ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับขยะพลาสติกในทะเล หลายคนน่าจะเคยเห็นคลิปผืนทะเลที่มีแพขยะขนาดใหญ่เป็นกิโลเมตรลอยอยู่กลางทะเล, เคยเห็นข่าวที่เต่าทะเลตายเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไป ฯลฯ ว่ากันว่าในแต่ละปีมีขยะพลาสติกจำนวนมากถึง 800 ล้านตัน ที่ถูกปล่อยลงทะเลทั้งจากทางตรง และทางอ้อม
ขยะเหล่านั้น มีทั้งรองเท้า, ช้อน, ถุงพลาสติก, คอตตอนบัต ฯลฯ และหนึ่งในนั้นก็มีหลอดพลาสติกอยู่ด้วย แม้ว่าหลอดพลาสติกนี้จะไม่ใช่ผู้ร้ายรายใหญ่ในกองขยะจำนวนมหาศาลนั้น แต่มันก็เหมือนจะกลายเป็นพระเอกที่กระตุ้นให้คนเริ่มหันมาสนใจที่จะลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันมากขึ้น
เราไม่รู้เหมือนกันว่ามันเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร อาจจะเพราะมีคลิปเต่าทะเลที่ถูกหลอดพลาสติกฝังเข้าไปในจมูก และต้องใช้ชีวิตอย่างทรมาณ แต่โชคดีที่มีคนไปเจอมันเข้า และหาทางช่วยเหลือมันเอาไว้ได้ ซึ่งคลิปได้กลายเป็นไวรัลบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าเต่าทะเลทุกตัวจะโชคดีแบบนั้น
มาลองคิดๆ ดู เราก็พบว่าทุกวันนี้เราใช้หลอดพลาสติกกันมหาศาลจริงๆ นี่ยังไม่คิดว่าหลอดพลาสติกก็มักจะมาพร้อมกับแก้วพลาสติก และถุงพลาสติกอีก แค่เราซื้อน้ำแก้วเดียวก็อาจก่อขยะพลาสติกให้เกิดขึ้นได้ถึงสองชิ้นแล้วเป็นอย่างน้อย
ในบทความนี้เราอยากจะแนะนำ "หลอดทางเลือก" ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และย่อยสลายง่ายกว่าหลอดพลาสติกให้รู้จักกัน มันอาจจะไม่สะดวก หรือมีราคาถูกเท่าหลอดพลาสติก แต่เราคิดว่ามันถูกมากเมื่อเทียบกับสิ่งแวดล้อมที่ถูกมนุษย์ทำลายไป จะมีอะไรบ้าง ลองมาดูกัน
ก้านใบของต้นมะละกอมีลักษณะกลวงเหมือนท่อ เราสามารถตัดมันออกมาทำเป็นหลอดได้อย่างง่ายๆ แถมมันยังช่วยตกแต่งให้แก้วเครื่องดื่มดูน่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย ใน YouTube มีคลิปสอนวิธีทำหลอดจากก้านใบของต้นมะละกอมากมาย หากในละแวกบ้านของคุณมีต้นมะละกออยู่ล่ะก็ ลองไปตัดมาทำเป็นหลอดดูสิ เราแอบอ่านเจอเคล็ดลับมาว่า ควรล้างก้านให้สะอาดแล้วนำไปแช่ในน้ำเย็นผสมเกลือเสียก่อนสักรอบหนึ่ง ก่อนนำมาใช้งาน เพื่อช่วยไม่ให้เครื่องดื่มเสียรสชาติจากก้านมะละกอ
ที่มาภาพ : https://www.biggerpockets.com/blog/2015/12/14/chinese-bamboo-teach-quit-succeed/
หลอดที่ทำจากไม้ไผ่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่มีความทนทาน และสามารถล้างเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ซ้ำได้ด้วย ในประเทศไทยเองก็มีผู้ที่สนใจ และผลิตหลอดไม้ไผ่ออกมาจำหน่ายแล้ว
หลอดไม้ไผ่นั้นจะทำมาจากไผ่หลอด ในตอนนี้ยังมีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูงอยู่ เนื่องจากการเป็นงานฝีมือ เท่าที่เราค้นข้อมูลดู ปัจจุบันหลอดแบบนี้ยังมีกำลังผลิตที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ราคาแพงนิดนึง อยู่ที่หลอดละประมาณ 5-10 บาท
หลอดที่ทำจากแก้วเป็นทางเลือกที่ดีทีเดียวสำหรับคนที่สนใจเรื่องความสะอาด เพราะเราสามารถมองทะลุเห็นคราบสกปรกภายในหลอดได้ หากว่าล้างมันไม่สะอาด ข้อเสียเพียงอย่างเดียว คือ ต้องระมัดระวังในการดูแลรักษาเสียหน่อย เพราะมันแตกหักง่ายมาก ในด้านของราคาของหลอดชนิดนี้ เท่าที่เราเจอก็มีตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อยบาท ขึ้นอยู่กับดีไซน์ และความยาวของหลอดด้วย
ตามชื่อของมัน หลอดชนิดนี้ทำจากสแตนเลสสตีล มีความทนทานสูง สามารถล้างเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง โดยจะต้องทำจากเหล็กแบบ Food grade (มาตรฐาน 304) สแตนเลส สตีล แบบ Food grade คือ จะต้องมีส่วนผสมของ Carbon ต่ำกว่า 0.8% และมี Iron ผสมอย่างน้อย 50%
ทั้งนี้ หลอดประเภทนี้มีข้อเสียที่ตรงข้ามจากหลอดแก้ว คือ ด้วยความที่เป็นหลอดทึบ ทำให้เราไม่เห็นว่าด้านในหลอดสภาพเป็นอย่างไร ดังนั้นตอนล้างจะต้องพิถีพิถันหน่อย
จากประสบการณ์ส่วนตัวของเรา ตอนปรับตัวมาใช้หลอดวแบบนี้ในช่วงแรกๆ ต้องระวังนิดนึง เพราะตัวหลอดค่อนข้างแข็ง ด้วยความไม่ชินก็มีเอาหลอดกระแทกฟันบ้าง เจ็บพอใช้ได้เลยทีเดียว
ราคาใกล้เคียงกับหลอดแก้ว อย่างไรก็ตาม การซื้อหลอดสแตนเลส ส่วนตัวคิดว่าควรเลือกที่ดูดี จากแบรนด์ที่น่าเชื่อถือหน่อย เกิดไปเจอสินค้าคุณภาพต่ำ ไม่ได้ใช้เหล็กแบบ Food Grade หากภายในหลอดมีสนิม เราอาจจะเผลอทานเข้าไปโดยไม่รู้ตัวได้
หลอดกระดาษเหมือนจะเป็นหลอดทางเลือก นอกเหนือจากพลาสติกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในร้านค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นหลอดใช้แล้วทิ้งที่มีราคาแพงกว่าหลอดพลาสติกไม่มากนัก ประมาณหลอดละ 1-2 บาท เท่านั้น และยังให้ความรู้สึกที่ดีต่อลูกค้ามากกว่าหลอดแก้ว หรือหลอดสแตนเลส เพราะแม้ว่าหลอดจะได้รับการทำความสะอาดมาแล้ว แต่ความรู้สึกที่ต้องใช้หลอดร่วมกับใครก็ไม่รู้ มันก็ยังตะขิดตะขวงใจอยู่ดี
ทั้งนี้หลอดกระดาษ มักจะทำมาจากวัสดุเหลือใช้ในธรรมชาติ จึงนับเป็นการรีไซเคิลอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนใครที่กังวลว่ากระดาษมันจะไม่ยุ่ยเหรอเวลาโดนน้ำ ต้องบอกเลยว่า หลอดกระดาษในสมัยนี้มีความทนทานแช่ในน้ำได้สองสามชั่วโมงเลยล่ะ ซึ่งนานขนาดนั้น เราคงจะดื่มน้ำหมดแก้วไปแล้วล่ะ
Biodegradable plastic เป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งมันก็ถูกนำมาทำเป็นหลอดดูดน้ำด้วย อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลมากมาย ทำให้เราพบว่า มันไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากอย่างที่คิด ส่วนใหญ่แล้วการย่อยสลายของ Biodegradable plastic จะต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับประเภทของวัสดุ เช่น ย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ หรือแบคทีเรีย, ย่อยสลายผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชัน แต่ปัญหาก็คือ มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมปกติ มีการทดลองแล้วพบว่าถุงพลาสติกที่ทำจาก Biodegradable plastic ยังคงสภาพไว้ได้ดีแม้จะถูกนำไปฝังดิน หรือแช่น้ำทะเลเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม หลอดจาก Biodegradable plastic ก็ยังน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าหลอดพลาสติกอยู่ดี อย่างน้อยหากเราทิ้งมันอย่างถูกวิธี ก็มีโอกาสที่มันจะถูกนำไปย่อยสลายตามกรรมวิธีได้ง่ายกว่า
การลดขยะที่ดีที่สุด คือ การไม่สร้างขยะตั้งแต่ต้น เลิกดูดผ่านหลอด แล้วหันมาจิบผ่านแก้วโดยตรงเลย ร้านค้าดังๆ หลายร้านก็เริ่มหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการเปลี่ยนวิธีเสิร์ฟ หรือออกบรรจุภัณฑ์ใหม่มาให้ดื่มจากแก้วง่ายขึ้น
เป็นอย่างไรกันบ้าง กับหลอดที่เรามาแนะนำ ชอบใช้หลอดแบบไหนก็ลองหามาใช้แทนหลอดพลาสติกกันดูนะครับ หรือใครมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่ามาแนะนำ ก็คอมเมนต์เข้ามากันได้เลย
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |