ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

โหมด Autopilot ของสมองคืออะไรกันนะ?

โหมด Autopilot ของสมองคืออะไรกันนะ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 6,535
เขียนโดย :
0 %E0%B9%82%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%94+Autopilot+%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B0%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

คุณเคยทำอะไรลงไปโดยไม่รู้ตัวไหม? ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำไปพลางคิดนู่นนี่เรื่อยเปื่อย พอรู้ตัวอีกทีก็กำลังสระผมอยู่ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะสระผมในวันนี้ หรืออาจเป็นการขับรถกลับบ้านโดยที่ไม่ได้เพ่งความสนใจไปยังท้องถนนแต่ก็ขับรถมาถึงบ้านอย่างปลอดภัย หรือแม้แต่เรื่องธรรมดาๆ อย่างการนั่งจิบกาแฟพลางอ่านหนังสือพิมพ์ในยามเช้าที่คุณมัวแต่สนใจข้อความในหนังสือพิมพ์จนไม่รู้สึกตัวว่าตอนนี้กำลังยกแก้วกาแฟขึ้นมาดื่ม รู้ตัวอีกทีก็วางแก้วกาแฟลงพร้อมทั้งปิดหนังสือพิมพ์และเตรียมตัวออกไปทำงานเสียแล้ว

สิ่งเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการกระทำแบบ “ออโตไพลอท (Autopilot) ” เหมือนกับการที่นักบินปล่อยให้เครื่องบินบังคับตัวเองไปถึงจุดหมายโดยที่ไม่ได้เข้าไปควบคุมการบินแต่อย่างใด แต่ที่จริงแล้วระบบออโตไพลอทในสมองของมนุษย์นั้นมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Default Mode Network ที่เป็นฟังก์ชันการทำงานอย่างหนึ่งของสมองมนุษย์

โหมด Autopilot ของสมองคืออะไรกันนะ?

ภาพจาก : https://designneuro.com/en/blog/consumers-autopilot-mode-brands-kahneman

Marcus E. Raichle เป็นผู้คิดค้นศัพท์คำนี้ขึ้นมาใช้กับการทำงานของสมองในรูปแบบนี้ โดยเขาได้ทำการศึกษาทดลองระบบการทำงานของสมองต่อจากนักวิจัยที่ได้นำเอาการใช้เครื่อง PET Scan มาศึกษากระบวนการทำงานของสมองมนุษย์ในขณะที่ไม่ได้มุ่งความสนใจไปยังสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ และพบว่าสมองก็ยังมีการทำงานอยู่เหมือนปกติ เพียงแต่การตื่นตัวของสมองในช่วงที่เราปล่อยให้ระบบ Default Mode Network ทำงานนั้นอาจจะมีการตื่นตัวในส่วนที่ต่างออกไปจากสมองในตอนที่เรามีความตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ

โหมด Autopilot ของสมองคืออะไรกันนะ?

ภาพจาก : https://baillement.com/recherche/dmn-eng.html

ซึ่งระบบ Default Mode Network ของสมองนี้เป็นทำงานประสานกันของสมองส่วน Medial Prefrontal Cortex (ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับความคิด, อารมณ์ และการตัดสินใจที่เกี่ยวกับตนเอง) กับสมองส่วน Posterior Cingulate Cortex (ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและประมวลผลเกี่ยวกับความสนใจ, ความจำ และการรับรู้) และสมองส่วน Angular Gyrus (ทำหน้าที่เชื่อมโยงการรับรู้, ความสนใจ, การตระหนักรู้ และความจำ) โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสังเกตการทำงานของสมองในขณะที่เราปล่อยให้ Default Mode Network ทำงาน พบว่าสมองยังมีการทำงานอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าเราจะไม่ได้มีความสนใจสิ่งนั้นเป็นพิเศษก็ตาม

ขั้นตอนการสร้าง Default Mode Network ของเราจะเกิดจากการที่สมองมีการเรียนรู้ผ่านการกระทำที่ทำเป็นประจำจนติดเป็นนิสัยและเกิดการจดจำลักษณะของการกระทำในระหว่างนั้น ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดการเรียนรู้และจดจำผ่านการกระทำที่สัมฤทธิ์ผลที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เท่านั้น เช่น การพิมพ์สัมผัส ในช่วงแรกเรามักจะจ้องแป้นพิมพ์อยู่ตลอดเวลาจนบางครั้งเงยหน้าขึ้นมาถึงรู้ตัวว่าลืมเปลี่ยนภาษา แต่เมื่อเราใช้งานมันเป็นประจำจนเกิดความเคยชินแล้ว การจ้องมองแป้นพิมพ์ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะการกระทำซ้ำๆ นี้ทำให้สมองเกิดการเรียนรู้และจดจำตำแหน่งของตัวอักษรต่างๆ บนแป้นพิมพ์เข้าสู่ระบบ Default Mode Network ทำให้เราไม่จำเป็นต้องแบ่งความสนใจมาที่แป้นพิมพ์ก็สามารถพิมพ์ได้อย่างลื่นไหลเป็นปกติ

โหมด Autopilot ของสมองคืออะไรกันนะ?

ภาพจาก : https://tenor.com/view/bugcat-bugcatsticker-typing-work-work-work-gif-13002301

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงานของสมองในระบบ Default Mode Network นี้ โดยทำการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยเล่นไพ่มาก่อนได้มาเรียนรู้วิธีการเล่นไพ่และบันทึกการทำงานของสมองด้วยเครื่องสแกนสมองในระหว่างนั้น ผลการวิจัยพบว่า ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างกำลังเรียนรู้วิธีการเล่นไพ่นั้น สมองส่วนที่ควบคุมความคิดและความจำจะมีการตื่นตัว แต่เมื่อกลุ่มตัวอย่างเกิดการเรียนรู้วิธีการเล่นไพ่แล้ว สมองส่วนนั้นจะหยุดพักการทำงานและสลับการทำงานไปที่ระบบ Default Mode Network แทน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปนักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าการที่กลุ่มตัวอย่างนี้ปล่อยให้ระบบ Default Mode Network ควบคุมการเล่นเกมไพ่นั้นทำให้สามารถเล่นเกมได้ดีและคล่องแคล่วยิ่งกว่าในตอนที่มุ่งความสนใจไปที่การเล่นไพ่อย่างเต็มที่เสียอีก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสมองของเราจะสลับไปทำงานในระบบ Default Mode Network ได้ แต่หากมีสิ่งเร้าอื่นๆ มากระตุกความสนใจของเรา สมองก็จะสลับกลับมาทำงานในระบบปกติเหมือนเดิมโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น การที่เราปล่อยให้ร่างกายของเราขับรถกลับบ้านตามถนนเส้นทางเดิมๆ ด้วยความเคยชินโดยที่ไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่ถนนเพราะในหัวกำลังคิดถึงอาหารมื้อเย็นหรือเรื่องที่ควรจะต้องทำเมื่อกลับถึงบ้าน แต่เมื่อสัญญาณไฟเปลี่ยนสีหรือรถข้างหน้าเหยียบเบรกกะทันหัน สมองของเราก็จะดึงความสนใจกลับมาที่เหตุการณ์ตรงหน้าได้โดยอัตโนมัติ

โหมด Autopilot ของสมองคืออะไรกันนะ?

ภาพจาก : https://www.aviva.ie/lessons/driving-school/

ดังนั้นแล้วการที่สมองของเราสร้างการทำงานในระบบ Default Mode Network นี้ขึ้นมาก็ทำให้เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างลื่นไหลมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องรับรู้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต และการศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า ในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีจะมีการตื่นตัวของสมองในระบบ Default Mode Network มากกว่าในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ นั่นแปลว่า การที่เราปล่อยให้สมองเข้าสู่การทำงานในระบบ Default Mode Network ไม่ได้ส่งผลเสียอะไรต่อร่างกาย แต่ถือว่าเป็นการประหยัดพลังงานให้กับร่างกายในรูปแบบหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลดีกับร่างกายด้วยก็ว่าได้


ที่มา : www.newscientist.com , www.sciencedirect.com , www.livescience.com , www.inverse.com , www.ncbi.nlm.nih.gov , www.researchgate.net

 

0 %E0%B9%82%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%94+Autopilot+%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B0%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น



 

รีวิวแนะนำ