Street food หรือที่เราจะเรียกแบบบ้านๆ ว่าอาหารข้างถนนก็ได้ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เก่าแก่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์มาอย่างยาวนาน มีหลักฐานการค้นพบว่า Street food นี้มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ในอดีตกาลนั้น Street food เป็นอาหารที่วางจำหน่ายให้แก่คนที่มีฐานะยากจน ไม่มีบ้าน หรือเตาไฟที่จะใช้ในการประกอบอาหารได้ และจุดเด่นนี้ก็ยังสืบทอดมาจนปัจจุบัน อาหาร Street food ส่วนใหญ่แล้ว ยังไงก็มักจะมีราคาที่ถูกกว่าอาหารที่เรากินในร้าน แถมมันยังหารับประทานได้ง่ายอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ Street food ยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมมาอย่างยาวนาน และน่าจะอยู่ตลอดไป เพราะมนุษย์ทุกคนก็ต้องรับประทานอาหารทุกวันกันอยู่แล้ว
ลักษณะของ Street Food มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนในตัวอยู่แล้ว มันเป็นร้านที่ขายตามข้างทาง หรือในพื้นที่สาธารณะ บ้างก็ตามงานเทศกาล หรือในตลาดนัด ตัวร้านหากไม่เป็นบูธเล็กๆ ก็เป็นรถเข็น หรือที่นิยมในสมัยนี้ก็จะมาเป็นรถเลย ที่เราเรียกกันว่า Food truck ในปี 2007 ทาง Food and Agriculture Organization (องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ) ได้คาดการณ์ว่า มีคนบริโภค Street Food มากถึง 2,500,000,000 คนในทุกๆ วันทั่วโลก
มีคนบริโภค Street Food มากถึง 2,500,000,000 คน ต่อวันทั่วโลก
กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มี Street Food จำนวนมาก มากขนาดที่สื่อนอกชื่อดังอย่าง CNN ใส่ชื่อกรุงเทพมหานครไว้เป็นลำดับแรกจาก 23 เมือง ที่ผู้ชื่นชอบ Street Food ต้องไปเยือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านเยาวราชที่มี Street Food เต็มสองข้างทางเกือบทุกค่ำคืน
อาหาร Street Food ในประเทศไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยขายผ่านเรือซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักในสมัยนั้น พอเริ่มมีการตัดถนน คลองต่างๆ เริ่มหายไป ก็ย้ายมาขายบนถนนแทน กรุงเทพมหานครนั้นมียุคที่ Street Food รุ่งเรืองเป็นอย่างมากในช่วงระหว่างปี 80-90 ที่นายจำลอง ศรีเมือง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เขามีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนสามารถทำธุรกิจบนทางเท้าได้ เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถหารายได้มาจุนเจือครอบครัวได้มากยิ่งขึ้น ซึ่ง ณ ตอนนั้นไม่มีเสียงคัดค้านอะไรจากประชาชน เนื่องจากประชาชนในเมืองยังไม่แออัดเหมือนกับที่เป็นอย่างปัจจุบันนี้
จำลอง ศรีเมือง คือ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ออกนโยบายส่งเสริมให้คนทำธุรกิจบนบาทวิถี
ตัดภาพกลับมาในปัจจุบันนี้ จากจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ประมาณ 5,888,835 คน ในปี 1990 แต่ปัจจุบัน (2019) นี้คาดว่ามีมากถึงประมาณ 10,000,000 คน และมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศปริมาณสูงถึงประมาณ 20,000,000 คน (ข้อมูลเมื่อปี 2017) ที่หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวเมืองกรุงเทพมหานคร ทำให้ถนนหนทาง มีความแออัดมากกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้เกิดประเด็นขึ้นมาในสังคมว่า "Street Food สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใช้ทางเท้า"
สมัยก่อน Street Food คือ พระเอกที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน
แต่สมัยนี้กลับกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้สัญจรบนท้องถนน
สำหรับเราแล้ว Street Food คืออาหารข้างทาง แต่ไม่ใช่ว่ามันจะขายริมถนนได้ "ทุกที่" หรือ "ทุกเวลา" ที่ต้องการ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหากับ Street Food ในพื้นที่ที่ถูกจัดเอาไว้ให้ขายได้อยู่แล้ว อย่างเช่น ถนนเยาวราช, ตลาดนัดรถไฟ, ตลาดศรีย่าน, รอบๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, เพชรบุรี ซอย 5 ฯลฯ หรือจะเป็นรถเข็นที่จอดอยู่ริมทาง เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามันเป็นแหล่งที่ถูกกำหนดเอาไว้ หรือรถเข็นที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
แต่ Street Food ที่ถูกมองเป็นผู้ร้าย คือ คนที่จับจองที่บนบาทวิถีมาตั้งร้าน หรือผู้ค้าบางรายที่มีร้านเป็นตึก แต่ก็นำโต๊ะมาวางเต็มบาทวิถี หรือหนักหน่อยก็ยึดถนนไปด้วยเลย ซึ่งร้านเหล่านี้นอกจากจะสร้างความลำบากแก่การสัญจรแล้ว ยังมักสร้างความสกปรกให้กับทางเดิน หรือหากเป็นร้านอาหารก็มักจะเทน้ำมันลงไปในท่อระบายน้ำโดยตรง โดยไม่ผ่านการดักกรองเสียก่อน
ภาพที่เห็นได้อย่างชินตา คนสัญจรต้องหลีกเลี่ยงไปเดินที่บนถนนทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงต่ออุบัติเหตุถูกรถชน แล้วผู้พิการที่ใช้รถวีลแชร์ หรือคนพิการทางสายตา เขาจะใช้ทางได้อย่างไร เป็นคำถามที่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้
ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หนึ่งในผู้ที่พยายามจัดระเบียบ Street Food ของเมืองกรุงเทพมหานคร ได้บอกว่าเขาอยากให้กรุงเทพมหานครเหมือนกับประเทศสิงคโปร์ แต่เนื่องจากรายได้ต่อปีของคนไทยมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าคนสิงคโปร์ ทำให้การเข้าถึงอาหาร Street Food ที่มาราคาถูกมีความจำเป็นมากกว่า
ย่าน Street Food ยอดนิยมอย่างเยาวราช, ทองหล่อ, ข้าวสาร ฯลฯ ยังคงเป็นแดนสวรรค์ของคนรัก Street Food เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าหาบเร่ หรือรถเข็นสามารถที่จะค้าขายในพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างอิสระเหมือนเดิม แต่สำหรับผู้ค้าที่เข้าเมืองมายึดพื้นที่ขายตามจุดที่ไม่ได้รับอนุญาตในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว ดร.วัลลภ สุวรรณดีได้ให้ความเห็นว่า "อยากให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม และผลกระทบต่อร้านค้าที่อยู่ข้างหลังคุณด้วย"
ผู้ขายต้องมี "น้ำใจ" ด้วย บาทวิถีมีไว้สำหรับเดิน คุณมาใช้โดยไม่เสียค่าเช่า ไม่เสียภาษีด้วยซ้ำ การจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้ เราต้องใช้ความสามัคคีเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้
ทางออกของปัญหานี้คงยังไม่มีคำตอบ มีเหตุผลร้อยแปดที่ผู้ค้าพยายามใช้ บ้างก็ว่ายากจน บ้างก็ว่าขายมาตั้งนานแล้ว หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกไม่พอใจเมื่อถูกเอาเปรียบ อาจจะลองเริ่มต้นด้วยการเลิกอุดหนุนร้านแบบนั้น เมื่อไม่มีลูกค้าเดี๋ยวพวกเขาก็ต้องเลิกขายไปเอง
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |