คุณคงจะได้ยินคำว่า “โรคซึมเศร้า” หรือ “โรคไบโพลาร์” ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างไม่มากก็น้อย บางคนอาจเคยประสบกับภาวะเหล่านั้นด้วยตนเอง หรืออาจมีบุคคลรอบข้างที่กำลังเผชิญกับโรคเหล่านี้อยู่ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจโรคทั้งสองนี้อย่างแท้จริง
หลายครั้งที่โรคเหล่านี้ถูกนำไปผูกติดกับพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง จนทำให้คนที่แสดงออกถึงพฤติกรรมเหล่านั้นถูกตราหน้าว่าเป็นคนป่วย หรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเองป่วยโดยไม่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ ตัวอย่างเช่น “เธอนี่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย สามนาทีสี่อารมณ์ เป็นไบโพลาร์รึเปล่า?” หรือ “ช่วงนี้นั่งซึมทั้งวัน นิดหน่อยก็ร้องไห้ ฉันต้องเป็นซึมเศร้าแน่ๆ ”
และอีกหลายครั้งที่เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “ก็เพราะว่าเราป่วยไงถึงได้ทำแบบนี้” ในการอธิบายพฤติกรรมหรือเรียกร้องอะไรบางอย่าง จึงทำให้คนส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่าโรคเหล่านี้ไม่มีจริง เป็นเพียงข้ออ้างอันชอบธรรมในการกระทำพฤติกรรมแย่ๆ หรือเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นเพียงเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้เสียงสะท้อนของบุคคลที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชตัวจริงได้ออกมาพูดกันว่า “ฉันอุตส่าห์ไปหาหมอ ทนกินยาทุกวันก็เพราะอยากหาย สุดท้ายก็มีคนเอาโรคมาอ้างแล้วทำตัวงี่เง่า รู้ตัวว่าป่วยก็ไปหาหมอสิ รักษาสิ จะได้หาย”
สรุปแล้วคนที่ออกมาเรียกร้องคือคนที่ไม่ได้ป่วยงั้นหรือ? พฤติกรรมเรียกร้องเหล่านั้นคนที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชจริงๆ ไม่มีใครทำกันเลยหรือ? อาจไม่เสมอไป คุณคงสงสัยว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือคนป่วยและใครคือคนอ้างว่าป่วย? เราเชื่อว่า ไม่ว่าคนๆ นั้นจะป่วยจริงหรือไม่ สิ่งที่เขาต้องการก็เพียงแค่ใครคนหนึ่งที่รับฟังเขาอย่างเปิดใจเพียงเท่านั้น
เพราะการป่วยเป็นโรคจิตเวชไม่ใช่เรื่องน่าสนุกที่ใครๆ ก็อยากจะเผชิญกับมัน ผู้ที่ออกมายอมรับว่าตนเองป่วยเป็นโรคจิตเวชหลายคนยืนยันว่าเขาต้องต่อสู้กับโรคนี้เป็นเวลานานและไม่ชอบใจที่ถูกเหมารวมกับบุคคลที่แสดงพฤติกรรมเหล่านั้น รวมทั้งลงความเห็นว่าการป่วยไม่ใช่ข้ออ้างของพฤติกรรมแย่ๆ เหล่านั้น แม้ว่าบุคคลที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช “ส่วนหนึ่ง” อาจมีพฤติกรรมเหล่านั้น แต่ไม่ได้หมายรวมว่าทุกคนที่มีพฤติกรรมนั้นจะต้องป่วยเป็นโรคทางจิตเวชเสมอไป อย่าให้ลักษณะอาการหนึ่งมาตีกรอบความเข้าใจของคุณกับโรคจิตเวชเหล่านี้
เช่นเดียวกับวลีที่ว่า “กินไก่เยอะเดี๋ยวจะเป็นเกาต์” คนที่กินไก่เยอะไม่จำเป็นจะต้องเป็นโรคเกาต์ และคนที่เป็นเกาต์ทุกคนไม่ได้เป็นโรคนี้เพราะกินไก่จำนวนมาก เพราะความเป็นจริงแล้วมันไม่ง่ายขนาดนั้น มันมีอีกหลายปัจจัยในการที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคๆ หนึ่ง และคุณไม่สามารถนำเอาคำหรือวลีมาจำกัดความโรคต่างๆ ได้
โรคทางจิตเวชยอดฮิตอย่างโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์เองก็เช่นกัน คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไม่จำเป็นจะต้องร้องไห้ นั่งซึมทั้งวันจนไม่เป็นอันทำอะไร หรือคิดอยากฆ่าตัวตายอยู่เสมอ แต่ก็สามารถที่จะหัวเราะได้ ยิ้มได้ มีความสุขได้เช่นกัน คุณคงจะมีคำถามว่าแล้วมันจะต่างจากคนรู้สึกเศร้าได้อย่างไร? ความต่างกันของ “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” และ “คนที่อยู่ในห้วงอารมณ์เศร้า” นั่นคือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการนอนไม่หลับ, ไม่มีสมาธิจดจ่อ, เบื่ออาหาร (หรืออยากอาหารมากกว่าปกติ), ท้อแท้, หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ บางคนอาจมีความคิดทำร้ายตนเอง โดยอาจไม่ได้มีความรู้สึกเช่นนี้ทุกวัน แต่เป็นอยู่บ่อยครั้งในช่วง 2 สัปดาห์* และไม่รู้สึกดีขึ้นแม้ว่าจะมีคนคอยพูดปลอบใจหรืออธิบายด้วยเหตุผล
ในส่วนของโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้วนั้น ผู้ป่วยก็ไม่ได้เป็นบุคคลที่อารมณ์ขึ้นลงรุนแรง สามนาทีสี่อารมณ์ แต่คนที่เป็นไบโพลาร์จะมีอาการเศร้าซึม และอาการหงุดหงิดง่ายหรือมีความสุขมาก สลับกันไปด้านละ 1 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ* รวมถึงอาจมีพฤติกรรมเช่น พูดเร็ว, อยู่ไม่นิ่ง, ใช้เงินโดยไม่ยั้งคิด หรือไม่หลับไม่นอนติดต่อกันหลายคืน เป็นต้น ไม่ใช่มีอารมณ์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หรืออารมณ์เปลี่ยนง่ายในช่วงเสี้ยววินาทีอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจผิดกัน
แม้ว่าจะมีแนวทางในการสังเกตอาการของโรคเหล่านี้ แต่ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าตนเองหรือบุคคลที่รู้จักจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์ และการบอกให้บุคคลเหล่านั้นไปเข้าวัด ฟังธรรมะ ปล่อยวาง ให้อารมณ์เย็นลง หรือการบอกให้มองชีวิตคนอื่นที่ลำบากกว่าไม่ได้ช่วยให้บุคคลเหล่านั้นรู้สึกดีขึ้น แต่การแนะนำให้เขาเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางต่างหากที่จะทำให้พวกเขาเหล่านี้มีอาการดีขึ้นจนหายจากโรคเหล่านี้ได้ เช่นเดียวกับอาการป่วยทางกายอื่นๆ อย่างอาการปวดฟัน หากคุณไม่อายที่จะเดินเข้าไปหาหมอฟัน คุณก็ไม่ควรที่จะอายที่จะไปหาจิตแพทย์ด้วยเช่นกัน และหากสังเกตว่าตัวคุณเองหรือบุคคลรอบข้างมีอาการดังกล่าวและสงสัยว่าอาจเป็นโรคทางจิตเวชก็ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องจะดีกว่า
* ทั้งนี้ อาการดังกล่าวข้างต้นจะต้องส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน หรือสัมพันธภาพกับบุคคลรอบข้าง โดยไม่ได้เป็นผลมาจากการใช้สารเสพติดของบุคคลนั้นๆ
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |