หลายคนอาจจะสงสัยว่าแค่ ใช้อินเทอร์เน็ตเนี่ย มันจะมีผลทำให้โลกเราตายอย่างช้าๆ ได้ด้วยหรอ เพราะอะไร?
"งั้นเราลองมาดูเหตุผลกัน"
เอาจริงๆ แล้วถ้าพูดถึงเรื่องทั่วไป การใช้ไฟฟ้าและพลังงานในชีวิตประจำวันของคนเรา ก็ไม่ต่างจากการใช้งานอินเทอร์เน็ต สักเท่าไหร่ กว่าคนเราจะมีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ที่ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งโลกในทุกวันนี้ จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรในการสร้างและใช้พลังงานไฟฟ้ามาหล่อเลี้ยงให้ระบบและอุปกรณ์ทำงานได้อยู่ตลอดเวลา อินเทอร์เน็ต (Internet) ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องหลายยุคจากที่จำกัดการใช้งานอยู่บนคอมพิวเตอร์ก็เปลี่ยนมาอยู่บนมือถือสมาร์ทโฟนที่เราใช้กันได้อยู่ในทุกวันนี้
และลองนึกดูว่าวันๆ นึงเราใช้งานอินเทอร์เน็ตมากแค่ไหน ? ไหนใช้ท่องเว็บไซต์, ทำงาน, ส่งอีเมล, ดูหนังบน Netflix, วิดีโอบน Youtube, ฟังเพลงผ่านบริการต่างๆ, เล่น Facebook, เกมออนไลน์, ดาวน์โหลดไฟล์, อัปโหลดรูป และอื่นๆ อีกมากมาย กระทั่งในบ้านและนอกบ้าน หรือยามที่เราไปเที่ยวพักผ่อน เกือบทุกๆ ที่ของชีวิตเราในปัจจุบันนี้ ล้วนแต่มีอินเทอร์เน็ตเกี่ยวข้องกันทั้งนั้น
เพื่อนๆ ล่ะจำได้ไหมว่าเลิกใช้งานคอมพิวเตอร์ครั้งล่าสุดตอนไหน และแบตฯ มือถือของเรา หมดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? อาจจะเมื่อเร็วๆ นี้ หรือแทบจะจำไม่ได้เลยก็เป็นได้
อินเทอร์เน็ตนั้นถูกใช้งานอยู่ทุกที่ และการทำงานของเครือข่ายทั้งหมดที่กล่าวมามัน "เกิดการถ่ายโอนข้อมูล" ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ หรือข้อมูลเก่า ทั้งหมดล้วนถูกส่งต่อผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เราใช้กันในแต่ละวันมากกว่า 2,500,000,000,000,000,000 ไบต์ (Bytes) หรือ 25 ล้าน เทระไบต์ (Terabyte) เลยทีเดียว
ปริมาณรับส่งข้อมูลต่อวัน เทียบเท่าแผ่น Blu-ray Discs
เรียงกันกว่า 10 ล้านแผ่น! (สูงเท่าหอไอเฟล 4 หอต่อกัน)
เมื่อมันมีข้อมูลปริมาณมาก สิ่งที่ต้องการต่อมาก็คือ "ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต" หรือที่เราเรียกว่า "Internet Data Center (IDC)" ซึ่งสิ่งนี้แหละที่เป็นสถานที่เก็บรวบรวมข้อมูลทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตที่เราใช้กันทั้งรูปภาพ, เสียง, วิดีโอ, ข้อมูลเว็บไซต์, และอื่นๆ อีกมากมาย จนในตอนนี้มีทั่วโลกมีเซิร์ฟเวอร์มากกว่า 100 ล้านเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้เก็บ (ยังไม่รวมเซิร์ฟเวอร์ส่วนบุคคลและที่ตรวจสอบไม่ได้อยู่อีกมาก) และจากข่าวที่มีการคาดการณ์ว่า ถ้ามีอุปกรณ์กว่า 30 พันล้านเครื่องเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) นี้ เราอาจต้องการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลกว่าอีก 400 ล้านเซิร์ฟเวอร์ในอนาคต ซึ่งมันเยอะมากๆ
เราจะมีศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Data Center) แบบนี้อยู่ทั่วโลกและมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
แน่นอนว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีและความต้องการของคนเรามีไม่รู้จบ มนุษย์เราต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไฟล์ข้อมูลมีขนาดใหญ่ที่ใหญ่ขึ้นตามยุคตามสมัย ก็เลยมีการพัฒนาอินเทอร์เน็ตให้มีความเร็วสูงขึ้น ยกตัวอย่างในสมัยก่อนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยุคแรกๆ เช่นโมเด็ม 56K ที่ต้องต่อสัญญาณผ่านโทรศัพท์บ้าน แต่ในสมัยนี้ก็ได้พัฒนามาเป็นอินเทอร์เน็ตแบบ Fiber Optic ที่มีความเร็วสูงกว่าเดิมข้อมูลจำนวนมากก็ยิ่งรับส่งได้ง่าย นั่นทำให้เกิดการก่อสร้างพื้นที่เก็บข้อมูลและพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้รองรับกับความต้องการใช้งานในปัจจุบันและอนาคต และด้วยเหตุผลนี้เอง..
เพราะอินเทอร์เน็ตรูปแบบเดิมที่เราใช้อยู่ในตอนนี้ ยังไม่ใช่ระบบที่สามารถทำงานได้โดยไม่มีผลกระทบใดๆ การติดต่อสื่อสารของอุปกรณ์ต่างๆ บนโลกที่เชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องมศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Data Center) ในการเก็บและเข้าถึงการรับส่งข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เล่นอินเทอร์เน็ตดูข้อมูล, เล่นโซเชียล, เล่นเกมออนไลน์, สตรีมมิ่งวิดีโอ, และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
เชื่อไหมว่า? แค่เรานั่งดู Netflix (เน็ตฟลิกซ์) ครึ่งชั่วโมงอยู่บ้านเฉยๆ
ก็สร้างปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ 1.6 kg (กิโลกรัม) สู่ชั้นบรรยากาศโลก
อ้างอิงจากปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าของเซิร์ฟเวอร์ Netflix (Kamiya 2020)
และลำพัง Data Center เองก็กินไฟในปริมาณมหาศาลและปล่อยความร้อนจากการทำงานออกมาตลอดเวลา ไม่มีเวลาหยุดพัก ล่าสุดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ของ Data Center ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 205 billion / kWh (205 พันล้าน / กิโลวัตต์-ชั่วโมง) คิดเป็นปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 4.4 kg CO2/kWh (4.4 กิโล / กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
(ยังไม่นับสิ่งอื่นๆ ที่เราใช้งานกันอยู่อย่างมือถือและคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊คที่ต้องใช้ไฟฟ้าคู่กับอินเทอร์เน็ต)
ความร้อนส่วนใหญ่จากศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต เป็นความร้อนแบบสูญเปล่า ที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
เหตุนี้เอง อินเทอร์เน็ตที่เราใช้งานทั่วโลกถึงมีผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้โลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันส่งความร้อนตลอดเวลาจนขนาดที่ว่า Mark Zuckerberg เคยจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Data Center) ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นจัด ถึงแม้จะเป็นความคิดที่ดีที่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ก็ใช่ว่าศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดบนโลกจะสามารถย้ายไปในสถานที่เหล่านั้นได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังไม่มีเทคโนโลยีใหม่หรือหนทางอื่นที่จะมาปรับเปลี่ยนวิธีการใช้งานระบบแบบเดิมๆ ในอนาคตโลกจะมีความร้อนมากขึ้น จนเกินขีดจำกัดที่สิ่งต่างๆ จะคงอยู่ได้ ผลกระทบเหล่านั้นจะส่งผลให้โลกเริ่มเสื่อมสลาย ต้นไม้ใบหญ้าจะตาย ทรัพยากรบนโลกจะไม่มี สิ่งมีชีวิตก็จะไม่สามารถอยู่ได้ บ้านเมืองของมนุษย์ จะถูกปิดตาย น้ำไฟจะดับ อินเทอร์เน็ตไม่มีใช้ ไร้ซึ่งทรัพยาการในการดำรงอยู่ จนสุดท้าย
มนุษย์เราก็อาจจะย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกก็เป็นได้
ทางออกที่มนุษย์สามารถช่วยเหลือโลก อินเทอร์เน็ต ธรรมชาติ สิ่งมีชีวิต และ มนุษย์เราได้ก็คือ การสร้างอินเทอร์เน็ตรูปแบบใหม่ที่ต่างจากโครงสร้างเดิมๆ จากที่มนุษย์เคยสร้างมา ไม่เพียงแค่ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ แต่เป้าหมายคือการทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลงที่สุด เหมือนการใช้รูปแบบพลังงานทดแทน เช่น การใช้พลังงานลมและโซล่าห์เซลล์ แทนการใช้โรงงานไฟฟ้าในการจ่ายไฟให้กับศูนย์ข้อมูล
เทคโนโลยีในสมัยนี้ก็มีส่วนที่สามารถลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ อย่างการเปลี่ยนอุปกรณ์รูปแบบเดิมไปใช้งานอุปกรณ์รูปแบบใหม่ที่กินไฟน้อยลง เช่น เปลี่ยนจากฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุน (Hard Disk) ไปใช้แบบหน่วยความจำ (SSD) แทน (ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเดิมแต่ในอนาคตราคาของอุปกรณ์ต่างๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะถูกลงกับความจุที่เพิ่มมากขึ้น)
การหาหนทางที่ใช้พลังงานเสียในรูปแบบอื่นก็มีเช่นกัน อย่างวิศวกรรมแห่งหนึ่งทำการวิจัย หาทางทำให้ความร้อนที่ได้จากศูนย์ข้อมูล มีประโยชน์กับการใช้สอยรูปแบบอื่นๆ เช่นนำความร้อนที่ได้ไปใช้แทนฮีตเตอร์ในเมืองหนาว, นำความร้อนไปใส่เรือนกระจกที่ปลูกผัก (Green House) ให้สามารถปลูกผักในฤดูหนาวได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ก็ยังมีแนวคิดสุดโต่งที่คิดมาแก้ปัญหานี้ ในเมื่อศูนย์ข้อมูล มีปัญหาเรื่องความร้อนมากนัก งั้นก็เอา ศูนย์ข้อมูลไปจัดตั้งในสถานีอวกาศที่อยู่นอกโลก แทนซะเลย เปลี่ยนการเชื่อมต่อผ่านสายแบบเดิมใช้จานดาวเทียม Satelite เพื่อรับส่งข้อมูลแทน นั่นหมายความว่าโลกจะไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้พลังงานและความร้อนจากศูนย์ข้อมูล ถึงแม้ว่าแนวคิดนี้จะมีข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพในการใช้งานจริง แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ว่าแนวคิดว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้งานจริงก็เป็นได้
ยิ่งอินเทอร์เน็ตพัฒนาเร็วขึ้นมากเท่าไหร่ พื้นที่บริการขยายครอบคลุมมากแค่ไหน พลังงานและทรัพยากรบนโลกก็ถูกใช้งานมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ในปัจจุบันนี้ระบบอินเทอร์เน็ตรูปแบบเดิมยังมีผลกระทบต่อธรรมชาติและโลกอยู่ แต่ถ้าในอนาคตอันใกล้นี้ มนุษย์สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนำวิธีการใหม่ๆ มาแก้ไขปัญหานี้ได้ เมื่อนั้นเราก็จะสามารถอาศัยอยู่บนโลกโดยที่โลกไม่ถูกทำร้ายและยังมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานอยู่ต่อไปได้อย่างเป็นมิตรกับโลกมากยิ่งขึ้น
อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันยังทำร้ายโลก แต่ในอนาคตอาจจะมีสิ่งที่ดีกว่ามาทดแทน
|
It was just an ordinary day. |
ความคิดเห็นที่ 1
13 ตุลาคม 2563 09:18:45
|
|||||||||||
ปัญหาที่มีผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติแบบนี้ จะมีผู้บริหารประเทศไหนสักกี่ประเทศ ให้ความสำคัญ มองการณ์ไกล เพื่อหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง ผ่านนโยบายของรัฐบาลกันบ้าง นอกจากจะให้นักวิทยาศสาตร์ นักวิจัยกลุ่มเล็กๆ ในแต่ละประเทศ ต้องหาทางแก้ไขกันไป เพื่อลูกหลานในอนาคต
|
|||||||||||