ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1848 (หรือเรียกว่ายุคตื่นทอง 1848-1855) เมืองโคโลมา ในเขตแคลิฟอร์เนีย ตอนนั้นมีประชากรอาศัยอยู่เพียงไม่กี่หมื่นคนเท่านั้น แต่ทันทีที่ข่าวการค้นพบทองคำของเจมส์ วิลสัน มาร์แชลล์ (James W. Marshall) ช่างไม้ชาวอเมริกันค้นพบสายแร่ทองคำที่โรงเลื่อยของเขาถูกเปิดเผยขึ้น มันกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก มีนักแสวงโชคมากมายเดินทางมาที่นี่ เพื่อหวัง "ขุดทอง" ว่ากันว่าเพียงแค่ปีเดียว มีคนแห่เข้ามามากถึง 300,000 คนเลยทีเดียว
ลีวาย สเตราส์ (Levi Strauss) ชายชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ที่เดินทางมาสู่นครนิวยอร์กในปี 1851 เพื่อช่วยงานพี่ชายของเขาที่เปิดร้านขายพวกสิ่งทอ ผ้าดิบ จนกระทั่งในปี 1853 เขาได้ยินเรื่องการตื่นทอง จึงตัดสินใจเดินทางไปซานฟรานซิสโกเพื่อเปิดร้านสาขาเพิ่ม
ในบรรดาลูกค้าของลีวายนั้น มีช่างตัดเย็บที่ชื่อว่าเจคอบ ดับเบิลยู. เดวิส (Jacob W. Davis) ที่เดินทางมาจากเมืองรีโน รัฐเนวาดา เขารับตัดเย็บหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเต็นท์, ผ้าคลุมรถม้า ฯลฯ อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีลูกค้ามาขอร้องให้เขาตัดกางเกงให้คู่หนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่ามันจะต้องมีความทนทาน ไม่ขาดง่ายๆ เวลาที่ใส่ไปลุยงานหนัก
มันเป็นงานที่ค่อนข้างหินมาก เจคอบตัดสินใจเดินทางไปที่ร้านของลีวาย เพื่อดูว่าจะมีผ้าแบบไหนที่สามารถตอบโจทย์งานของเขาได้บ้างไหม แล้วก็ไม่ผิดหวัง ร้านของลีวายมีผ้าเดนิมเป็นสินค้านำเข้าหลักที่ขายดีมาก และมีชื่อเสียงในด้านความทนทาน เจคอบเลยตัดสินใจเอาผ้าเดนิมมาตัดเป็นกางเกง แต่ผลงานที่ได้ก็ยังไม่ทำให้เขาพึงพอใจมากนัก เนื่องจากพวกช่องกระเป๋ามันยังปริขาดได้ง่ายอยู่ แต่เขาก็พบวิธีแก้ปัญหาด้วยการเอาหมุดทองแดงมาตอกยึดตามมุมของกระเป๋า กล่าวได้ว่ากางเกงตัวนั้นเองที่ได้เป็นต้นกำเนิดของกางเกงยีนส์ตัวแรกของโลก
|
หลังจากทำที่ตัดกางเกงตัวดังกล่าวได้สำเร็จ เจคอบ ดับเบิลยู. เดวิส มีความต้องการที่จะจดสิทธิบัตรกางเกง แต่เนื่องจากมันมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงซึ่งในตอนนั้นเขาไม่มีเงินพอที่จะจ่าย เขาเก็บไอเดียนี้ไว้จนกระทั่งในปี 1872 เขาได้นำไอเดียของเขาไปปรึกษากับลีวาย สเตราส์ ที่เขาเคยไปซื้อผ้าเป็นประจำ ลีวายชอบไอเดียของเจคอบ แล้วเจรจากันสำเร็จ โดยทั้งคู่จะถือสิทธิบัตรร่วมกัน ทั้งคู่ได้สิทธิบัตรหมายเลข 139,121 จาก U.S. Patent และ Trademark Office ในปีถัดมา 1873 หลังจากนั้นลีวาย ก็ได้ว่าจ้างเจคอบให้มาดูแลการผลิตกางเกงยีนส์ที่โรงงานของเขา Levi Strauss & Co. และเป็นที่นิยมในหมู่คนเหมือง หรือผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างมาก
ภาพจาก https://abcnews.go.com/Entertainment/photos/levis-jeans-miners-models-19217071/image-19217236
จากกางเกงของผู้ใช้แรงงาน สู่แฟชั่นของเหล่าวัยรุ่นที่มีนิสัยขบถต่อสังคม
เดิมทีกางเกงยีนส์ก็จะฮิตใส่กันอยู่แค่ในชนชั้นแรงงานที่ต้องลุยงานถึกขุดเหมือง นอนกลางดิน กินกลางทราย เนื่องจากไลฟ์สไตล์แบบนั้น หากใส่กางเกงผ้าทั่วไป เพียงไม่กี่วัน มันก็มักจะขาด หรือเป็นรูแล้ว
หลังจากที่ชื่อเสียงด้านความทนทานได้เลื่องลือมากขึ้น มันก็แพร่หลายไปสู่นักกีฬาโปโล แม้กระทั่งทุกวันนี้เวลาฝึกซ้อมกีฬาโปโล กางเกงยีนส์ก็ยังเป็นตัวเลือกที่นักกีฬาหลายคนนิยมเลือกใส่อยู่เลย
แต่จุดพีคของกางเกงยีนส์ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 1955 ลองนึกภาพตามดูว่าในสมัยที่โลกยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งโทรทัศน์ยังไม่ได้แพร่หลายขนาดที่มีกันได้ตามบ้านเรือน ดังนั้น สื่อที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นเป็นอย่างมากก็คือเหล่าดารา และภาพยนตร์ เมื่อดาราหนุ่มสุดฮอตในเวลานั้นเจมส์ ดีน (James Dean) ได้แสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Rebel Without a Cause โดยเขาได้แต่งตัวด้วยเสื้อยืดสีขาว, สวมแจ็คเก็ตหนังสีแดง และแน่นอนเขาสวม...กางเกงยีนส์ เดิมทีภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกฉายแบบขาวดำ แต่ทางสตูดิโอตัดสินใจฉายในระบบสีเพื่อให้แฟชั่นของตัวละครมีความโดดเด่นมากขึ้น โดยกางเกงที่เจมส์ ดีน ใส่ในเรื่อง คือรุ่น Lee 101 Riders ที่ผ่านการย้อมสีเป็นพิเศษ ให้มีความสะดุดตามากขึ้น
ภาพจาก https://whatson.bfi.org.uk/Online/default.asp?BOparam::WScontent::loadArticle::permalink=rebelwithoutacause201910&BOparam::WScontent::loadArticle::context_id=
เจมส์ ดีน เป็นนักแสดงหนุ่มที่ต้องบอกว่าแจ้งเกิดได้ถูกที่ และถูกเวลา ช่วงที่ Rebel Without a Cause ออกฉายนั้น บรรยากาศภายในประเทศยังคงเต็มไปด้วยความเสียใจจากพิษของสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) บรรดาผู้ใหญ่ชนชั้นกลางจำนวนมากที่ต้องการชีวิตที่ดีขึ้น และปัญหาที่รุมเร้า นิยมย้ายไปอยู่ชานเมือง และค่อยๆ พัฒนาให้มันเจริญขึ้น
ลองนึกภาพว่าคุณเป็นเด็กที่ต้องเดินทางตามพ่อแม้มาลำบากในการพัฒนาเมืองใหม่ ภายใต้ความฝันที่ว่า "อยากให้ชีวิตดีขึ้น" แต่...ที่ตอนนี้ชีวิตมันแย่ลงก็เพราะสงครามจากผู้ใหญ่ไม่ใช่เหรอ? มันเป็นคำถามที่วัยรุ่นในสมัยนั้นรู้สึกกัน พวกเขาเริ่มไม่มั่นใจว่า "ผู้ใหญ่สามารถเชื่อใจได้จริงเหรอ"
ในปี 1955 นั้นเอง ได้มีภาพยนตร์ของเจมส์ ดีน ออกมาสองเรื่อง คือ "Rebel Without a Cause" และ "East of Eden" ซึ่งบทที่เขาแสดง คือ วัยรุ่นที่แสดงออกถึงความต่อต้านครอบครัวอย่างชัดเจน เขาโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่เคยฟังความรู้สึกว่าเขาต้องการอะไร ซึ่งเจมส์ ดีนได้แสดงความเป็นอัจฉริยภาพฝีมือด้านการแสดงออกมาอย่างโดดเด่น ส่งผลให้หนังสองเรื่องนั้นได้ทำให้เจมส์ ดีนกลายดาราดัง และจุดสูงสุดของความเท่ไปในทันที แต่โชคร้ายที่เขาเสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุภายในปีนั้นเอง
ข่าวการเสียชีวิตของเจมส์ ดีน อย่างกะทันหันเป็นเรื่องที่ใครไม่คาดคิด เพราะเขากำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึงสองครั้ง และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ชื่อเสียงของเขาทะยานพุ่งสูงขึ้นไปอีก ความเท่ของเขากลายเป็นภาพลวงตาจากการเสียชีวิตของเขา
ภาพลักษณ์ของเจมส์ ดีน ในสายตาของคนยุคนั้น เขา คือ หนุ่มแบดบอยที่โคตรเท่ และยีนส์ที่เขาใส่ในหนัง กลายเป็นกระแสแฟชั่นที่วัยรุ่นในสมัยนั้น ใส่ตามเพื่อแสดงออกถึงความขบถที่ต้องการต่อต้านสังคม
เจมส์ ดีน คือ นักแสดงชายสุดเท่ผู้สวมกางเกงยีนส์ มีภาพลักษณ์ของวัยรุ่นที่ต่อต้านผู้ใหญ่
ทุกวันนี้ชื่อของเจมส์ ดีนก็ยังเป็นที่ได้ยินอยู่เสมอ เวลาที่ต้องการพูดถึงผู้ชายสักคนที่ "โคตรเท่" อย่างเช่น เพลง Style ของสาว Taylor Swift ที่ร้องว่า "You got that James Dean daydream look in your eye" หรือเพลง I Rather Die Young ของ Beyoncè ก็มีท่อน "Boy you'll be the death of me You're my James Dean"
หากเราค้นหาภาพของเจมส์ ดีน ไม่ใช่เรื่องยากเลย ที่เราจะเห็นภาพชายคนนี้ในลุคสุดเท่ และแน่นอนว่า ในภาพเขามักจะสวมกางเกงยีนส์เอาไว้ด้วย
ภาพจาก https://images.app.goo.gl/H81VctaqjosZqYnm9
แม้ว่ากางเกงยีนส์จะถือกำเนิดในอเมริกา แต่ความสนุกของมันคือ ยีนส์ (Jeans) เป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส ต้องเล่าก่อนว่าผ้ายีนส์นั้นถูกคิดค้นขึ้นที่เมืองนีมส์ (Nimes) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผ้าทอที่ทำจากยีนส์เนี่ยจะถูกเรียกว่า "Serge" ทำให้ผ้าชนิดดังกล่าวเนี่ย มีชื่อเรียกเดิมว่า "Serge de Nimes" หรือเรียกแบบสั้นๆ ว่า เดนิม (Denim)
ผ้าเดนิมได้รับความนิยมไปทั่วยุโรป จากชื่อเสียงในด้านความทนทานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่กะลาสีจากเมืองเจนัว (Genoa) ประเทศอิตาลี เมื่อไหร่ก็ตามที่กะลาสีเดินทางไปฝรั่งเศส พวกเขาจะแวะไปที่เมืองนีมส์ และเหมาซื้อผ้า "Serge de Nimes" ไปเป็นจำนวนมากอยู่เสมอๆ จนกระทั่งชาวฝรั่งเศสได้ตั้งชื่อเล่นเหล่ากะลาสีจากเมืองเจนัวว่า "ยีนส์" (Jeans)
ภาพจาก https://osia.wordpress.com/2015/05/01/first-on-first-genoa-and-jeans/
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |