ทั้งๆ ที่ชีวิตปกติของเราจะใช้เลขฐานสิบกันเป็นหลัก (0,1,2,...,8,9) แต่เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมระบบเวลาที่มีความสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์ถึงเลือกที่จะใช้เลขฐานสิบสอง
ระบบเวลาที่เราใช้กันทุกวันนี้ กำหนดให้ 1 วัน มี 24 ชั่วโมง, 1 ชั่วโมง มี 60 นาที และ 1 นาที มี 60 วินาที ซึ่งเป็นระบบที่ถูกวางรากฐานมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ ชาวอียิปต์ได้ประดิษฐ์นาฬิกาแดดขึ้น โดยใช้การเคลื่อนที่ของเงาเพื่อบอกเวลา ส่วนจำนวน 12 ชั่วโมงนั้น มีการสันนิษฐานว่าน่าจะอ้างอิงจากการที่ชาวอียิปต์ค้นพบว่าการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์สามารถนับได้ 12 ครั้งต่อปี
ภาพจาก https://www.f-lohmueller.de/pov_tut/animate/anim112e.htm
ส่วนการที่แบ่ง 1 ชั่วโมง ออกเป็น 60 นาที และ 60 นาที ออกเป็น 60 วินาที ปรากฏหลักฐานว่ามาจากชาวบาบิโลเนียที่ใช้ระบบเลขฐานหกสิบในการศึกษาคณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์อยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นความฉลาดของคนในยุคนั้น พวกเขาวิเคราะห์แล้วว่าการที่แบ่งแบบนี้ช่วยให้การคำนวณค่าต่างๆ ง่ายขึ้น เพราะ 60 ก็เท่ากับ 12x5 ซึ่งค่า 12 สามารถหารได้ด้วย 2,3,4,6 และ 12 เทียบกับการใช้เลขฐาน 10 จะมีตัวหารได้ลงตัวแค่เพียง 2,5 และ 10 เท่านั้น
ระบบตัวเลขของชาวบาบิโลเนีย ภาพจาก: https://en.wikipedia.org/wiki/Sexagesimal#/media/File:Babylonian_numerals.svg
แต่อย่างที่เราเกริ่นไว้ข้างต้น ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เราใช้เลขฐานสิบเป็นหลัก ซึ่งอาจจะมีเหตุผลมาจากการที่มือของมนุษย์มี 10 นิ้ว และนิ้วมือของเราก็น่าจะเป็นเครื่องมือช่วยนับสิ่งแรกที่ถูกใช้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เลขฐาน 10 นั้นแบ่งได้ยาก มันหารลงตัวได้แค่ 2 กับ 5 เท่านั้น หากเราต้องการแบ่ง 10 ออกเป็นสามส่วน เราจะได้ค่า 3.33... หรือหกส่วนก็ 1.666... เทียบไม่ได้เลยกับการแบ่งเลข 12 ที่แบ่งได้ง่ายกว่ามาก
ทว่า มันไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีใครเคยพยายามแบ่งเวลาในหนึ่งวันให้เป็น 10 ชั่วโมงมาก่อนนะ ย้อนไปในปี ค.ศ. 1586 Simon Stevin นักคณิตศาสตร์, นักฟิสิกส์ และวิศวกรทางทหาร ได้คิดค้นระบบเวลาฐานสิบขึ้นมา โดยแบ่งเวลาด้วยทศนิยม และพยายามเผยแพร่แนวคิดนี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เขาคาดหวัง
ภาพจาก : https://simonstevinblog.blogspot.com/2016/
ในเวลาถัดมา John Wilins ที่ปรึกษาของ Robert Hooke (นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษเจ้าของคำพูดที่ว่า “ความจริงเท่านั้นที่รู้” ผู้พบเซลล์ และเป็นผู้บัญญัติคำว่า "เซลล์" ขึ้นเป็นครั้งแรก) ก็ได้เสนอเรื่องการใช้ระบบเวลาฐานสิบต่อราชสมาคมแห่งลอนดอน ในปี ค.ศ. 1668 โดยเขาพยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของค่าทศนิยมในระบบเวลาแต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับอยู่ดี
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/John_Wilkins
เวลาผ่านไปหลายร้อยปี ในที่สุดระบบเวลาฐานสิบก็ถูกหยิบมาใช้อีกครั้งโดยประเทศฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามปฏิวัติ (ค.ศ.1789-1799) กลุ่มคณะปฏิวัติได้พยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในประเทศให้เป็นรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งระบบเวลาก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกปรับเปลี่ยนด้วย โดย Jean le Rond d'Alembert หนึ่งในคณะปฏิวัติได้เป็นคนเสนอแนวคิดเวลานี้ขึ้นมา โดยมีชื่อเรียกระบบเวลาแบบใหม่นี้ว่า "French Revolutionary Time" โดยเริ่มประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1793
ระบบ French Revolutionary Time นี้จะแบ่งเวลาในหนึ่งวันเป็น 10 ชั่วโมง โดยหนึ่งชั่วโมงมี 100 นาที และหนึ่งนาทีมี 100 วินาที นาฬิกาที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงนั้นก็จะมีหน้าปัดที่บอกเวลาแบบ 10 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ระบบเวลาแบบใหม่นี้ยืนระยะการใช้งานได้เพียง 17 เดือน เท่านั้น ก็ประกาศเลิกใช้ เนื่องจากมันสับสนต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก เพราะคนส่วนใหญ่ได้ชินกับการบอกเวลาแบบ 12 ชั่วโมงมานานมากแล้ว มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่อยู่ๆ จะไปเปลี่ยนไปแปลงมัน
เรื่องน่าตลก คือ นาฬิกาแบบฐานสิบส่วนใหญ่ ก็จะต้องมีหน้าปัดย่อยสำหรับบอกเวลาแบบฐาน 12 อยู่ดี
นอกจากฝรั่งเศสแล้ว ยังมีหลักฐานการค้นพบว่าในอดีต ประเทศจีนเองก็เคยใช้ระบบบอกเวลาแบบฐานสิบมาก่อนด้วยเช่นกัน โดยใช้กันในสมัยหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาล โดยหนึ่งวันจะถูกแบ่งออกเป็น 100 ke, 1 ke เท่ากับ 100 fen (นาที) และ 1 fen เท่ากับ 100 miao (วินาที)
ภาพจาก https://www.nature.com/news/ancient-times-table-hidden-in-chinese-bamboo-strips-1.14482
ก็ถือว่าเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจนัก ว่าครั้งหนึ่งเราก็เคยใช้เวลาเพียงสิบชั่วโมงต่อวัน เพียงแต่หนึ่งชั่วโมงนั้นยาวนานกว่าปกติเท่านั้นเอง
เกร็ดน่าสนใจ
คนมักเข้าใจผิดว่าโลกหมุนรอบตัวเองใช้เวลา 24 ชั่วโมง แต่ความจริงโลกใช้เวลาประมาณ 23 ชั่วโมง 56 นาที เท่านั้น
อีก 4 นาที นั้น มาจากการที่โลกใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 365 วัน ถ้าเราเอา 365 วัน มาหารด้วย 24 ชั่วโมง เราจะได้เกือบๆ 4 นาทีต่อวัน
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าเวลา 24 ชั่วโมง คิดมาจากช่วงเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเองจึงไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |