รอบตัวเราในปัจจุบันนี้ เต็มไปด้วยเทคโนโลยีมากมาย คุณอาจจะแปลกใจหากได้รู้ว่าเทคโนโลยีหลายอย่างที่เราใช้งานกันเป็นประจำในชีวิตประจำวันนั้น ถูกคิดค้นพัฒนาขึ้นมาโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (The National Aeronautics and Space Administration - NASA) หรือที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า "นาซ่า" ไม่น่าจะมีคนที่ไม่รู้จักองค์กรนี้เนอะ
ในขั้นตอนการวิจัยด้านอวกาศ มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่ NASA ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ระหว่างการปฏิบัติภารกิจในอวกาศ และช่วยให้นักบินอวกาศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเทคโนโลยีที่ NASA ได้ทุ่มเงินลงไปวิจัยก็มีทั้งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และการปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหลายเทคโนโลยีก็ไม่ได้ถูกใช้แค่บนอวกาศเท่านั้น มันถูกนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ให้ทุกคนบนโลกได้ใช้งานด้วย
แม้แต่ผู้ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ เราก็เชื่อว่ามีสิ่งที่ NASA คิดค้นขึ้นมาวางอยู่ในรัศมีรอบตัวคุณอยู่บ้างอย่างแน่นอน มาอ่านกันหน่อยดีกว่า ว่ามีอะไรอยู่บ้าง ? อนึ่ง สิ่งที่ NASA คิดค้นขึ้นมามีจำนวนมากมาย ในบทความนี้เราจะหยิบยกมาเฉพาะสิ่งที่น่าจะอยู่รอบตัวเราเท่านั้น
กล้องดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้การถ่ายรูปเป็นเรื่องสนุก และทุกคนสามารถถ่ายได้โดยไม่ต้องคิดมาก เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าฟิล์มอีกต่อไป อีกทั้ง กล้องดิจิทัลยังกลายเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่มีบนสมาร์ทโฟนทุกรุ่นในยุคนี้
เชื่อหรือไม่ว่าเซนเซอร์ของกล้องดิจิทัลส่วนใหญ่ที่เราใช้งานกันในปัจจุบันนี้ ก็มาจากงานวิจัยของ NASA
ในยุคเริ่มต้นของกล้องดิจิทัล จะใช้เซนเซอร์แบบ Charge-Coupled Device (CCD) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นโดย Kodak and AT&T Bell Labs ในการบันทึกภาพ การบันทึกภาพบนยานอวกาศในยุคนั้นก็ใช้กล้อง CCD ในการถ่ายภาพ
แต่ Eric R. Fossum นักฟิสิกส์ และวิศวกรชาวอเมริกันที่ทำงานอยู่ในทีม Jet Propulsion Lab (JPL) ของ NASA ได้เชื่อว่าน่าจะมีวิธีบันทึกภาพที่ดีกว่า CCD อยู่ เขานำเอาเทคโนโลยี Active-Pixel Sensor (APS) ที่บริษัท Olympus และ Toshiba เคยสร้างเอาไว้ มาวิจัยต่อ ปรับปรุงจนได้ออกมาเป็นเซนเซอร์แบบใหม่ที่เรียกว่า Complementary Metal-OIxide-Semiconductor หรือเซนเซอร์ CMOS นั่นเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม : เซนเซอร์กล้องดิจิทัล กับ เซนเซอร์กล้องมือถือสมาร์ทโฟน ต่างกันอย่างไร ? และตัวเลขพิกเซลของกล้องมาจากไหน ?
เซนเซอร์ CMOS นั้นมีข้อดีหลายอย่าง และกลายเป็นมาตรฐานหลักที่กล้องดิจิทัลส่วนใหญ่เลือกใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในกล้องดิจิทัล, กล้องบนสมาร์ทโฟน, กล้องติดรถยนต์, กล้องรักษาความปลอดภัย หรือ GoPro ต่างก็ใช้เซนเซอร์ CMOS ทั้งนั้น
อนึ่ง CCD เซนเซอร์นั้นให้คุณภาพของภาพนิ่งที่ดีมาก แต่ CMOS มีความเร็วที่สูงกว่า และใช้พลังงานในการทำงานน้อยกว่า และในปัจจุบัน CMOS ก็ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพของภาพถ่ายดีไม่แพ้ CCD แล้ว
ภาพจาก : https://asia.canon/en/campaign/cmos-image-sensors
พวกชุดเครื่องนอนไม่ว่าจะเป็นหมอน, เตียง หรือแม้แต่ในเบาะรถยนต์ ถ้าเป็นสินค้าในกลุ่มพรีเมียม เน้นด้านสุขภาพด้วยแล้ว คุณน่าจะเคยผ่านหูผ่านตากับวัสดุอย่าง เมมโมรี่โฟม (Memory Foam) กันมาบ้างอย่างแน่นอน ความนุ่มสบาย แต่ไม่เสียทรงของมัน รู้หรือไม่ว่า ? เกิดขึ้นได้จากเทคโนโลยีของ NASA
ย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) NASA ได้พัฒนาวัสดุที่เรียกว่า "Temper Foam" ขึ้นมา โดยมันมีความยืดหยุ่นสูง และสามารถยุบตัวเพื่อให้สอดรับกับสรีระร่างกายของนักบินทดสอบ ถูกใช้ในเครื่องบินของ NASA และภายหลัง NASA ก็นำ Temper Foam ไปใช้บนยานอวกาศด้วย เพื่อปกป้องร่างกายของนักบินจากแรงกดดันที่เกิดขึ้นในขณะที่ปล่อยยานอวกาศ และแรงกระแทกในตอนที่กลับสู่พื้นโลก
Temper Foam ได้รับการปรับปรุงสูตรตามมาอีกหลายเวอร์ชัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการปรับปรุงให้มีความเป็นฉนวนกันความร้อนลดลง เพื่อให้ถ่ายเทอุณหภูมิได้ดีขึ้น และสุดท้ายก็กลายมาเป็น Memory Foam ในที่สุด ซึ่งวัสดุนี้ก็ได้แพร่หลาย เนื่องจากมันมีคุณสมบัติที่ยืดหยุ่น คืนรูปได้ ซึ่งเหมาะสมกับการทำเป็นเครื่องนอน และเบาะนั่งเป็นอย่างมาก
Memory Foam
ภาพจาก : https://www.heeluxe.com/the-memory-foam-myth/
ในยุคที่สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ไม่ให้ช่องเสียบหูฟังแบบ 3.5 มม. มาแล้ว สะท้อนภาพให้เราเห็นได้เป็นอย่างดีว่า ความนิยมในการใช้งานหูฟังไร้สายนั้นถูกใจผู้บริโภคมากขนาดไหน จากเดิมที่ใช้กันแค่ในหมู่นักธุรกิจ แต่ตอนนี้มันเป็นของที่ไม่ว่าใครก็ใช้งานกัน
ย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) สถาบันวิจัย ITT Labs ได้รับการติดต่อจาก NASA ซึ่งเป็นพันธมิตรกันให้ช่วยพัฒนาวิทยุสื่อสารแบบไร้สาย เพื่อให้นักบินอวกาศสามารถใช้ติดต่อสื่อสารได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแค่วิทยุสื่อสารที่อยู่บนยานอวกาศเพียงอย่างเดียว การพัฒนาในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพราะก่อนหน้านั้น Gus Grissom นักบินอวกาศในโครงการ Mercury เกือบเสียชีวิตจากอุบัติเหตุน้ำท่วมภายในแคปซูลกู้ชีพ เพราะเขาไม่สามารถติดต่อกับภายนอกได้ เนื่องจากวิทยุสื่อสารของตัวแคปซูลเกิดความเสียหาย
ITT Labs ได้ร่วมกับบริษัท Planctronics ในการพัฒนาหูฟังสื่อสารสำหรับงานนี้ โดยนำเอาหูฟังรุ่น MS50 ของ Planctronics มาปรับปรุงใหม่ จากนั้นทาง NASA ก็ใช้เวลา 11 วัน ในการดัดแปลงจับเจ้า MS50 ฝังเข้าไปในหมวกของนักบินอวกาศ เพื่อให้ใช้สื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย
หลังจากนั้น ทาง NASA ได้ตกลงเป็นพันธมิตรร่วมกับ Planctronics เพื่อช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับหูฟังอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับลดขนาด, ปรับปรุงคุณภาพของการสื่อสารไร้สาย, ระบบตัดเสียงรบกวน ฯลฯ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ได้วางรากฐานสำคัญ ให้กับหูฟังแบบไร้สายที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน
Plantronics MS50 ที่ใช้ในภารกิจเหยียบดวงจันทร์ของยาน Apollo 11
ภาพจาก : https://www.santacruzsentinel.com/2019/07/15/poly-celebrates-its-role-in-apollo-11s-launch-to-the-moon/
ถึงแม้ว่า NASA จะไม่ใช่ผู้คิดค้นคอมพิวเตอร์แบบพกพาเป็นรายแรก แต่ก็เป็นผู้ที่ทำให้ดีไซน์แบบ Clamshell กลายเป็นมาตรฐานการออกแบบของโน้ตบุ๊กมาจนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไปในสมัยที่คอมพิวเตอร์แบบพกพาเริ่มเปิดตัวในท้องตลาด ทาง NASA ได้ติดต่อไปยังบริษัท GRiD Systems Corp ให้ช่วยปรับปรุงเครื่อง GRiD Compass ให้มีความทนทาน เหมาะกับการใช้งานบนอวกาศได้ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่าการได้ทำงานร่วมกับ NASA เป็นอะไรที่ทุกบริษัทต้องการอยู่แล้ว โครงการ Shuttle Portable On-Board Computer หรือ SPOC จึงได้เริ่มต้นขึ้น
GRiD Compass ออกแบบมาแบบ Clamshell ให้หน้าจอสามารถพับเก็บลงเหนือคีย์บอร์ดเพื่อปกป้องหน้าจอจากแรงกระแทกได้ และยังมีการใส่พัดลมเข้าไปในเครื่องเพื่อช่วยระบายความร้อน มันเป็นอะไรที่ใหม่มาก ณ เวลานั้น ไม่ว่าจะเรื่องดีไซน์แบบ Clamshell หรือการใส่พัดลมเข้าไปด้วย เพราะยุคนั้นคอมพิวเตอร์ยังไม่แรงมาก มันไม่ได้ร้อนจนต้องมีพัดลมมาช่วยระบายความร้อนออกจากตัวเครื่อง
โครงการ SPOC สำเร็จไปได้ด้วยดี ภาพที่นักบินอวกาศ John O. Creighton ถือเครื่อง GRiD Compass อยู่นอกโลก ทำให้ดีไซน์แบบ Clamshell กลายเป็นภาพจำของคอมพิวเตอร์พกพา และยังไม่มีดีไซน์อื่นที่ได้รับการยอมรับมากกว่านี้มาจวบจนปัจจุบัน
John O. Creighton ขณะที่ถือเครื่อง GRiD Compass
ภาพจาก : https://spectrum.ieee.org/nasas-original-laptop-the-grid-compass
GRiD Compass ถูกนำไปใช้บนอวกาศเป็นครั้งแรกในวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526) และมันก็ไม่ทำให้ผิดหวัง NASA ใช้มันอย่างยาวนานจนถึงช่วงต้นของยุค 90 มีรายงานด้วยว่าในอุบัติเหตุยาน Challenger ตกในปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) เครื่อง GRiD Compass นั้นรอดมาได้ แถมยังใช้งานได้ต่ออีกด้วย
หากคุณใส่แว่นที่มีเลนส์คุณภาพสูงสามารถกันรอยขีดข่วนได้ หรือแว่นกันแดดที่มีความสามารถกรองแสง UV ได้ แม้แต่หมวกที่ช่างเชื่อมเหล็กใช้ เราอยากจะบอกว่านี่ก็เป็นเทคโนโลยีจาก NASA เช่นกัน
ในการพัฒนาหมวกที่นักบินอวกาศใส่นั้น ทาง NASA ต้องการให้กระจกของหมวกสามารถป้องกันรอยขีดข่วนจากฝุ่นอวกาศ และป้องกันแสง UV ได้ งานนี้นักวิจัยของ NASA ก็ได้ร่วมมือกับ Foster Grant บริษัทผลิตเลนส์แว่นตา ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา ในช่วงต้นของปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) ทาง Theodore Wydeven นักวิจัยจากสถาบันวิจัย Ames Research ของ NASA ได้คิดค้นสารเคลือบที่สามารถป้องกันรอยขีดข่วนขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งในภายหลังจากที่ใช้ในภารกิจอวกาศแล้ว สารดังกล่าวก็เริ่มถูกนำมาใช้กับแว่นตาของ Foster Grant ด้วย และจากนั้นมันก็แพร่หลายไปยังทุกอย่างที่ต้องการป้องกันรอยขีดข่วน
หมวกของนักบินอวกาศ
ภาพจาก : https://www.spacefoundation.org/space_technology_hal/scratch-resistant-lenses/
แม้ว่า NASA จะไม่ใช่คนที่คิดค้น LED ขึ้นมา เพราะอย่างที่เรารู้กันว่า LED นั้นถูกคิดค้นขึ้นมาโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน Nick Holonyak, Jr. ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505)
แต่สิ่งที่ NASA ทำคือการทุ่มเงินลงทุนจำนวนมหาศาลให้กับสถาบันที่วิจัยเทคโนโลยี LED ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไฟ LED สำหรับใช้ในการปลูกพืชบนอวกาศ, แสงอินฟราเรดสำหรับรักษาบาดแผล, แสงกับนาฬิกาชีวิต ฯลฯ
จากงานวิจัยที่ทาง NASA ได้ทุ่มเงินลงทุนให้ไป ทำให้การเติบโตของไฟ LED เป็นไปอย่างรวดเร็ว การใช้ประโยชน์จากแสงมาช่วยในการนอนก็เป็นผลมาจากงานวิจัยเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
ภาพจาก : https://www.nasa.gov/directorates/spacetech/spinoff/NASA_Research_Boosts_LED_Lamps_for_Home_and_Garden
การวัดไข้ในเด็กด้วยเทอร์โมมิเตอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย และหากไม่ทำความสะอาดให้ดีก็อาจมีปัญหาด้านสุขอนามัยด้วย แต่ในยุคนี้ เราสามารถวัดไข้ได้ง่าย ๆ ด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบอินฟราเรดกันแล้ว
เทคโนโลยีเทอร์โมมิเตอร์แบบอินฟราเรดนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ NASA, Diatel Corporation และ JPL โดยอาศัยเทคโนโลยีอินฟราเรดที่ทาง NASA ใช้ในการวัดแหล่งพลังงานในอวกาศ มาดัดแปลงเป็นการอ่านค่าอุณหภูมิความร้อนของร่างกายมนุษย์แทน พัฒนาจนมาเป็นปืนวัดอุณหภูมิอย่างที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้
ภาพจาก : https://www.flir.com/products/ir200/
เสบียงอาหารที่ส่งขึ้นไปบนยานอวกาศ จะถูกผ่านการถนอมอาหารให้เก็บรักษาได้อย่างยาวนานด้วยเทคนิคการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (Freeze Drying) แม้เราคงจะไม่ได้ซื้ออาหารแห้งแบบแช่เยือกแข็งมากินกันบ่อยนัก อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า NASA ได้วิจัย และพัฒนาวิธีการถนอมอาหารให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้นมาหลากหลายวิธี
โดย NASA ทุ่มงบประมาณจำนวนมากให้กับการวิจัยวิธีทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งจนประสบความสำเร็จ มันแตกต่างจากการทำแห้งด้วยการใช้ความร้อนทั่วไป ด้วยการใช้ความเย็นสูงทำให้วัตถุดิบแข็งตัวอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็ใช้แรงดันทำให้น้ำแข็งในตัววัตถุดิบเกิดการระเหิดหายไป แต่ก็ยังอาจจะมีความชื้นหลงเหลืออยู่ ก็จะใช้ความร้อนที่สูงขึ้นทำให้ความชื้นหมดไป
ซึ่งเทคนิคนี้จะทำให้คุณค่าทางสารอาหาร, เนื้อเยื่อ และโครงสร้างของอาหารแทบจะไม่ได้รับความเสียหายเลย แค่เอามันออกมาละลาย หรือจุ่มลงในนมร้อน ๆ มันก็จะคืนสภาพสดใหม่ได้ทันที เนื้อสัตว์ที่ขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตที่บรรจุเป็นแพ็คแล้วแช่แข็งเอาไว้ ก็ผลิตด้วยเทคนิคทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งนี่แหละ
งานวิจัยชิ้นนี้ ยังมีประโยชน์ช่วยให้ อุตสาหกรรมอาหาร และยาหลายชนิด สามารถเก็บรักษาคุณภาพไว้ได้อย่างยาวนาน รวมถึงทำให้การส่งออกอาหารเติบโตมากขึ้นด้วย
ภาพจาก : https://harvestright.com/commercial-freeze-dryer/
NASA ไม่ได้ผู้ที่คิดค้นนมผงสำหรับเด็กขึ้นมา แต่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุง เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับอาหารต่าง ๆ ที่นักบินอวกาศใช้รับประทานขณะปฏิบัติภารกิจนอกโลก
ในปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) ทาง NASA ได้ร่วมมือกับบริษัท Martin Marietta Corporation ทำการวิจัยสาหร่ายขนาดเล็กชนิดหนึ่ง โดยหวังว่าจะสามารถใช้มันเป็นอาหาร, ผลิตออกซิเจน และกำจัดของเสียได้ เพื่อให้นักบินอวกาศสามารถมีเวลาในการปฏิบัติภารกิจนอกโลกได้ยาวนานยิ่งขึ้น
มีการค้นพบความรู้ใหม่ ๆ มากมายในขั้นตอนการวิจัยนี้ อย่างการค้นพบวิธีสังเคราะห์กรดไขมันที่จำเป็นอย่าง Docosahexaenoc acid (DHA) จากสาหร่าย, การสังเคราะห์กรดไขมัน Arachidonic acid (ARA) จากเชื้อรา ซึ่ง DHA นั้นมีประโยชน์ต่อการพัฒนาสมอง ส่วน ARA จะช่วยพัฒนาระบบประสาท และประสาทตา
หลังจากนั้น DHA ได้มีส่วนเป็นอย่างมากในการปรับปรุงสูตรนมผงสำหรับเด็กทารกให้มีสารอาหารที่มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น เวลาที่คุณไปเลือกซื้อนมผง ถ้าเห็นว่าเป็นสูตรที่มีสาร DHA ก็มั่นใจได้เกือบ 100% เลยว่า เป็นสาร DHA ที่สกัดมาจากสาหร่าย
ภาพจาก : https://plusaround.com/เอนฟาแล็ค-เอนฟาโกร/
เครื่องดูดฝุ่นไร้สาย (Cordless Vacuum Cleaner) แบบที่มีแบตเตอรี่ในตัว ไม่ใช่อุปกรณ์ที่ล้ำสมัยเท่าไหร่นัก เพราะมันก็มีขายกันอย่างดาษดื่น ราคาเริ่มต้นแค่เพียงไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น แต่จุดเริ่มต้นของมันก็มาจากไอเดียของ NASA เมื่อหลายสิบปีก่อน
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ทาง NASA ได้ติดต่อไปยังบริษัท Black & Decker ที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตเครื่องมือช่าง ให้ช่วยผลิตเครื่องมือช่างที่มีแบตเตอรี่อยู่ในตัว สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก ซึ่งเป็นไอเดียที่ในยุคนั้นยังไม่มีใครทำมาก่อน โดย NASA ต้องการสว่านไฟฟ้าเพื่อไปขุดเจาะเก็บตัวอย่างดิน และหินจากดวงจันทร์กลับมาวิจัยยังพื้นโลก ผลจากการทำงานร่วมกันในครั้งนั้น ทำให้ Black & Decker สามารถสร้างมอเตอร์ขนาดเล็กที่มีรอบหมุนสูงขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งมอเตอร์ดังกล่าวได้กลายเป็นมอเตอร์หลักในอุปกรณ์ช่างต่าง ๆ และทำให้มีเครื่องดูดฝุ่นไร้สายตัวแรกของโลกออกมาวางจำหน่ายในท้ายที่สุด
เครื่องดูดฝุ่นไร้สาย Dustbuster ของ Black & Decker
https://www.uspto.gov/learning-and-resources/journeys-innovation/historical-stories/moondust-and-marketing-magic
เครื่องตรวจจับควันไอออไนซ์ (Ionization Smoke Detector) เป็นเครื่องตรวจจับควันที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก เทคโนโลยีที่ใช้ในเครื่องตรวจจับควันชนิดนี้ เกิดขึ้นมาได้จากความร่วมมือระหว่าง NASA และ Honeywell ในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513)
ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะทาง NASA ต้องการสร้างระบบแจ้งเตือนอัคคีภัยในสถานีอวกาศ Skylab ที่จะต้องตรวจจับไฟได้ แต่แม่นยำ ไม่แจ้งเตือนผิดพลาดจากไฟอื่น ๆ ที่ไม่ได้ก่ออัคคีภัย
มีการนำเซนเซอร์ตรวจจับหลายชนิดเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหา โดยใช้ทั้งเซนเซอร์ตรวจจับควัน, ตรวจจับความร้อน, ตรวจจับคาร์บอนมอนอกไซด์, เซนเซอร์วิเคราะห์ภาพ, เซนเซอร์อินฟราเรด ฯลฯ
แน่นอนว่าในเครื่องตรวจจับควันสำหรับลูกค้าทั่วไป อาจจะไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากมายขนาดนั้น มันถูกนำมาใช้แค่บางส่วนเท่านั้น
ภาพจาก : https://www.howtogeek.com/831363/these-nasa-innovations-are-all-around-us-everyday/#autotoc_anchor_7
เมมโมรี่โฟม กับอาหารแห้งแบบแช่เยือกแข็ง น่าจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่การจัดฟันแบบล่องหน และรีเทนเนอร์แบบใสอาจจะเป็นคำที่คุณไม่คุ้นชินมากนัก หากว่าคุณไม่ได้อยู่ในวงการทันตกรรม หรือต้องการจัดฟัน
วัสดุใสที่ใช้ในการจัดฟันแบบล่องหน และรีเทนเนอร์แบบใสนั้น จะถูกผลิตขึ้นจากวัสดุที่เรียกว่า Translucent Polycrystalline Alumina (TPA) ซึ่งถูกค้นพบโดย NASA ในขณะที่พยายามวิจัยหาวัสดุที่สามารถใช้ปกป้องอุปกรณ์ประเภทเรดาห์ โดยที่ไม่ทำให้สัญญาณที่ส่งทะลุผ่านอ่อนแรงลง
ต่อมาก็มีบริษัทที่นำเอา TPA นี้ มาใช้ในการทำเครื่องมือจัดฟัน แทนที่การใช้ลวดแบบดั้งเดิม
ภาพจาก : https://www.invisalign.co.th/
ยังมีอีกหลายเทคโนโลยีจาก NASA ที่เดิมทีพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจบนอวกาศ แต่ก็ถูกนำมาต่อยอดใช้กับเทคโนโลยีบนโลกนี้อีกหลายอย่าง หากสนใจสามารถเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ Spinoff.nasa เลย
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |