บนโลกใบนี้มีพืชผัก ผลไม้หลากหลายชนิด ที่มนุษย์นิยมรับประทาน แต่รู้หรือไม่ว่า มีอยู่หลายชนิดที่เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองอยู่แล้วตามธรรมชาติผ่านการวิวัฒนาการ หรือแมลงที่เล่นตลกกับโชคชะตาของพืชพรรณเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริง...มันมีหลายชนิดนะ ที่มนุษย์เป็นผู้พัฒนามันขึ้นมาจากการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้สามารถรับประทานได้ หรือมีรสชาติที่ดีขึ้น
บางชนิดนี่นึกว่ามีอยู่แล้วในธรรมชาติ ไม่คิดเลยว่าจะถูกสร้างขึ้นมาจากการพัฒนาสายพันธุ์ จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ลองมาดูกัน
พวกผักอย่างกะหล่ำปลี, กะหล่ำดอก, กะหล่ำดาว, กะหล่ำปม, ผักคะน้า และบรอคโคลี่ เป็นพืชที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมาจากต้น Brassica oleracea หรือที่เรียกกันว่า ต้นมัสตาร์ดป่า
เมื่อ 2,500 ปีก่อน ต้นมัสตาร์ดป่ามีอยู่แค่ในบางพื้นที่ของยุโรป และแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นักพฤกษศาสตร์ได้พบว่าพืชชนิดนี้จะมีรสชาติ และลักษณะที่แตกต่างกันแล้วแต่พื้นที่ที่มันเติบโต
จากการเฝ้าสังเกตผ่านเวลานับร้อยปี ทำให้สายพันธุ์ของมันมีความแตกต่างที่ชัดเจนมากขึ้น บางชนิดใบใหญ่ บางชนิดดอกใหญ่ ฯลฯ ความแตกต่างเหล่านั้นถูกคัดสรร และพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมาก จนในที่สุดก็ได้กลายออกมาเป็นผัก 6 ชนิด ที่เรานิยมรับประทานกันอย่างทุกวันนี้
ภาพจาก https://www.businessinsider.com/brassica-oleracea-broccoli-kale-brussels-sprouts-2017-5
ผลไม้ยอดนิยมอย่างส้ม (Orange) ก็เป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ในปัจจุบันนี้มีส้มอยู่หลากหลายชนิด แต่รากกำเนิดดั้งเดิมของมันเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ ด้วยการนำต้นส้มโอกับต้นแมนดารินมาผสมข้ามสายพันธุ์กัน
ส้มแมนดาริน | ส้มโอ |
พวกมันเป็นพืชในกลุ่มที่เรียกว่าซิตรัส (Citrus) ซึ่งมีสายพันธุ์เยอะมาก และผสมข้ามพันธ์ุได้ง่าย ทำให้มีการแตกหน่อสายพันธุ์ออกมาเป็นจำนวนมาก เรื่องชวนสับสนก็คือผลแมนดาริน (บ้านเราเรียกส้มแมนดาริน) กับส้มนั้นคล้ายกันมาก แต่ความจริงก็คือส้มนั้นพัฒนามาจากผลแมนดารินอีกที ส่วนส้มแทงเจอรีนเป็นสายพันธุ์หนึ่งของส้มแมนดาริน
ภาพจาก https://www.nuggetmarket.com/gallery/image/8814/
ความเป็นมาของถั่วลิสง (Peanut) หรือ Arachis hypogaea นั้นน่าพิศวงมากทีเดียว วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มันกำเนิดมาจากพืช 2 ชนิด คือ Arachis ipaensis และ Arachis duranensis
จากการตรวจสอบทางชีววิทยา Duranensis นั้นมีจีโนม AA และ Ipaensis มีจีโนม BB ส่วนโครโมโซมนั้นเหมือนกันทุกประการ มีการสันนิษฐานว่ามันมีบรรพบุรุษร่วมกัน แต่เกิดการวิวัฒนาการเพื่อเอาชีวิตรอดในสิ่งแวดล้อมจนแยกออกมาเป็นอีกสองสายพันธุ์ใหม่
Arachis ipaensis ฝั่งซ้าย และ Arachis duranensis ฝั่งขวา
ภาพจาก https://www.morningagclips.com/peanut-genome-sequenced-with-striking-accuracy/
Arachis duranensis นั้นมีถิ่นฐานอยู่ที่เทือกเขาแอนดีสระหว่างประเทศโบลีเวีย และอาร์เจนตินา ในขณะที่ Arachis ipaensis มีถิ่นฐานอยู่ที่ประเทศโบลีเวีย แม้ว่าทั้งสามประเทศนี้จะมีเทือกเขาแอนดีสพาดผ่านถึงกัน แต่ในความเป็นจริง ระยะทางก็ห่างกันแบบสุดๆ
จนกระทั่งหลายพันธุ์ปีก่อน ได้มีการทำไร่นำพืชสองสายพันธุ์ดังกล่าวมาปลูกในบริเวณเดียวกัน และเหล่าแมลงก็ช่วยกันสืบพันธุ์ ทำให้จีโนมที่เคยถูกแยกออกจากกัน กลับมารวมกันทำให้ลำดับจีโนมสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดได้ยากมาก
และนั่นเองก็กลายมาเป็นถั่วลิสงที่ทุกวันนี้เรานิยมรับประทานกัน
ภาพจาก https://www.spicegarden.eu/Peanut-seeds-Arachis-hypogaea
กล้วยนั้นเป็นผลไม้ที่มีอยู่แล้ว แต่ว่าเดิมทีไม่อร่อย และเมล็ดเยอะมาก จนมีการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ด้วยการนำกล้วยป่า (Musa acuminata) ที่เนื้อมีผิวสัมผัสดีแต่รสชาติไม่ได้เรื่อง มาผสมพันธุ์กับกล้วยตานี (Musa balbisiana) ที่รสชาติดีแต่เมล็ดเพียบ จากการพัฒนาสายพันธุ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดก็ออกมาเป็นกล้วยที่แสนอร่อยอย่างที่เราทานกันในปัจจุบัน
ที่บอกว่าเมล็ดเยอะ นี่คือ เยอะจริงๆ นะ กล้วยตามป่าในปัจจุบันก็จะเต็มไปด้วยเมล็ดอย่างในภาพด้านล่างนี้นี่แหละ
ภาพจาก https://twitter.com/ziyatong/status/1024853001029214209?s=20
กว่าจะมาเป็นแครอทตัวอ้วน สีส้มน่าทานอย่างทุกวันนี้ มันผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์มานานแล้วเช่นกัน ส่วนที่เรารับประทานของแครอทที่จริงคือรากแก้วของต้น แต่ก่อนแครอทที่เราทานจะมีสีขาวไม่ก็สีม่วง แล้วก็มีหน้าตาผอมกะหร่องอันเล็กๆ
แครอทแบบดั้งเดิม
ภาพจาก https://thenorthwestforager.com/2015/03/12/wild-carrot-queen-annes-lace/
ส่วนแครอทสีส้มที่เรานิยมทานกันในทุกวันนี้ มีเรื่องเล่าว่าเป็นของที่เพิ่งเกิดขึ้นในศตวรรธที่ 17 นี้เอง โดยเพาะพันธุ์ขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองธงของชาวดัตช์ ณ ขณะนั้น แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม จริงๆ แครอทมีหลายสีนะ แต่ที่นิยมมากที่สุดก็เห็นจะเป็นสีส้มนี่แหละ
เดิมทีสตรอเบอรี่เป็นผลไม้ที่มีลูกเล็ก สีสัน และรสชาติก็ไม่ได้น่ารับประทานเหมือนในปัจจุบัน มันเพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 นี้เอง แม้ว่าจะพบหลักฐานว่ามีการเริ่มพัฒนาสายพันธุ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1300
Antoine Nicolas Duchesne นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสพบว่าสตรอเบอรี่ป่าในแปลงของเขามีการขยายพันธุ์ซ้ำบ้าง, บางต้นไม่เคยออกผล, บางต้นที่เคยออกผลอยู่ๆ ก็หยุดออก จากการเฝ้าสังเกต ทำให้ในที่สุดนักพฤกษศาสตร์ค้นพบว่าต้นสตรอเบอรี่มีลักษณะพิเศษตรงที่ดอกของต้นสตรอเบอรี่เป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือ เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียอยู่ภายในดอกเดียวกัน นั่นกลายเป็นประตูที่นำไปสู่การพัฒนาสายพันธุ์สตรอเบอรี่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
สตรอเบอรี่ที่เราทานในปัจจุบัน เริ่มต้นจากการที่ Duchesne นำเกสรตัวเมียของสตรอเบอร์รี่ป่าของชิลี (Fragaria chiloensis) มาผสมพันธุ์กับเกสรตัวผู้ของสตรอเบอร์รีมัสค์ (Fragaria moschata) จนได้สายพันธุ์ใหม่ที่สมบูรณ์แบบกว่าที่เคยมีมาก่อน และพัฒนามาเรื่อยๆ จนลูกใหญ่ หวานฉ่ำ เหมือนที่เราได้ทานกันในปัจจุบัน
Fragaria chiloensis | Fragaria moschata |
หากพูดการพัฒนาการที่มาได้ไกลเหลือเกิน ข้าวโพดเป็นหนึ่งในพืชที่มาไกลสุดๆ มีหลักฐานปรากฏว่ามนุษย์ปลูกข้าวโพดมานานแล้วกว่าหลายหมื่นปี เป็นพืชเศรษฐกิจมาตั้งแต่โบราณกาล อย่างไรก็ตามข้าวโพดในอดีตหน้าตาแตกต่างจากในปัจจุบันแบบคนละเรื่อง
ต้นข้าวโพดถูกพัฒนาขึ้นมาจากต้น Teosintes หญ้าพื้นเมืองชนิดหนึ่งในแถบ Mesoamerica (ปัจจุบันคือบริเวณอเมริกาเหนือ และเม็กซิโก) หลักฐานพบว่าการปรับปรุงสายพันธุ์เกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณ 6,300 ปีก่อน และเสร็จสมบูรณ์จนออกมาหน้าตาเหมือนในปัจจุบันนี้เมื่อปี ค.ศ. 1947 นี้เอง
ปัจจุบันก็ยังคงมีผัก ผลไม้ชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่นะ เพียงแต่มันอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือแพร่หลายมากเท่านั้นเอง เช่น Orangetti spaghetti squash (เริ่มพัฒนา ค.ศ. 1979 วางจำหน่าย ค.ศ. 1986) ฟักทองแบบใหม่ที่มีสีเหมือนส้ม และลักษณะผลน่าทานมากขึ้น, Black Galaxy tomato มะเขือเทศสีดำที่เปิดตัวเมื่อปี ค.ศ. 2012 ที่ผ่านมานี้เอง โดยเกิดจากการนำบลูเบอร์รีมาผสมข้ามสายพันธุ์
อนาคตจะมีผัก ผลไม้อะไรแปลกๆ ถูกสร้างขึ้นมาอีก อดใจรอที่จะลองกินไม่ไหวแล้ว :)
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |