สงครามฟอร์แมท หรือมาตรฐานของสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในโลกของการสร้างเทคโนโลยี เพราะเมื่อใดที่มีการแข่งขันเกิดขึ้น ย่อมมีการคิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ออกมาเพื่อเอาชนะมาตรฐานเดิมที่ใช้งานกันอยู่ เมื่อต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตนเองสร้างขึ้นมานั้นดีที่สุด ไม่มีใครยอมใคร ผลการตัดสินแพ้ชนะ จึงขึ้นอยู่กับว่าฝั่งไหนได้รับการสนับสนุนมากกว่ากัน
หนึ่งในสงครามที่น่าจดจำที่สุด คือ สงครามฟอร์แมทวิดีโอ ระหว่าง Betamax กับ VHS เรื่องราวในครั้งนั้นเป็นอย่างไร มาลองอ่านกันดูครับ
ก่อนจะไปถึงเรื่องของ Betamax กับ VHS เราควรแวะชมสิ่งที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์อย่าง Video cassette recorder (VCR) กันก่อน
ในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) บริษัท Ampex corporation ได้ประดิษฐ์ VRX-1000 เครื่องบันทึกวิดีโอ และเสียงลงบนแถบแม่เหล็กออกมาเป็นเจ้าแรก หรือกล่าวได้ว่าเจ้าเครื่องนี้นับเป็นบรรพบุรุษของเทป Betamax กับ VHS ก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม VRX-1000 ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมันเปิดราคามาที่ $50,000 หากเทียบเป็นค่าเงินในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ก็ประมาณ $479,429 คิดเป็นค่าเงินบาทก็จะอยู่ที่ประมาณ 14,900,000 บาท
ด้วยราคาระดับนั้น มันไม่ใช่ของที่คนธรรมดาจะซื้อมาใช้งานได้ และต่อให้คุณมีเงินซื้อ การจะควบคุมเครื่อง VRX-1000 ก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้วย ทำให้เครื่องนี้ใช้งานกันอยู่แค่ในรายการแวดวงทีวีที่ถ่ายทอดสัญญาณรายการที่เป็นเทปบันทึกเท่านั้น
ภาพจาก https://www.computerhistory.org/storageengine/rotary-head-delivers-high-quality-video/
เครื่องเล่น VCR ตัวต้นแบบสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ได้เปิดตัวที่ญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) โดย Sony ก่อนที่มันจะวางจำหน่ายจริงในปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) ในชื่อ Sony U-Matic
Sony U-Matic นับเป็นเครื่องบันทึกวิดีโอเครื่องแรกของโลกที่สามารถบันทึกวิดีโอลงใน Video cassette ได้ โดยเทปบันทึกของ U-Matic หนึ่งม้วนจะสามารถบันทึกวิดีโอได้ความยาวสูงสุด 60 นาที ซึ่ง Sony ได้มีความคาดหวังให้มันกลายเป็นมาตรฐานที่ระดับอุตสาหกรรมเลือกใช้
ภาพจาก https://www.labguysworld.com/Museum007.htm
งานนี้ นอกจาก Sony ยังมี Phillips ที่ให้การสนับสนุนมาตรฐาน Video cassette ด้วย เพียงแต่ว่ารายนี้ผลิตขึ้นมาให้ใช้งานตามสถานีโทรทัศน์ก่อนในช่วงปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) หลังจากนั้น ก็มีการวางจำหน่ายเครื่องสำหรับผู้บริโภคทั่วไปรุ่นแรกออกมาในปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) โดยใช้ชื่อรุ่นว่า N1500 พร้อมกับตั้งชื่อฟอร์แมทขึ้นมาด้วยว่า Video Cassette Recording (VCR)
ภาพจาก https://www.reddit.com/r/VHS/comments/d5ha83/one_of_the_coolest_looking_vcr_decksthe_philips/
VCR นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีการสำรวจพบว่าประชากรในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) มีผู้ที่ครอบครองเครื่องเล่น VCR ที่บ้านอยู่มากถึง 30% และเติบโตเป็น 85% ในปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ VCR จะกลายเป็นมาตรฐานทั่วไปที่ทุกคนเลือกใช้ สงครามฟอร์แมทระหว่าง Betamax กับ VHS ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเสียก่อน
อันที่จริงยุคนั้น ม้วนเทปมีออกมาหลายฟอร์แมทมาก แต่ก็หายไปอย่างรวดเร็ว (เช่น Cartrivision จาก Acvco, V-cord จาก Sanyo) เหลือแค่สงครามที่สู้กันระหว่าง Betamax และ VHS
บน Betamax / ล่าง VHS
ภาพจาก https://www.pastemagazine.com/tech/sony/how-sony-finally-won-the-format-wars/
Sony เริ่มพัฒนาเครื่อง Betamax ตัวต้นแบบในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) ก่อนจะวางจำหน่ายจริงในปีถัดมา มันใช้เทปคาสเซ็ทที่มีความกว้างของแถบแม่เหล็ก 0.5 นิ้ว เป็นสื่อบันทึก ตัวตลับเทปมีขนาดเล็กกว่า VHS ที่เป็นฟอร์แมทคู่แข่งซึ่งเปิดตัวในเวลาเดียวกันมากพอสมควร
ชื่อ Beta มีที่มาจากการเล่นคำสองความหมาย โดย Beta ในภาษาญี่ปุ่นจะหมายถึงขั้นตอนการบันทึกสัญญาณลงในเทป ส่วนอีกความหมายหนึ่งมาจากการที่เวลาที่เทปถูกเล่นอยู่ในเครื่อง แถบแม่เหล็กจะมีการเคลื่อนที่คล้ายกับตัวอักษร B
ตัวเทปสามารถบันทึกวิดีโอได้นานถึง 60 นาที ซึ่งเพียงพอต่อรายการในสมัยนั้น รวมเวลาในการโฆษณาแล้ว ซึ่งในยุคนั้นก็ไม่มีรายการไหนที่มีระยะเวลานานกว่า 60 นาที อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุใหญ่ของความพ่ายแพ้ที่เราจะอธิบายต่อในภายหลัง
ภาพจาก https://gfycat.com/blindwindyarcticwolf
ในตอนที่ Sony สาธิตเครื่องต้นแบบของ Betamax ให้แก่กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายอื่นในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) ทาง Sony ได้คาดหวังว่าผู้ผลิตทุกรายจะใช้ฟอร์แมทใหม่นี้ร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวุ่นวายเรื่องฟอร์แมทเหมือนที่เกิดขึ้นกับ VCR ซึ่งว่ากันตามตรงเทคโนโลยีของ Betamax ก็มีความเสถียร และคุณภาพดีกว่าจริงๆ
อย่างไรก็ตาม JVC กลับไม่เห็นด้วย และต้องการสร้างรูปแบบใหม่ของตนเองขึ้นมาใช้งานแทน นั่นก็คือ Video Home System (VHS) เป็นเหตุให้ Sony ถึงกับยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังกระทรวงการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจนกลายเป็นสงครามฟอร์แมทวิดีโอ ระหว่าง Betamax และ VHS ในที่สุด
ซึ่งการที่ JVC ไม่อยากใช้ฟอร์แมทวิดีโอของ Sony ก็มีเหตุผลอยู่ โดยทาง JVC มองว่า Sony ต้องการควบคุมอุตสาหกรรม VCR ไว้ในกำมือ แถมยังได้กำไรจากการขายสิทธิบัตรการใช้งาน Betamax ให้แก่ผู้ผลิตรายอื่นๆ ด้วยอีกต่างหาก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในยุคที่ U-Matic ของ Sony ครองเมืองอยู่
แนวคิดการพัฒนาฟอร์แมท VHS ของ JVC นั้นแตกต่างไปจาก Sony อย่างสิ้นเชิง โดยมันเปิดตัวในปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) ตามหลัง Betamax ถึง 2 ปี แต่คุณภาพการบันทึกกลับแย่กว่า Betamax ด้วยซ้ำ (แย่กว่าแค่นิดหน่อย) อย่างไรก็ตาม VHS กลับสามารถเอาชนะ Betamax ไปได้ ด้วยแนวคิดในการพัฒนาภายใต้ชื่อ VHS Development Matrix ที่เฉียบขาดกว่า ดังนี้
และสิ่งที่ทำให้ VHS ของ JVC แตกต่างจาก Sony มากที่สุด คือ ทาง JVC ได้ให้สิทธิ์ในการใช้สิทธิบัตรกับผู้ผลิตรายอื่นโดยไม่มีการบังคับเหมือนกับที่ Sony กำหนดไว้กับ Betamax ส่งผลให้บริษัทอื่นอย่าง Hitachi, Mitsubishi และ Sharp ตัดสินใจร่วมมือกันใช้ VHS ด้วย
ม้วนเทป VHS มีขนาดใหญ่กว่า Betamax แต่ว่าตัวเทปสามารถบันทึกวิดีโอได้ถึง 2 ชั่วโมง หมายความว่าภาพยนตร์ส่วนใหญ่สามารถที่จะบันทึกลงเทป VHS ได้อย่างสบายๆ
ในภายหลัง VHS ยังมีตัวเลือกในการลดความเร็วในการบันทึกลง แม้การทำแบบนั้นจะลดทอนคุณภาพของวิดีโอลง แต่มันก็ทำให้เทป VHS สามารถบันทึกวิดีโอได้ยาวนานขึ้นสูงสุดเป็น 6 ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งนั่นกกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ VHS ชนะสงครามฟอร์แมทในครั้งนี้
ภาพจาก https://gfycat.com/enchantingrashkitten
Betamax ชูจุดขายด้านคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค มันสามารถบันทึกภาพได้คมชัดกว่า และมีคุณภาพเสียงที่ดีกว่า VHS (แค่นิดหน่อย) แต่ปัญหาใหญ่ คือ ระยะเวลาการบันทึกที่สั้นมาก สั้นจนไม่สามารถบันทึกการแข่งขันกีฬายอดนิยมอย่างฟุตบอลจบได้ด้วยเทปม้วนเดียว หรือการแข่งขันกีฬาประเภทอื่นๆ ก็มักจะใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงด้วยเช่นกัน มีรายงานว่าผู้ใช้แสดงความไม่พอใจในประเด็นนี้กันเป็นจำนวนมาก
ภาพจาก https://flic.kr/p/21ADJSC
นอกเหนือจากเรื่องความยาวแล้ว "ราคา" ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Betamax ต้องพ่ายแพ้ในศึกนี้ ในทางปฏิบัติแล้ว Betamax จะยอมลดคุณภาพเพื่อให้บันทึกได้ยาวนานขึ้นก็สามารถทำได้ แต่ Sony ไม่ยอม เขาเชื่อว่าสินค้าที่มีคุณภาพจะได้รับชัยชนะในท้ายที่สุด เมื่อมองไปกลับไปที่ VHS นอกจากมันจะบันทึกได้นานกว่าแล้ว ราคาก็ถูกกว่าด้วยเช่นกัน
ราคาเฉลี่ยของเครื่อง Betamax อยู่ที่ประมาณ $1,000 ในขณะที่ VHS นั้นอยู่แค่ประมาณ $300 เท่านั้น ส่วนต่างที่มากขนาดนี้ ทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่อยากจ่ายเงินแพงกว่าเพื่อคุณภาพที่ดีขึ้นแค่เล็กน้อย แถมยังบันทึกได้สั้นกว่าด้วยอีกต่างหาก เพราะความที่คุณภาพของ VHS ก็ไม่ได้แย่ แม้จะไม่ดีเท่า Betamax แต่ด้วยความคุ้มค่า VHS จึงเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากกว่า
ผลของเรื่องนี้ทำให้ Betamax ที่ครองตลาด 100% ในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) ถูก VHS ใช้เวลาเพียง 3 ปี ครองส่วนแบ่งในตลาดได้ถึง 60% จากการสำรวจในปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523)
ในปีถัดมา ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) Betamax ครองส่วนแบ่งในตลาด VCR เหลือเพียง 25% และในปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) ก็ตกจนไปเหลือแค่ 7.5% เท่านั้น ก่อนจะเหลือ 5% ในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) สุดท้าย ในที่สุด Sony ก็ยอมแพ้หันมาเริ่มผลิตเครื่องเล่นแบบ VHS ในปี ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531)
อย่างที่เรากล่าวไปว่า Betamax ของ Sony แพ้ไปเพราะความสั้นในการในการใช้งาน และราคาที่แพงหูฉี่ แต่ก็มีตำนานกล่าวว่า Betamax ไม่ได้แพ้เพราะราคา หรือความยาวหรอก แต่แพ้เพราะ Sony ไม่ยินยอมให้กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตหนังผู้ใหญ่ (หนังโป๊น่ะแหละ) ใช้สื่อ Betamax ได้
เรื่องนี้จริงหรือไม่ ? มาลองวิเคราะห์กันสักหน่อยดีกว่า
มันก็เป็นเรื่องจริงที่ Sony ไม่อนุญาตให้ใช้แผ่น Betamax ในการผลิตสื่อ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่มีเหตุผลรองรับฟังขึ้นอยู่ด้วยนะ
ถ้ามองในมุมของคนยุคปัจจุบันอาจจะรู้สึกว่า แค่ไม่มีแผ่นโป๊ถึงกับทำให้เจ๊งได้เลยเหรอ? แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าเว็บไซต์เว็บแรกของโลกถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงการดูวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตเลย
ช่องทางที่คนจะรับชมภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่ (หนังโป๊) ได้ คือ การไปชมในโรงหนังเถื่อนเท่านั้น ลองคิดภาพสิว่า คุณไปดูหนังโป๊ในโรงร่วมกับใครก็ไม่รู้ หากอยากสำเร็จความใคร่ก็ต้องทำในโรงนั้นเลย โดยที่คนข้างๆ ก็อาจจะประกอบกิจกรรมไปพร้อมกับคุณด้วย มันไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่าอภิรมย์นัก
แต่ปัญหาดังกล่าวได้จบลงเพราะการมาของ VCR ที่เราสามารถหาภาพยนตร์โป๊มาชมแบบส่วนตัวได้ที่บ้าน ในเมื่อ Betamax ไม่มีให้ดู (จริงๆ ก็มีการแอบผลิตขึ้นมา แต่มีน้อย และเป็นของหายาก) คนอยากดูก็ต้องเลือกซื้อระบบ VHS มาใช้งานเท่านั้น ตำนานนี้เลยถือกำเนิดขึ้นมา
ภาพจาก https://flic.kr/p/2ifoVSu
อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า การที่ไม่มีหนังโป๊ในฟอร์แมท Betamax เป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้มันพ่ายแพ้ต่อ VHS จริงหรือไม่ ยังไม่มีใครเคยทำการสำรวจว่าความต้องการชมหนังโป๊ เป็นเหตุผลสำคัญในการเลือกซื้อ VHS มาใช้งานหรือเปล่า หรือเพราะเขามองว่า VHS มันคุ้มกว่า ประหยัดเงินได้ $700 แถมยังบันทึกวิดีโอได้นานกว่าด้วย
แล้วคุณผู้อ่านล่ะ คิดว่าตำนานนี้จริงหรือไม่ครับ ?
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |