มาสคอตถือเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีมกีฬา, แบรนด์สินค้า, อีเวนท์, องค์กรต่างๆ หรือแม้กระทั่งธนาคารก็เริ่มมีมาสคอตเป็นของตัวเองกันแล้ว และในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นถึงกับมีมาสคอตประจำจังหวัดกันเลยทีเดียว
คาดการณ์ว่าคำว่า Mascot หรือมาสคอต น่าจะเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ในฝรั่งเศส โดยมาจากคำว่า “Mascoto” ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า “แม่มด,เทพธิดา หรือหมอผี” และก่อให้เกิดคำว่า “Mascotte” ที่หมายถึง “เครื่องรางของหมอผี” โดยในช่วงแรกใช้เพื่ออวยพรให้โชคเข้าข้างนักพนัน และคำนี้ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงปี 1880 ที่ฝรั่งเศสได้เล่นละครโอเปราชื่อว่า “La Mascotte (The Mascot) ” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเกษตรกรชาวอิตาเลียนที่เพาะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นจนกระทั่งเขาได้พบกับหญิงสาวแปลกหน้านามว่า Bettina ที่เข้ามาช่วยเหลือและทำให้พืชผลของเขางอกงาม ด้วยเหตุนี้ Bettina จึงเป็นผู้ที่นำเอาโชคลาภและสิ่งดีๆ มาให้
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/La_mascotte
และในวงการกีฬานั้นดูเหมือนคำว่า “Mascotte” จะถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงการอวยพรให้ “โชคดี” ในการแข่งเบสบอลของสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1880 เริ่มจากการที่หนังสือพิมพ์ The Sport Life ได้ยกเอาคำฝรั่งเศสคำนี้มานำเสนอเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งนามว่า “Chic” ที่วิ่งเอาค้างคาวมามอบให้นักเบสบอลในสนามแข่ง และทีมที่เขายื่นค้างคาวให้ก็ชนะในวันนั้นไว้ว่า “บรรดานักเบสบอลได้รับโชคมาจากชิค” ต่อมาในปี 1884 ก็เริ่มมีมาสคอตที่เป็นสัตว์ขึ้นมา โดยหนังสือพิมพ์ Cincinnati Enquirer ได้ตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับแพะตัวหนึ่งที่ลงไปเดินเล่นหาของกินอยู่ในสนามเบสบอลขณะที่กำลังมีการแข่งขันอยู่ กล่าวว่า “กองเชียร์มองแพะตัวนั้นเป็นสัตว์นำโชคในการแข่งขันครั้งนี้” จากนั้นคำว่า “Mascotte” ก็ปรากฎขึ้นบ่อยครั้งในข่าวการกีฬาแต่เริ่มลดทอนตัวอักษรลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงแค่ “Mascot” ในปี 1886 และต่อมาในปี 1892 ก็ถือกำเนิดมาสคอตตัวแรกเป็นหมาบลูด็อกของทีมมหาวิทยาลัยเยลที่ชื่อว่า “แดน” ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเยลก็ยังคงใช้มาสคอตเป็นเจ้าแดนมาจนถึงทุกวันนี้ (ปัจจุบันเป็นแดนที่ 18 แล้ว)
ภาพจาก : https://news.yale.edu/2016/11/17/meet-handsome-dan-xviii
ในส่วนของมาสคอตที่เป็นคาแรกเตอร์ที่สร้างขึ้นใหม่ตัวแรกนั้นน่าจะเป็น Mr. Met ของทีมเบสบอล New York Met ที่มีลักษณะเป็นลูกเบสบอลที่ใส่ชุดนักเบสบอลเปิดตัวครั้งแรกในปี 1962
ภาพจาก : https://www.nytimes.com/2017/06/01/sports/baseball/mr-met-video-obscene-gesture.html
แต่ทางด้านธุรกิจนั้นมาสคอตจะสื่อถึงสินค้าหรือแบรนด์นั้นๆ เสียมากกว่า ไม่ได้มีความหมายโดยนัยเหมือนอย่างวงการกีฬาแต่อย่างใด โดยมาสคอตในแวดวงธุรกิจนั้นถือกำเนิดขึ้นในปี 1898 และยังคงทำหน้าที่มาจนถึงในปัจจุบันนี้ (แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์นิดหน่อย) นั่นก็คือมาสคอตของยางมิชลินที่เรารู้จักกันดี และความจริงแล้วมาสคอตของยางมิชลินนั้นมีชื่อว่า “Bibendum” ที่มาจากประโยคที่ว่า “Nunc est Bibendum (Now it’s time to drink) ” ในแผ่นโฆษณาตัวแรก (ที่เป็นรูป Bibendum ยกถ้วยที่เต็มไปด้วยเศษแก้วขึ้นดื่ม เพราะในแผ่นโฆษณานี้จะสื่อว่าการใช้ยางมิชลินนั้นทำให้รถของคุณวิ่งได้อย่างไร้อุปสรรคใดๆ นั่นเอง)
ภาพจาก : https://www.logodesignlove.com/bibendum-michelin-man
และแน่นอนว่าเมื่อมาสคอตตัวแรกอย่างเจ้า Bibendum ของมิชลินได้ออกสู่สายตาของสาธารณะชนแล้ว บริษัทอื่นๆ ก็เกิดไอเดียในการสรรค์สร้างมาสคอตเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน
อย่างสโมสรลิเวอร์พูลที่นอกจากจะมี Liver bird เป็นโลโก้แล้ว ยังมี Mighty Red ที่เป็นมาสคอตของทีมอีกด้วย ซึ่งเจ้า Mighty Red นี้ มองปราดเดียวก็รู้ว่าจะต้องเป็นมาสคอตของลิเวอร์พูลอย่างแน่นอน ด้วยรูปร่างหน้าตา (ที่ส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นลิเวอร์เบิร์ดเวอร์ชันที่ค่อนข้างจะดูครีปปี้ไปสักหน่อย) หรือโทนสีแดงก็สื่อถึงสโมสรได้เป็นอย่างดี
ภาพจาก : https://twitter.com/MightyRed_LFC/status/1067455510784421888/photo/1
ตัวอย่างเช่นเจ้าหมีดำแก้มแดงอย่าง “คุมะมง” ที่เป็นตัวแทนจังหวัดคุมาโมโตะในประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยเจ้าคุมะมงนี้เป็นหมีควายสีดำเพศผู้ที่อายุราว 6 ขวบ เกิดวันที่ 12 มีนาคม สูงประมาณ 200 เซนติเมตร (2 เมตร) และหนักประมาณ 100 กิโลกรัม (ที่ชั่งครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ก็ไม่อาจทราบได้) มีงานอดิเรกคือการกินของอร่อยในจังหวัดและเต้นแบบคุมะมง และหากมีใครถามว่าทำไมคุมะมงถึงมีแก้มแดง ก็จะได้คำตอบ (จากล่าม เพราะคุมะมงพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้) ว่า “เพราะว่าคุมะมงออกกำลังกายและกินมะเขือเทศ (ของดีของคุมาโมโตะ) เยอะยังไงละ”
ภาพจาก : https://www.stoppie.com/honda-creates-a-limited-collection-with-kumamon-hero/?v=5b79c40fa7c2
เมื่อพูดถึงจุดเด่นที่น่าดึงดูดใจของมาสคอตแล้ว มาสคอตสัญชาติไทยอย่าง "หนุ่มไปรษณีย์" ที่เราคุ้นเคยกันก็พรีเซนท์ในจุดนี้ได้ดีทีเดียว เพราะนอกจากหน้าตาที่ดูไม่มีพิษภัยอะไรแล้วยังพ่วงด้วยการแต่งตัวแบบพนักงานส่งพัสดุไปรษณีย์ที่ใครเห็นก็ต้องจำได้ในทันที
ภาพจาก : https://www.thairath.co.th/gallery/11096#gallery-post
อย่างที่เห็นว่าบรรดามาสคอตนั้นทำให้ผู้ผลิตเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายมากยิ่งขึ้นด้วยการนำเสนอเรื่องราวและรูปลักษณ์ที่ดูน่ารักน่าเอ็นดูรวมทั้งคาร์แรกเตอร์ของมาสคอตก็สื่อถึงแบรนด์ค่อนข้างชัดเจน จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้แบรนด์ส่วนใหญ่จะมีมาสคอตเป็นของตัวเอง เพราะถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ใช้บริการหรือชื่นชอบแบรนด์นี้เป็นพิเศษ แต่รู้ตัวอีกทีก็อาจมีสินค้าของแบรนด์นั้นๆ อยู่ในมือเพราะความน่ารักของเจ้ามาสคอตก็เป็นได้
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |