หลายๆ คนคงคิดภาพในหัวว่า AI หรือ Artificial Intelligence แปลเป็นไทยในชื่อว่า ปัญญาประดิษฐ์ คือหุ่นยนต์ที่เดินได้ทำงานแทนเราได้ แต่จริงๆ แล้ว AI คือชุดคำสั่งที่สามารถแยกแยะ วิเคราะห์ หาความซ้ำของข้อมูลในหลายๆ มิติ โดยแนวคิดการสร้างเริ่มจากการรวมหลักการทางคณิตศาสตร์, หลักประสาทวิทยา, ทฤษฎีสารสนเทศ และไซเบอร์เนติกส์ เพื่อมุ่งสร้างสมองกลที่สามารถคิดหาคำตอบจากข้อมูลที่มี ได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว
ต่อมาได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้รวมตัวเปิดสาขา ที่ทำเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ที่มหาวิทยาลัยดาร์ตมัธ (Dartmouth College) ในปี 1956 ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้นำด้านการทำปัญญาประดิษฐ์ในระดับโลก โดยผลงานของสาขาปัญญาประดิษฐ์ที่มหาวิทยาลัยนี้ ได้สร้างคอมพิวเตอร์ที่สามารถเอาชนะคนเล่นหมากรุก แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคำด้วยพีชคณิต พิสูจน์ทฤษฎีทางตรรกวิทยา หรือแม้กระทั่งพูดภาษาอังกฤษได้
แต่ผลงานที่ทำให้ AI โด่งดังในวงกว้างคือการนำระบบ AI มาใช้ในเชิงพาณิชย์ที่เรียกว่า ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) ที่คอยให้คำอธิบายที่ไม่ชัดเจนของคำถามที่ได้รับมาโดยเปรียบเทียบกับข้อมูลจำนวนมาก ต่อมาได้มีการพัฒนาไปใช้งานด้านต่างๆ เช่น การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining), การวิจัยทางการแพทย์, ระบบจัดการจราจร, การคาดคะเนยอดขาย, การนำเสนอโปรโมชันให้กับลูกค้าที่มีความต้องการสินค้า, การทำฟาร์มสัตว์เพื่อลดการป่วยของสัตว์เลี้ยง (Smart Farm), ระบบตอบคำถาม (Chat Bot), ระบบจดจำใบหน้า (Face Recognition)และอื่นๆ อีกมากมาย
จากประวัติและความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ แสดงให้เห็นว่าระบบปัญญาประดิษฐ์จะทำงานตามชุดคำสั่ง และข้อมูลที่ระบบได้รับ นั่นหมายความว่า ความน่าเชื่อถือของระบบปัญญาประดิษฐ์จะขึ้นอยู่กับ คำสั่งหรืออัลกอริทึม และจำนวนข้อมูลที่ใส่เข้าไปให้ ทำให้คำสั่งของคนที่ใส่ลงไปเป็นตัวบอกว่า AI มีความน่าเชื่อถือหรือไม่
เรื่องนี้เป็นวาระระดับโลก โดยมีกลุ่มคนที่ใส่ชุดคำสั่งให้ AI ทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยกลุ่มคนที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์สั่งให้เทขายหุ้นในจุดที่พวกเค้าต้องการพร้อมกัน จนเกิดความปั่นป่วนทั้งตลาดหลักทรัพย์ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องแบบในหนัง Sci-Fi ที่ระบบ AI ออกมาสั่งให้หุ่นยนต์ปกป้องมนุษย์ชาติ ทำให้ AI ลดจำนวนประชากรของโลกเพื่อให้มนุษย์คงอยู่ เรื่องแบบนั้น ไม่มีแน่นอนครับ เพราะนอกจากที่คำนวณจากข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) ระบบ AI ยังไม่สามารถทำระบบ AutoAccess ข้อมูลที่ไม่ให้เข้าถึงได้แน่นอน (แต่ถ้าคนทำระบบ Auto Hacking System สำเร็จ ก็ไม่แน่)
โดยแนวคิดการทำงานของ AI จะแบ่งออกเป็นสองมิติใหญ่ๆ คือระบบที่กระทำโดยมีเหตุผล และระบบที่ทำเลียนแบบมนุษย์ โดยในปัจจุบัน AI เน้นการพัฒนาโดยใช้เหตุผลเป็นหลัก โดยจุดมุ่งหมายคือการนำ AI มาแก้ปัญหา โดยไม่มีเรื่องอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง อธิบายได้หลายๆ นิยาม เช่น ระบบความคิดที่เหมือนมนุษย์, ระบบที่กระทำเหมือนมนุษย์, ระบบที่คิดอย่างมีเหตุและผล, ระบบที่กระทำอย่างมีเหตุผล
ในการป้องกันการใช้ AI ไปในทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้หลายๆ ประเทศได้ร่วมกันร่าง “แนวทางด้านจริยธรรมสำหรับการใช้และการจัดการดิจิทัลทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม” (Digital AI Ethics) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา AI เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ทั้งโลกต่อไปในอนาคต
จากที่เรารู้กันว่าระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถทำอะไรได้บ้าง มีการนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดในธุรกิจ โดยการเริ่มนำมาใช้ในองค์กรและ AI ต้องอยู่ในทุกบริบทการทำงานภายในองค์กรอีกด้วย ตรงกับความคิดเห็นของบริษัทระดับโลกหลายๆ บริษัท แนะนำว่าการเอาระบบมาใช้จะต้องเริ่มทำงาน 4 อย่างเพื่อนำระบบปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในองค์กรได้ดีที่สุด ได้แก่
Engage คือการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยการนำ AI เข้ามาใช้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงการตลาด หรือการผลิตเท่านั้นแต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในองค์กร และการสื่อสารในทุกระดับ
Innovate การสร้างรูปแบบใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ เมื่อมีระบบ AI เข้ามาทำงานและวิเคราะห์ข้อมูลทำให้สิ่งที่ยากที่สุดในการทำธุรกิจคือ “จินตนาการ” จากเรื่องจินตนาการนี้ทำให้ในประเทศไทยได้มีกลุ่ม Startup เกิดขึ้นมากมาย แต่มีบริษัทหนึ่งที่น่าสนใจคือ PharmaSafe ได้ทำ Application เพื่อช่วยในการกินยาของผู้ป่วย โดยนำ AI มาระบุภาพของเม็ดยาที่ผู้ป่วยรับประทาน เพื่อบอกว่า ยาที่กินถูกต้อง และตรงเวลาไหม โดยการจับเม็ดยาแล้วยกให้กล้องใน Application ดู AI จะทำการแยกแยะภาพยาเทียบกับฐานข้อมูลยา เพื่อบอกว่า ยาที่อยู่ในภาพ คือยาอะไร ทำให้เกิดความถูกต้องในการทานยา เพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาของผู้ป่วย
Work พลิกรูปแบบการทำงานเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น AI จะเข้ามาช่วยทำงานที่ซ้ำๆ และวนเป็นประจำให้สำเร็จถูกต้อง และไม่เกิดความเหนื่อยล้าของคนทำงาน เพื่อจะได้นำเวลาไปสร้างสรรค์ผลงานด้านอื่นภายในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น
Solve เอาชนะอุปสรรค แก้ไขปัญหาในกลุ่มสังคมทำงาน ปัญหาบางอย่างอาจเกิดกับคนบางคน ในกลุ่มบางกลุ่ม AI จะเข้าถึงบุคคลเหล่านี้และทำการแก้ปัญหาให้โดยทั่วถึงโดยทันที ใช้เวลาที่รวดเร็วจนคาดไม่ถึง
การทำงานของระบบสารสนเทศต่างๆ (รวมถึง AI) จำเป็นต้องใช้ระบบโครงข่ายพื้นฐานที่มีความรวดเร็วในการสื่อสารสูงมาก ทางภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องการวางระบบเพื่อพัฒนาประเทศ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Society) ได้วางโครงข่ายติดตั้งเทคโนโลยี และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้ระยะเวลาระยะเวลา 20 ปีและแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 (1.5 ปี) คือประเทศลงทุน และสร้างรากฐานโครงข่ายทั้งหมดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
ระยะที่ 2 (5 ปี) ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเดินทางตามแนวทางประชารัฐ
ระยะที่ 3 (10 ปี) เข้าสู่ระยะดิจิทัลไทยแลนด์ ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างเต็มที่
ระยะที่ 4 (10-20 ปี) สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และคุณค่าทางสังคมอย่างยั่งยืน
ซึ่งตอนนี้ (ปลายปี 62) ได้ผ่านระยะแรกไปเรียบร้อยแล้ว โดยโครงการที่เกิดขึ้นคือ
-โครงข่ายเน็ตประชารัฐ เข้าถึงหมู่บ้านทั่วประเทศจำนวน 30,635 หมู่บ้าน
-การขยายโครงสร้างจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายเส้นทางพร้อมเพิ่มความเร็วให้เกิน 2000Gbps
-การเปิดประมูลโครงข่ายโครงข่าย 5G (ในปี 2563)
-โครงการ Government Big Data เก็บข้อมูลภาครัฐแบบรวมศูนย์ และสร้าง Government Data Center
-จัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti-Fake News Center)
-สนับสนุนการสร้าง Smart City เพื่อนำร่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของคนในท้องที่
จะเห็นได้ว่าทางภาครัฐได้ลงทุนและกำหนดเป้าหมาย เพื่อการมุ่งเน้นให้ประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อย่างแท้จริง
ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่สอง ของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มีการร่วมมือกันระหว่างทางภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อสร้างรากฐานแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนาประเทศ นอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้วยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการวางโครงข่ายพื้นฐานอีกหลายเรื่อง ได้แก่
การพัฒนาความสามารถของแรงงานให้พร้อมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ได้มีการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมแรงงานในมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 200 มหาวิทยาลัยพร้อมออกใบรับรองวิชาชีพเพื่อเรียนจบ
การร่างแผนจริยธรรม AI (Thailand AI Ethics) ซึ่งแผนจริยธรรมนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชีย โดยเน้นเรื่องหลักๆ 6 เรื่องคือ ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน, ความสอดคล้องกับกฎหมายจริยธรรมและมาตรฐานสากล, ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ, ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว, ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และเป็นธรรม, และความน่าเชื่อถือ
แนวโน้มการเข้ามาของ AI จะเริ่มเข้ามาจากองค์กรใหญ่ๆ การนำมาใช้งานจะเข้ามาทุกส่วนในงานของบริษัท โดย AI จะไม่เข้ามาแทนที่การทำงานของคน แต่การเข้ามาจะทำให้งานนั้นๆ มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทั้งทางด้านเวลา ความถูกต้อง บริษัทจะได้ KPI ที่สูงขึ้น แต่การนำ AI เข้ามาใช้ในองค์กร จะเกิดปัญหาหลายอย่างเพราะ AI จะทำงานกับชุดข้อมูลจำนวนมากและในทุกส่วนงาน ดังนั้นการร่วมมือกันเพื่อการนำเข้ามาใช้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ทางด้านบริษัทจะไม่มีความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ ทางคนที่ทำงานด้าน AI ก็ไม่รู้ในตัวงานของบริษัทอย่างแท้จริง ดังนั้น การร่วมมือกันระหว่างบริษัทที่พัฒนาและบริษัทที่ทำงาน มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะสูตรของความสำเร็จในการนำ AI เข้ามาใช้คือ “Knowledge + AI” ผลที่ได้จะดีที่สุด และผลที่ได้ออกมา นอกจากช่วยให้คนทำงานง่ายขึ้นคือการทำนายอนาคตจากข้อมูลที่มีความซับซ้อนกันหลายมิติ เป็นผลดีต่อการทำธุรกิจในอนาคต
การเข้ามาของเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ เกิดขึ้นจริงๆ ในประเทศไทยไม่ไช่ความฝันหรือนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป เราคงได้เห็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชีวิตเราสบายขึ้นใช้งานในวงกว้าง แบบเข้าถึงทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน คุณอาจจะได้เห็นเมืองทั้งเมือง มีความรู้สึก มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความปลอดภัยมากขึ้น มีการเตือนภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งน้ำท่วม ฝนตก สึนามิ ภูเขาถล่ม แบบล่วงหน้า จากข้อมูลที่เป็น Big Data โดยการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมของทั้งทางรัฐบาล ทั้งภาคเอกชน ทั้งองค์กรหลายๆ องค์กร เข้ามาร่วมมือกันสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น ชีวิตของคนไทยจะสะดวกขึ้น มีเวลาไปทำงานด้านการสร้างสรรค์มากขึ้น แล้วคุณล่ะคิดอย่างไร กับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามาในเวลาอันใกล้นี้?
|
Review...Every thing |