เจงกีส ข่าน คำนี้หากแปลตามตรง "เจงกีส" หมายถึงมหาสมุทร ส่วน "ข่าน" เป็นชื่อตำแหน่งผู้ปกครองของมองโกล ดังนั้น คำนี้รวมๆ จึงหมายถึง ผู้ยิ่งใหญ่ราวมหาสมุทร ซึ่งผู้ที่ได้รับฉายานี้ คือ ชายที่มีชื่อ เตมูจิน (Temüjin) จักรพรรดิผู้ก่อตั้งจักรวรรดิมองโกล ซึ่งในยุครุ่งเรืองนั้นได้ขยายดินแดนไปเกือบครึ่งโลกเลยทีเดียว ด้วยพระปรีชาสามารถทำให้ชาวมองโกลเลียให้ความเคารพนับถือเจงกีส ข่านเป็นอย่างมาก
ภาพวาดเจงกีส ข่าน จากชุดภาพวาดสมัยราชวงศ์หยวน
ปัญหาก็คือ ภายหลังได้มีคนคิดค้นเมนูอาหารขึ้นมาแล้วดันตั้งชื่อเมนูนั้นว่า "เจงกีส ข่าน" เมนูชนิดนี้ มีเรื่องเล่าต้นกำเนิดอยู่หลายฉบับมาก บ้างก็ว่าพัฒนามาจากวัฒนธรรมอาหารของชาวมองโกล ที่จะนำหมวกเหล็กที่ใส่อยู่มาผิงไฟให้ร้อน แล้วนำเนื้อสัตว์ไปย่างบนหมวก
บ้างก็ว่ามาจากชื่อร้านอาหาร Mongolian barbecue ของนาย Wu Zhaonan ชายชาวไต้หวันที่เปิดร้านเมื่อปี ค.ศ. 1951 จุดเด่นของร้าน คือ ลูกค้าเลือกตักวัตถุดิบใส่จานเอง จากนั้นเอาไปให้พ่อครัวผัดบนกระทะแบนขนาดใหญ่ ซึ่งอันที่จริงอาหารสไตล์นี้ไม่ใช่แนวมองโกลเลยแม้แต่น้อย ออกจะเหมือนบาร์บีคิวเสียด้วยซ้ำ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ร้านของเขาดังมาก และมีคนเปิดร้านเลียนแบบมากมาย อาจจะเพราะชื่อร้านเดิมที่มีคำว่า Mongolian อยู่ ทำให้ชื่อเจงกีส ข่าน ก็ได้กลายเป็นคำที่คนนิยมใช้เรียกร้านแนวนี้ไปด้วยซะงั้น
ส่วนในประเทศญี่ปุ่นเอง บนเกาะฮอกไกโดก็มีเมนูเนื้อย่างสุดฮิตที่เรียกว่า "Jingisukan" (ジンギスカン) โดยในปี ค.ศ. 1918 ทางรัฐบาลของญี่ปุ่นต้องการเพิ่มปริมาณแกะภายในประเทศให้ถึง 1 ล้านตัว ด้วยการสร้างฟาร์มขนาดใหญ่ขึ้นมา 5 แห่ง อย่างไรก็ตาม ในภายหลังฟาร์มทั้งหมดได้ถูกปิดตัวลง ยกเว้นแค่ในฮอกไกโดที่ยังเหลือฟาร์มอยู่ ทำให้ชาวฮอกไกโดเริ่มหันมาลองทานเนื้อแกะกัน จนกลายมาเป็นอาหารที่เรียกว่า Jingisukan นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม Keiichi Takaishi นักนิรุกติศาสตร์ด้านอาหารได้ให้ความเห็นว่า คำนี้มาจากตอนที่ Yoshiji Washizawa นักข่าวที่ไปทำงาน และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่ปักกิ่ง ตอนนั้นเขา และเพื่อนร่วมงาน ได้ทานอาหารจากเนื้อแกะตามภัตตาคารบ่อยมาก และส่วนใหญ่จะเป็นร้านที่อยู่ในมองโกเลีย พวกเขาเริ่มเรียกอาหารแบบนั้นว่า "เจงกีส ข่าน" เวลาคุยกับเพื่อนๆ และคำนี้ก็ได้แพร่หลายไปยังบรรดาเหล่าคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในจีน และเมื่อพวกเขากลับมายังประเทศบ้านเกิด ก็ได้นำคำนี้ติดตัวมาด้วย
เตา Jingisukan ที่หมูกระทะบ้านเราก็นิยมใช้งาน
แต่ไม่ว่าอาหารแนวนี้จะถูกเรียกว่า "เจงกีส ข่าน" ด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากเราเป็นชาวมองโกล ก็คงจะไม่รู้สึกพอใจนัก ที่ชื่อจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่พวกเขาภูมิใจจะกลายมาเป็นชื่ออาหาร
Haiying Yang ศาสตราจารย์ชาวมองโกลแห่งมหาวิทยาลัยชิซุโอกะ ได้กล่าวว่า "ชาวมองโกลมีความรู้สึกต่อเจงกีส ข่าน เหมือนกับที่ชาวญี่ปุ่นรู้สึกต่อองค์จักรพรรดิของพวกเขาเอง ผมรู้สึกว่าเราไม่ควรเอาชื่อของผู้ซึ่งเป็นที่เคารพมาใช้เป็นชื่อของอาหาร"
Yang ยังได้ยกตัวอย่าง ถึงกรณีก่อนหน้านี้ที่ เซเลปดัง Kim Kardashian มีแผนที่จะจดทะเบียนชื่อแบรนด์แฟชั่นของเธอว่า "Kimono Solutionwear" ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากออกมาแสดงความไม่พอใจที่ชื่อชุดประจำชาติถูกนำไปใช้ ซึ่ง Yang ได้เคลมว่าปัญหาลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นกับชาวมองโกลจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายของยุค ค.ศ. 1980-1990
อย่างไรก็ตาม ในภาษาญี่ปุ่น คำว่าเจงกีส ข่าน จะมีวิธีออกเสียง และเขียนอยู่ 2 รูปแบบนะ คือ
แล้วพวกคุณล่ะ คิดว่าเห็นด้วยกับประเด็นที่ Haiying Yang พยายามเสนอหรือไม่ อันที่จริง ในบ้านเราเองหมูกระทะหลายๆ ร้านก็นิยมใช้คำว่าหมูกระทะเจงกีส ข่านด้วยเช่นกัน จากนี้ไปเราควรจะพยายามปรับตัวเรียกร้านเหล่านั้นว่าร้านเนื้อกระทะ/หมูกระทะ เฉยๆ ก็แล้วกัน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |