ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

ที่มาของคำว่า "สีน้ำเงิน"

ที่มาของคำว่า

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 8,576
เขียนโดย :
0 %E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2+%22%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%22
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

เหมือนเป็นธรรมเนียมของทุกปีไปแล้วว่าพอถึงเวลาใกล้สิ้นปี ทาง Pantone ก็จะต้องออกมาประกาศสีที่ (คาดว่าจะ) ได้รับความนิยมสูงในปีถัดไป และสำหรับโทนสี Pantone ของปี 2020 ได้แก่ Classic Blue หรือ สีน้ำเงินแบบคลาสสิก ที่มีรหัสสี Pantone ว่า 19-4052 Classic Blue โดยทางบริษัทให้เหตุผลว่าสีดังกล่าวนี้เป็น เฉดสีน้ำเงินที่ดูเรียบหรู แม้ว่าจะดูเหมือนโทนสีธรรมดาๆ เรียบๆ แต่ก็ดูหรูหราและร่วมสมัยด้วยในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ยังเป็นโทนสีที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย และใช้ได้กับทุกสถานการณ์อีกด้วย

ที่มาของคำว่า "สีน้ำเงิน"

ภาพจาก : https://www.pantone.com/images/color-of-the-year/2020/pantone-color-of-the-year-2020-classic-blue-tools-graphics-packaging.jpg

ซึ่งพอเราเห็นว่าสี Pantone ปีหน้าเป็นสีน้ำเงินแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า ตอนเด็กๆ เคยสงสัยว่า ทำไมถึงเรียกสีน้ำเงินว่าสีน้ำเงิน เพราะคำว่า “น้ำเงิน” น่าจะมาจากการนำเอาคำว่า “น้ำ” ผสมรวมกับคำว่า “เงิน” ซึ่ง “น้ำ” ก็น่าจะหมายถึงสีฟ้าหรือสีใส และ “เงิน” ก็น่าจะมาจากสีเงิน แล้วทำไม “สีน้ำเงิน” ถึงเป็นสีฟ้าที่ดูเข้มๆ กันนะ? (แน่นอนว่าตอนนั้นถามแม่ก็แล้ว ถามครูก็แล้ว ก็ยังไม่ได้คำตอบอยู่ดี แถมยังโดนบ่นว่าสงสัยอะไรแปลกๆ อีกต่างหาก..)

ที่มาของคำว่า “น้ำเงิน”

กลับกลายเป็นว่าคำถามตอนเด็กก็ได้วนมาหลอกหลอนเราอีกครั้ง เลยพยายามไปหาคำตอบมาเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งจากการหาข้อมูลมาทั้งหมดเราก็ได้ค้นพบว่า คำว่า “น้ำเงิน” นั้น น่าจะเป็นการ ลดทอนคำจาก “น้ำละลายเครื่องเงิน” หรือ “น้ำทดสอบเงิน” เพราะในอดีตนิยมนำเอากรดไนตริก (Nitric Acid) มาใช้ในการทดสอบว่าเครื่องเงินนั้นเป็น “เงินแท้” หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเงินแท้ที่มีความบริสุทธิ์สูงจะไม่ทำปฏิกิริยากับกรดไนตริก แต่หากเป็นเงินที่มีส่วนผสมของทองแดงหรือโลหะชนิดอื่นๆ อยู่มาก จะเกิดการทำปฏิกิริยากับกรดไนตริกและเปลี่ยนเป็น “สีน้ำเงิน”

ที่มาของคำว่า "สีน้ำเงิน"

ภาพจาก : https://www.sciencesource.com/Doc/TR1_WATERMARKED/f/6/d/2/SS2277179.jpg?d63641798230

ส่วนคำว่า “น้ำเงิน” ที่มีความหมายว่า Dark Blue ที่เก่าที่สุด (เท่าที่เราสามารถหาได้) นั้นปรากฏอยู่ในพจนานุกรม Siamese-English Dictionary ที่ตีพิมพ์ในปี 1907 (พ.ศ. 2450) โดย Basil Osborn Cartwright ที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบในขณะนั้น ได้เป็นผู้รวบรวมเนื้อหาทั้งหมดมาเขียนพจนานุกรมฉบับนี้ และได้ระบุถึงคำว่า “น้ำเงิน (Blue)” ไว้ดังนี้

คราม (Indigo / Washing Blue)

คราม หมายถึง “ต้นคราม (Indigo)” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Indigofera tinctoria เป็นพืชไม้ดอกตระกูลถั่ว ที่นิยมนำเอาใบมาสกัดสีย้อมผ้า (Indigo Dye) โดยขั้นตอนการสกัดสีนั้นจะต้องแช่ใบครามกับครามน้ำไว้ 24 ชั่วโมง ก่อนจะทำการกรองน้ำเพื่อแยกกากของใบออก เติมปูนขาวและน้ำเปล่า (หรืออาจใช้น้ำซาวข้าวแทนน้ำเปล่า) เพิ่มเข้าไปจนขึ้นฟองคราม กวนน้ำจนฟองครามยุบ พักทิ้งไว้ 1 คืน และรินน้ำใสออก หากผสมถูกสัดส่วนจะได้น้ำครามและครามเปียกที่มีสีครามสวย สามารถนำเอาไปย้อมผ้าได้ ซึ่งครามเปียกที่มีลักษณะเป็นเนื้อเหลวคล้ายโคลน หากนำเอาไปตากหรือทิ้งไว้จนแห้งก็จะกลายเป็น “ผงคราม (Washing Blue)” ที่สามารถนำเอาไปซักผ้าขาวที่สีหมองลงให้กลับมาขาวดังเดิมได้ (โดยสีน้ำเงินจากผงครามจะเข้าไปแทรกตัวอยู่ในเนื้อผ้าแทนเม็ดสีแดงหรือน้ำตาลที่ทำให้ผ้าดูหมองลง ทำให้ผ้าขาวที่ทำการลงครามมีลักษณะเป็นสีขาวอมน้ำเงิน)

ที่มาของคำว่า "สีน้ำเงิน"

ภาพจาก : https://philiphuang.nyc/blogs/indigo-monster/from-plant-to-dye

สีคราม (Dark Blue)

คำว่า สีคราม มีความหมายสื่อถึง สีน้ำเงินเข้มจากต้นคราม ที่ได้ผ่านกระบวนการสกัดสีต่างๆ จนออกมาเป็นสีครามที่เราคุ้นเคยกัน

น้ำเงิน Dark Blue / Nitrate of Silver

นอกจากจะมีความหมายว่า Dark Blue ที่แปลได้ว่าสีฟ้าเข้มหรือสีน้ำเงินแล้ว คำว่า “น้ำเงิน” ยังสามารถแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Nitrate of Silver ที่มีคำว่า “เงิน (Silver)” ร่วมอยู่ด้วย ซึ่ง Nitrate of Silver หรือซิลเวอร์ไนเตรท นี้เป็นสารเคมีอนินทรีย์ (Inorganic Chemical) ที่มีลักษณะเป็นผลึกของแข็งไม่มีสีและกลิ่น สามารถนำเอาไปใช้ได้กับงานหลายประเภท เช่น ใช้ฆ่าเชื้อ, ใช้ล้างรูปในการถ่ายภาพสมัยก่อน, ใช้เคลือบเงิน หรือใช้ทำกระจกเงา เป็นต้น โดยซิลเวอร์ไนเตรท (AgNO₃) เกิดจากการนำเอาแร่เงิน (Ag) มาผสมกับกรดไนตริก (HNO₃) ซึ่งขั้นตอนการผสมกันของเงินและกรดไนตริกจะทำปฏิกิริยากับโลหะอื่นๆ ที่เจือปนอยู่โดยการละลายเนื้อของเงินก่อนจะคายก๊าซไนโตรเจนออกมา และเปลี่ยนสีของน้ำที่ละลายกรดไนตริกให้เป็นสีเขียวและเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น สีน้ำเงิน ทีละน้อย (หากมีโลหะเจือปนมากน้ำจะยิ่งเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินมากขึ้น) และเมื่อเย็นตัวลงจะแปรสภาพเป็น ซิลเวอร์ไนเตรท ซึ่งซิลเวอร์ไนเตรทนี้ก็สามารถทำการ ย้อนกระบวนการ จนกลับไปเป็นแร่เงินได้อีกครั้งโดยการนำเอาทองแดงมาล่อ และภายในกระบวนการย้อนกลับนี้ก็เปลี่ยนสีน้ำที่ทำปฏิกิริยากับสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทให้เป็น สีน้ำเงิน เช่นเดียวกัน

วิดีโอย้อนกระบวนการจาก Silver Nitrate กลับไปเป็นแร่เงิน

นิล Sapphire / Blue

ชาวอีสาน หรือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในสมัยก่อนมัก เรียก “สีคราม” ว่า “สีนิล, สีหม้อ หรือสีหม้อนิล” จึงทำให้คำว่า “นิล” ในพจนานุกรมฉบับนี้มีความหมายว่าสีน้ำเงินตามไปด้วย (ส่วนคำว่า “นิล” ที่หมายถึงสีดำนั้นจะใช้คำว่า “นิลกาฬ”)

สำหรับคำที่มีความหมายสื่อถึงสีน้ำเงินคำอื่นๆ อย่าง สีกรม หรือ สีกรมท่า และ สีขาบ ที่หมายถึงสีน้ำเงินแก่อมม่วงของธงชาติไทยนั้น ในพจนานุกรมฉบับนี้ยังไม่ได้มีการระบุถึงความหมายเอาไว้ ดังนั้นจึงจึงคาดว่าน่าจะเป็นชื่อสีที่ได้มีการ บัญญัติขึ้นในภายหลังจากปี 1907 (พ.ศ. 2450)

อย่างไรก็ตาม ที่มาของคำว่า “สีน้ำเงิน” ในภาษาไทยนั้นก็ยังคงไม่มีข้อมูลมายืนยันที่แน่นอน เป็นเพียงแค่การ สันนิษฐาน จากข้อมูลที่เราสามารถรวบรวมมาได้เพียงเท่านั้น


ที่มา : www.pantone.com , archive.org , www.royin.go.th , en.wikipedia.org , puparn.rid.go.th , th.wikipedia.org , en.wikipedia.org , www.howtotestsilver.com

 

0 %E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2+%22%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%22
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
22 ธันวาคม 2562 20:22:48 (IP 114.125.29.xxx)
Profile Pictureสมาชิก : Member
Comment Bubble Triangle
 


 

รีวิวแนะนำ