ทุกวันนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางรูปแบบวัฒนธรรมที่หลากหลายท่ามกลางความแตกต่างทางเชื้อชาติและสังคม สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่ากำลังเป็นที่นิยมอยู่ในบ้านเราขณะนี้คือ "วัฒนธรรมเกาหลี" ที่แฝงอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพลง อาหาร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ฯลฯ วันนี้เราจะชวนทุกท่านมาลองคิดตกผลึกกันดูว่า ความเป็นเกาหลี นั้นมันมากับอะไรบ้าง มาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีผลต่อทั้งประเทศไทยและประเทศเกาหลีอย่างไรบ้างตามผู้เขียนมาเลยค่ะ
เชื่อว่าหลายคนในรุ่นอายุ 20 ปลายๆ ขึ้นไป คงคุ้นหูกันมาบ้างกับคำว่า "ยัยตัวร้าย" ที่มักจะถูกนำมาใช้ในชื่อภาพยนตร์และซีรี่ส์เกาหลีกัน ซึ่งนี้ไม่ใช่การ "คิดไม่ออกแล้วใช้ชื่อเดิมๆ หากิน" แต่อย่างใด (ถึงแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้อยู่ส่วนหนึ่ง...) แต่เกิดจากกระแสความโด่งดังของภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกที่นำมาฉายในไทย ได้แก่ My Sassy Girl หรือชื่อไทยว่า "ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม" ที่นำแสดงโดย จอนจีฮยอน (สมัยก่อนเรียก จวนจีฮุน) และ ชาแตฮยอน ตัวหนังเป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่สร้างจากเรื่องจริง ซึ่งหนังประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลไม่เพียงแต่ในเกาหลีเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นหนังระดับ Blockbuster ที่โด่งดังไปทั่วทั้งทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ฮ่องกง และไทย ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ เทียบเท่ากับความสำเร็จของหนัง Titanic ได้เลยทีเดียว (เฉพาะในเอเชียนะ) ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา หนังเรื่องใดก็ตามที่นางเอกคนนี้เป็นคนแสดง ชื่อหนังจะประกอบด้วยคำว่า "ยัยตัวร้าย" เสมอ
รูปโปสเตอร์ของ My Sassy Girl
Blood : The Last Vampire ยัยตัวร้าย สายพันธุ์อมตะ
แค่ชื่อก็รู้แล้วว่าใครแสดง
ชื่ออังกฤษว่า You Who Came From the Stars ถูกซื้อลิขสิทธิ์นำมาสร้างใหม่เป็นเวอร์ชันไทยแล้ว
ในชื่อ ลิขิตรักข้ามดวงดาว แต่ยังไม่ได้ฉาย
หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ 'ยัยตัวร้ายฟีเวอร์' ไปได้ไม่นาน ในปี 2004 ช่อง 7 ก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์ Full House หรือชื่อไทยว่า "สะดุดรักที่พักใจ" มาฉายในช่วงเช้าวันเสาร์ - อาทิตย์ นำแสดงโดย เรน และ ซงเฮคโย ซึ่งในตอนที่ฉายนั้น หน้าตาพระเอกเกาหลีอย่างเรนในสายตาคนไทยอย่างผู้เขียนนั้นถือว่า "บ้านๆ" มาก (คนอะไรตาก็ตี่หน้าก็บาน ไม่เห็นหล่อเลย) เพราะสเปคคนหล่อในสมัยนั้นจะออกไปทางแนวชายไทยหล่อคมอย่างคุณ ชาติชาย งามสรรพ์ เสียมากกว่า แต่ปรากฎว่าพอได้ดูสักตอนหนึ่ง (ดูเพราะมันฉายต่อจากการ์ตูนน่ะ...) ก็กลายเป็นว่าติดงอมแงมไปเฉยเลย! เพราะบทและฉากซีรี่ส์ในตอนนั้นคือทำดีมาก กลมกล่อมลงตัวสุดๆ ทำให้เรารู้สึกได้เลยว่า ถ้าไม่ใช่พระเอกคนนี้หนังจะไม่สนุกแบบนี้หรอก แถมนางเอกก็น่ารัก ดูแล้วอมยิ้มได้ทุกตอน แถมยังมีฉากที่คู่พระ-นางพากันมาเที่ยวประเทศไทยอีกด้วย เรียกว่าได้ใจคนไทยไปเต็มๆ แถมเป็นการโปรโมทประเทศไทยไปในตัว
ฉากที่มาถ่ายทำที่ประเทศไทย ซึ่งช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในไทยได้เป็นอย่างมาก
จากแฟนๆ ชาวต่างชาติที่ติดตามซีรี่ส์เรื่องนี้
ซีรี่ส์เรื่องนี้ถูกนำมาฉายถึง 15 ประเทศทั่วโลก และแน่นอนว่าประเทศไทยก็มีการซื้อลิขสิทธิ์มาทำเวอร์ชันไทยด้วยเช่นกันในชื่อว่า วุ่นนัก รักเต็มบ้าน ซึ่งปัจจุบัน ก็ยังมีการนำเวอร์ชันต้นฉบับกลับมารีรันฉายใหม่อยู่เนืองๆ และด้วยความที่ซีรี่ส์เป็นที่นิยมขนาดนี้ ก็ทำให้เพลงประกอบซีรี่ส์อย่าง Byul - I Think I และ Rain - I Do ขึ้นท้อปชาร์ตเพลงริงโทนที่ไทยในขณะนั้นเลยทีเดียว
วุ่นนัก รักเต็มบ้าน และรูปเวอร์ชันรีรัน
หลังจากเห็นความสำเร็จของช่อง 7 ในการฉายซีรี่ส์เกาหลี ช่อง 3 ก็ไม่น้อยหน้าหาซีรี่ส์เกาหลีมาฉายต่อทันทีด้วย แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ 'อาหารเกาหลีฟีเวอร์' ตามมาติดๆ เพราะไม่ว่านางเอกของเราจะขยับไปทำอาหารอะไรก็ดูดีน่ากินไปซะหมด บางคนถึงกับลงทุนบินไปเกาหลีเพื่อไปกินอาหารเกาหลีให้หายอยาก และจากซีรี่ส์เรื่องนี้นี่เอง ที่ทำให้คนไทยได้รู้จักกับอาหารเกาหลีที่ชื่อว่า "กิมจิ" หรือผักกาดดองเกาหลีเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ (เรื่องอื่นอาจเคยพูดถึงผ่านๆ แต่เรื่องนี้นางเอกของเราทำให้ได้เห็นจริงๆ)
รูปปกซีรี่ส์สมัยนั้น ฉากเข้าครัว และฉากแข่งทำอาหารเพื่อเป็นซังกุงสูงสุดของห้องเครื่อง
จากนั้น ทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ก็ได้แข่งกันนำซีรี่ส์เกาหลีมาฉายแย่งเรตติ้งอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Winter Sonata (เพลงรักในสายลมหนาว) ที่ทำให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวตามรอย เบยองจุน พระเอกของเรื่องทั้งชาวไทยและต่างชาติ, Autumn in my Heart (รักนี้...ชั่วนิรันดร์) ที่ผู้เขียนไม่เคยได้ประสบพบเจอกับความเศร้าโศกทุกข์ระทมใดๆ ที่จะทรมานได้เท่าบทในซีรี่ส์นี้อีกแล้ว (ทิชชู่ต้องมีสแตนด์บายไว้เสมอ) กับประโยคที่ตรึงใจทุกคนที่เคยดูเรื่องนี้ว่า "พี่ชาย...ฉันหนาว", Sangdoo, Let's Go to School! (บันทึกหัวใจ...นายซางดู), My Girl (ป่วนหัวใจ ยัยกะล่อน) และ Princess Hours (เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา) ที่พยายามแย่งเรตติ้งระหว่างช่องกันอย่างดุเดือด เรียกว่าละครไทยอื่นๆ ที่ฉายในช่วงนั้นดูซบเซาไปถนัดตา
เรียกจากรูปแรก: Winter Sonata, ฉากเรียกน้ำตาใน Autumn in my Heart ,
Sangdoo, Let's Go to School!, My Girl และ Princess Hours
อิทธิพลและความโด่งดังของซีรี่ส์และภาพยนตร์เหล่านี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญมากสิ่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศเกาหลีที่ช่วยโปรโมทของดีของเกาหลีได้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ, อาหารดั้งเดิมของเกาหลี, ไปจนถึงวิชาการแพทย์เกาหลี ซึ่งรัฐบาลเกาหลีก็ไม่ปล่อยโอกาสอันดีนี้ให้หลุดลอยไป รีบลงมาสนับสนุนด้วยทันที เช่น เมื่อซีรี่ส์ เพลงรักในสายลมหนาว จบลง ทางภาครัฐฯ ก็ได้สนับสนุนให้สร้างรูปปั้นของคู่พระ-นางขึ้นบนเกาะนามิ ที่ปัจจุบันกลายเป็นแลนด์มาร์คที่ทุกคนต้องแวะเมื่อมาเยือนสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งนี้ หรือจะเป็นพระราชวังคยองบกกุง (เคียงบกกุง) ที่ซีรี่ส์ประวัติศาสตร์อย่าง แดจังกึม, เจ้าหญิงวุ่นวายฯ, ข้ามมิติ ลิขิตสวรรค์, ฯลฯ ล้วนต้องมาถ่ายทำที่นี่ ใครตามเรื่องไหนมาก็สามารถไปหามุมถ่ายรูปได้ตามอัธยาศัย ซึ่งแน่นอนว่าทางภาครัฐฯ ก็ได้ลงมาสนับสนุนด้วยเช่นกันโดยการตั้งข้อกำหนดว่า หากนักท่องเที่ยวคนไหนใส่ชุดฮันบก (ชุดประจำชาติเกาหลี) เข้าวังมา ก็จะสามารถเข้าชมได้ฟรีทันที!
รูปปั้นจากซีรี่ส์ที่เกาะนามิ, ประตูทางเข้าพระราชวังคยองบกกุง และสาวๆ ที่ใส่ชุดฮันบกมาเซลฟี่กัน
Credit: https://blog.airpaz.com/en/nami-island-korea-interesting-spots-and-the-exploration/
https://www.wonderfulpackage.com/pass/v/4393/
https://www.yingpook.com/best-of-korea/
และจากการที่กระแสนิยมซีรี่ส์เกาหลีหลั่งไหลเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง ก็ก่อให้เกิดทั้งผลลัพธ์ในแง่ดีและแง่เสีย ในแง่ดีคือทางเกาหลีและบริษัทในเกาหลีเล็งเห็นถึงศักยภาพการจับจ่ายใช้สอยจากการที่คนไทยเราบินไปอุดหนุนสินค้าและการท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนจากบริษัทเกาหลีเข้ามาในไทยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทเครื่องสำอางอย่าง AmorePacific ที่เดิมทีผลิตเครื่องสำอางเกาหลีแล้วขายแต่เพียงในประเทศ (ทำให้แม่ค้าออนไลน์รับหิ้วกันให้พรึ่บ) เบนเข็มมาลงทุนเปิดบริษัทและเปิดร้านในไทยพร้อมรับคนไทยประจำร้านสาขาต่างๆ เป็นการเพิ่มการจ้างงานไปด้วยในตัว หรือจะเป็นทางด้านธุรกิจสายการบิน ที่สายการบิน Jeju Air, Jin Air, และ t'way สามสายการบินสัญชาติเกาหลีเพิ่มเส้นทางบินตรงเข้าไทยพร้อมเปิดออฟฟิศสายการบินในบ้านเรา (เป็นรูปแบบ GSA คือจ้างตัวแทนในไทยดูแลให้) และอีกหนึ่งสายการบินคือ Eastar Jet ที่เปิดเส้นทางมาไทยเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีตัวแทนในไทย
แต่ถ้ามองกลับกันในแง่เสีย แน่นอนว่าเมื่อกระแสบูมขนาดนี้ ก็ทำให้เกิดการหลั่งไหลของค่าเงินบาทออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งการทำทัวร์เกาหลี บินไปศัลยกรรมให้มีรูปหน้าเหมือนดาราไอดอลที่ชื่นชอบ หรือการรับหิ้วสินค้าเกาหลี ที่ล้วนแล้วแต่เปลี่ยนค่าเงินบาทให้กลายเป็นเงินวอน รวมไปถึงการที่มีแรงงาน "ผีน้อย" เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะการท่องเที่ยวที่นิยมมากขึ้น ทำให้บริษัททัวร์จัดโปรฯ แข่งกันอย่างดุเดือด แรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้จึงมองว่าค่าใช้จ่ายนั้น "คุ้มเสี่ยง"
ภาพโปรโมชั่นทัวร์เกาหลีที่มีราคาถูกแสนถูก, ภาพก่อน-หลังการศัลยกรรมแบบเกาหลี (รูปจาก https://spiceee.net/th/articles/574), และปัญหาแรงงานผิดกฎหมายข้ามชาติ
มาต่อกันที่เรื่องเพลงเกาหลีกันบ้าง หากถามว่าเพลงเกาหลี แทรกซึม มาจากทางด้านใดไวที่สุด เห็นจะไม่พ้นเกม Audition เกมเต้นที่เด็กร้านเกมทุกคนต้องรู้จักกันดี (รัวกันจนคีย์บอร์ดพัง แต่พังเฉพาะปุ่ม Space Bar...) เพราะในเกมดังกล่าวนั้นมีเพลงลิขสิทธิ์แท้ให้เล่นกันอยู่มากมายทั้งเพลงไทย เพลงสากล เพลงญี่ปุ่น เพลงจีน และเพลงเกาหลี (ที่เยอะกว่าเพลงไทยไปอีกในช่วงเปิดเกมใหม่ๆ) และเพลงที่นิยมสำหรับทุกคนในการหัดเล่นคือเพลงที่มี bpm (beat per minute) ช้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพลงเกาหลี เช่น 4U - In my heart, Lee Soo Young - Grace, Lee So Eun - Loving You เป็นต้น ทำให้เรารู้สึกติดหูและไปเสิร์ชหาฟังเพลงดังกล่าวในอินเตอร์เน็ตต่อ และเกมนี้เองที่ทำให้เราได้รู้จักกับสองเพลงเพราะอย่าง Perhaps Love และ Parrot จากซีรี่ส์เกาหลีเรื่อง Princess Hours หรือในชื่อไทยว่า เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา ทำให้ผู้เขียนกลายเป็นเด็กติดซีรี่ส์ไปในเวลาต่อมา (ทันทีที่ค้นเจอว่าเพลงมาจากไหน)
นอกเหนือจากเกมด้านบนแล้ว ตอนสมัยเรียน ผู้เขียนเคยอยู่ในช่วงที่เพลงญี่ปุ่นนั่น บูม ถึงขีดสุด เรียกว่าอะไรที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นนั้นจะลามมาถึงไทยไวมาก เช่น เพลงญี่ปุ่น ทรงผม การคัฟเวอร์เพลง การแต่งหน้า นิตยสารญี่ปุ่น เกม อนิเมะ ฯลฯ แต่ปรากฎว่าทางญี่ปุ่นนั้นไม่เคยสนใจจะมาโปรโมทที่ไทยอย่างจริงจังเลย (น้อยมาก)
รูปงาน Japan Festa ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2006, ปกนิตยสาร Ray ที่เล่มเดียวแบ่งกันอ่านทั้งห้อง
และดิจิไวซ์ เครื่องเกมที่เป็นกระแสมาจากอนิเมะ
Credit: https://japanfesta.com/?page_id=437
https://women.mthai.com/book-recommend/25194.html
ตรงกันข้ามกับฝั่งเกาหลี ที่เพลงเกาหลีก็เริ่มเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตามห้าง ตามงานอีเว้นท์ต่างๆ ตามสถานบันเทิง (อาจเพราะมิกซ์ง่ายกว่าด้วยล่ะมั้ง) แถมยังมีการสนับสนุนจัดประกวดการเต้นคัฟเวอร์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และตามมาด้วยการเปิดออดิชั่นเฟ้นหาเด็กไทยไปเป็นศิลปินเกาหลี ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดการตื่นตัวในบ้านไทยเราเป็นอย่างมาก
งานออดิชั่นที่เปิดรับเด็กไทยเป็นครั้งแรก จากเว็บปิงบุ๊คที่สาวกเพลงเอเชียต้องเคยแวะเวียนเข้ามา
วง Candy Mafia ที่เปิดตัวด้วยการเป็นวงชนะเลิศประกวดเต้นคัฟเวอร์ด้วยเพลง Hot Issue ของ 4Minute
ในรายการ 07SHOW และได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินต่อกับ Mono Music
แถมยังชิงตัดหน้าจัดคอนเสิร์ตเกาหลีอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกที่ไทยในชื่องาน Korean Music Wave in Bangkok ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อปี 2011 ต่อด้วยค่าย SM Entertainment ที่เมื่อเห็นการตอบรับที่ดีจากการจัดคอนเสิร์ตดังกล่าว ในปีถัดมาก็ได้ประกาศจัดคอนเสิร์ตรวมศิลปินในค่ายอย่างเต็มรูปแบบด้วยเช่นกันใน SMTOWN Live World Tour III in Bangkok เรียกกระแสนิยมให้กับวง Girls' Generation ได้ถึงขีดสุดเลยทีเดียว
ซึ่งการที่กระแสของ Kpop หลั่งไหลมาไทยนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการที่รัฐบาลเกาหลีนั้นทุ่มเม็ดเงินจำนวนมากพร้อมการวางแผนมาอย่างดีและตั้งเป้าหมายที่จะไปให้สูงถึงการเป็น 1 ใน 10 อันดับสูงสุดของตลาดเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากการประกาศดังกล่าวไม่กี่ปี ตลาดเพลงเกาหลีได้มีการเพิ่มมูลค่าขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิมในปี 2009 เกาหลีอยู่อันดับที่ 24 อีก 4 ปีถัดมา (2013) เกาหลีก็สามารถทำได้สำเร็จด้วยการติดอันดับ 10 ของตารางเป็นครั้งแรก และใน 8 ปีให้หลัง (2017) ก็สามารถขยับขึ้นมาครองอันดับ 6 ของตารางได้ด้วยตัวเลขที่สูงถึง 494.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 หมื่นล้านบาท) ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าแผนพัฒนานั้นได้ผลเพียงใด
รูปวันแถลงข่าวประกาศหนุนวงการ Kpop และตารางข้อมูลอันดับเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเพลง
และจากการโปรโมทศิลปินเกาหลีอย่างต่อเนื่องในไทยนี้เอง ที่ทำให้เหล่าวัยรุ่นในไทย (ทั้งในตอนนั้นและในตอนนี้) เกิดการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ต่างๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นเครื่องแต่งกาย หรือเทรนด์ความงามในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้เกิดค่านิยมความขาว = สวย ก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคมและวัยรุ่นไทยตามมามากมาย เช่น การฉีดกลูต้าฯ เถื่อนเพื่อให้ผิวขาวเหมือนไอดอลที่ชื่นชอบ ทำศัลยกรรมกับหมอกระเป๋าที่ไม่รู้ที่มาที่ไป / ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเพราะเห็นแก่ราคาถูก รวมทั้งยาลดความอ้วนและวิธีลดความอ้วนแบบผิดๆ เพื่อที่จะให้ตนเองมีหุ่นแบบไอดอลที่ติดตาม เป็นต้น ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน
อันตรายจากการฉีดกลูต้าฯ, ศัลยกรรมเถื่อน,
และรูปสูตรลดน้ำหนักที่ดูยังไงก็ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหัวข้อนี้ได้อิทธิพลมาจากเรื่องอะไร คำตอบนั้นอยู่ในข้อแรกที่เราพูดถึงนั่นก็คือจากซีรี่ส์ แดจังกึม นั่นเอง เดิมทีภาพยนตร์และซีรี่ส์เกาหลีนั้นไม่ได้เน้นอะไรเรื่องอาหารมากนัก (กินให้อยู่ในบทที่ต้องกินข้าวคุยกันเฉยๆ) แต่พอมาเป็นแดจังกึม ซีรี่ส์อิงประวัติศาสตร์ที่ต้องกล่าวถึงบทบาทการเป็นนางในห้องเครื่องที่ต้องหุงหาอาหารเลี้ยงคนทั้งวัง การทำอาหารก็เลยกลายมาเป็นบทหลักที่ต้องกล่าวถึงและต้องทำให้นางเอกของเราดูโดดเด่นตามบทจริงๆ
ฉากหนึ่งในซีรี่ส์ แดจังกึม และตัวอย่างการจัดสำรับแก่ราชวงศ์
และนอกเหนือจากซีรี่ส์ที่เกี่ยวกับการทำอาหารโดยตรงแล้ว ซีรี่ส์ดังอื่นๆ ก็มีแอบแฝงเรื่องของกินไว้ด้วยเช่นกัน อย่าง You Who Came From the Stars ทีนางเอกนำเสนอการกิน "ไก่ทอดกับเบียร์" หลังจากที่ 'โดนเท' เรื่องงานมาตลอดทั้งวัน หรือ The Girl Who Can See Smells (ชื่อไทยว่า สืบรักจากกลิ่น) ที่มีฉากพระเอกทานอาหารอย่างไม่หยุดหย่อนหลังสูญเสียน้องสาวไป หนึ่งในอาหารที่ทานคือ "จาจังมยอน" ที่แปลเป็นเมนูไทยได้ว่า "บะหมี่ผัดเกาหลี" หรือในชื่อเล่นว่า "บะหมี่ดำ"
ฉากทานอาหารจากในซีรี่ส์ที่ทำคนดูดึกต้องเดือดร้อนหาของกินแก้หิวไปตามๆ กัน
นอกเหนือจากซีรี่ส์แล้ว ยังมีอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถแฝงมาได้ด้วยเช่นกัน นั่นคือจากไอดอลที่เป็นศิลปิน บางคนอาจสงสัยว่าจะแฝงมาได้ยังไงในเมื่อเราจะได้เห็นแค่ตอนแสดง คำตอบคือ บรรดาไอดอลเหล่านี้ไม่ได้มีแค่การแสดงและร้องเพลงอยู่เบื้องหน้าเท่านั้น แต่ยังมีการรับเชิญไปออกรายการต่างๆ เช่นรายการวาไรตี้ ซึ่งรายการเหล่านี้นี่ล่ะที่ทำให้เกิดกระแสการ ตามไปกิน ตามศิลปินด้วย เช่น ฮวาซา จากวง MAMAMOO ที่ตัวเธอเองนั้นเป็นคนชอบทานเครื่องในย่างมากๆ และมีรายการหนึ่งได้เชิญเธอไปพูดคุยและถ่ายทำตามติดชีวิตประจำวันของเธอ หนึ่งในนั้นคือการถ่ายคลิปตอนทานอาหารออกอากาศ ทำให้แฟนๆ ออกไปหาร้านนี้เพื่อกินตามเธอจนแน่นขนัด แถมยังฮิตจนถึงขั้นที่ว่า สมาคมผู้ค้าเนื้อสัตว์เกาหลีมอบบัตรของขวัญมูลค่า 1 ล้านวอน (ราว 25,000 บาท) ให้กับไอดอลคนดังกล่าวที่ช่วยทำให้การค้าเครื่องในสัตว์กลับมาคึกคักอีกครั้ง และทำให้เธอมีฉายาอันเป็นที่รู้จักโดยทั่วกันว่า "เทพธิดาไส้ย่าง"
ฮวาซากับการกินเครื่องในย่างออกรายการ และความคึกคักของบรรดาแฟนคลับที่ตามไปกินที่ร้านเดียวกัน
จากกระแสอาหารเกาหลีที่เป็นที่นิยมจากซีรี่ส์และเหล่าศิลปินไอดอลในวงการบันเทิง ทำให้คนไทยเกิดความตื่นตัวอยากลิ้มลองรสชาติอาหารฉบับเกาหลีดูบ้างนอกเหนือจากอาหารญี่ปุ่น ก่อให้เกิดร้านอาหารเกาหลีผุดขึ้นทั่วกทม. ในหลากหลายแบรนด์ เริ่มจากไก่ทอดบอนชอน (Bonchon) ที่เมื่อก่อนเราคนไทยก็มองด้วยสายตาแปลกๆ ว่ามันจะแตกต่างจากไก่ทอดชื่อดังที่มีผู้พันหนวดขาวเป็นมาสคอต หรือไก่นิวออร์ลีนส์ของร้านพิซซ่าตรงไหน จนกระทั่งเราได้ลองชิมดูถึงรู้ว่า ไก่ทอดของเกาหลีนั้นเน้นความฉ่ำของเนื้อและเครื่องเทศที่ไม่ใช่แบบแห้งๆ หรือกรอบนอกนุ่มใน แต่เป็นการหมักด้วยซอสเผ็ดแบบเกาหลีที่ถูกปากคนไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ในปัจจุบัน ร้านบอนชอนสามารถขยายสาขาไปได้ถึง 42 สาขาแล้วทั่วประเทศ (สาขาที่ 42 จะเปิดให้บริการในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ที่เซ็นทรัล วิลเลจ)
รูปร้านบอนชอนสาขาแรกที่ทองหล่อ
Credit: https://www.edtguide.com/eat/336002/bonchon-chicken
ต่อจากบอนชอนก็มีร้านอาหารเกาหลีผุดขึ้นตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Kyochon, SeoulChon, Redsun, Sukishi, Seoul Grill, DakGalbi, ฯลฯ อีกเพียบ ใครสะดวกร้านไหน ชอบแนวรสชาติร้านใดก็สามารถหากินได้ไม่ยาก แค่เข้าห้างใหญ่ๆ หรือย่านช้อปปิ้งใหญ่ๆ ก็เจอแล้ว
ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เห็นถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมของไทยในการปรับตัวและรับวัฒนธรรมของชาติอื่นเข้ามาอย่างกลมกลืน (แต่ไม่ถูกกลืนไปกับกระแสความเป็นเกาหลี) ซึ่งถ้าเรามองดีๆ แล้ว นี่ถือว่าเป็นจุดแข็งของสังคมไทยที่ไม่เคยถูกวัฒนธรรมใดกลืนหายเลย มีแต่ถูกปรับให้เข้ากับสังคมไทยเท่านั้นเอง
เดิมทีแฟชั่นเกาหลีก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากญี่ปุ่นเช่นเดียวกันกับไทย แต่หลังจากที่รัฐบาลเกาหลีได้มีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบ ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้มีความเป็นสากลตามแบบตะวันตกมากขึ้น และเมื่อเกาหลีเริ่มก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทรนด์เพลง Kpop ก็เลยกลายเป็นผู้นำแฟชั่นไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือแม้แต่การแต่งกายเพื่อออกงานในโอกาสพิเศษ (เพราะเกาหลีมีงานมอบรางวัลในวงการบันเทิงบ่อยมาก) ก็ได้รับการจับตามอง ไม่เว้นแม้กระทั่งแฟชั่นสนามบินหรือที่ต่างชาติเรียกว่า Airport Fashion ที่สำนักข่าวเกาหลีจะต้องตามไปถ่ายรูปเหล่าศิลปินที่เดินทางไปที่สนามบินเพื่อไปทำงานที่ต่างประเทศ ตั้งแต่การถ่ายทำ MV, แสดงคอนเสิร์ต, ไปจนถึงการร่วมงานแฟชั่นกับแบรนด์ดังต่างๆ ระดับโลก
ภาพวง Twice ที่ได้ชื่อว่าเป็นเกิร์ลกรุ๊ปแห่งชาติในยุคนี้ กับแฟชั่นเครื่องแต่งกายหลากหลายรูปแบบ
เรียงจาก MV, ออกงานพรมแดง, และแฟชั่นสนามบิน
และจากเทรนด์แฟชั่นเกาหลีนี้เอง ทำให้อุตสาหกรรมส่งออกสินค้าของเกาหลีมีกำไรการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว สังเกตได้จากบรรดาห้างร้านย่านช็อปปิ้งที่มีเสื้อผ้าแบรนด์เกาหลีมาขายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงแบรนด์ไทยที่ผลิตในเกาหลีแล้วส่งกลับมาขายที่ไทยก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเทรนด์แฟชั่นเกาหลีเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแม้แต่ในจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากเมืองหลวงของประเทศไทย เพราะคนเกาหลีก็เป็นคนเอเชียที่มีรูปร่างหน้าตาไม่ต่างจากคนไทยมากนัก (ถ้าเปรียบเทียบกับชาวตะวันตกที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด) ประเทศไทยก็เลยพลอยได้อัปเดทแฟชั่นแบบทันสมัยไปพร้อมๆ กับผู้คนทั่วโลกด้วยกันเลย
เทรนด์แฟชั่นจั๊มป์สูทและเดรสแบบเกาหลี ที่เข้าไทยและได้รับความนิยมอย่างมาก
เพราะใส่ง่าย ไม่ต้องแมทช์เสื้อผ้าให้ยุ่งยาก
เมื่อมีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแล้วก็ต้องมีเครื่องสำอาง ซึ่งจุดสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ศิลปินเกาหลีโด่งดังไปทั่วโลกคือรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลาและสวยงาม ซึ่งไอดอลเกาหลีทุกคนล้วนแล้วแต่ผ่านการสะบัดแปรงแต่งหน้าขึ้นเวทีกับเมคอัพอาร์ติสประจำวงกันมาแล้วทั้งสิ้นไม่เว้นแม้แต่ไอดอลชาย บางครั้ง เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าการแต่งหน้าของช่างแต่งหน้าเกาหลีนั้นดู 'ลอย' ผิดปกติ (เป็นลักษณะของสีรองพื้นกับสีผิวที่เป็นคนละสีกันแบบเห็นได้ชัดเจน) ซึ่งจริงๆ แล้วส่วนใหญ่จะไม่ใช่ความผิดของช่างแต่งหน้าแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะศิลปินเหล่านั้นจะต้องขึ้นแสดงบนเวทีที่มีไฟแรงจ้าส่องหน้าอยู่ตลอดเวลา จึงมักจะต้องแต่งหน้าให้สว่างกว่าสีผิวอย่างน้อย 1 เฉด เพื่อเวลาต้องแสงไฟ จะได้ดูขาวสว่างมีออร่านั่นเอง
Hyorin (คนกลาง) อดีตศิลปินวง Sistar ซึ่งมีสีผิวออกสีแทน จะเห็นได้ชัดเลยว่าสีของใบหน้าแตกต่างกับสีผิวที่แท้จริงอย่างชัดเจน (ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ช่างหรือเป็นที่ศิลปินที่อยากได้รองพื้นขาวๆ)
ฉากจาก MV เพลง Paradise: https://www.youtube.com/watch?v=Z6dKyy1bOic
เจมส์ จิรายุ ดาราไทยที่ไปออกงานที่เกาหลี ถูกช่างแต่งหน้าเกาหลีแต่งให้จนคนไทยรู้สึกว่าหน้าลอย
Credit: https://women.kapook.com/view147053.html
และเมื่อศิลปินคัมแบคในแต่ละครั้ง ก็จะมีคอนเซ็ปต์และภาพลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปตามอารมณ์ของเพลงที่จะโปรโมท ดังนั้น คนทั่วไปอย่างเราๆ ก็จะได้เห็นการแต่งหน้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละอารมณ์ที่ต้องการจะสื่อในการโปรโมทแต่ละครั้งผ่านทาง MV และการโชว์บนเวทีรายการเพลง ทำให้เกิดความรู้สึกอยากแต่งตามศิลปินและค้นหาเครื่องสำอางที่สามารถแต่งตามได้ แบรนด์เครื่องสำอางในเกาหลีจึงนิยมจ้างศิลปินที่กำลังฮิตติดชาร์ตอยู่ในขณะนั้นมาเป็นพรีเซ็นเตอร์เครื่องสำอางเพื่อกระตุ้นยอดขายทั้งในและต่างประเทศ
วง Red Velvet กับการเป็นพรีเซ็นเตอร์เครื่องสำอางให้กับ Etude House
ซึ่งปัจจุบันมีสาขาในไทยอยู่มากมายหลายแห่ง
ส่วนวงการเครื่องสำอางในไทยก็ได้อัปเดทเทรนด์มาตั้งแต่ตอนที่วงการเพลงและซีรี่ส์เกาหลีเริ่มดังไปด้วยกัน โดยเหล่าพ่อค้าแม่ค้าขา 'หิ้ว' ซึ่งตอนนั้นกรมศุลกากรของไทยยังไม่เข้มงวดมากนัก คนขายของออนไลน์เหล่านี้ก็พลอยได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ แถมตอนนั้นรัฐบาลไทยก็ยังไม่มีกฎหมายที่แน่ชัดเกี่ยวกับการขายของออนไลน์และเงินหมุนเวียนในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปด้วย ฉะนั้น สายช้อปที่ชื่นชอบแฟชั่นเกาหลี ก็เลยได้เครื่องสำอางเกาหลีมาใช้ผ่านช่องทางนี้เป็นช่องทางหลัก จนกระทั่งมีบริษัทเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ในเกาหลีอย่าง AmorePacific (ที่กล่าวถึงไปในข้อที่ 1) มาเปิดบริษัทในไทย จึงทำให้คนไทยสามารถช้อปได้โดยไม่ต้องง้อเว็บสั่งออนไลน์ หรือรอเวลาพรีออเดอร์ที่มักจะกินเวลายาวนานตั้งแต่ 7 - 30 วันกว่าจะได้ใช้ของที่สั่งอีกต่อไป
ภาพโปรโมชั่นสินค้าแบรนด์เกาหลี ที่พอมีบริษัทในไทยปั๊บ ก็สามารถทำโปรโมชั่นได้เองปุ๊บ
แข่งกับผู้ขายออนไลน์ได้สบาย แถมยังมีหน้าร้านให้ลองอีกด้วย
จากหัวข้อทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปโดยสังเขปได้ว่า
|
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน |