ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

กรณีศึกษา Cybersquatting ที่ทำให้เจ้าของร้านอาหารตัวจริงเดือดร้อนหนัก

กรณีศึกษา Cybersquatting ที่ทำให้เจ้าของร้านอาหารตัวจริงเดือดร้อนหนัก

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 8,686
เขียนโดย :
0 %E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2+Cybersquatting+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

กรณีน่าสนใจ เมื่อ Cybersquatting สร้างปัญหาให้กับเจ้าของตัวจริง

Cybersquatting หรือ Domain squatting เป็นธุรกิจสีเทาชนิดหนึ่งที่มีมาตั้งแต่ยุค www. เริ่มเฟื่องฟู วิธีการของธุรกิจนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน มันเป็นการ "ตัดหน้า" จดโดเมนเนม (Domain name) เอาไว้ขายต่อ คนนอกวงการอาจจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้มานัก เราขออธิบายสั้นๆ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ ก่อนจะเข้าสู่ตัวอย่างกรณีศึกษาละกัน

การจดโดเมนเนมมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง ปีนึงแค่ประมาณ 300-400 บาท เท่านั้น จึงมีคนหัวหมอระดมจดโดเมนเนมคำต่างๆ เอาไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อเอามาขายต่อให้กับผู้ที่ต้องการใช้งานจริงๆ ตัวอย่างเช่น สมมติคุณเปิดธุรกิจตัวหนึ่งขึ้นมาตั้งชื่อบริษัทว่า thailucky (นามสมมติ) ในเวลาต่อมา เมื่อคุณต้องการเปิดเว็บไซต์ คุณก็อยากจะใช้ชื่อโดเมนเนมว่า www.thailucky.com ใช่ไหมล่ะ แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจเปิดเว็บไซต์ นาย A คาดการณ์เอาไว้แล้วว่าคุณจะต้องเปิดเว็บไซต์แน่ๆ เลยชิงปาดหน้าไปจดชื่อโดเมนเนมเอาไว้ก่อน ผลก็คือ หากคุณต้องการใช้ชื่อโดเมนเนมนั้นจริงๆ ล่ะก็ คุณก็ต้องไปซื้อต่อโดเมนเนมจากนาย A มาเพื่อใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่า ราคาที่นาย A ขายต่อ จะสูงกว่าปกติมาก อาจจะราคาหลายแสนบาทเลยก็เป็นได้

กรณีศึกษา Cybersquatting ที่ทำให้เจ้าของร้านอาหารตัวจริงเดือดร้อนหนัก
ภาพจาก https://kinsta.com/blog/choose-domain-name/

ไม่เชื่อลองคิดชื่อเว็บไซต์อะไรก็ได้มาเล่นๆ สักชื่อ แล้วลองนำชื่อดังกล่าวไปลองเข้าในเว็บเบราว์เซอร์ดูก่อนสิ อย่างเช่น ผมอยากเปิดเว็บไซต์ชื่อหมีกาแฟ coffeebear.com ผมเลยลองนำ URL ไปวางดู ก็ปรากฏว่ามันถูกจดไปแล้ว หากผมต้องการใช้ชื่อนี้ ผมต้องซื้อต่อเขาในราคาที่สูงถึง $3,195 หรือประมาณ 97,000 บาท เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างด้านบนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากว่าชื่อที่คุณนำไปจดมันไม่มีเจ้าของ และไม่มีใครเคยจดมาก่อน แต่กรณีศึกษาที่ผมกำลังจะเล่านั้นแตกต่างออกไป เพราะเป็นการนำชื่อที่คนอื่นตั้งไว้ก่อนแล้วมาจดโดเมนเนม แถมยังมีการเรียกร้องให้เจ้าของมาซื้อต่ออีกต่างหาก แน่นอนว่าเจ้าของชื่อดังกล่าวไม่ได้อยากมีเว็บไซต์ แล้วเรื่องอะไรจะต้องยอมเสียเงินด้วย แต่ปัญหามันไม่จบที่แค่นั้น เรื่องราวจะเป็นอย่างไรมาลองอ่านดูครับ

กรณีศึกษา Cybersquatting ที่ทำให้เจ้าของร้านอาหารตัวจริงเดือดร้อนหนัก

เรื่องนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2018 Ange Branca หญิงสาวเจ้าของร้านอาหาร Saté Kampar ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ที่รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่ร้านของเธอ แต่ลูกค้าคนดังกล่าวไม่ได้มาเพื่อรับประทานอาหาร เขาบอกกับเธอว่า เว็บไซต์ของทางร้านจะเสร็จแล้ว เหลือแค่เธอต้องจ่ายเงินเพื่อให้งานจบ

ปัญหาคือ Branca ไม่เคยมีเว็บไซต์ร้าน และไม่เคยคิดจะมีด้วย เนื่องจากเธอใช้ Social Network อย่าง Facebook และ Instagram เป็นพื้นที่หลักอยู่แล้ว ดังนั้น การที่อยู่ๆ มีคนมาบอกว่าเธอค้างค่าทำเว็บไซต์อยู่จึงไม่แตกต่างจากการรีดไถ

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ร้านของเธอนั้นถูกสร้างจริง แม้ว่าเธอจะไม่ใช่คนขอให้สร้างมันขึ้นมาก็ตาม ด้วยชื่อโดเมนเนมร้านเธอ มีข้อมูลร้าน และเมนูของร้านเธอครบถ้วน ไม่ใช่เรื่องเกินเลยหากจะบอกว่าเว็บไซต์ดังกล่าวทำออกมาได้สมบูรณ์แบบเลยล่ะ เธอแค่จ่ายเงินก็จะได้เป็นเจ้าของเว็บไซต์ดังกล่าวทันที (ณ เวลานี้ เว็บไซต์ดังกล่าวก็ยังอยู่ และสามารถเข้าใช้งานได้ที่ https://satekamparpassyunk.com/)

บนเว็บไซต์มีทั้งภาพของตัว Ange Branca ชีวประวัติเกี่ยวกับที่มาของอาหาร และเหตุผลที่เธอเลือกเปิดร้าน รวมถึงเมนูอาหาร พร้อมราคาอีกด้วย

ฟังดูเหมือนว่า เรื่องมันไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก เพราะเว็บไซต์ใช้งานได้จริง เหมือนมีคนสร้างเว็บไซต์ร้านให้เธอฟรีเสียด้วยซ้ำ มีลูกค้าหลายคนโทรมาสั่งอาหาร และติดต่อมายังร้านผ่านระบบอีเมลบนเว็บไซต์

กรณีศึกษา Cybersquatting ที่ทำให้เจ้าของร้านอาหารตัวจริงเดือดร้อนหนัก

แต่นั่นแหละสาเหตุของปัญหา เนื่องจากเธอไม่ใช่เจ้าของเว็บไซต์ เธอจึงไม่สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนข้อมูลอะไรบนหน้าเว็บไซต์ดังกล่าวได้เลยสักนิด ซึ่งข้อมูลบนหน้าเว็บก็ปราศจากการอัปเดต (ตามรายงานระบุว่าเว็บไซต์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว) ราคาของอาหารที่ถูกระบุเอาไว้ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริงของร้านในปัจจุบัน 

เธอเผยว่า ถูกลูกค้าจำนวนมากร้องเรียนว่าราคาอาหารในร้านแพงกว่าที่ถูกระบุไว้บนเว็บไซต์ เนื่องจากร้านของเธอมีการปรับราคาขึ้นทุกปีตามโครงสร้างเศรษฐกิจที่ค่าแรงงานสูงขึ้นทุกปี และยังมีการร้องเรียนจำนวนมากจากผู้ใช้บริการ DoorDash ที่ให้บริการรับฝากซื้ออาหารจากร้านอาหารโดยตรง (เหมือนกับ GrabFood หรือ GetFood ในบ้านเรานี่แหละ) เพราะลูกค้าไม่ต้องการจ่ายเงินค่าอาหารเนื่องจากค่าอาหารแพงกว่าที่ถูกระบุเอาไว้ในแอปฯ นั่นทำให้ร้านของเธอเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาหารถูกจัดเตรียมไว้พร้อมส่งตามออเดอร์ที่มีเข้ามาแล้ว แต่ถูกลูกค้าปฏิเสธที่จะจ่ายเงิน (Branca กล่าวว่า เธอได้พยายามติดต่อไปยัง DoorDash เพื่อแจ้งเปลี่ยนแปลงราคาแล้ว แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด)

กรณีศึกษา Cybersquatting ที่ทำให้เจ้าของร้านอาหารตัวจริงเดือดร้อนหนัก
ภาพจากเว็บไซต์ปลอมของร้าน Saté Kampar 

ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา Branca กล่าวว่าเธอได้พยายามติดต่อไปทั้ง Google และ GoDaddy (เอเย่นต์ที่ขายโดเมนเนมรายใหญ่) เพื่อให้ลบข้อมูลเว็บไซต์ดังกล่าวออกจากระบบแต่ Google บอกว่าเขาไม่ใช่เจ้าของเนื้อหาดังกล่าวจึงไม่สามารถช่วยอะไรได้ ส่วน GoDaddy ก็ตอบกลับมาว่าเขาไม่ใช่เจ้าของโดเมนเนมดังกล่าว แม้เธอจะยื่นเรื่องไปยัง Digital Millennium Copyright Act (DMCA) (กฎหมายลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา) แต่เรื่องก็เงียบไป

Google ได้พยายามช่วยเหลือข้อพิพาทนี้ด้วยการแนะนำให้เธอติดต่อไปยังเจ้าของเว็บไซต์ดังกล่าวโดยตรง แต่ปัญหาก็คือ เจ้าของเว็บไซต์ดังกล่าวถูกปกปิดข้อมูลตัวจริงเอาไว้โดยผู้ให้บริการ 3rd-party ที่เชี่ยวชาญด้านการปกปิดข้อมูลเจ้าของโดเมนเนม ทำให้เธอไม่สามารถสืบหาเจ้าของเว็บไซต์ตัวจริงได้

ปัจจุบันนี้ เธอได้ยอมแพ้กับการต่อสู้ดังกล่าวไปแล้ว และพยายามสื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทาง Social Network ให้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องน่าปวดหัวที่ไม่ใช่เรื่องจริงๆ หลายคนอาจจะมองว่าแล้วทำไมไม่ซื้อเว็บไซต์มาเลยล่ะ คำตอบคือเธอกล่าวว่าเธอไม่ต้องการเว็บไซต์ และไม่มีเวลาที่จะดูแลมันด้วย อีกอย่างการเป็นเจ้าของเว็บไซต์ก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช้ทุกคนที่ "อยาก" หรือ "พร้อม" ที่จะจ่ายเงินเพื่อจบปัญหา


ทางออกของปัญหา?

เกี่ยวกับการถูกนำชื่อไปจดโดเมนเนม ส่วนใหญ่แล้วข้อกฏหมายที่ถูกนำมาใช้พิจารณาก็จะใช้ข้อกฏหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และการคุ้มครองเครื่องหมายทางการค้า อย่างไรก็ตาม อ้างอิงตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 มีวรรคหนึ่งระบุว่า "เครื่องหมายการค้าอันมี
ลักษณะที่ทําให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น
แตกต่างไปจากสินค้าอื่น" ชึ่งโดเมนเนมส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้การบังคับใช้กฏหมายมีความยุ่งยากมากขึ้น

อีกทางออก คือ เราสามารถร้องเรียนไปยัง WIPO ( World Intellectual Property Organization องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก) ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 หรือ ICANN (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers องค์กรความร่วมมือด้านการจัดสรรชื่อ และหมายเลขทางอินเทอร์เน็ต) องค์กรระดับบนสุดในโครงสร้างการบริหารงาน และพัฒนาระบบโดเมนโลกที่ ดำเนินงานแบบไม่หวังผลกำไร (non-profit organization) มีโครงสร้างการดำเนินงานที่อาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการดำเนินการเหล่านี้เต็มไปด้วยความยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งอาจจะสูงกว่าการซื้อต่อโดเมนเนมเสียด้วยซ้ำ หากไม่ใช่บริษัทใหญ่ๆ ที่มีเงินลงทุนมหาศาล ส่วนใหญ่แล้วจึงเลือกวิธีใช้เงินแก้ปัญหาแทน ดังภาษิตที่ใครสักคนกล่าวเอาไว้ว่า อะไรที่ใช้เงินแก้ปัญหาได้ ไม่เรียกว่าปัญหา


ที่มา : www.phillymag.com , en.wikipedia.org , satekamparpassyunk.com , th.wikipedia.org , www.thnic.or.th , www.pmtw.moc.go.th , pixabay.com

 
0 %E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2+Cybersquatting+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น



 

รีวิวแนะนำ