มันมีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่งที่โด่งดังเป็นอย่างมาก ทุกวันนี้ก็ยังมีคนหยิบเรื่องนี้มาพูดให้ตัวเองดูเท่อยู่เสมอๆ เรื่องมันมีอยู่ว่า "เมื่อปี ค.ศ.1960 NASA เคยทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาปากกาที่สามารถเขียนในสภาพไร้น้ำหนักได้ เพราะปากกาลูกลื่นแบบปกติไม่สามารถใช้งานในอวกาศได้ ในขณะที่ทางสหภาพโซเวียตไม่เสียเงินสักบาท เพราะเขาแก้ปัญหาด้วยการให้นักบินอวกาศใช้ดินสอแทน" ความน่าสงสัยของเรื่องเล่านี้ คือ มันเป็นเรื่องจริง หรือว่าเรื่องแต่ง?
ข้อเท็จจริงก็คือ เหตุการณ์นี้มีความเป็นจริงแฝงอยู่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด สุดท้ายแล้ว ผู้ที่แก้ปัญหาให้ปากกาสามารถเขียนบนอวกาศได้ก็ไม่ใช่ NASA หรือสหภาพโซเวียต แต่เป็นไอเดียของนักลงทุนเอกชนคนหนึ่งที่ทุ่มเงินวิจัยจนสร้างปากกาสุดเทพเขียนได้ทุกสภาวะได้สำเร็จ ...แล้วนำมันไปขายต่อให้กับ NASA และสหภาพโซเวียต
ภาพจาก https://vostoksupersite.weebly.com/space-pencil.html
สมัยปี ค.ศ. 1960 ชาติอเมริกา และสหภาพโซเวียต มีความพยายามในการแข่งขันด้านอวกาศสูงมาก เพราะมันเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งให้โลกรู้ว่า ใครคือประเทศมหาอำนาจเบอร์หนึ่ง
ตอนนั้น นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ได้ค้นพบแล้วว่าปากกาที่มีอยู่ไม่สามารถเขียนในอวกาศได้ และเขาก็แก้ปัญหาด้วยการใช้ดินสอเหมือนกับที่สหภาพโซเวียตทำนั่นแหละ จากหลักฐานที่ทาง NASA ได้บันทึกเอาไว้ ในปี ค.ศ 1965 องค์การ NASA ได้สั่งซื้อดินสอกดจำนวน 34 แท่ง จากบริษัท Houston's Tycam Engineering Manufacturing, Inc ในราคาที่สูงถึง $4,382.50 หรือ $128.89 ต่อแท่ง (ประมาณ 3,950 บาท) ซึ่งเมื่อข้อมูลนี้หลุดออกสู่สาธารณะ ก็ทำให้มีคนไม่พอใจเป็นจำนวนมาก ว่า เฮ้ย ยู ซื้อดินสอแพงไปหรือเปล่า ร้อนจน NASA ต้องหาอะไรที่ถูกกว่านี้มาให้นักบินอวกาศได้ใช้
สมุดโน้ต และดินสอที่ John Glenn นักบินอวกาศใช้ตอนที่เดินทางไปกับยาน Friendship 7 ในปี ค.ศ. 1972
ภาพจาก https://airandspace.si.edu/stories/editorial/saga-writing-space
แม้ดินสอจะใช้งานได้บนอวกาศที่ปราศจากแรงโน้มถ่วง แต่มันก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะปลายดินสอนั้นมีความเปราะ แตกหักง่าย ซึ่งเศษซากเหล่านั้นจะล่องลอยอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักจนอาจเป็นสาเหตุให้ชุดอวกาศ หรืออุปกรณ์ภายในยานอวกาศเกิดความเสียหายได้ แถมตัวดินสอยังเป็นวัสดุที่ติดไฟได้อีกด้วย ซึ่ง NASA พยายามหลีกเลี่ยงการนำวัตถุที่ติดไฟได้ขึ้นไปใช้บนยานอวกาศมากเป็นพิเศษ นับตั้งแต่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมไฟไหม้บนยาน Apollo 1 จนนักบินอวกาศได้เสียชีวิตลง 3 ราย
ปากกาลูกลื่นแบบปกติที่เรานิยมใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ ต้องใช้ "แรงโน้มถ่วง" ในการ "ดันน้ำหมึก" ที่อยู่ในหลอดให้ไหลออกมาผ่านลูกบอลขนาดเล็กที่อยู่ตรงปลายปากกา เวลาเราเขียน ลูกบอลที่ "เปื้อน" หมึกก็จะกลิ้งไปบนกระดาษเกิดเป็นเส้นตามทางที่เราลากไป
แต่ในสภาวะที่ไร้แรงโน้มถ่วง น้ำหมึกจะลอยอย่างอิสระอยู่ภายในหลอด ไม่ไหลลงผ่านลูกบอลออกมา ทำให้เราไม่สามารถเขียนมันได้ในอวกาศ ถ้าไม่เชื่อลองเขียนแบบกลับด้านเอาหัวปากกาขึ้นฟ้าดูสิ เราจะเขียนมันได้เพียงแปปเดียว หมึกก็จะบางลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเขียนไม่ออก เพราะน้ำหมึกไม่สัมผัสกับลูกบอล
ตอนนั้นเอง ที่มีชายคนหนึ่งได้หาทางแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เขามีชื่อว่า Paul C. Fisher เจ้าของบริษัทผลิตปากกา Fisher Pen Company เขาตามข่าวจนรู้ถึงปัญหาด้านการเขียนบนอวกาศ ด้วยสัญชาตญาณนักประดิษฐ์ เขารู้สึกท้าทายกับโจทย์นี้เป็นอย่างมาก เขาได้ใช้เงินทุนมากถึง $1,000,000 (ประมาณ 30,593,000 บาท) โดยที่เงินจำนวนนี้ไม่ได้มาจาก NASA หรือสหภาพโซเวียตแต่อย่างใด เขาออกเงินลงทุนเองทั้งหมด 5 ปีผ่านไป (ค.ศ. 1965) ในที่สุด Fisher ก็คิดค้นปากกาที่สามารถใช้งานบนอวกาศได้สำเร็จ แถมยังสามารถใช้งานได้ในเกือบทุกสภาพแวดล้อมอีกต่างหาก
Fisher Space Pen ถูกอัดแน่นไปด้วยผลผลิตที่เกิดจากความทุ่มเทค้นคว้า มันไม่เพียงเขียนได้ทุกท่าในอวกาศเท่านั้น แต่ยังเขียนได้ในหลากหลายสภาพแวดล้อม โดยนวัตกรรมที่ล้ำสมัยที่สุดอยู่ที่ตัวตลับบรรจุหมึกที่ทำงานด้วยแรงดันจากสารไนโตรเจน ทำให้เขียนได้ในทุกท่า, ทุกสภาวะแรงโน้มถ่วง แม้กระทั่งการเขียนในน้ำ หรือของเหลวชนิดต่างๆ
ตัวหมึก และไนโตรเจนถูกกั้นด้วยกำแพงบางๆ ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ เพื่อให้หมึกถูกใช้งานได้จนกระทั่งหมดหลอดโดยไม่ติดขัด อีกทั้งตัวหมึกเองก็มีความหนืดสูงเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการระเหย และลดการซึมเลอะ โดยหมึกจะอยู่ในสภาพหนืดจนกว่าลูกบอลจะมีความเคลื่อนไหว หมึกถึงจะคืนสภาพเป็นของเหลวดังเดิม แถมยังคงสภาพเอาไว้ได้ตั้งแต่อุณหภูมิติดลบ 35°C ไปจนถึงความร้อนสูงระดับ 120°C อีกด้วย
เพื่อให้ลูกบอลตรงหัวปากกา กับแรงดันหมึกมีความสมดุลกัน หัวปากกาจึงถูกผลิตขึ้นจากทังสเตนคาร์ไบด์ที่มีคุณสมบัติความแข็ง และทนความร้อนสูง ในส่วนของตัวปากกาก็ทำจากโลหะทั้งด้าม ยกเว้นเพียงแค่หมึกเท่านั้นที่ไม่ใช่โลหะ ซึ่งตัวปากกานี้ก็ทนความร้อนได้สูงถึง 200°C ตอบโจทย์ต่อเงื่อนไขการติดไฟที่ NASA ได้กำหนดเอาไว้
Fisher ได้เริ่มส่งตัวอย่างปากกา Space Pen ของเขาไปให้ NASA ทดสอบในปี ค.ศ. 1965 และหลังจากทดสอบ และพัฒนาอย่างเข้มงวด ในที่สุดปากการุ่นปรับปรุงก็ได้ผ่านการอนุมัติในปี ค.ศ. 1967 และเพื่อหลีกเลี่ยงคำครหาที่เคยเกิดขึ้นสมัยที่ซื้อดินสอนในราคาอภิมหาโหด ทาง Fisher ได้ลดราคาปากการุ่นดังกล่าวลงให้ NASA โดยขายเพียงราคาเฉลี่ยด้ามละ $2.39 เท่านั้น จากรายการสั่งซื้อทั้งหมด 400 ด้าม แม้แต่ทางสหภาพโซเวียตเองก็สนใจ และซื้อปากการุ่นดังกล่าวไปใช้บ้างประมาณ 100 ด้าม
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้ง NASA และสหภาพโซเวียตต่างก็ใช้ปากกา Space Pen ในการปฏิบัติภารกิจบนอวกาศมาโดยตลอด รวมถึงการออกปากการุ่นใหม่ Shuttle Pen เพื่อใช้ในกระสวยอวกาศของ NASA และสถานีอวกาศของสหภาพโซเวียตอีกด้วย
มีเรื่องเล่าน่าสนใจจาก Fisher เผยว่า นักบินอวกาศของยาน Apollo 11 เคยใช้ปากกา Space pen ในการซ่อมปุ่มในยานอวกาศ ช่วยให้เขานำยานกลับสู่พื้นโลกได้สำเร็จด้วย
ทุกวันนี้ปากการุ่นดังกล่าวก็ยังมีวางจำหน่ายนะ โดยบริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น Space Pen Company แทน และยังคงขายปากกาอยู่เหมือนเดิม ใครมีเงินก็ลองสั่งมาเขียนเล่นได้ ไม่ต้องไปอวกาศ เขียนบนพื้นโลกนี่แหละ ราคาเริ่มต้นไม่แพงเท่าไหร่ เห็นอยู่แถวๆ $50 (ประมาณ 1,510 บาท) เท่านั้น มาพร้อมสโลแกนเท่ๆ ว่า "ทนมาก ไม่เชื่อไปถามนักบินอวกาศดูสิ"
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |