รัฐเท็กซัส (Texas) ของสหรัฐอเมริกา เป็นดินแดนที่วัฒนธรรมด้านดนตรีมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน ในแต่ละปีมีเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ถูกจัดขึ้นหลายครั้ง เช่น Austin City Limits Music Festival, Strawberry Festival ฯลฯ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม มันดูไม่เหมือนสถานที่ ที่จะมีวงเกาหลีสไตล์ K-Pop มาเปิดการแสดงสักเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา MONSTA X วงบอยแบนด์ยอดนิยมจากเกาหลีเพิ่งจะมาจัดแสดงคอนเสิร์ต มีแฟนเพลงหลายพันคนมารวมตัวกันพร้อมกับชูป้ายเชียร์ที่ทำขึ้นมาเอง การแต่งตัวตามแฟชั่นของศิลปิน มีสินค้าที่ระลึกอย่างสายรัดข้อมือสำหรับบ่งบอกว่าคุณเป็นแฟนของสมาชิกคนไหนให้เลือกซื้อในระหว่างที่กำลังต่อแถวรอเข้าชมคอนเสิร์ต แฟนเพลงเหล่านี้ ไม่ได้มารวมตัวกันเพราะเขาได้ยินเพลงของ MONSTA X จากวิทยุ หรือร้านขายเพลง จากการเดินเข้าไปถาม ทุกคนตอบว่าพวกเขากลายเป็นแฟนคลับของวงนี้ได้ก็เพราะ "YouTube"
บนโลกออนไลน์ วัฒนธรรม K-Pop เป็นที่เสพติดกันทั่วโลก ด้วยทำนองที่ติดหู และมิวสิควิดีโอที่ติดตา ทำให้มีมิวสิควิดีโอหลายๆ ตัวมีผู้เขาชมถึงหลักพันล้านครั้ง และทำลายสถิติยอดผู้ชมบน YouTube อยู่เรื่อยๆ เป็นภาพที่ชินตาไปเสียแล้ว ที่กลุ่มศิลปินอย่างเช่น BTS และ Blackpink จะปรากฏตัวเรียกแสงแฟลชจากตากล้องบนพรมแดง หรือมีงานคอนเสิร์ตระดับที่ใหญ่จนต้องจัดขึ้นในสนามกีฬา แถมตั๋วเข้าชมยังจำหน่ายขายหมดอย่างรวดเร็ว
การที่ K-Pop สามารถสร้างฐานความนิยมจากแค่ในประเทศเกาหลีใต้ สู่เวทีใหญ่ในระดับโลกได้ ปัจจัยสำคัญหนึ่งในนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่มันเกิดขึ้นแบบทุกวันนี้ก็เพราะ YouTube แต่จะกล่าวแบบนั้นก็เหมือนจะไม่ถูกต้องสักทีเดียวนัก เราควรจะบอกว่า K-Pop มีการออกแบบตัวสินค้าให้เหมาะสมกับการเผยแพร่ทาง YouTube ได้อย่างสมบูรณ์แบบต่างหาก
K-Pop เป็นมากกว่าเรื่องของเพลง
Steve Aoki ดีเจชื่อดังสายอิเล็กทรอเฮาส์ที่เพิ่งร่วมงานกับ Monsta X ในซิงเกิล "Play It Cool" ได้กล่าวถึงศิลปิน K-Pop ได้อย่างน่าสนใจว่า "พวกเขาเหมือนเป็นนักกีฬาโอลิมปิกแห่งวงการ Pop พวกเขาฝึกซ้อมให้รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไรในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการปรากฏตัวบนสื่อ, การเต้น และร้องเพลง เกาหลีได้ไปถึงระดับปรมาจารย์ในด้านนี้แล้ว ดังนั้นผมคิดว่าทุกคนในวงการควรจะรีบตามให้ทัน หรืออย่างน้อยก็เก็บมาใช้ และเรียนรู้บ้าง"
ภาพจาก https://www.facebook.com/MonstaxArgentina/photos/a.2098062720456684/2098064827123140/?
ศิลปิน K-Pop ยุคใหม่วงแรกที่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับ มีชื่อว่า Seo Taiji&Boys (서태지와 아이들) เปิดตัวในปี 1992 วงนี้มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในบ้านเกิด แต่คนทั้งโลกแทบจะไม่มีใครรู้จักวงนี้ หรือแนวเพลงสไตล์ K-Pop จนกระทั่งเวลาผ่านไปกว่ายี่สิบปี เพลง "Gangnam Style" ของ Psy ได้เกิดไวรัลไปทั่วโลก ด้วยท่าเต้นสุดกวน และท่อนฮุคที่ติดหูสุดๆ จนได้กลายเป็นคลิปวิดีโอตัวแรกบน YouTube ที่ทำยอดวิวแตะ 1,000,000,000 ครั้ง เมื่อปี 2012 (ปี 2019 มียอดวิว 3,423,888,708 ครั้ง)
ประวัติศาสตร์ของ K-Pop ที่เติบโตนอกประเทศเกาหลีใต้นั้นมีความผูกพันอย่างใกล้ชิด
กับเทคโนโลยีที่ผู้คนใช้ในการค้นหา และลองฟัง- Kevin Allocca, หัวหน้าฝ่ายกระแสวัฒนธรรมแห่ง YouTube
YouTube เริ่มสังเกตเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของวิดีโอ K-Pop เป็นครั้งแรกในช่วงต้นปี 2011 โดยมียอดวิวรวมประมาณ 2,300,000,000 ครั้ง ใน 235 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปี 2010 ถึงสามเท่า! อีกทั้งยอดวิวส่วนใหญ่มาจากผู้ชมทั่วทั้งโลก และทุกวันนี้ มันก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ โดยหากเราลองไปดูวิดีโอ K-Pop ที่มียอดคนดูสูงสุด 25 อันดับแรก จะพบว่ากว่า 90% ของยอดเข้าชม มาจากนอกประเทศเกาหลีใต้
K-Pop นั้นมีหลักสูตรในการจัดเสียง และภาพให้น่าดึงดูดมานานก่อนที่ YouTube จะกลายเป็นช่องทางยอดนิยมในการค้นหาเพลงใหม่ๆ มาลองฟังเสียด้วยซ้ำ ในช่วงยุค 90 Lee Soo-man ผู้ก่อตั้งบริษัท SM Entertainment ซึ่งในตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทเพลงที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ได้คิดค้นแผนการที่ชื่อว่า "Cultural technology" เพื่อค้นคว้าหาวิธีสร้างความนิยมขั้นสูงสุด และนำกระแสของโลก ซึ่งไม่จำกัดแค่ในด้านเพลงเท่านั้น แต่มันรวมไปถึงเสื้อผ้า, ท่าเต้น และมิวสิควิดีโอด้วย
ที่ SM Entertainment จะมีคู่มือสำหรับสอนพนักงานให้เรียนรู้ "วิธีสร้างความนิยมของศิลปิน K-Pop นอกประเทศ" ในคู่มือดังกล่าวมีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย และหลายเรื่องในนั้นมีความยิบย่อยอย่างน่าตกใจ เช่น สีของอายแชโดว์ที่ศิลปินควรใช้ในบางประเทศ, การเคลื่อนไหวของมือแบบไหนที่ควรทำ, มุมกล้องแบบไหนที่ควรใช้ในมิวสิควิดีโอ อย่างการเปิดด้วยซีนกลุ่มแบบ 360 องศา ก่อนจะตัดไปที่การโคลสอัพศิลปินเรียงไปทีละคน
เทคนิคเหล่านี้ถูกขัดเกลาให้ดีขึ้นหลายต่อหลายครั้ง และผลลัพธ์ของมิวสิควิดีโอสมัยใหม่ของ K-Pop สามารถสะกดคนดูเอาไว้ได้ด้วยเวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาที ถึงแม้ว่าคนที่ชมจะไม่เข้าใจความหมายของเนื้อเพลงเลยก็ได้ อาศัยเทคนิคอย่างการตัดภาพที่รวดเร็ว, ซูมภาพเข้าออก, สถานที่จำนวนมาก, เสื้อผ้าฉูดฉาด และแน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลย คือ การแสดงที่สมบูรณ์แบบของท่าเต้นที่ออกแบบมาอย่างดี
ท่าเต้นสุดเฉียบ เป็นเสมือนเครื่องหมายการค้าของ K-Pop และในแต่ละมิวสิควิดีโอจะต้องมีท่าเต้นเฉพาะตัวที่น่าจดจำ ท่าเต้นเหล่านี้จะไม่มีรูปแบบการเคลื่อนไหวที่เหมือนกับท่าเต้นปกติทั่วไป มันถูกแบบออกมาให้มีความซับซ้อน และดูน่าทึ่งเมื่อถูกเต้นเป็นกลุ่ม สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกเพลิดเพลินได้อย่างไม่รู้ตัว ตรงจุดนี้สำคัญมาก เพราะเพลงส่วนใหญ่จะถูกเรียบเรียงมาโดยตั้งโจทย์เอาไว้เลยว่า อยากจะให้ตัวศิลปินเต้นแบบไหนในแต่ละช่วงของเพลง
I.M สมาชิกของวง Monsta X เผยว่า "มิวสิควิดีโอจะช่วยให้ผู้ฟังมีความเข้าใจตัวเพลงได้ง่ายขึ้น ช่วยให้เกิดการขยายฐานของผู้ฟังให้กว้างกว่าเดิม K-Pop มันไม่ได้จบลงแค่ที่ตัวเพลง เพราะเราจะต้องเตรียมท่าเต้นสำหรับการแสดงบนเวทีคอนเสิร์ตด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญกับมิวสิควิดีโอเป็นพิเศษ"
ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เคล็ดลับ Cultural technology นั้นใช้ได้ผลจริง K-Pop นั้นแพร่หลายบน YouTube ได้รวดเร็วยิ่งกว่าแนวเพลงอื่นๆ เกินกว่าครึ่งของคลิปวิดีโอติดกระแสบน YouTube ภายใน 24 ชั่วโมง ล้วนแต่เป็น K-Pop อ้างอิงจากข้อมูลของ YouTube พบว่าวิดีโอ K-Pop ที่ติดอันดับ มักจะได้รับการกด Likes มากกว่าปกติ 2 เท่า และมีจำนวนคอมเมนต์มากกว่าปกติถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับแนวเพลงอื่นๆ ภายในเวลาเท่ากัน
หากศิลปินเริ่มประสบความสำเร็จมีแฟนคลับเยอะ ทางค่ายก็จะเริ่มวางแผนดึงดูดฐานแฟนคลับให้มีความเหนียวแน่นมากขึ้น K-Pop นิยมใช้การเผยแพร่คอนเทนท์ที่เกี่ยวข้องกับตัวมิวสิควิดีโอออกมา อย่างพวก เบื้องหลังการถ่ายทำ, คลิปการฝึกซ้อมท่าเต้นที่ช่วยให้แฟนคลับสามารถดู เพื่อซ้อมเต้นตามได้ หรือแม้แต่วิดีโอสำหรับร้องเชียร์ (ท่อนที่คนดูสามารถร้องตอบโต้กับศิลปินได้ ตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างเช่น เพลง "เพียงกระซิบ ของวง Black Head ที่จะมีท่อนว่าง 1 ช่องก่อนเข้าฮุค ที่ทุกคนนิยมตะโกนพร้อมกันว่า YET HERE") คลิปเหล่านี้ ค่ายเพลงจะตั้งใจทำออกมา และนิยมปล่อยออกมาในกลุ่ม Official fan ก่อนที่วิดีโอตัวเต็มจะออนแอร์ด้วยซ้ำ มันเป็นส่วนสำคัญของแผนโปรโมทที่จะช่วยให้เพลงมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
กลุ่มแฟน K-Pop เองก็มีลักษณะที่พิเศษด้วยเช่นกัน ศิลปินทั่วไปส่วนใหญ่จะมีแฟนเพลงสายตั้งรับ พวกเขาฟัง และสนับสนุนผลงาน แต่ไม่ค่อยที่จะช่วยเผยแพร่ผลงานของศิลปินต่อเท่าไหร่ เต็มที่ก็แค่แนะนำให้เพื่อนฟัง ในขณะที่แฟน K-Pop มักจะเป็นลักษณะของ "Fandom" ที่มีการเกาะกลุ่มสนับสนุนศิลปินอย่างจริงจัง และพยายามขยายฐานแฟนคลับให้ใหญ่ขึ้นด้วยหลากหลายวิธี อย่างเช่น การแปลภาษาทำซับเพลงให้เป็นภาษาต่างๆ, ถ่ายแฟนแคมเจาะศิลปินคนโปรดในกลุ่ม, อัดคลิปสอนวิธีเต้น, ทำคลิปความรู้สึกหลังชมมิวสิควิดีโอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีขึ้นในช่อง YouTube ทั่วโลก นั่นทำให้กระแส K-Pop แพร่หลายไปทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย
ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้มิวสิควิดีโอ K-Pop มีความน่าสนใจ นั่นก็คือการซ่อน Easter eggs เอาไว้จำนวนมาก ปริศนาเหล่านี้เป็นเหมือนความท้าทายของเหล่าแฟนๆ ที่ทำให้ต้องวนดูหลายๆ รอบเพื่อหาความลับที่ถูกซ่อนเอาไว้ บ่อยครั้งที่มีการทำคลิปออกมาอธิบายจุดต่างๆ ที่คนฟังทั่วไปอาจจะไม่ได้สังเกตเห็น บ้างก็สร้างเป็นทฤษฎีเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคลิป แน่นอนว่าย่อมมีคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย จนในช่องคอมเมนต์เต็มไปด้วยการโต้วาที แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญคือ สุดท้ายแล้วมิวสิควิดีโอดังกล่าวก็จะได้รับความสนใจมากขึ้น
ก่อนที่สื่ออินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียจะแพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน เพลงที่เราจะได้ฟังมักจะถูก "ยัดเยียด" จากการตัดสินใจของค่ายเพลง หรือไม่ก็เหล่าดีเจวิทยุ หรือนักรีวิวเพลง แต่ตอนนี้โลกไม่เหมือนเดิม เราสามารถเลือกสิ่งที่อยากฟัง หรืออยากชมได้ตลอดเวลา จากช่องทางต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตที่มีให้เลือกมากมาย
ไม่ว่าจะ YouTube หรือ Facebook เมื่อเราเข้าช่องไปรับชมวิดีโอที่เราต้องการ เราจะพบกับวิดีโอแนะนำที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กับสิ่งที่เรากำลังดูอยู่ และ K-Pop เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี พวกเขาทำคลิปที่มีความเกี่ยวข้องกันออกมาหลายๆ ตัว ให้แฟนคลับสามารถรับชมได้อย่างต่อเนื่อง
แล้วคุณล่ะยังจำประสบการณ์ที่ "เผลอ" นั่งดูมิวสิควิดีโอ K-Pop จนจบบ้างหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักศิลปินกลุ่มดังกล่าว หรือไม่ได้ชอบเพลงแนวนั้นเลยสักนิด ส่วนตัวผู้เขียนสารภาพตามตรงว่าเคยนะ วิดีโอนั้นก็คือเพลงคลิปที่เราใส่ปิดเอาไว้ด้านล่างข้อความนี้นี่แหละ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |