ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

รีวิว Dvorak แป้นพิมพ์ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ดีกว่า QWERTY แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้

Dvorak แป้นพิมพ์ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ดีกว่า QWERTY แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 9,561
เขียนโดย :
0 %E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7+Dvorak+%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2+QWERTY+%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

แป้นพิมพ์แบบ QWERTY กับแบบ Dvorak

แป้นพิมพ์ที่เราใช้นิยมใช้งานอยู่ทุกวันนี้ มีชื่อเรียกว่าแป้นพิมพ์แบบ QWERTY มันเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคเก่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1878 โดย Christopher Latham Sholes หนึ่งในคนที่มีส่วนในการพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดขึ้นมา และยังเป็นผู้ออกแบบการจัดเรียงตัวอักษรแป้นพิมพ์แบบ QWERTY อีกด้วย

Dvorak แป้นพิมพ์ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ดีกว่า QWERTY แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้
Christopher Latham Sholes

ในช่วงแรกที่เครื่องพิมพ์ดีดถูกพัฒนาขึ้นมา แป้นพิมพ์ไม่ได้มีการออกแบบการจัดวางอะไรเป็นพิเศษ เป็นการเรียงลำดับตามตัวเลข และตัวอักษรเท่านั้น ถ้าสังเกตจะพบว่าไม่มีเลข 1 และ 0 บนแป้น โดยการพิมพ์ในสมัยนั้นจะใช้ตัวอักษร I แทนเลข 1 และใช้ตัวอักษร O แทนเลข 0

- 3 5 7 9 N O P Q R S T U V W X Y Z
2 4 6 8 . A B C D E F G H I J K L M

อย่างไรก็ตาม การจัดวางแป้นพิมพ์แบบนี้มีปัญหาตรงที่เวลาพิมพ์ด้วยความเร็วสูง มักจะเกิดปัญหา "คานกระแทก" ติดขัด ซึ่งผู้ใช้จะต้องเสียเวลาแยกตัวคานออกจากกันให้เรียบร้อยเสียก่อน ถึงจะใช้งานเครื่องพิมพ์ดีดต่อได้

Dvorak แป้นพิมพ์ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ดีกว่า QWERTY แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้

Christopher Latham Sholes จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการจัดวางแป้นพิมพ์ตัวอักษรใหม่ โดยตั้งใจให้ผู้พิมพ์ "พิมพ์ได้ช้าลง" ใช่แล้วครับ อ่านไม่ผิดหรอก QWERTY ถูกออกแบบมาให้ มนุษย์พิมพ์ได้ช้าลง

QWERTY ถูกออกแบบมาให้มนุษย์พิมพ์ได้ช้าลง

เพื่อแก้ปัญหาคานกระแทกติดขัดกันเองในเครื่องพิมพ์ดีด

เดิมทีแป้นตัวอักษรที่ใช้งานบ่อยจะกระจุกอยู่ตรงกลางของแป้นพิมพ์ เมื่อมันเป็นพื้นที่หลักในการวางมือ เราจึงกดแป้นในบริเวณนั้นได้ไวกว่าในพื้นที่อื่น (และนั่นทำให้คานกระแทกติดขัดกันบ่อย) วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ก็คือ กระจายตัวอักษรที่มีอัตราการใช้งานบ่อยให้แยกออกจากกันไปบริเวณอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่หลักแทน

ในที่สุดแป้นพิมพ์ QWERTY เวอร์ชันสมบูรณ์ ก็ได้รับการจดสิทธิบัตรในปี 1878 และปรากฏบนเป็นครั้งแรกบนเครื่องพิมพ์ดีดรุ่น Remington No. 2 ของ E. Remington and Sons แป้นพิมพ์ QWERTY นี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง จนกลายเป็นรูปแบบมาตรฐานหลักที่ทุกคนทำตาม

1 2 3 4 5 6 7 8 9 0 - =
Q W E R T Y U I O P [ ] \
A S D F G H J K L ; '
Z X C V B N M , . /

แม้จะยังมีคำถามที่น่าสงสัยอยู่ ทุกวันนี้ QWERTY เป็นรูปแบบมาตรฐานของคีย์บอร์ดไปแล้ว และนักพิมพ์ที่ผ่านการฝึกฝนสามารถพิมพ์ได้ด้วยความเร็วประมาณ 70-100 คำต่อนาที ไม่มีข้อมูลว่าสมัยก่อนที่แป้นพิมพ์เรียงแบบ A-Z มีความเร็วอยู่ที่เท่าไหร่ แต่เชื่อว่าต่อให้เร็วกว่า มันก็ไม่น่าจะเร็วไปกว่าการพิมพ์ด้วยแป้น QWERTY นะ

August Dvorak ชายผู้ไม่เห็นด้วยกับ QWERTY

เมื่อกาลเวลาผ่านไปเทคโนโลยีของเครื่องพิมพ์ดีดก็ก้าวหน้าขึ้น มีการพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้ามา ซึ่งมันไม่มีปัญหาเรื่องคานกระแทกเหมือนเครื่องพิมพ์ดีดแบบเก่า ทำให้เริ่มมีคนที่ต้องการออกแบบแป้นพิมพ์แบบใหม่ที่สามารถพิมพ์ดีดได้ดีขึ้นมากกว่าเดิม

อย่างเช่น ในปี 1893 George Blickensderfer ได้ออกแบบแป้นพิมพ์ขึ้นมาใหม่ ปรากฏบนเครื่องพิมพ์ดีดรุ่น Blickensderfer typewriter model 5 ที่แป้นพิมพ์หลัก (แถวที่เราใช้วางนิ้ว) จะเรียงด้วยตัวอักษร DHIATENSOR ซึ่งเป็นชุดตัวอักษรที่ทาง Blickensderfer เชื่อว่า คำในภาษาอังกฤษส่วนใหญ่กว่า 85% จะประกอบไปด้วยตัวอักษรเหล่านี้ 

Dvorak แป้นพิมพ์ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ดีกว่า QWERTY แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้

แต่รูปแบบแป้นพิมพ์ที่น่าจดจำที่สุด และยังมีผู้ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ (แม้จะเป็นส่วนน้อยก็เถอะ) ก็คือ แป้นพิมพ์ Dvorak ที่ออกแบบโดย Dr. August Dvorak ชายผู้นี้เป็นศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เริ่มออกแบบแป้นพิมพ์ Dvorak ในปี ค.ศ.1932 และจดสิทธิบัตรสำเร็จในปี 1936

ในขณะที่ QWERTY กำเนิดมาจากการลองผิดลองถูก และแก้ปัญหาเรื่องคานติดเป็นหลัก แป้นพิมพ์ Dvorak ออกแบบด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการกลั่นกรอง วิเคราะห์จนสมบูรณ์แบบ

Dvorak แป้นพิมพ์ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ดีกว่า QWERTY แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้

แป้นพิมพ์ Dvorak จัดวางตัวอักษรโดยคำนวณจากข้อมูลหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอักษรที่ใช้บ่อย, ระยะที่นิ้วต้องเคลื่อนที่ไปกดปุ่มตัวอักษรถัดไป, ท่าพิมพ์ที่เป็นธรรมชาติไม่ต้องเกร็งนิ้วบ่อย รวมไปถึงการจัดวางกลุ่มตัวอักษรที่ใช้บ่อยไว้ที่ฝั่งขวาเนื่องจากคนส่วนใหญ่บนโลกนี้ถนัดขวา

ลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่าที่แป้นมือซ้ายจะเป็นตัวสระในภาษาอังกฤษหมดเลย "AOEUI" ซึ่งเกือบทุกคำต้องมีสระอยู่แล้ว ตรรกะของ Dvorak ก็คือ ให้มือขวาที่ถนัดพิมพ์ตัวอักษร และให้มือซ้ายพิมพ์สระนั่นเอง

! 7 5 3 1 9 0 2 4 6 8 =
? ; : P Y F G C R L /
A O E U I D H T N S -
' Q J K X B M W V Z

Dr. August Dvorak ได้ยืนยันว่าแป้นพิมพ์แบบ Dvorak นั้น ดีกว่าแป้นแบบ QWERTY ในทุกๆ ด้าน ทั้งพิมพ์เร็วกว่า, เมื่อยนิ้วน้อยกว่า และมีโอกาสพิมพ์ผิดพลาดน้อยกว่าอีกด้วย ในภายหลัง Dr. August Dvorak ยังมีการดีไซน์แป้นพิมพ์ Dvorak ออกมาอีกหลายแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้พิมพ์ที่แตกต่างกัน มีทั้ง แป้นพิมพ์ Dvorak สำหรับคนถนัดซ้าย ถนัดขวา หรือแป้นพิมพ์ Dvorak แบบมือเดียวที่จัดกลุ่มตัวอักษรที่ใช้งานบ่อยไว้ตรงกลาง เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องใช้ระยะในการเคลื่อนที่ของมือในการพิมพ์มากนัก

Dvorak แป้นพิมพ์ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ดีกว่า QWERTY แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้
เครื่องพิมพ์ดีดรุ่น Royal Portable OT จากปี 1934

ในปี 1944 กองทัพเรือของสหรัฐอเมริกา (U.S. Navy) ได้มีการทดสอบแป้นพิมพ์แบบ Dvorak แล้วยืนยันว่ามันสามารถพิมพ์ได้เร็วกว่าแป้น QWERTY ราวๆ 75% ฟังดูแล้ว อนาคตของแป้น Dvorak ก็น่าจะเริ่มสดใส แต่มันก็เป็นแค่ทะเลสงบก่อนพายุมา

ฝันร้ายของ Dvorak

ในปี 1956 มีผลการวิจัยโดยหน่วยงาน U.S. General Service Administration (GSA) ที่ออกมาระบุว่าแป้นพิมพ์แบบ Dvorak นั้นไม่ได้ดีไปกว่าแป้นพิมพ์ QWERTY จริง อย่างที่การทดสอบในปี 1944 ได้เคลมเอาไว้

Stan Liebowitz และ Stephen E. Margolis สองนักเศรษฐศาสตร์สองคน ได้เขียนรายงานสนับสนุนการทดสอบดังกล่าว ในหัวข้อ "Dvorak ปะทะ QWERTY" รายงานฉบับดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นข้อดีของแป้นพิมพ์ QWERTY และจับผิดผลทดสอบที่เกิดขึ้นในปี 1944 ว่าเต็มไปด้วยเรื่องน่าสงสัย โดยเฉพาะประเด็นที่ Dvorak มีส่วนร่วมในการทดสอบครั้งนั้นด้วย และปิดรายงานด้วยความเห็นว่า Dvorak ไม่มีทางจะดีไปกว่า QWERTY ได้อย่างแน่นอน

ข้อโต้แย้งจากแฟน Dvorak

ในรายงานของ Stan Liebowitz และ Stephen E. Margolis มีการกล่าวถึง Earl Strong หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการทดสอบโดย GSA ในปี 1956 โดย Earl Stron นั้นมีเรื่องบาดหมางส่วนตัวกับตัว Dr. August Dvorak และผลการทดสอบของ GSA นั้น ถูกระบุรายละเอียดเอาไว้เรียบร้อยล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่มีการทดสอบเลยด้วยซ้ำ


สถิติการพิมพ์ที่เร็วที่สุดในโลกเป็นของ QWERTY หรือ Dvorak?

ถ้าตอบแบบสั้นๆ เลยก็ QWERTY เพราะสถิติที่ถูกบันทึกไว้เกือบทั้งหมดใช้ QWERTY และการแข่งขันในปัจจุบันคนที่ชนะเลิศก็ใช้ QWERTY เช่นกัน

ความเร็วในการพิมพ์เป็นเรื่องของความสามารถส่วนบุคคล และแต่ละคนก็มีความถนัดไม่เหมือนกัน เป็นการยากที่เราจะมาฟันธงว่า Dvorak พิมพ์ได้เร็วกว่า QWERTY จริงหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ มีการบันทึกสถิติการพิมพ์ที่เร็วที่สุดในโลก เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต มันมีการแข่งขันที่มีชื่อว่า "การแข่งขันพิมพ์ดีดระดับโลก" (World Typewriting Championship) จัดขึ้นอย่างทางการเป็นครั้งแรกในปี 1906 ที่เมืองชิคาโก ผู้ชนะคนแรกที่มีชื่อว่า Rose Fritz ด้วยความเร็ว 82 WPM (Words per minute/คำต่อนาที) เธอครองแชมป์ติดต่อกันถึง 3 สมัย นอกจากพิมพ์ได้เร็วแล้ว ความแม่นยำของเธอก็สูงมากเช่นกัน มีการบันทึกข้อมูลเอาไว้ว่าเธอพิมพ์ถึง 4,007 คำภายในเวลา 6 นาที โดยไม่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเลยแม้แต่คำเดียว อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีข้อมูลว่าเธอใช้แป้นพิมพ์แบบไหน มีข้อมูลแค่ว่าเธอใช้เครื่องพิมพ์ดีดที่มีการปรับแต่งเป็นพิเศษของ Underwood typewriter เท่านั้น แต่ในปี 1906 เป็นยุคที่ QWERTY รุ่งเรือง เครื่องพิมพ์ดีด (Dvorak ได้รับการจดสิทธิบัตรในปี 1936) ก็คิดว่าเธอน่าจะพิมพ์แบบ QWERTY นี่แหละ

Dvorak แป้นพิมพ์ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ดีกว่า QWERTY แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้

อีกคนหนึ่งที่น่าจดจำมีชื่อว่า Birdie Reeve Kay สาวชาวชิคาโกที่ได้ครองแชมป์ในการแข่งครั้งที่ 20 เมื่อปี 1920 เธอพิมพ์ได้ถึง 200 WPM หรือประมาณ 800 ตัวอักษรในหนึ่งนาที เทคนิคการพิมพ์ของเธอมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้แค่ 2 นิ้วของมือแต่ละข้างเท่านั้น หากนึกไม่ออกว่าการใช้นิ้วแค่นั้น มันจะพิมพ์เร็วได้ยังไง ลองชมคลิปด้านล่างนี้ดูครับ อนึ่ง นี่ก็น่าจะเป็นการพิมพ์ด้วยแป้นพิมพ์ QWERTY ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การวัดว่าใครพิมพ์เร็วในอดีตมันยังขาดมาตรฐานที่ชัดเจน เพราะในความเป็นจริง ภาษาที่พิมพ์, อักขระพิเศษ, ค่า CPM (Characters per minute/ตัวอักษรต่อนาที) และ WPM มันส่งผลต่อความเร็วในการพิมพ์เป็นอย่างมาก

ในอดีตความเร็วถูกวัดด้วยนาฬิกาจับเวลา และตรวจข้อผิดพลาดคน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีมีความทันสมัยขึ้นเข้าสู่ยุค Word-processors ทำให้การวัดค่าความเร็วในการพิมพ์มีความละเอียดมากขึ้นเช่นกัน มันมีตรรกะในการคำนวณที่เรียกว่า Key strokes per character (KSPC) มันเป็นจำนวนครั้งที่เรากดแป้นเพื่อพิมพ์ โดยคิดจำนวนที่เรากดปุ่ม Backspace เพื่อลบข้อมูลที่ผิดพลาดด้วย

สถิติที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในปี 1946 โดยฝีมือของ Stella Pajunas สาวจากชิคาโกอีกเช่นเคย ดูเหมือนคนชิคาโกจะมีพรสวรรค์ในการพิมพ์นะนี่ เธอทำความเร็วได้ถึง 216 WPM หมายความว่าเธอกดแป้นพิมพ์ด้วยอัตราเฉลี่ย 1080 ครั้งต่อนาทีเลยทีเดียว โดยเธอใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าของ IBM ซึ่งใช้แป้นพิมพ์แบบ QWERTY

Dvorak แป้นพิมพ์ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ดีกว่า QWERTY แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้
Stella Pajunas

แม้สถิติที่ผ่านมาจะตกเป็นของ QWERTY ทั้งหมด รวมถึงเจ้าของสถิติความเร็วในยุคปัจจุบันอย่าง Sean Wrona ที่ทำได้เร็วสุดถึง 256 WPM เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ส่วนความเร็วเฉลี่ยของเขาอยู่ที่ 174 WPM ซึ่งเขาก็ใช้แป้นพิมพ์แบบ QWERTY ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าสถิติของเขาเป็นการทดสอบผ่านเว็บไซต์ทำให้ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ในการแข่งขัน Ultimate Typing Championship ในปี 2010 ที่เขาเป็นผู้ชนะเลิศ ก็แสดงให้เห็นว่าความเร็วของเขาเป็นของจริง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผู้ใช้แป้นพิมพ์ Dvorak ที่น่าจดจำเลย Barbara Blackburn ได้รับการบันทึกสถิติโลกลงกินเนสส์บุ๊คในปี 2005 ว่าเป็นผู้ที่พิมพ์ภาษาอังกฤษเร็วที่สุดในโลก ด้วยแป้นพิมพ์แบบ Dvorak

Barbara Blackburn พิมพ์ที่ความเร็วเฉลี่ย 150 WPM ต่อเนื่องได้นานถึง 50 นาที, 170 WPM ในช่วงเวลาสั้นๆ และทำความเร็วสูงสุดที่ 212 WPM เรื่องที่น่าแปลกคือ สมัยที่เธอเรียนอยู่มัธยมศึกษาตอนปลายเธอนั้นสอบตกวิชาพิมพ์ดีดด้วยแป้นแบบ QWERTY ด้วย แต่หลังจากที่เธอรู้จักแป้นพิมพ์แบบ Dvorak เธอก็เริ่มเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วจนทำสถิติโลกได้สำเร็จ แถมยังได้เล่นโฆษณาของคอมพิวเตอร์รุ่น Apple IIc ด้วยนะ


สรุปแล้ว Dvorak ดีจริงหรือไม่

มันก็เป็นเรื่องยากที่จะฟันธงในเรื่องนี้ เพราะจากสถิติที่ผ่านๆ มา QWERTY ดูมีภาษีกว่าด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งที่ Dvorak ทำได้จริง ก็คือ มันใช้พื้นที่เคลื่อนไหวในการพิมพ์น้อยกว่า เนื่องจากแป้นเหย้าของ Dvorak สามารถสร้างจำนวนคำได้เยอะกว่า QWERTY มาก หลายคนที่ใช้ยืนยันว่าเมื่อยมือน้อยกว่ามาก และเรียนรู้ง่ายด้วย ถ้าอยากรู้ว่ามันดีจริงหรือไม่ คงต้องลองด้วยตัวเองเท่านั้น

ใครที่อยากลองใช้งาน ใน Windows มีให้ปรับรูปแบบแป้นพิมพ์เป็น Dvorak ได้อยู่แล้ว สามารถเข้าไปในการตั้งค่าเพื่อเพิ่มคีย์บอร์ดได้เลย ด้วยการไปที่ Settings >> Time & language >> Language >> English >> Options >> Add a keyboard 

Dvorak แป้นพิมพ์ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ดีกว่า QWERTY แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้


ที่มา : www.rohitbhargava.com , itotd.com , www.engineerguy.com , workawesome.com , www.howtogeek.com , www.vaplicious.com , en.wikipedia.org , blogs.bl.uk , www.antiquetypewriters.com , typespec.com , www.ratatype.com , en.wikipedia.org , web.archive.org , www.thetranscriptionpeople.com.au , en.wikipedia.org , oztypewriter.blogspot.com , rcranger.mysite.syr.edu , www.howtogeek.com

 
0 %E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7+Dvorak+%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2+QWERTY+%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น



 

รีวิวแนะนำ