหลายสำนักรีวิวหรือเกมเมอร์หลายคนต่างยกให้ Crisis Core: Final Fantasy VII เป็นเกมส์ที่ควรค่าหามาเล่นและเป็นเจ้าของควบคู่เครื่องเล่น PSP เลยทีเดียว
ถ้าจะให้ว่ากันตรงๆ วินาทีนี้ซีรีย์ Persona มันขายได้ด้วยตัวมันเองเป็นที่เรียบร้อย แต่หากย้อนกลับไปมอง 4 ภาคก่อนหน้านี้ที่ไม่ใช่การ Spin-Off อีกต่อหนึ่ง (เกมส์เต้นอย่าง Persona 4: Dancing All Night หรือว่าเกมส์ต่อสู้อย่าง Persona 4 Arena เป็นต้น) ก็จะสังเกตได้ว่าทุกภาคจะต้องยังชื่อไตเติลของ Shin Megami Tensei พ่วงมาตลอดเพื่อใช้เป็นจุดขาย นั่นก็เพราะไตเติลดังกล่าวคือชื่อของแฟรนไชส์เกมส์ RPG ที่ไว้ใช้ครอบคลุมซีรีย์มากหน้าหลายตาจากทางผู้พัฒนาอย่าง Atlus อีกที และโดยส่วนมากซีรีย์เกมส์ทั้งหลายที่อยู่ในแฟรนไชส์ Shin Megami Tensei จะขึ้นชื่อเรื่องความยากในการเล่น และเส้นเรื่องที่หมองหม่น
แต่การมาถึงของ Persona โดยเฉพาะในภาคที่ 3 - 5 เกมส์ดังกล่าวก็ได้กลายเป็นซีรีย์ Spin-Off ที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด อันเป็นผลพวงมาจากการดำเนินเนื้อเรื่องที่เปลี่ยนโทนจากโลกที่ล่มสลาย กลายเป็นการบอกเล่าผ่านกลุ่มตัวละครในวัยมัธยมตอนปลายที่ผู้เล่นในวัยเดียวกันกับตัวละครในเกมส์หรือที่เคยผ่านประสบการณ์ในส่วนนี้มาแล้วจะอินและเข้าถึงเรื่องราวที่ตัวเกมส์นำเสนอได้ถึงที่สุด, ความซับซ้อนของระบบและระดับความยากของการต่อสู้ ก็ไม่ได้ยากเกินและไม่ดูถูกสติปัญญาของเราจนมากเกินไป และปิดท้ายด้วยการผสมโรงนำระบบของเกมส์แนวจีบสาวเข้ามาที่ส่งผลให้การเล่นมีสีสันมากขึ้นและซ้ำยังเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญและแรงดึงดูดในการเล่น
ในเมื่อหัวข้อของเราในครั้งนี้ ไม่ใช่การแนะนำเกมส์ที่ดีแต่เป็นการซักถามว่าเคยเล่นกันหรือไม่? Resident Evil Operation Raccoon City เลยเป็นเกมส์แรกๆ ที่ผู้เขียนนึกขึ้นมาในหัว ซึ่งอย่างที่ได้เกริ่นไปเมื่อข้างต้น ถ้าว่ากันตามตรงแล้วละก็ ตัวเกมส์จัดได้ว่ามีคุณภาพที่แย่ ทั้งระบบการยิงที่กระสุนวิ่งไม่ตรงเป้า, อนิเมชั่นการเคลื่่อนไหวที่แข็งทื่อ, AI ทั้งจากทางศัตรูและเพื่อนของเราที่ไม่เอาอ่าว และอีกมากมายที่อยากจะบ่นถึง
แต่กระนั้นส่วนที่ดีของเกมส์ หรือส่วนที่ติ่ง RE อย่างผู้เขียนพึงพอใจ (แบบนี้ก็ได้หรอ?) คือการได้เห็นการปรากฎตัวของตัวละครมากหน้าหลายตาจากซีรีย์ Resident Evil เพราะตัวเกมส์จะเป็นเรื่องราวคั่นกลางระหว่างภาค 2 และ 3 ที่ ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทและบังคับเป็นเหล่ายอดทหารฝีมือดีจากทาง Umbrella ที่ต้องออกตามเก็บข้อมูลในเมือง Raccoon City พร้อมทั้งสังหารพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในครั้งนี้
แม้ในปัจจุบัน เนื้อเรื่องหลักที่สานต่อมาอย่างยาวนานร่วม 28 ปีของซีรีย์ Metal Gear จะจบลงไปเป็นที่เรียบร้อยใน Metal Gear Solid V: The Phantom Pain (2015) แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า Konami จะหยุดแทรกเรื่องราว Spin-Off ต่างๆ ในจักรวาลของเกมส์ดังกล่าวได้ เพราะขณะปี 2018 นี้ พี่แกยังยัดเยียดความเป็นสามีให้กับแฟนซีรีย์ดังกล่าวด้วยภาค Metal Gear Survive ที่เปลี่ยนจากเกมส์ Stealth โคตรจะฮาร์ดคอร์ ให้กลายเป็นเกมส์แนว Survival ผสม Tower Defense ซึ่งผลที่ออกมาก็ไม่ได้ดีและเหมาะสมแก่การใช้ชื่อของ Metal Gear (ข้อขอสาปส่งเจ้า!)
แต่สำหรับ Metal Gear Rising: Revengeance ที่เป็นการ Spin-Off ออกมาจากภาคหลังเช่นเดียวกันนั้น กลับถูกสร้างออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมที่เปลี่ยนแนวการเล่นให้ไม่ต้องหลบซ่อน ไม่ต้องลอบสังหาร แต่ฟันกันฉะดะในรูปแบบเกมส์แนว Action สไตล์ Hack n Slash แบบเพียวๆ ที่ดุเด็ดเผ็ดมันส์ด้วยการ “หั่น” ระบบการต่อสู้ที่สรรค์สร้างโดย Platinum Games ค่ายพัฒนาปรมาจารย์แห่งเกมส์แนว Action
โดยทางด้านเนื้อเรื่อง จะเป็นเหตุการณ์ 4 ปีให้หลังจากตัวเกมส์หลักในภาคที่ 4 ซึ่งผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็น Raiden สายลับมากฝีมือที่ถูกดัดแปลงร่างกายให้ไซบอร์กอย่างเต็มรูปแบบ ที่ซ้ำยังเป็นสหายต่างวัยที่ตายแทนกันได้ของ Solid Snake ตัวละครเอกของซีรีย์ Metal Gear Solid ต้องออกตามล่านินจาไซบอร์กปริศนาที่ทำให้เขาถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และรับรู้ความจริงบางอย่างจากหน่วยงานที่เขาสังกัดอยู่ หรือเอาง่ายๆ ว่าเนื้อเรื่องในฉบับ Spin-Off นี้ ยังคงเข้มข้นด้วยด้านทฤษฎีสมคบคิดที่น่าติดตามเหมือนแบบฉบับเกมส์หลักนั่นแหละ
Rockman หรือ Mega man ชื่อที่ถูกใช้โซนยุโรปและอเมริกา เป็นอีกหนึ่งเกมส์แนวแพลตฟอร์มที่ขึ้นชื่อเรื่องความยาก (จริงๆ มีเกมส์แนวแพลตฟอร์มไหนบนโลกที่ไม่ยากบ้าง?) ซึ่งด้วยความยากของเกมส์เอง มันก็เป็นทั้งความรู้สึกท้าทายและสนุกให้กับผู้ที่หลงรักเมื่อแรกสัมผัส แต่สำหรับเกมเมอร์สายชิลๆ ชมนกชมไม้แล้ว การต้องมาเรียนรู้แพทเทิร์นหรือกะฮิตบ็อกของฉากแบบเป๊ะๆ ก็ดูจะเป็นอะไรที่ทรมานทรกรรมสำหรับพวกเขาจนเกินไป
ทาง Capcom จึงได้ทำการ Spin-Off หรือแตกซีรีย์ใหม่ออกมาในชื่อ Mega Man X เพื่อให้ความดังกระฉ่อนของซีรีย์หุ่นฟ้าตนนี้กระจายไปยังเกมเมอร์ในหมู่กว้างให้เข้าถึงความสนุกสไตล์ Capcom โดยตัวเอกของเกมส์ ได้ถูกเปลี่ยนจาก Rock เป็น X (ชื่อนี่ก็ตั้งง่ายเหลือเกินนะ...) หุ่นยนต์ที่ดอกเตอร์ Light สร้างออกมาภายหลัง Rock ที่มีความสามารถด้านการต่อสู้และมีจิตใจที่ใฝ่คุณธรรม ต้องออกต่อกรกับ Sigma วายร้ายหลักในซีรีย์ Mega Man X
Mega Man X ยังมีเกมเพลย์เป็นแพลตฟอร์มเช่นเดิม แต่เพิ่มเติมคือเพิ่มสปีดในการเล่นที่มากขึ้น ทั้งความเร็วในการเคลื่อนไหวของเรา ศัตรู และอุปสรรคในด่าน และขณะเดียวกันในภาคของการบังคับก็สอดคล้องกับความเร็วของเกมส์ที่เพิ่มขึ้นด้วยความสามารถของ X ที่คล่องตัวและฉับไวมากขึ้นนั่นคือการสไลด์ การไต่กำแพง และการกระโดดได้สองชั้น อีกทั้งเนื้อเรื่องจะถูกใส่ด้านการนำเสนอมากขึ้น มีปริมาณคัทซีนที่มากขึ้น จับต้องได้
Yakuza คือซีรีย์เกมส์แนว Action - Open World จากทาง Sega ที่อาจแซวขำๆ ว่าเป็นเกมส์แนวมินิเกมส์ก็ดูจะไม่ผิดนัก (เล่นเกมตู้, จับตุ๊กตา, ร้องคาราโอเกะ, ปาลูกดอก, ดูสาวๆ เอวี อะไรมันจะเยอะขนาดนี้!) แต่ถึงอย่างนั้นในด้านเนื้อเรื่องเอง ก็มีการร้อยเรียงเหตุการณ์ที่สนุกและชวนให้ติดตาม แถมระบบต่อสู้ในเกมก็เป็นตัวชูโรงที่ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากัน
และด้วยความที่ซีรีย์ดังกล่าวเป็นที่โด่งดังมากในประเทศญี่ปุ่น พวกเขาจึงทำการ Spin-Off หรือแตกแขนงซีรีย์ที่ว่านี้ออกมาในชื่อ Yakuza Kenzan ที่เป็นการเปลี่ยนฉากหลังของเกมส์ทั้งหมดให้กลายเป็นยุคเอโดะ พร้อมทั้งให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นบรรพบุรุษของตัวละครเอกในเกมส์ภาคหลักที่มีชื่อว่า Kazumanosuke Kiryu ที่แท้จริงแล้ว เขาคือนักดาบผู้เกรียงไกรแห่งญี่ปุ่น Miyamoto Musashi ซึ่งตัวเกมส์ก็ยังคงเอกลักษณ์เช่นเดิมทั้งหมดที่ในภาคหลักมีแต่บิดดัดมันออกมาให้เข้าเค้ากับความเป็นญี่ปุ่นในอดีตกาล
ไม่เพียงแต่ Geralt of Rivia ตัวเอกตลอดมาของเกมส์ซีรีย์ The Witcher นี้ จะเป็นนักล่าอสูรที่เก่งกาจชำนาญการรับมือ แต่ในมุมพักผ่อนจากหน้าที่การงานเอง เขาก็ยังเป็นนักท้าประลอง Gwent มินิเกมส์ใน The Witcher 3: Wild Hunt อันเป็นการ์ดเกมส์ที่ผู้เล่นสามารถเล่นท้าดวลกับตัวละครอื่นได้ในยามที่ต้องการจะเปลี่ยนอารมณ์การเล่น (หรือจริงๆ แล้วคุณอาจจะกำลังติดมินิเกมส์นี้เข้าให้แล้วก็เป็นได้...)
ซึ่งด้วยรูปแบบการเล่นของมินิเกมส์ดังกล่าวที่ไม่ได้มีความซับซ้อนใดๆ ในการเข้าถึง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความลึกในการเล่นที่ท้าทาย ก็ได้ส่งผลให้ทางผู้พัฒนาต้นสังกัดอย่าง CD Projekt Red สานต่อและแยกมินิเกมส์การ์ดนี้ออกมาเป็นเกมส์ Spin-Off
Rune Factory อาจไม่ใช่เกมส์ที่ดูเหมือนเป็นการ Spin-Off ตามภาพจำของเราๆ ที่มันจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับเกมส์หลักไม่ทางใดทางก็ทางหนึ่ง แต่หากดูในด้านของระบบการเล่นนั้น จะพบว่าผลงานเกมส์ชิ้นนี้ คือ “Harvest Moon ในดินแดนโลกแห่งแฟนตาซี” อีกทั้งหากนับจากวลีที่ออกจากปากของ Yoshifumi Hashimoto โปรดิวเซอร์ของซีรีย์ Harvest Moon ตลอดมานั้น เขายืนยันครับว่า Rune Factory คือเกมส์ที่ Spin-Off ออกมาจาก Harvest Moon
Rune Factory นั้น ยังคงมีระบบการเล่นเหมือน Harvest Moon ทุกประการ ทั้งการที่ผู้เล่นจะต้องเคลียร์แปลงผักเพื่อทำการปลูกพืชและผลไม้ทั้งหลาย อัพเกรดอุปกรณ์ที่ช่วยในการทำงานไร่งานสวน แต่สำหรับการปศุสัตว์ ตัวเกมส์ได้ปรับเปลี่ยนให้ผู้เล่นต้องออกจัดการเหล่ามอนสเตอร์ตามดันเจี้ยนต่างๆ และจับพวกมันกลับมาเพื่อนำมาฝึกสอนและใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ แทน หรือเอาง่ายๆ ว่ามันคือ Harvest Moon ที่มีกลิ่นอายความเป็น RPG ผสมอยู่ในระดับสูงนั่นแหละ
จากแรกเริ่มที่ซีรีย์ Fallout เป็นเกมส์ RPG - Turn base ระดับฮาร์ดคอร์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปและได้ผลัดเปลี่ยนสู่ยุคที่เกมส์แนวแอคชั่นมีอิทธิพลในระดับสูงกับวงการเกมส์ มันก็ได้ส่งผลให้ซีรีย์ที่ว่ามานี้ ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางของตนเพื่อเพิ่มฐานแฟนแต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องคงเอกลักษณ์อันสำคัญยิ่งคือความเข้มข้นและทางเลือกในการตัดสินใจทุกการกระทำของเกมส์เพื่อรักษาฐานแฟนเก่าไว้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อสองสิ่งนี้รวมเข้าไว้ด้วยกัน ผลที่ได้จึงออกมาเป็น Fallout 3 ที่ปรับมุมมองรับภาพเป็น FPS และระบบการต่อสู้แบบเรียลไทม์แทนที่มุมรับภาพตามแบบฉบับเกมส์ RPG และการต่อสู้ในรูปแบบผลัดกันตี ในขณะที่ทางเลือกในการตัดสินใจของช่วงเวลาสำคัญในเกมส์ทั้งหลายยังคงอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
แต่กระนั้น สำหรับแฟนเดนตายทั้งหลาย พวกเขากลับมองว่าเสน่ห์ดั้งเดิมของ Fallout 3 ได้ลดทอนไปในจำนวนที่มากโข ทั้งระดับความยาก ความซับซ้อนในภารกิจ ไปจนถึงเนื้อเรื่องของเกมส์ที่ทางเลือกที่ส่งผลสู่ฉากจบหรือเหตุการณ์สำคัญๆ ทำให้ Fallout: New Vegas ผลงานเกมส์จากซีรีย์ดังกล่าวในรูปแบบ Spin-Off นี้จำต้องออกมากู้ศักดิ์ศรีของซีรีย์และสามารถทำได้ตามความคาดหมาย!
Fallout: New Vegas มีรูปแบบการเล่นเช่นเดียวกันกับ Fallout 3 ไม่ว่าจะมุมมองรับภาพที่ยังคงเป็น FPS และการต่อสู้ในรูปแบบเรียลไทม์ แต่สิ่งที่ทำให้ภาคนี้โดดเด่นและได้กลิ่นอายตัวตนของซีรีย์ คือการวางเรื่องราวที่เข้มข้นให้กับในทุกภารกิจพร้อมอิสระให้ผู้เล่นได้ตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการใดในการผ่านมันไป เนื้อเรื่องปูมหลังของแต่ละฝ่ายที่ผู้เล่นก็ยังคงมีอิสระในการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรหรืออริ หรือถ้าจะให้ครอบคลุมมากกว่านั้น Fallout: New Vegas คือเกมส์ที่มอบอิสระให้ผู้เล่นได้ออกผจญภัยในในโลกหลังภัยพิบัติผืนนี้ได้ตามแต่ย่างก้าวที่เราเลือกจะเดิน
|
ทำไมไม่เรียกแมว! รักหนัง รักเกม ร๊ากกทุกคนนน ~ <3 |